ThaiPublica > เกาะกระแส > สแกนแผนขอใช้เงิน 4 แสนล้าน …โครงการดูแลผู้สูงอายุ มหาดไทย “คุ้มค่า” หรือ “ย้อมแมว”

สแกนแผนขอใช้เงิน 4 แสนล้าน …โครงการดูแลผู้สูงอายุ มหาดไทย “คุ้มค่า” หรือ “ย้อมแมว”

1 กรกฎาคม 2020


ภายหลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานเลขานุการและหน่วยงานกลั่นกรองโครงการต่างๆ เปิดตัวเว็บไซต์ ThaiME เพื่อใช้ติดตามตรวจสอบการบริหารจัดการงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทจากภาคประชาชน โดยเฉพาะส่วน 400,000 ล้านบาทที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ผ่านไป ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2563 มีข้อเสนอโครงการรวมทุกแผนงาน จำนวน 43,851 ข้อเสนอโครงการ วงเงินกว่า 1.36 ล้านล้านบาท

การพิจารณาโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดำเนินการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปี 2563 โดยแบ่งแผนงานเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีวงเงินแตกต่างกันไป ดังแผนภูมิ

สำหรับกลุ่มที่ 3 กรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 กลุ่ม

    แผนงานที่ 1 เน้นการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
    แผนงานที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน
    แผนงานที่ 3 ส่งเสริมการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน
    แผนงานที่ 4 สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต

หลังจากที่มีกำหนดเวลาให้แต่ละภาคส่วนเสนอโครงการ และ สศช. ได้นำเสนอโครงการเว็บไซต์ ThaiME ข้อมูลข้อเสนอโครงการเบื้องต้นภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ จาก http://nscr.nesdb.go.th/thaime-project/ พบข้อสังเกตมีบางโครงการซ้ำซ้อนกับงานที่อยู่ประจำและได้รับเงินงบประมาณอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง “โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ของกระทรวงมหาดไทย วงเงินงบประมาณ 1,080.58 ล้านบาท

“โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ของกระทรวงมหาดไทย วงเงินงบประมาณ 1,080.58 ล้านบาท ที่เสนอเพื่อใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท

ข้อสังเกตที่พบจาก “โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ของกระทรวงมหาดไทย ที่ยื่นเพื่อขอใช้เงินจากโครงการ 4 แสนล้านบาท มีดังนี้

1. เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกับการใช้งบประมาณในค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (long term care: LTC) ที่ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ได้รับงบประมาณประจำปีในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการ โดย สปสช. ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559

บริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (long term care: LTC) ที่ สปสช. ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559

2. เป็นโครงการที่กิจกรรมของโครงการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณ ตามโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

3. มีโครงการที่มีลักษณะเดียวกันกับโครงการดังกล่าว ของกระทรวงมหาดไทย ใช้กลุ่มเป้าหมายเดียวกันคือกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ (care giver) กิจกรรมของโครงการไม่แตกต่างกันคือจัดอบรม และจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพียงแต่แต่ละโครงการใช้ชื่อต่างกัน กิจกรรมและกลุ่มเป้าหมาย มากน้อยต่างกัน

4. กลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ มีหน่วยงานที่ดูแลและของบประมาณจากภาครัฐประจำปี หลายหน่วยงาน และกิจกรรมอาจมีทั้งต่างกันและซ้ำซ้อนกันดังแผนภูมิ ฉะนั้น นอกจากโครงการที่ยกตัวอย่างของกระทรวงมหาดไทยที่ของบประมาณใช้กับทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ย่อมจะมีโครงการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ที่กระทรวงอื่นๆ จัดทำโครงการและมีประเด็นลักษณะเดียวกัน