ThaiPublica > เกาะกระแส > “คชสีห์ 2012” ซ้อมรบไทย-สิงคโปร์ โชว์ “กองพลทหารราบยานเกราะ” เช็คสมรรถนะกองทัพบก

“คชสีห์ 2012” ซ้อมรบไทย-สิงคโปร์ โชว์ “กองพลทหารราบยานเกราะ” เช็คสมรรถนะกองทัพบก

4 เมษายน 2012


ทหารไทย-สิงคโปร์ ในพิธีเปิดการฝึกผสมกองทัพบกไทยกับกองทัพบกสิงคโปร์ ภายใต้รหัส  “คชสีห์ 2012” ครั้งที่ 14 ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี
ทหารไทย-สิงคโปร์ ในพิธีเปิดการฝึกผสมกองทัพบกไทยกับกองทัพบกสิงคโปร์ ภายใต้รหัส “คชสีห์ 2012” ครั้งที่ 14 ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี
พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผบ.พล.ร.2 รอ.
พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผบ.พล.ร.2 รอ.

การฝึกผสมกองทัพบกไทยกับกองทัพบกสิงคโปร์ ภายใต้รหัส “คชสีห์ 2012” ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 5 เมษายน 2555 จ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว นับเป็นครั้งแรกในการฝึกทางยุทธวิธีระหว่างหน่วยทหารราบยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 กองทัพบกไทย กับ ยานเกราะล้อยางเทอร์เร็กซ์ (TERREX) กองทัพบกสิงคโปร์

งานนี้ กองทัพบกไทยใช้รถยานเกราะล้อยางบีทีอาร์ 16 คัน ทหารไทย 370 นาย ขณะที่ทางสิงคโปร์ใช้ยานเกราะเทอร์เล็กซ์ 14 คัน ทหารสิงคโปร์ 180 นาย เข้าร่วม โดยมี “บิ๊กเข้” พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผบ.กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) คุมการการฝึกครั้งนี้

“คชสีห์ 2012” มีจุดประสงค์เพื่อให้กองทัพทั้ง 2 ประเทศมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ ความชำนาญ ในการวางแผนของฝ่ายอำนวยการการควบคุมบังคับบัญชา การฝึกยุทธวิธี เทคนิค และการปรนนิบัติบำรุง และประสานงานระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ มีการจำลองการปฏิบัติงานร่วมในกรอบยูเอ็น ในสถานการณ์ยุติความขัดแย้งที่จะขยายเป็นสงครามกลางเมืองในประเทศที่สาม ซึ่งจะส่งผลต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

โดยแบ่งเป็นการฝึกแลกเปลี่ยน/ปรับมาตรฐาน (Cross Training Exercise: CTX) ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 21–26 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ เทคนิคและประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองประเทศ และพัฒนาการขีดความสามารถในการใช้ยานเกราะล้อยางของกำลังพลทุกระดับ และสร้างเสริมความรู้เรื่องยานเกราะล้อยางของมิตรประเทศ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพ รวมทั้งเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ

ส่วนการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) และการฝึกยิงด้วยกระสุนจริง Live – Fire Exercise: (LFX) ในพื้นที่ บ.ภักดีแผ่นดิน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. – 5 เม.ย.นี้ เป็นการฝึกภาคสนามในกรอบของกองพันผสม และทำการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง

ยานเกราะล้อยางเทอร์เล็กซ์ (TERREX) กองทัพบกสิงคโปร์
ยานเกราะล้อยางเทอร์เล็กซ์ (TERREX) กองทัพบกสิงคโปร์

วันที่ 5 เม.ย.นี้ กลายเป็นงานใหญ่ขึ้นมาทันที เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้เรียนเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง, “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ โดยมี พล.ต.ราวินเดอร์ ซิงห์ ผบ.ทบ.สิงคโปร์ ร่วมพิธีปิด “คชสีห์ 2012” ที่เตรียมการโชว์ยุทธวิธีการเข้าตีเป้าหมายด้วยกระสุนจริง!!!

งานนี้ กองทัพบกเตรียมโชว์แสนยานุภาพของหน่วยทหารราบยานเกราะเต็มที่ นี่ยังไม่นับรถถัง ปืนใหญ่ รถฮัมวี่ เฮลิคอปเตอร์แบบต่างๆ เข้าร่วมการสาธิตการครั้งนี้ เรียกได้ว่า “นายกฯ” มาชมการฝึกที่ต้องโชว์ศักยภาพให้เต็มที่ให้สมที่เป็นกองทัพอันดับ 1 ของไทย

ที่สำคัญ ถือเป็นการเปิดตัวกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ที่เป็นกองพลทหารราบยานเกราะกองพลเดียว และเปิดตัวรถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 อย่างเป็นทางการ

