ThaiPublica > เกาะกระแส > AIS ชวนคนรุ่นใหม่เล่าประสบการณ์ ‘บูลลี่’ ชี้เด็กไทยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

AIS ชวนคนรุ่นใหม่เล่าประสบการณ์ ‘บูลลี่’ ชี้เด็กไทยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

19 มิถุนายน 2020


นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS

AIS ชวนคนรุ่นใหม่เล่าประสบการณ์ ‘บูลลี่’ เผยข้อมูลเด็กไทยเสี่ยงถูกกลั่นแกล้งออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก นักจิตวิทยาย้ำจัดการอารมณ์ตัวเองคือทางออก

AIS ร่วมกับ The Standard Pop จัดงาน “EMPATHY IS THE KEY ใจเขา ใจเรา คิดถึงความรู้สึกคนอื่นและไม่ด่วนตัดสินใคร” เปิดวงคุยประสบการณ์การถูกบูลลี่ของซูซี่ ณัฐวดี ครีเอเตอร์ในแอปพลิเคชัน Tiktok, ติช่า กันติชา นางแบบ-นักแสดง, ญา ปราชญา นักเรียนโฮมสคูลวัย 15 ปี และมุมมองจากนักจิตวิทยาว่าด้วยพฤติกรรมการบูลลี่และการสร้างทักษะในการรับมือการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า “การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (cyberbullying) เป็นปัญหาสากลที่พบได้ทั่วโลก เพราะสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งในฐานะของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง และถ้าไม่ได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองจะยิ่งทำให้ขาดทักษะความฉลาดทางดิจิทัลในการตระหนักรู้ แยกแยะ และสามารถรับมือกับการรังแกบนโลกออนไลน์ได้

เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากล ปี 2020 (Stop Cyberbullying Day) ซึ่งตรงกับทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน เป็นที่มาของกิจกรรม Live Social Sharing ที่ชวนคนรุ่นใหม่ออกมาแชร์ประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

นางสาวนัฐิยาอ้างอิงข้อมูลจากสถาบัน DQ (Digital Intelligence Quotient) ประเทศสิงคโปร์ จากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนไทยระดับชั้นประถมปีที่ 4-6 จำนวน 44,000 คน จาก 450 โรงเรียนในทุกภาคของประเทศไทยระหว่างปี 2561-2562 เพื่อจัดทำดัชนีวัดความปลอดภัยสำหรับเด็กในโลกออนไลน์ (Child Online Safety Index — COSI) ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การรังแกออนไลน์, การใช้เทคโนโลยีอย่างไม่มีวินัย, ความเสี่ยงจากการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม, ความเสี่ยงจากการพบคนแปลกหน้า, การถูกคุกคามในโลกไซเบอร์ รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง พบประเด็นปัญหา 4 ด้าน ได้แก่

(1) เด็กไทยเผชิญกับความเสี่ยงในโลกออนไลน์สูงกว่าเด็กชาติอื่น โดย 48% ของเด็กไทยเกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งออนไลน์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 33% และ 41% เคยถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

(2) เด็กผู้ชายเผชิญกับความเสี่ยงในโลกออนไลน์มากกว่าเด็กผู้หญิง เนื่องจากเด็กชาย 56% รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการรังแกออนไลน์มากกว่าเด็กผู้หญิงซึ่งอยู่ที่ 41%

(3) เด็กผู้หญิงอายุ 13-19 ปี อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 3 เรื่อง ได้แก่ การตกเป็นเหยื่อการรังแกออนไลน์ ใช้สื่อโซเชียลมากเกินไป และได้รับหรือพบเห็นภาพหรือคลิปวิดีโอเรื่องเซ็กส์

(4) เด็กไทยอายุ 8-12 ปีมีความเสี่ยงสูง 5 เรื่อง ได้แก่ การถูกรังแกออนไลน์ ภาวะติดเกมในกลุ่มเด็กผู้ชาย พบเห็นเนื้อหาทางเพศ เจอคนชวนคุยเรื่องเซ็กส์ และถูกคุกคามในโลกไซเบอร์

