ThaiPublica > สู่อาเซียน > 8 พ.ย. เลือกตั้งทั่วไปเมียนมา สิ่งที่ธุรกิจควรรู้

8 พ.ย. เลือกตั้งทั่วไปเมียนมา สิ่งที่ธุรกิจควรรู้

30 กรกฎาคม 2020


เมียนมากำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 นี้ เพื่อผู้บริหารธุรกิจ นักลงทุน ผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งในและต่างประเทศเข้าใจและรู้จักการเลือกตั้งของเมียนมาดีขึ้น เมียนมาไทมส์ สื่อท้องถิ่นได้จัดทำรายงานเรื่อง Myanmar Elections 2020: What Businesses should know

รายงานเริ่มด้วยการอธิบาย

กระบวนการเลือกตั้งของเมียนมาและการดำเนินการหลังการลงคะแนน

ชาวเมียนมาจะลงคะแนนเลือกผู้แทนเข้าสภาแห่งชาติเมียนมา หรือปีดองซูลุตดอ (Pyidaungsu Hluttaw) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรหรือปีตูลุตดอ (Pyithu Hluttaw) และสภาชาติพันธุ์หรืออาโยตาลุตดอ (Amyotha Hluttaw) ซึ่งตั้งอยู่ในเนปยีดอ และเป็นการลงคะแนนเลือกตั้ง 5 ปีหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด

สมาชิกสภาจะเริ่มปฏิบัติหน้าในสภาเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ด้วยการเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้จัดตั้งทีมรัฐบาลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ตำแหน่งรัฐมนตรี 3 กระทรวงและที่นั่งของทั้งสองสภาในสัดส่วน 25% เป็นโควตาของกองทัพตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนหรือผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิไว้แล้วอาจจะลงคะแนนให้กับผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้แทนในเขตของตัวเองเพื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) ซึ่งมีที่นั่งทั้งหมด 440 ที่นั่ง และเลือกผู้แทนอีกรายให้เข้าสู่สภาชาติพันธุ์ซึ่งมี 224 ที่นั่ง

โดยทั่วไปผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะมาจากพรรคการเมือง แต่ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งแบบอิสระได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งจะเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งภายใต้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (first past-the-post systems)

ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร สมาชิกจะมีจำนวน 330 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร และมีจำนวน 168 ที่นั่งในสภาชาติพันธุ์หรือสภาสูง ส่วนที่เหลือราว 1 ใน 4 เป็นบุคคลากรจากกองทัพ ที่แต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด

การแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงและที่ปรึกษาแห่งรัฐต้องได้รับความเห็นของทั้งสองสภา ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสมาชิกสภาหรือสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล สมาชิกสภาที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อม ขณะที่กระบวนการให้ความเห็นชอบรัฐมนตรีก็เป็นการดำเนินการแบบพอเป็นพิธี ต่างจากของสหรัฐฯ ที่ต้องมีกระบวนการยืนยัน เหตุผลเดียวที่จะไม่ยอมรับผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ก็คือมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น อายุขั้นต่ำ สถานะการเป็นพลเมือง

ประธานาธิบดีใช้อำนาจร่วมกับกองทัพตามรัฐธรมนูญ โดย 1 ใน 2 ของผู้ที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกระทรวงกิจการพรมแดนและกลาโหม แต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด พื้นที่ชายแดนที่ควบคุมโดยองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์จะไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้ง

ใครทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ใครบ้างที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง

การจัดการเลือกตั้งและการควบคุมการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้ชายล้วน และมีการเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดในปี 2016 ปัจจุบันมีอูลาเต็ง อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นประธาน

ประธานาธิบดีอูวินมินต์ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ นางอองซานซูจี ได้ประกาศแล้วว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง มุขมนตรีแห่งรัฐและภูมิภาคได้ถูกวางตัวให้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ยกเว้นอูพิวมินเต็งจากย่างกุ้ง รวมไปถึงผู้ว่าเมืองมัณฑะเลย์ รองประธานพรรคการเมืองรัฐบาล อูซอว์มินต์หม่อง ที่ลาป่วยในปีก่อน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ประกาศตัวผู้ลงสมัครรับเลือกที่เป็นมุสลิม 2 คน ขณะที่การเลือกตั้งในปี 2015 ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นมุสลิม

