ThaiPublica > เกาะกระแส > ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ เปิดผลทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็ม 2 ได้ผล เตรียมทดสอบในคนก.ย.นี้

ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ เปิดผลทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็ม 2 ได้ผล เตรียมทดสอบในคนก.ย.นี้

12 กรกฎาคม 2020


ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ เผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 พบลิงภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น ก่อนเตรียมทดสอบกับ “มนุษย์” คาดเปิดรับอาสาสมัครกันยายน 2563 หลังได้รับการรับรองจากอย. ตั้งเป้าผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศ รัฐบาลเตรียมงบรองรับการจัดซื้อวัคซีนต่างประเทศ

วันที่ 12 กรกฎาคม 2563 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากที่ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการทดลองวัคซีนโควิด-19 กับสัตว์ ได้แก่ หนู (เมษายน-พฤษภาคม) และลิง (พฤษภาคม-มิถุนายน) พบว่า ระดับแอนตี้บอดี้(Anti-body)ในเลือดและระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ ทำการทดลองโดยเริ่มฉีดวัคซีนให้เข็มแรกให้ “หนูทดลอง” ในเดือนเมษายน ผ่านไปสองสัปดาห์จึงเจาะเลือดพบว่าระดับภูมิคุ้มกันของหนูเพิ่มขึ้น 100 หน่วย หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ (หนึ่งเดือนหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก) ได้ฉีดวัคซีนเข็มที่สอง และทำการเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันในสองสัปดาห์ถัดมาพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจากเดิม 400 เท่า เบื้องต้นสรุปได้ว่าการทดลองกับหนูได้ผลระดับหนึ่ง

ต่อมาได้มีการทดลองฉีดวัคซีนให้ “ลิง” เข็มแรกวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 โดยลิงทดลองทั้งหมด 13 ตัว ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้ แก่ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดส (ความเข้มข้นสูง) 50 ไมโครกรัม กลุ่มที่สองโดส 5 ไมโครกรัม และกลุ่มสุดท้ายไม่ได้รับวัคซีน และทั้งหมดจะตรวจเลือดทุก 15 วัน ผลที่ได้ในวันสุดท้ายของการทดสอบพบว่า ลิงที่ถูกฉีดวัคซีนมีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นสูงสุดไปถึงระดับ 5,000 หน่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ

ศ.นพ.เกียรติกล่าวอีกว่า ระยะถัดมาเป็นการทดลองจากลิงไปสู่คน อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์จะต้องมีการประเมินปริมาณโดสที่เหมาะสม เนื่องจากขนาดและระบบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น จากการทดลองระหว่างหนูไปสู่ลิงจะทำให้ภูมิคุ้มกันจะลดลง 10-20 เท่า ดังนั้นคาดว่าจากการทดลองที่ลิงไปสู่คนจะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง 5-10 เท่า

ส่วนการทดลองกับอาสาสมัคร ‘มนุษย์’ ศ.นพ.เกียรติคาดว่าจะเริ่มเปิดรับอาสาสมัครในช่วงเดือนกันยายน เนื่องจากวัคซีนชนิด mRNA ชื่อ CU-Cov19 ที่ใช้ทดลองในปัจจุบันยังไม่ได้รับการรับรองจากอย. และวัคซีนที่จะนำไปทดสอบจะต้องผ่านมติกรรมการจริยธรรมของคณะแพทยศาสตร์ก่อนนำไปทดสอบจริง และเมื่อได้วัคซีนที่พร้อมทดสอบจะนำไปทดลองกับมนุษย์ในไตรมาส 4/2563

ศ.นพ.เกียรติกล่าวอีกว่า ขั้นตอนการวิจัยการทดลองวัคซีนที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์มีประมาณ 18-20 ชนิด แบ่งกลุ่มอายุผู้ทดลองออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอายุ 18-60 ปี และกลุ่มมากกว่า 60 ปี โดยกลุ่มอายุ 18-60 ปีจะทำการทดลอง 5 รูปแบบคือ (1) เริ่มต้นด้วยความเข้มข้นที่ 10 ไมโครกรัมเนื่องจากมีความเข้มข้นต่ำและมีความปลอดภัย (2) ทดลองที่ระดับ 30 ไมโครกรัม (3) ทดลองที่ระดับ 100 ไมโครกรัม (4) ทดลองที่ระดับ 30 ไมโครกรัม และเข็มที่สองที่ 10 ไมโครกรัม และ (5) ทดลองที่ระดับ 100 ไมโครกรัม และเข็มที่สองที่ 10 ไมโครกรัม

“เราจะแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มละ 75 คน กลุ่มแรกอายุ 18-60 ปี ไม่ได้กำหนดว่าต้องอายุเท่าไร ถ้ามาตามคิวของการสมัครและผ่านเกณฑ์สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว แล้วเวลาวิจัยจะต้องเริ่มที่โดสต่ำสุดที่ 10 ไมโครกรัม ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ไม่บวมหรือไม่มีไข้ เราจะเริ่มต่อกลุ่มที่สองคือ 30 ไมโครกรัม เมื่อกลุ่มที่สองผ่านไปประมาณหกคนแล้วไม่มีอาการน่าเป็นห่วง เราจะทดลองเข้าสู่กลุ่มที่ 3“ ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ศ.นพ.เกียรติ เสริมว่า หากเป็นไปตามแผนที่กลุ่มแรกจะทดสอบเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นจะทำการทดสอบกับอาสาสมัครอีก 500-1,000 คน ส่วนกลุ่มถัดมาอายุ 60-80 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับการทดสอบหลังจากยืนยันเรื่องความปลอดภัยจากการทดสอบกลุ่มแรก