(จากขวามาซ้าย) ต้น นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยา,ซูซี่ ณัฐวดี ครีเอเตอร์ในแอปพลิเคชัน Tiktok, ติช่า กันติชา นางแบบ-นักแสดง, ญา ปราชญา นักเรียนโฮมสคูลวัย 15 ปี,คณาธิป สุนทรรักษ์ “ครูลูกกอล์ฟ”

นิยาม Bully กระทำรุนแรง เจตนาทำซ้ำ และวางอำนาจข่มผู้อื่น

นายคณาธิป สุนทรรักษ์ ที่รู้จักในนาม “ครูลูกกอล์ฟ” จากสถาบันสอนภาษา ANGKRIZ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ เริ่มจากความหมายของคอนเซปต์การจัดงานครั้งนี้ คือ “EMPATHY IS THE KEY” โดยมองว่า empathy เป็นคำที่แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยได้ไม่ชัดเจน ขณะที่ในภาษาอังกฤษมีอีกคำหนึ่งคือ sympathy แปลว่าเห็นอกเห็นใจ หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ในมุมมองของนักจิตวิทยา นายนรพันธ์ ทองเชื่อม หรือต้น นักจิตวิทยาจากมีรักคลินิก ยกตัวอย่างว่า กรณีพ่อของเพื่อนเสียชีวิต ถ้าตัวเราไปนั่งร้องไห้กับเพื่อนคือ sympathy คือเข้าใจความรู้สึกในทุกมิติและกระทบความรู้ข้างในของตัวเราเอง ขณะที่ empathy คือเข้าใจคนอื่น เข้าใจที่มาของความคิดและอารมณ์ และสามารถเผชิญกับความรู้สึกของตัวเองได้

ส่วนความหมายของคำว่า “บูลลี่” (bully) ในทางวิชาการ นายนรพันธ์ชี้ว่าการบูลลี่มี 3 องค์ประกอบคือ (1) มีการกระทำที่รุนแรง ไม่ว่าทางกาย วาจา หรือข้อความ และถูกตีความในลักษณะที่รุนแรงออกจากกรอบของวัฒนธรรมสังคมนั้น

“สมมติเราเข้าไปในป่า เขาตีหัวกันเป็นเรื่องปกติ แบบนั้นไม่เรียกบูลลี่ในชุมชนเขา แต่ถ้าเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่หรือวัฒนธรรมไม่ยอมรับ ก็คือการกระทำที่มาด้วยความรุนแรง”

องค์ประกอบที่ (2) มีเจตนาที่กระทำถึงคนอื่น มีการทำซ้ำๆ เมื่อถูกปฏิเสธแล้วยังทำอีก และ (3) มีลักษณะของอำนาจที่กดขี่ข่มเหง แสดงความรู้สึกว่าฉันอยู่เหนือเธอ เช่น ผู้ใหญ่ที่ตบหัวเด็กซ้ำๆ อาจไม่ได้ตั้งใจให้ความรู้สึกเด็กแย่ แต่มีเจตนาว่ามีอำนาจมากกว่า

ครูลูกกอล์ฟให้ความหมายเพิ่มว่า “เราเคยสงสัยว่าทำไมตอนเด็ก เราร้องไห้กับการโดนล้อชื่อพ่อแม่ ทั้งที่ความจริงมันคือชื่อพ่อแม่เรา ฉันจะร้องไห้กับการที่คนมาเรียกว่าจินดาทำไม จำได้วันหนึ่งมีเพื่อนหลายคนมาล้อมวงแล้วเดินมาเรียก จินดาๆ (ทำท่าปรบมือ) เราร้องแบบ…ภาษาอังกฤษคือ offended ไม่พอใจสุดๆ อย่างที่คุณต้นบอก การบูลลี่ไม่ใช่แค่การไปบอกว่าอ้วน ดำ ไม่สวย”

นางสาวปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา หรือญา อายุ 15 ปี ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน

ประสบการณ์ถูกบูลลี่บนโลกออนไลน์

นางสาวปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา หรือญา อายุ 15 ปี ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน ผู้เคยจัดเวิร์กชอปให้เด็กและเยาวชน และมีโอกาสพบเด็กที่ถูกบูลลี่และไปบูลลี่คนอื่น เล่าความรู้สึกที่เคยสัมผัสจากเด็กในกิจกรรมว่า เขารู้สึกว่าความรู้สึกเมื่อไปบูลลี่คนอื่นเกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าคนอื่นสวยกว่า ฐานะดีกว่า ครอบครัวเพียบพร้อมมากกว่า ทำให้กลับมาเปรียบเทียบกับตัวเองว่าเราด้อยค่ากว่า

“เหมือนเขาสร้างเชือกขึ้นมาเส้นหนึ่ง แล้วมัดปมให้แน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ พอปมมันคลายออกด้วยตัวเองยาก เขาจำเป็นต้องหาคนที่ด้อยกว่าเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบ และเขารู้สึกว่าการบูลลี่ ทำให้ตัวเองสูงขึ้น ทุกคนไม่ใช่ตุ๊กตาที่ถูกผลิตจากโรงงานเดียวกัน เพราะเราเป็นคนเราถึงต้องแตกต่างกัน เชื้อชาติ ศาสนา ต่างๆ นานา อีกอย่างคนที่เป็นเหยื่อไม่ใช่แค่คนที่ถูกบูลลี่ แต่คนที่เป็นฝ่ายกระทำก็เป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน คือเขาถูกบูลลี่มาก่อน เขาไม่สามารถจัดการปมในใจของเขาได้ และเขาเองก็ไม่รู้ว่าการที่เขาบูลลี่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้กี่ปี กี่วัน หรือตลอดชีวิต” ญาเล่าประสบการณ์

นางสาวณัฐวดี ไวกาโล หรือซูซี่ อายุ 25 ปี ครีเอเตอร์ในแอปพลิเคชั่น Tiktok พูดถึงการบูลลี่ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการ “พูดต่อหน้า” แต่หลังจากที่อินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมทำให้การบูลลี่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิมคือ “พิมพ์ได้เลย”

ครูลูกกอล์ฟขยายความว่า “เมื่อก่อนไม่มี ‘แอคหลุม’ เหมือนเป็น fake account คือเราอยากมีอีกตัวตนและไปสร้างแอคหลุม สมมติชื่อแมวเหมียวสามย่าน ฉันจะไปข่วนใครก็ได้ ที่มันน่ากลัวเพราะเราไม่รู้ว่าใครจะมีแอคหลุมแล้วด่าเราอยู่ก็ได้”

นางสาวกันติชา ชุมมะ หรือติช่า นางแบบและนักแสดง ยกกรณีของ ask.fm เว็บไซต์ที่เปิดให้คนมาตั้งคำถามได้แบบไม่ระบุตัวตน (anoymous) ว่า มีคนมาถามทั้งทางบวกและลบ เช่น มีแฟนอย่างไร อันนี้ปกติหรือเปล่า ทะเลาะกับพ่อแม่ ฯลฯ ก็สามารถมาถามได้

นายนรพันธ์ ทองเชื่อม หรือต้น นักจิตวิทยาจากมีรักคลินิก

นักจิตวิทยาอธิบายถึงการมีตัวตนแบบนิรนามว่ามีทั้งประโยชน์และโทษ ข้อดี เช่น เด็กบางคนมีปัญหาส่วนตัว ซึ่งกรณีนี้ถ้าเป็นตัวตนแบบนิรนามจะสามารถนำไปสู่กระบวนการที่ถูกต้องได้ เช่น ถามคำถามที่เปราะบางโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน แต่โทษคือถ้าใช้ความเป็นนิรนามไปรบกวนตัวเองหรือคนอื่นจะไม่มีประโยชน์

“ความนิรนามมีข้อดีสำหรับคนที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน สมมติเขามีปัญหาสุขภาพต้องปรึกษาหมอ แต่หลายๆ คนไม่ได้มองตรงนี้ กลับใช้ความนิรนามทำให้เรามีความกล้าบ้าบิ่นในการที่จะพูดหรืออะไรก็ตาม” ครูลูกกอล์ฟเสริม

ญา วัย 15 ปี มองว่าหัวใจของเรื่องนี้คือเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ถึงไม่ได้เห็นด้วยกับคนอื่นทั้งหมด แต่ต้องเปิดใจและยอมรับความแตกต่าง และให้คิดเสมอว่าถ้าเราไม่อยากโดนแบบไหนก็ไม่ควรทำกับคนอื่นแบบเดียวกัน

