พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ช่วงหลังนี้เราได้ยินข่าวเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency—CBDC) กันบ่อยขึ้น หลังจากมีข่าวว่าจีนจะเริ่มเอาเงินหยวนดิจิทัลออกมาใช้ จนคนฮือฮากันว่าจะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินดอลลาร์ล่มสลาย หรือแบงก์ชาติเองก็มีโครงการ “อินทนนท์” ที่กำลังทดสอบการนำมาใช้เพื่อการชำระเงินระหว่างธนาคาร
แต่ก่อนที่จะคุยกันเรื่องเงินดิจิทัลของธนาคารกลางว่าคืออะไร เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า “เงิน” คืออะไร เงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้คืออะไรกันบ้าง และเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจะเข้ามาเป็นคู่แข่งหรือเติมเต็มเงินทั่วไปได้อย่างไร
หน้าที่ของเงิน
ถ้าว่ากันตามหลักเศรษฐศาสตร์ เงินทำหน้าที่สำคัญสามอย่าง คือ (1) เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในธุรกรรมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (2) เป็นทางเลือกในการสะสมมูลค่าของความมั่งคั่ง (store of value) และ (3) เป็นหน่วยวัดมูลค่าของของและสินทรัพย์ต่างๆ (unit of account)
ถ้านึกดีๆ เงินที่เราใช้อยู่มีหลายแบบ และแต่ละแบบมีการพัฒนาและเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ปัจจุบันอาจจะพอสรุปได้ว่ามีอยู่สี่กลุ่มใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง คือ เงินสด สมัยก่อนเราอาจจะใช้เปลือกหอย ตำลึงเงิน ตำลึงทอง หรือเหรียญกษาปณ์ที่มูลค่าของโลหะที่ทำเหรียญมีค่าพอๆ กับเงิน และปัจจุบันนวัตกรรมสำคัญของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกคือระบบธนบัตร ที่ทำมาจากกระดาษที่เกือบไม่มีค่า แต่มีคนยอมรับว่ามีค่า เพราะเป็น “หนี้” ของธนาคารกลาง ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และหนุนหลังโดยงบดุลและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางผู้ออกธนบัตร แต่เป็นเงินที่มีคนใช้น้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับธุรกรรมขนาดใหญ่ เพราะมีต้นทุนสูง
สอง คือ ตัวเลขเงินในบัญชีเงินฝากของเราที่เก็บไว้ที่ธนาคาร ที่เราโอนจ่ายผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ หรือจ่ายออกมาเป็นเช็ค หรืออาจจะรวมถึงบัตรเครดิตที่อาจจะนับว่าเป็นเงินกู้ ที่เราขอกู้จากธนาคาร และธนาคารรับประกันการจ่ายแทนเรา ซึ่งคิดดูดีๆ จริงๆ แล้วเงินเหล่านี้ก็คือ เงิน “ดิจิทัล” แบบหนึ่ง เพราะเป็นเพียงตัวเลขที่ดำรงอยู่ในระบบ และเงินเหล่านี้มีสถานะเป็น “หนี้” ของธนาคารพาณิชย์ ที่ถูกสร้างขึ้นตามกระบวนการสร้างเงิน (money creation) โดยการปล่อยกู้ ที่เป็นการส่งผ่านนโยบายการเงินสำคัญผ่านภาคธนาคารพาณิชย์ บางคนอาจจะรวมเอาเงินที่เก็บไว้ที่ money market fund ที่มีสภาพคล่องสูงมากเป็นส่วนหนึ่งของเงินในความหมายกว้างด้วย
สาม คือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (eMoney) ที่ไม่ได้ออกโดยธนาคารพาณิชย์ แต่ออกโดยบริษัทเอกชน ในรูปแบบของบัตรเติมเงิน หรือเงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตร Starbucks บัตรเติมเงินทางด่วน เงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างทรูมันนี่ หรือในต่างประเทศคือ Wechat, Alipay เงินเหล่านี้เป็น “หนี้” ของผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน เป็นเงินที่เราเอาไปฝากไว้กับผู้ให้บริการ และหวังว่าเขาจะรับรองเงินนั้นเวลาที่เราใช้เงินจริงๆ
และ สี่ คือเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นเงินสกุลใหม่ ใช้เทคโนโลยี distributed ledger ในการยืนยันการจ่ายเงิน ทำให้เงินไม่จำเป็นต้องมีสภาพเป็นหนี้ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือต้องอ้างอิงกับสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มีค่าเพราะคนเชื่อว่ามันมีค่าตามหลัก demand supply