ศ.นพ.เกียรติกล่าวอีกว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะนำวัคซีนอย่างน้อย 2 ตัว ส่งให้โรงงานทั้ง 2 แห่งไปผลิต โดยช่วงแรกผลิตเนื้อวัคซีน คาดว่าเสร็จประมาณเดือนตุลาคม และโรงงานที่ 2 ผลิตตัวเคลือบ แต่กรณีที่ไทยไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าจะใช้วิธีการจับมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรงงานในประเทศอินโดนีเซียเพื่อผลิตวัคซีนร่วมกัน

ทีมวิจัยวัคซีน

ประเด็นความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนระดับโลก ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่าการผลิตวัคซีนของศูนย์ที่จุฬาฯ ยังตามหลังต่างประเทศประมาณ 6 เดือน ซึ่งมีวัคซีนที่เข้าสู่ระยะที่ 3 (ทดสอบในมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ) เพียง 1 ชนิดที่เข้าสู่ทดสอบกับมนุษย์ แต่ยังไม่มีวัคซีนใดที่ได้รับการรับรองโดย WHO

ศ.นพ.เกียรติ ให้เหตุผลถึงข้อจำกัดในการรับรองวัคซีน โดยยกตัวอย่างวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” ซึ่งมีประสิทธิภาพ 19-60% เพราะแม้จะมีการฉีดกันทุกปี แต่ในบางปีวัคซีนที่ร่างกายได้รับอาจไม่มีประสิทธิภาพ จากสายพันธุ์ของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในบางโรคก็มีการรักษาที่แม่นยำกว่าโรคอื่นๆ เช่น วัคซีนที่ฉีดสำหรับเด็กได้ผล 80-90% อีโบลาได้ผล 100% โรคหัด 90% ฯลฯ ทำให้ WHO ตั้งเกณฑ์ว่าวัคซีนที่จะได้รับการรองรับจะต้องมีประสิทธิภาพอย่างน้อย 70% ภายในเวลา 1 ปี หรือประสิทธิภาพ 50% ภายในเวลา 6 เดือน

“โคโรน่าไวรัสในคนมีทั้งหมด 7 ตัว 4 ตัวเป็นสาเหตุของไข้หวัดที่เราเจออยู่ประจำ ใครที่เป็นหวัดสามคนจะมีหนึ่งคนติดโคโรน่า แต่เป็นโคโรน่าที่เป็นไข้หวัด แต่ตัวหลักๆ มี 3 ตัว ตัวแรกๆ คือโรคซาร์สและเมอร์ส และโควิด-19 เป็นโคโรน่าตัวที่สาม คำถามคือจนป่านนี้ซาร์สยังไม่มีวัคซีนเพราะการระบาดไม่รุนแรง แต่โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่แพร่เชื้อง่ายที่สุด เพราะไม่มีอาการ 3-7 วันแรกสามารถแพร่เชื้อได้ ขณะที่ซาร์สกับเมอร์สต้องป่วยแล้ว ไม่มีการระบาดระยะ 3 เพราะโลกสงบในสองปี เลยไม่มีวัคซีน ไม่ใช่เพราะวัคซีนไม่ได้ผล ส่วนเมอร์สเป็นโรคระบาดค้างคาวไปอูฐและอูฐไปคน ปรากฏว่าคนติดเชื้อได้ต้องเป็นคนเลี้ยงอูฐ สองครอบครัวคนเลี้ยง สามหมอพยาบาลหรือคนใกล้ชิด สรุปเมอร์สไม่มีวัคซีนไม่ใช่เพราะวัคซีนไม่มีคุณภาพ” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมงบประมาณเพื่อรองรับการซื้อวัคซีนในระดับโลก โดยแบ่งออกเป็น 3 แผนคือ (1) เตรียมงบจัดซื้อและต่อรอง (2) ร่วมพัฒนาในระยะ 3 แต่คาดว่าขั้นตอนดังกล่าวจะไม่ถึงไทยเพราะไม่มีคนไข้ในช่วงการระบาดระยะหลัง และ (3) ผลิตวัคซีนเอง นอกจากนี้ระบบการบริหารยังทำให้งบประมาณไม่คล่องตัว แต่มีผู้ใจบุญช่วยบริจาคเพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

“ปีหน้าโลกจะมีวัคซีนที่ผ่านการรับรอง แต่ก็ไม่ถึงไทยแน่นอน ไทยจะถึงเร็วสุดก็เกือบปลายปี ถ้าโชคดีก็ไม่กี่แสนโดส” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นบทบาทของการพัฒนาศักยภาพของศูนย์วัคซีนว่า แม้ที่จุฬาฯ จะมีศูนย์โรคอุบัติใหม่เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโลกในอนาคต แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จุฬาฯ ต้องปรับตัวมากขึ้น และพบบทเรียนว่าการป้องกันดีกว่าการรักษา โดยหนึ่งในวิธีคือการพัฒนาวัคซีน

“โควิด-19 ทำให้พัฒนาวัคซีน CU-Cov19 สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะบุคลากร เรามีทีมที่เข้มแข็งมาก เครื่องมือก็ต้องพัฒนาเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วสิ่งสำคัญคืออยู่คนเดียวไม่ได้ สิ่งที่ทีมงานได้ทำคือ networking ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ในอนาคตเราต้องมีแผนในการพัฒนาศูนย์วัคซีน ไม่ว่าจะเป็น Infra Structure เรื่องคน เรื่องการเชื่อมต่อต่างๆ อีกสิ่งที่จะช่วยเราคือ Funding (การระดมทุน-งบประมาณ)“