ญาให้ความเห็นอีกว่า “ถ้าเด็กคนหนึ่งเลือกที่จะไปปรึกษาผู้ใหญ่ เช่น ถูกล้อว่าอ้วน ดำ ผู้ใหญ่มักบอกอย่าไปคิดมาก วันหนึ่งเพื่อนก็เลิกล้อ แต่จริงๆ แล้วเพื่อนอาจจะล้อจนลูกเราบวชเลยก็ได้ เราอยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กให้มากขึ้น ในเมื่อเด็กถูกบูลลี่มา ผู้ใหญ่ควรเป็นที่ปรึกษาหรือสามารถแนะนำเขาได้”

ในมุมของนักจิตวิทยาเสนอว่า empathy สามารถฝึกให้ทุกคนมีได้โดยเริ่มจาก ‘ฟัง’ แต่บางครั้งผู้ใหญ่บางคนมีความสามารถในการฟังน้อย แต่มีความสามารถในการสอนและเบี่ยงเบน เห็นได้จากคำว่า “ไม่เป็นไรหรอก” ดังนั้นข้อดีของการฟังคือเมื่อฟังและเข้าใจกันมากขึ้น เด็กจะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ อารมณ์ถูกระบายออก เด็กจะมีสติในการคิดและแยกแยะได้ว่า เล่น แกล้ง หรือรังแก

ครูลูกกอล์ฟ กล่าวว่า ในภาษาอังกฤษมีคำว่า trauma คือความชอกช้ำ ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถรับความชอกช้ำได้ไม่เท่ากัน

“อยากให้ผู้ใหญ่ ผู้ปกครองทุกคนจำว่าไม่ใช่ทุกคนจะรับมือกับความชอกช้ำได้เก่งเท่าคุณ” ครูลูกกอล์ฟย้ำ

ส่วนติช่าบอกว่า เมื่อก่อนตนเป็นคนชอบเถียง ทำให้เกิดการบูลลี่กลับ กระทั่งมาคิดว่าสาเหตุคืออยากมีอำนาจมากขึ้น ใครสวยสุด วิ่งเร็วสุด พอมีอำนาจทำให้ลืมความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

“เราไม่ได้เป็นเหยื่อเสมอไป เพราะในบางเรื่องราวของคนอื่น เรานั่นแหละที่เป็นตัวร้าย” ครูลูกกอล์ฟสรุป

นายนรพันธ์ นักจิตวิทยา อธิบายว่า ทุกพฤติกรรมมีที่มา บางครั้งตัวเราพยายามรักษาสิทธิแบบแสดงพลัง คือฝั่งหนึ่งใช้พลังกดขี่ ตัวเองจึงใช้พลังกดขี่ที่มากกว่า ดังนั้นควรควบคุมลักษณะของการแสดงอำนาจ สังเกตอารมณ์ตัวเองให้จบ ไม่ต้องดูผลว่าจะต้องมาตอบอย่างไร

Free Speech ไม่ใช่ข้ออ้างในการบูลลี่คนอื่น

ติช่ามองว่าฟรีสปีช (free speech) มักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการไปด่าคนอื่น

“มันก็จริงอยู่ขั้นหนึ่งนะ เป็นสิทธิของคุณ แต่คุณไปทำร้ายคนอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็โอเค ถ้าใช่ก็คิดอีกที ฟรีสปีชมันต้องมากับสามัญสำนึกนะ แต่หลายคนไม่มีสามัญสำนึกเลย แปลว่าถ้าคุณสามารถเอาไปควบคู่กัน โอเคฉันพูดในสิ่งที่ฉันคิดโดยไม่ทำร้ายเธอ หรือติเพื่อทำให้เธอดีขึ้น ไม่ได้ไปด่ามั่วซั่ว” ติช่ากล่าว