ทางด้านพรรคการเมืองใหญ่อันดับสองในรัฐสภา พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ที่มีกองทัพหนุน ก็พร้อมลงสนามเลือกตั้ง นำโดยอูทั่นเต ขณะที่พรรคการเมืองจากกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งพรรคแห่งชาติอาระกัน (Arakan National Party: ANP) จากรัฐยะไข่ พรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy: SNLD) ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับสามและอันดับสี่ตามลำดับก็ลงเลือกตั้งเช่นกัน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการจัดตั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจำนวนมากเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง อูธุระฉ่วยมาน อดีตประธานาสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่ค้ำจุนอดีตผู้นำตานฉ่วย แต่ถูกขับออกจากพรรค USDP ก็ได้ตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง คือ Union Betterment Party ในปี 2019 ขณะที่อดีตสมาชิกพรรค NLD ดอเทตเทตไข่ นักธุรกิจหญิงที่มีชื่อเสียงก็ตั้งพรรค People’s Pioneer Party และโกโกจี หนึ่งในแกนนำที่เป็นตำนานของการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 1988 ตั้งพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า People’s Party ร่วมกับผู้นำนักศึกษา 88 คน ทั้งหมดนี้พร้อมลงสนามเลือกตั้ง

แต่ละพรรคการเมืองมี ส.ส. เท่าไร

ในสภาสูงซึ่งมี 224 ที่นั่งนั้น พรรค NLD มี ส.ส.จำนวน 135 คน ตัวแทนกองทัพ 56 คน พรรค USDP จำนวน 11 คน พรรค ANP มี ส.ส. 10 คน พรรค SNLD มี ส.ส. 3 คนส่วนที่เหลือเป็นของ 5 พรรคการเมืองและ ส.ส. อิสระ ขณะที่ในสภาล่างซึ่งมี 440 ที่นั่ง พรรค NLD มี ส.ส. จำนวน 255 คน ตัวแทนกองทัพ 110 คน พรรค USDP จำนวน 30 คน พรรค ANP มี ส.ส. 12 คน ส่วนที่เหลือเป็นของ 7 พรรคการเมืองและ 1 ส.ส. อิสระ

ที่มาภาพ: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-elections-2020-what-businesses-should-know.html

ใครมีสิทธิลงคะแนน-กำหนดวันสำคัญ

ปัจจุบันมีผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนที่ในประเทศ 37 ล้านคนและอยู่ต่างประเทศ 4 ล้านคน กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กามาน (Kaman) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีสิทธิตามคำสั่งอดีตประธานาธิบดีอูเต็งเส่ง ในปี 2015 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ กลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น Human Rights Watch และ Amnesty International ได้ตอกย้ำประเด็นนี้หลายครั้งกับหน่วยงานที่มีอำนาจ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน

คณะกรรมการเลือกตั้ง (Union Election Commission: UEC) กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งรัฐสภาจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ในปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นกันยายนเพื่อให้เวลาหาสียงเลือกตั้ง 60 วัน

พลเมืองเมียนมาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิได้ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เพื่อใช้สิทธิล่วงหน้าที่สถานฑูต ซึ่งผู้พิการ ผู้พลัดถิ่น และผู้ต้องขัง สามารถใช้สิทธิล่วงหน้าได้

รัฐสภาใหม่จะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าและลงคะแนนในเดือนมีนาคม เลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งพร้อมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 1 เมษายน และหน่วยงานที่มีอำนาจซึ่งทำหน้าที่อยู่จะพ้นจากหน้าที่ในวันที่ 31 มีนาคม

การเลือกตั้งระดับรัฐและระดับภาคสำคัญหรือไม่

การเลือกตั้งสภารัฐและภาคจะมีขึ้นในวันเดียวกับการเลือกตั้งระดับประเทศ ซึ่งจำนวนสมาชิกสภามีตั้งแต่ 24-123 คนในแต่ละรัฐและภาค ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ขณะที่การเลือกตั้งระดับประเทศ ที่นั่งของทั้งสองสภาในสัดส่วน 25% เป็นโควตาของกองทัพ