สังเกตว่าเงินประเภทที่สองและสาม เป็นเงินที่ไม่ได้เป็น “หนี้” ของธนาคารกลางประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่อ้างอิงมูลค่าของเงินสกุลที่มีอยู่แล้ว
และสังเกตว่าเงินแต่ละประเภทที่เราพูดถึงมีคุณสมบัติต่างกันไป ที่เราอาจจะนำมาใช้เปรียบเทียบเงินแต่ละประเภทได้ เช่น ความยอมรับ ความปลอดภัยในการใช้ ความปลอดภัยในการเก็บรักษา ความเป็นส่วนตัว ต้นทุนธุรกรรม ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น เงินสด เป็นเงินที่มีต้นทุนการเก็บรักษาสูง ต้นทุนในการทำธุรกรรมสูง แต่ก็มีคนยอมรับสูง (ในมูลค่าธุรกรรมไม่มากนัก) มีความเสี่ยงในการปลอมแปลงและการเก็บบ้าง แต่มีข้อดีคือมีความเป็นส่วนตัวในการใช้สูงมาก (เพราะไม่มีหลักฐานการทำธุรกรรมเก็บไว้ที่ตัวเงิน)
หรือเงินฝากธนาคาร ที่เราโอนไปมาในระบบ มีคนยอมรับสูงมาก ต้นทุนธุรกรรมต่ำ (โดยเฉพาะในประเทศไทยเรียกว่าฟรีเลย) มีความเสี่ยงในการใช้บ้างไม่มากนัก (เช่น การหลอกลวงตุ๋น) และมีความเสี่ยงบ้างว่าธนาคารจะเจ๊งหรือไม่แต่น่าจะน้อยมาก แต่มีความเป็นส่วนตัวต่ำมาก เพราะประวัติการโอนถูกเก็บไว้กับธนาคารและถูกเรียกดูได้ตลอดเวลา ว่าโอนไปให้ใครเมื่อไรอย่างไร
แล้วเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางคืออะไร
เมื่อพอเห็นภาพแล้วว่าเงินที่เราใช้กันอยู่เป็นอย่างไร คำถามที่หลายคนอาจจะถามต่อมาคือ เงินก็มีตั้งหลายแบบแล้ว ทำไมยังต้องมีเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางอีก
อยากให้นึกภาพว่า ที่ผ่านมาธนาคารกลางทั่วโลกทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์สามารถเปิดบัญชีกับธนาคารกลางได้ (และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ที่ธนาคารกลางถูกนับเป็น “ฐานเงิน” แต่ไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของ “ปริมาณเงิน”) และธนาคารกลางให้บริการธุรกรรมและชำระหนี้ระหว่างกันกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ธุรกิจและประชาชนทั่วไปไปขอเปิดบัญชีกับธนาคารกลางไม่ได้
ที่เป็นอย่างนั้น อาจจะเป็นเพราะธนาคารกลางไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลลูกค้า และการเปิดบัญชีจำเป็นต้องมีสาขาเพื่อพิสูจน์ตัวตน ในเมื่อธนาคารกลางไม่มีสาขาจึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ที่สามารถเข้าถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ได้ง่ายกว่า (แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่เข้าถึงบริการของธนาคารไม่ได้ เช่น อยู่ในพื้นที่ห่างไกล)
ธนาคารกลางจึงทำหน้าที่ดูแลภาพรวมของระบบการชำระเงิน และทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์
แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้นทุนในการให้บริการลดลงไปมาก ถ้าประชาชนสามารถเปิดบัญชีด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่ต้องแสดงตัวที่สาขา จึงเริ่มเกิดการถกเถียงกันขึ้นมาว่าธนาคารกลางควรให้บริการธนาคารให้กับประชาชนทั่วไป และควรจะมี “เงินดิจิทัล” ที่ไม่ใช่ “กระดาษ” ให้กับประชาชนทั่วไปได้ใช้ด้วยหรือไม่
และเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังออกแบบและวางแผนกันอยู่ ยังมีความแตกต่างกันและทางเลือกให้ออกแบบกันอีกเยอะในรายละเอียด เช่น จะใช้ distributed ledger technology ในการยืนยันธุรกรรม (แบบบิตคอยน์) หรือจะใช้ฐานข้อมูลกลาง จะเป็นวงปิดหรือวงเปิด ใช้ผ่าน token (ที่ไม่ต้องแสดงตัวผู้จ่าย) หรือใช้ผ่านบัญชี ก็ยังมีความหลากหลายแตกต่างกันไป
แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นการออก stable coin ที่อ้างอิงกับเงินสกุลของธนาคารกลางเดิม นั่นคือเป็นเงิน “fiat currency” แบบเดิมที่ไม่ต้องสร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมา และไม่มีแม้กระทั่งกระดาษให้กับคนถือ!
ซึ่งถ้าพูดรวมๆ ดิจิทัลแบบนี้อาจจะมีข้อดีอยู่หลายข้อ เช่น
- หนึ่ง เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงบริการธนาคารและบริการชำระเงินได้ โดยไม่ต้องมีบัญชีกับธนาคารพาณิชย์
- สอง อาจจะทำให้ระบบการชำระเงินมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการแข่งขันกันมากขึ้น และลดข้อจำกัดของการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นใหม่ๆ ในระบบการชำระเงิน โดยเฉพาะการชำระเงินข้ามประเทศ ที่มีต้นทุนสูง มีผู้เล่นจำกัด และขาดประสิทธิภาพ
- สาม อาจจะทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ที่หลายคนบอกว่าตราบใดที่คนยังนิยมใช้เงินสด ข้อจำกัดคือ คนยังสามารถถอนเงินไปเก็บไว้ที่บ้านได้ ทำให้ดอกเบี้ยติดลบอาจจะใช้ไม่ได้ผลเต็มที่
- สี่ นี่อาจจะเป็นวิธีที่ธนาคารกลางใช้ตอบโต้ คู่แข่งที่มีมากขึ้นจากเงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆ เช่น บิตคอยน์ ที่มีข้อเสียสำคัญคือมูลค่าที่ผันผวนมากจนเกินกว่าจะใช้เป็น “เงิน” ที่ใช้ได้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน (ลองนึกภาพว่าถ้าเราจะตั้งราคาปาท่องโก๋ในบิตคอยน์มันจะผันผวนขนาดไหน)
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางนี้ เช่น ถ้าประชาชนมีทางเลือกในการเปิดบัญชีกับธนาคารกลาง จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารกลางไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เลย อาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงกว่าเพื่อจูงใจให้ประชาชนมาฝากเงิน แต่ก็อาจจะพอแก้ไขด้วยการกำหนดให้บัญชีเงินฝากของธนาคารกลางไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย (ตราบเท่าที่ดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยในตลาดยังเป็นบวกอยู่) เพื่อให้ดอกเบี้ยเป็นแรงจูงใจให้ผู้ฝากเงินยังไปฝากกับธนาคารพาณิชย์อยู่
แต่การมีคู่แข่งอย่างธนาคารกลางมาแข่งด้วย แม้จะแค่ฝั่งเงินฝากเพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น และกำไรน้อยลงก็ได้
นอกจากนี้ บางคนอาจจะกังวลว่าในภาวะที่เกิดวิกฤติภาคธนาคาร เงินประเภทนี้จะทำให้ประชาชนแห่ไปถอนเงินเร็วขึ้น (แทนที่จะต้องเข้าคิวเพื่อถอนเอาธนบัตรออกมา คนอาจจะถอนไปเป็นเงินของธนาคารกลางเลย) แต่จริงๆ แล้วทุกวันนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้น คนก็โอนเงินไปธนาคารอื่นหรือโอนไปต่างประเทศก็ยังได้ การทำระบบประกันเงินฝากให้มีความน่าเชื่อถือ อาจจะพอช่วยได้ในระดับหนึ่ง
อีกความกังวลคือถ้าเงินชนิดนี้ติดตลาดขึ้นมาจริงๆ พลวัตของการคุม “ปริมาณเงิน” อาจจะต้องเปลี่ยนไป จากเดิมที่ธนาคารกลางคุมเพียงแค่ฐานเงินโดยอัดฉีดหรือดูดเงินออกจากระบบธนาคาร แล้วให้ระบบธนาคารนำเงินไปหมุนต่อเป็นปริมาณเงินเอง ต่อไปธนาคารกลางอาจจะต้องดูดเงินออกจากรายย่อยด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ การนำชื่อธนาคารกลางไปใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย อาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับชื่อเสียงของธนาคารกลาง หรือถ้ามีปัญหาเรื่องความปลอดภัย การปลอมแปลงหรือหลอกลวง หรือเกิดระบบล่มกันบ่อยๆ ก็อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้รับผลกระทบได้
ทุกวันนี้ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังศึกษาทางเลือกการออกเงินดิจิทัลอยู่ หนึ่งในข้อเสนอคือการให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่ธนาคารกลางในการออกเงินดิจิทัล เป็น “synthetic” CBDC ภายใต้การกำกับของธนาคารกลาง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับธนาคารกลาง ในขณะที่สนับสนุนให้เกิดข้อดี คือการแข่งขันด้านการชำระเงินให้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่มีโอกาสจะเปลี่ยนโฉมหน้าของระบบธนาคาร ระบบชำระเงิน และการดำเนินนโยบายการเงินได้ แต่เหมือนนวัตกรรมอื่นๆ เงินแบบนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง และผู้เล่นส่วนใหญ่ยังเห็นภาพไม่ชัดว่าจะกระทบพวกเขาอย่างไร แม้กระทั่งธนาคารกลางเอง ธนาคารหลายแห่งยกเลิกความพยายามในการศึกษาและทดลองไปแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังจะทดลองนำมาใช้ ในขอบเขต และใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป
น่าจับตาดูจริงๆ ครับ…