นางสาวณัฐวดี ไวกาโล หรือซูซี่ อายุ 25 ปี ครีเอเตอร์ในแอปพลิเคชั่น Tiktok

ส่วนซูซี่มองว่า “ถ้าอยากแสดงความเห็น แสดงผลงานเราดีกว่า ผลงานเราไม่ดีก็บอกเราเลย ไม่ใช่มานอกประเด็นคือรูปร่าง หน้าตา กิริยา อะไรที่ไม่ถูกกาลเทศะคุณบอกเราได้เลย เราจัดการได้ แต่บางคนแสดงความเห็นแบบอยากพูดให้เจ็บช้ำ มันไม่ค่อยโอเค”

ญาบอกว่า “ถ้าตัวเองมีสิทธิแสดงความเห็น ดังนั้นคุณต้องสามารถรับผิดชอบกับความคิดเห็นที่คุณแสดงไปได้ ส่วนใหญ่คนที่ใช้ฟรีสปีชมักจะมาในรูปแบบอวตาร ไม่มีใครรู้ว่าเป็นฉัน เขาถึงกล้าใช้คำว่าเขามีสิทธิในการแสดงความเห็น แต่ถ้าเขาใช้รูปภาพจริง ชื่อจริงนามสุกลจริง เขาจะไม่กล้า เพราะเขาไม่สามารถรับผิดชอบได้เช่นกัน”

ครูลูกกอล์ฟเสริมว่า ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็น “แอคหลุม” หรือ “แอคจริง” จะทำให้มีสามัญสำนึกและความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น

“เราเคยแชร์เรื่องราวเฮทสปีช (hate speech) ค่อนข้างเยอะในยุคทวิตเตอร์ เรามีฟอลโลเวอร์ (ผู้ติดตาม) ไม่กี่พัน ฉันจะพูดอะไรก็ได้ ทุกคนก็มากดไลก์ในสิ่งที่หยาบคาย บางทีเป็นคำหยาบพ่นออกไป แซะคนอื่น หนักถึงขนาดใช้คำว่าสนับสนุนความรุนแรง ไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศ ด่าคนที่คิดไม่เหมือนเราว่าโง่ เราไม่มองให้รอบด้าน ทั้งที่วัยยี่สิบกว่าเรียนจบแล้วควรจะคิดได้ ก็คิดไม่ได้ เขาเล่ามา พิมพ์ทันที สะใจกับการที่มีคนรีทวีตความรุนแรงของเรา เราลืมไปแล้วด้วยซ้ำ” ครูลูกกอล์ฟย้อนความหลัง และเล่าต่อว่า “เมื่อเวลาผ่านไปไม่รู้กี่ปี จนวันหนึ่งมันกลับมา มันก็ตบหน้าเราแรงๆ ว่าอดีตบางอย่างมันก็จะอยูกับเราไปเรื่อยๆ เราต้องเรียนรู้จากมัน…มันคือคำพูดของเรา แล้ววันนี้เราก็ออกมายอมรับว่าเราเป็นคนนั้นจริงๆ เปิดบทเรียนกลับมาในบทที่ยี่สิบกว่า เราก็จะเจอเรื่องราวนี้ที่เรารู้สึกขยะแขยงตัวเองตลอด”

นายคณาธิป สุนทรรักษ์ “ครูลูกกอล์ฟ” จากสถาบันสอนภาษา ANGKRIZ

ครูลูกกอล์ฟเสนอว่า…

ให้ทุกคนย้อนกลับไปดู digital footprint ของตัวเอง แล้วดูว่าความคิดเห็นใดที่ไม่ได้สะท้อนตัวเองในวันนี้แล้วให้แคปหน้าจอ และเก็บไว้กับตัวเอง

นายนรพันธ์แนะนำเทคนิค 3D โดยเริ่มจาก Delay คืออย่าเพิ่งทำทันที เพราะอารมณ์จะมาก่อนเสมอ ดังนั้นให้ถามตัวเองว่าทนได้นานแค่ไหนกับ digital footprint แล้วชั่วโมงถัดไปค่อยมาอ่านอีกรอบ

ต่อมา Distract เบี่ยงเบนตัวเองออกจากอารมณ์

สุดท้าย Decision ตัดสินใจว่าตัวเองจะทำอย่างไรในตอนที่อารมณ์จบไปแล้ว

รับมือการบูลลี่ เห็นคุณค่าตัวเอง-ไม่บูลลี่คนอื่นซ้ำ

ซูซี่ยังมีสถานะ ‘แม่’ ของลูกวัย 5 ขวบ ที่ย้ำกับลูกเสมอว่าสีผิวของเขาเป็นสิ่งมีค่า ดังคำที่ว่า “Black is Beautiful” และต้องทำให้เด็กภูมิใจกับสีผิว