มุขมนตรี หรือผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น ถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาแห่งรัฐหรือสภาภาค และมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นกับสภาท้องถิ่นมาจากพรรคการเมืองคนละพรรค โดยหลังการเลือกตั้งปี 2015 พรรค NLD เป็นผู้ตั้งมุขมนตรีรัฐยะไข่ แม้พรรค AKP ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา

ที่ต่างจากรัฐมนตรี มุขมนตรีต้องเป็นสมาชิกของสภาแห่งรัฐหรือสภาระดับภาค ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ และไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภา หากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมุขมนตรีก็ไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภา

ธุรกิจจะสนับสนุนพรรคการเมืองและผู้สมัครได้หรือไม่

กฎเกณฑ์การเลือกตั้งมีข้อจำกัดไม่มากนักเกี่ยวกับการบริจาคเงินของธุรกิจให้กับนักการเมือง แต่ห้ามการบริจาคจากองค์กรและบริษัทต่างประเทศ

ธุรกิจในประเทศและเจ้าของสามารถสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้สมัครและ/หรือพรรคการเมืองที่สังกัด กฎหมายเลือกตั้งจำกัดการใช้จ่ายของผู้สมัครรายคนไว้แต่ไม่จำกัดสำหรับพรรคการเมือง พรรคการเมืองไม่ต้องรายงานการใช้เงินในกิจกรรมหาเสียง แม้จะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

แวดวงธุรกิจในย่างกุ้งกังวลมากขึ้นต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นการบริจาคเงิน หลังจาก Amnesty International พบว่าบริษัทคิริน จากญี่ปุ่น บริจาคเงินผ่านบริษัทลูกในเมียนมาเพื่อสนับสนุนกองทัพในการจัดการกับกลุ่มชนมุสลิมในรัฐยะไข่ในปลายปี 2017 และจากรายงานข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ (UN Fact-Finding Mission) ในปี 2019

โดยที่ยังไม่มีกฎระเบียบรองรับ Myanmar Centre for Responsible Business ได้แนะนำว่า การตัดสินใจบริจาคเงินของบริษัทควรมีเจ้าของและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบพร้อมการประกาศรายละเอียดต่อสาธารณะ รวมทั้งขยายไปสู่การบริจาคที่ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงิน เช่น การให้ที่นั่งบนเครื่องบินฟรีสำหรับบริษัทสายการบิน หรืออำนวยความสะดวกอื่น หรือให้พนักงานไปช่วยพรรคหรือช่วยกิจกรรมการหาเสียง

ธุรกิจอยากเห็นนโยบายอะไร

ขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดประกาศนโยบายออกมา และกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องประกาศนโยบาย ในปี 2015 พรรค NLD หาเสียงด้วยแคมเปญ Change แต่ไม่ได้ทำมากพอให้เห็นว่ามีความหมายต่อเศรษฐกิจอย่างไร เครือข่ายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศต้องการเห็นนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนจากพรรคการเมือง

ผู้บริหารธุรกิจในมัณฑะเลย์และย่างกุ้งต้องการเห็นรายละเอียดนโยบายของพรรคการเมืองต่อแต่ละภาคเศรษฐกิจหากได้รับเลือก เพราะมีความสำคัญต่อผู้บริหารและนักลงทุนในการวางแผน

ภาคเอกชนมองหาสัญญานจากพรรคการเมืองว่าจะเดินหน้าการเปิดเสรีนโยบายลงทุนต่อเนื่องหรือไม่ รวมทั้งการขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนการพึ่งพาจีนให้น้อยลง โดยเฉพาะในภาคพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน จะต่อเนื่องหรือไม่

นักลงทุนจากซีกโลกตะวันตกและญี่ปุ่นจับตาว่าพรรคการเมืองจะมีแนวทางตอบโต้กับการคว่ำบาตรที่อาจจะเกิดขึ้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอย่างไร ต่อกรณีการดำเนินการของกองทัพในรัฐยะไข่

กองทัพคุมระบบเศรษฐกิจผ่านบริษัทโฮลดิงส์ 2 รายซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้รัฐบาลจากฝั่งตะวันตกบางประเทศ บริษัทและสถาบันการเงินเริ่มลดความสัมพันธ์กับบริษัทของกองทัพลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายมองว่า โควิด-19 มีโอกาสน้อยมากที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไปยกเว้นว่า การระบาดรอบสองที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก