ThaiPublica > คอลัมน์ > ทุนทางการเมือง-ทุนแห่งกามตัณหา

ทุนทางการเมือง-ทุนแห่งกามตัณหา

8 มิถุนายน 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

“เขามีฐานะดีจึงมีต้นทุนสูง”
“เขาคงไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรที่อาจทำลายชื่อเสียงเขาหรอกเพราะเขามีต้นทุนสูง”
“มีต้นทุนทางการเมืองสูงขนาดนี้ ลงเลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้”
“คุณอย่ามาเสี่ยงมีเรื่องกับคนมีต้นทุนต่ำอย่างผมเลยเพราะมันไม่คุ้ม”

ประโยคเหล่านี้เราได้ยินกันบ่อยๆ ในสังคมไทย แท้จริงแล้วควรใช้คำว่า “ทุน” แทน “ต้นทุน”

ในการผลิตสินค้าและบริการมีปัจจัยการผลิตรวมอยู่ 4 ประเภท กล่าวคือ land (ที่ดิน ซึ่งกินความถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อากาศ น้ำ แร่ธาตุ ฯลฯ) labor (แรงงานซึ่งประกอบด้วยแรงงานทางสมองและแรงงานทางร่างกาย) capital (ทุน ซึ่งหมายถึงเงินเพื่อซื้อทรัพยากร หรือสิ่งอื่นๆ ที่จับต้องได้ ซึ่งร่วมใช้ในการผลิต เช่น อาคาร จอบเสียม เครื่องจักร อุปกรณ์ โต๊ะเก้าอี้ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) และ entrepreneurship (การประกอบการ คือ กิจกรรมของการนำปัจจัยทั้งสามมาร่วมกันผลิตอันเป็นการเพิ่มคุณค่า)

ในเวลาต่อมาคำว่า “ทุน” ในภาษาธรรมดาที่ไม่ใช่วิชาการกินความหมายไปถึงสิ่งมีค่าที่จับต้องไม่ได้ซึ่งร่วมใช้ในการผลิตด้วย เช่น ฐานะในสังคม การยอมรับในสังคม การมีเครือข่าย ชื่อเสียง ฯลฯ ดังคำว่า social capital (ทุนทางสังคม) คำนี้มีการใช้กันตั้งแต่ ค.ศ. 1890 ก่อนที่จะเป็นที่นิยมในปลายทศวรรษ 1990 โดยมักใช้อธิบายผลงานเป็นเลิศด้านการบริหารอันเกิดจากความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันของสังคมผู้ทำงานให้องค์กร หรือความสามัคคีของคนในชาติ หรือการร่วมใช้ภาษาเดียวกันของคนทั้งชาติ

“ทุนทางสังคม” สะท้อนคุณค่าอันเกิดจากความสัมพันธ์ของกลุ่มคน เช่น การมีค่านิยมร่วมกัน มีความเข้าใจร่วมกัน มีความไว้วางใจกัน มีความร่วมมือกัน ฯลฯ ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านใดที่เป็นหนึ่งเดียวกัน มีความสามัคคี ก็เรียกว่ามีทุนทางสังคมสูง หรือมีทุนสูง เราไม่เรียกว่ามีต้นทุนสูง

อีกคำหนึ่งได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า political capital (ทุนทางการเมือง) ซึ่งสื่อความถึงการสะสมทุนและอำนาจของบุคคลหนึ่ง ซึ่งผ่านการสร้างความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ และความปรารถนาดีกับนักการเมืองอื่นๆ กับพรรคอื่นๆ หรือกับผู้ลงคะแนน

“ทุนทางการเมือง” แยกออกได้เป็น “ทุนการเมืองด้านชื่อเสียง” (reputational political capital) และ “ทุนทางการเมืองด้านการเป็นตัวแทน” (representative political capital) โดยอย่างแรกหมายถึงความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจได้ของนักการเมือง ส่วนอย่างหลังได้มาจากการมีอุดมการณ์ทางการเมือง หรือการยึดนโยบายหนึ่งอย่างไม่สั่นคลอน ทุนชนิดนี้ทำให้นักการเมืองผู้นั้นมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย ซึ่งทุนนี้มาจากการมีประสบการณ์ การเคยรับตำแหน่งระดับผู้นำและมีวัยวุฒิ