“การอยู่กับโลกแห่งความจริง” เป็นวิธีการรับมือการถูกบูลลี่ของซูซี่ โดยยกตัวอย่างโรงเรียนว่า บางครั้งครูก็ไม่สามารถช่วยได้ ทำให้ต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง ไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเมื่อกลับถึงบ้านคนในครอบครัวจะช่วยลดความรู้สึกแย่ๆ ที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ครูลูกกอล์ฟกล่าวว่า “ซูซี่โชคดีที่มีครอบครัว แต่วันนี้เรากำลังให้ทุกคนช่วยผลักความคิดว่าทุกคนที่เขาโดนบูลลี่ เขาไม่ได้กลับบ้านและมีกรอบที่อุ่น วันนี้ถ้าทุกคนหยุดและไปบอกต่อ เพราะหลายคนไม่รู้ว่าเขากำลังบูลลี่อยู่”

นายนราพันธ์เสริมว่า การบูลลี่มักไม่ได้มาจากกลุ่มก้อนเดียวกัน ตัวอย่างเช่น คนที่ล้อซูซี่ก็ไม่ได้เป็นลูกครึ่งไทย-แอฟริกัน เพราะถ้าเป็นกลุ่มเดียวกันจะไม่ตำหนิตัวเอง คนจึงพยายามแยกกันด้วยคำพูดว่าเขาและเราไม่เหมือนกัน

“ถ้าเรามีเส้นของการเคารพความแตกต่าง เรื่องนี้มันจะจบ เขาจะเป็นอย่างไร เราเคารพในสิ่งที่เขาเป็น” นายนราพันธ์กล่าว

ญาเห็นด้วยกับความคิดเห็นของนักจิตวิทยาว่าในสมองจะมีส่วนที่สั่งการกับส่วนที่เบรก ถ้าคนไม่ใช้สมองส่วนที่เบรก จนวันหนึ่งเขาไม่สามารถใช้สมองควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ถึงวันหนึ่งอาจเป็นคนที่เสียสุขภาพจิต

นางสาวกันติชา ชุมมะ หรือติช่า นางแบบและนักแสดง

ติช่าเล่าถึงวิธีรับมือว่าต้องรู้สึกดีกับตัวเองและมั่นใจ ที่สำคัญคือควบคุมอารมณ์ของตัวเอง แล้วเวลาเจอคำด่าจะไม่รู้สึกว่าโดนทำร้าย

“เช่นบอกว่าเราไม่สวย เราไม่เก็ตเลย มันทำอะไรไม่ได้เลย คุณอยากให้เรารู้สึกแย่หรอ มันไม่เวิร์ก เพราะมันไม่สวยจริงๆ” ติช่าเผยความในใจ

นายนราพันธ์สรุปว่า พอเราก้าวสู่ยุคดิจิทัลในการสื่อสารข้อมูล ชื่นชมคนอื่น ขณะเดียวกันก็ทำร้ายคนอื่น ดังนั้นในฐานะผู้ส่งและผู้รับจะต้องก้าวผ่านเรื่องการบูลลี่ โดยยกเครื่องมือที่มีชื่อว่า DQ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทักษะต่างๆ ในดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนลูกเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่ง DQ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กรับมือการบูลลี่ไปพร้อมกันได้

โดย AIS ได้นำเข้าแบบเรียนรู้ DQ ซึ่งมีทั้งบททดสอบวัด DQ ในตัวคุณ และบทเรียนออนไลน์ที่มีประโยชน์ เสริมสร้างทักษะทางดิจิทัลในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย และแอนิเมชันให้คนไทยทุกเครือข่ายเรียนรู้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่เว็บไซต์www.ais.co.th/dq

อ่านเพิ่มเติม ภัยเงียบช่วงกักตัว AIS เผยสถาบันดีคิวพบ เด็กไทย 79% ถูกคุกคามจากไซเบอร์