“ทุนทางการเมือง” จึงเป็นผลิตผลของความสัมพันธ์ระหว่างความประทับใจของสาธารณะ (ความเห็น) การเกิดเป็นนโยบาย (ความสำเร็จจากบทบาทในรัฐสภา) และวิจารณญาณทางการเมือง (การตัดสินใจที่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ) คนที่มีชื่อเสียงดีและได้รับความนิยมในทางการเมืองจึงเป็นคนมี “ทุนทางการเมือง” สูง เราไม่เรียกว่ามี “ต้นทุนทางการเมือง” สูง (เช่นเดียวกับเรียกนักการเมืองที่มีเงินแยะไว้ใช้เลือกตั้งว่ามีทุนสูง ไม่ใช่มีต้นทุนสูง)

สำหรับคำว่า “ต้นทุน” (cost) นั้นหมายถึงทรัพยากรที่ต้องสูญเสียไปในการผลิตสินค้าและบริการ เหตุที่ไม่เน้นว่าเป็นเงินที่เสียไปก็เพราะต้นทุนไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป ตัวอย่างเช่นการเจ็บเข่าต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านหนึ่งวันจนต้องเสียสละการไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ดังนั้นต้นทุนของการอยู่บ้านรักษาตัวก็คือโอกาสที่เสียไปของการไปชมธรรมชาติ

สิ่งที่ได้รับมาในที่นี้ (สินค้าและบริการ) คือการรักษาตัวเพื่อให้หายเจ็บเข่า และสิ่งที่ต้องจ่ายไป (ต้นทุน) คือโอกาสในการได้ไปเที่ยวชมธรรมชาติ เราไม่พูดว่าสิ่งที่เสียไปคือ “ทุน” หากต้องพูดว่า “ต้นทุน” โดยสรุปก็คือ “ทุน” คือสิ่งมีค่าที่บุคคลมีอยู่ เช่น “ทุนทางสังคม” หรือ “ทุนทางการเมือง” หรือ “ทุน” ที่ใช้เพื่อการผลิต ส่วน “ต้นทุน” คือสิ่งที่เสียไปเพื่อให้ได้สิ่งหนึ่งมา (เสียเงิน 500 บาท ในการผลิตขันทองเหลือง 1 ใบ ดังนั้นต้นทุนของขันคือ 500 บาท)

ปัจจุบันมีการใช้คำว่า human capital (ทุนมนุษย์) จนสงสัยว่าก็ human (หรือ labor) ก็เป็นคนละประเภทของปัจจัยการผลิตอยู่แล้ว จะเอามารวมกันได้อย่างไร ก็คงต้องตอบว่าทุกสิ่งมีวิวัฒนาการในการทำให้งงโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษา “human capital” หมายถึงมนุษย์ที่มีการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ มีทักษะและความรู้ มีทัศนคติและค่านิยมที่ดี ตลอดจนมีประสบการณ์การทำงาน

หลายคนสังเกตเห็นว่าใน 20-30 ปี ที่ผ่านมานี้ คนหล่อคนสวย มีบุคลิกภาพดี มีเสน่ห์ทางเพศ มีทักษะทางสังคม และมีทักษะในการนำเสนอตนเองสูง มักได้เปรียบเหนือคนอื่นเสมอ Catherine Hakim ในหนังสือชื่อ Honey Money: The Power of Erotic Capital, 2011 เรียกคุณลักษณะโดยรวมเหล่านี้ว่า erotic capital (ทุนแห่งกามตัณหา)

“ทุนแห่งกามตัณหา” รวมเอาสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยกันอันได้แก่ ความสวยความงาม/เสน่ห์ทางเพศ/ความมีชีวิตชีวา/ความสามารถพิเศษในการเลือกแต่งกายอย่างถูกกาลเทศะ/เสน่ห์และทักษะทางสังคม/การดึงดูดใจในเรื่องเพศ/โดยเน้นเรื่อง “กามตัณหา” (ความอยากในกามหรือความมีเยื่อใยในกาม) เป็นพิเศษ ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตามที คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนชนิดนี้มีค่ายิ่งในสังคมปัจจุบัน

ในภาษาทั่วไป “ทุน” คือสิ่งมีค่าที่อยู่ในตัวคน อุปมาเหมือนมีน้ำอยู่ในถังปริมาณหนึ่ง ณ จุดหนึ่งของเวลา (สามารถเพิ่มหรือลดได้ในเวลาต่อไปข้างหน้า) ส่วน “ต้นทุน” คือสิ่งที่ต้องยอมเสียไปเพื่อให้ได้สิ่งพึงปรารถนามา (ปริมาณวัดต่อชิ้นหรือต่อช่วงเวลา)

เราอยากมี “ทุน” เพิ่มขึ้นเพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นบวก แต่เราไม่อยากมี “ต้นทุน” สูงหรือเพิ่มขึ้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นลบต่อกระเป๋าของเรา

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 มิ.ย. 2563