การตั้ง “กองพลทหารราบยานเกราะ” มาบรรจุไว้ที่ พล.ร.2 รอ. เนื่องจากพื้นที่ในภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในด้านความมั่นคงสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ และมีความกว้างของพื้นที่ปฏิบัติการมาก ระยะทางจากชายแดนเข้ามากรุงเทพฯ มีระยะทางไม่ไกลมาก ทำให้การใช้ยานเกราะจะทำให้หน่วยสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ

โดยหน่วยที่แปรสภาพเป็นหน่วยยานเกราะ ได้แก่ กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 รอ.) ที่มี “ผู้การหนุ่ย” พ.อ.ธรรมนูญ วิถี ผบ.ร.12 รอ. นำทัพ ได้บรรจุยานเกราะสายพานแบบ M113 ทั้งกรม ซึ่งกรมทหารหน่วยอื่นในปัจจุบันกำลังแปรสภาพโดย กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 พัน 1 รอ.) ที่มี “ผู้การแดง” พ.อ.ศตวรรษ รามดิษฐ์ ผบ.ร.2 รอ. บัญชาการ เป็นกองพันทหารราบยานเกราะ

ขณะที่ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ (ป.2 รอ.) ที่มี “ผู้การชู” พ.อ.บุญชู กลิ่นสาคร ผบ.ป.2 รอ. ควบคุมการพัฒนาอาวุธสนับสนุน เพื่อให้หน่วยปืนใหญ่ ร.2 รอ. สามารถให้การสนับสนุนทหารราบยานเกราะ โดยมีพระเอกที่สำคัญของหน่วย คือ ปืนใหญ่ “ซีซาร์” ชนิดเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง ขนาดความกว้างปากลำกล้อง 155 มม.จำนวน 6 กระบอก ดังนั้น กองพลทหารราบยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ถือเป็นหน่วยรบใหม่ที่มีประสิทธิภาพของกองทัพบก

แต่ทว่า ในอดีตที่ผ่านมากว่า 5 ปี โครงการรถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 (รถยานเกราะยูเครน) จำนวน101 คัน ล็อตแรกมูลค่า 5 พันกว่าล้านบาท เป็นโครงการลากยาวหลายปีเนื่องจากติดปัญหาเรื่องเสป็กของเครื่องยนต์ ปัญหาด้านเทคนิคและข้อกฎหมาย ทำให้ไทยกว่าจะได้รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จำนวน 2 คันแรกเมื่อ 17 ก.ย.2553 ในยุคของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในตอนนั้น ที่สู้มาตลอดเพื่อจะให้ได้รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 มาเป็นยุทโธปกรณ์ปกป้องชายแดนไทยด้านทิศตะวันออก

ปัจจุบัน กองทัพบกมีรถยานเกราะบรรจุในหน่วยแล้ว 43 คัน โดยทางบริษัทผู้ผลิตจากยูเครนเตรียมส่งมอบรถยานเกราะที่เหลือ 58 คัน ในช่วงพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ครบตามสัญญา ขณะที่โครงการรถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จำนวน 121 คัน ล็อตสองวงเงิน 5 พันกว่าล้านบาท ที่จะเริ่มทยอยส่งในปีนี้และให้ครบภายในปี 2557 เพื่อนำไปบรรจุใน กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 1 รอ.) ที่มี “ผู้การติ่ง” พ.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ บัญชาการ เพื่อให้เป็นกองพันทหารราบยานเกราะอีก 1 แห่ง

ทั้งนี้ รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ผลิตโดยบริษัท KHARKY MORZOV DESIGN BUREAU จากประเทศยูเครน ซึ่งมีประจำการในกองทัพของหลายประเทศ เช่น กองทัพยูเครน กองทัพปากีสถาน กองทัพตุรกี กองทัพเยเมน และกองทัพเกาหลีใต้ โดยเป็นรถยานเกราะล้อยางประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถตอบสนองภารกิจได้หลายรูปแบบ เช่น การลำเลียงพลการบรรทุกเครื่องยิงลูกระเบิด การลาดตระเวนการพยาบาลสนาม และการกู้ภัยสงคราม

สำหรับลักษณะทั่วไปของรถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวถังผลิตจากเหล็กกล้าชนิดแข็งมาก น้ำหนักพร้อมรบสูงสุด 16.5 ตัน ชนิดเครื่องยนต์ดีเซล MERCEDES MTU 6R1O6TD21 ขนาด 326 แรงม้า ถังน้ำมันความจุ 350 ลิตร ระบบการขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ 8 ล้อ พร้อมกันได้ ระบบห้ามล้อควบคุมด้วย HYDRAULIC ทั้ง 8 ล้อ มีล้อยางชนิด RUN FLAT ไม่มียางใน สามารถขับเคลื่อนที่ได้ในขณะที่ไม่มีลมยางและสามารถปรับแรงดันลมยางได้จากตำแหน่งพลขับ

มีระบบตรวจการณ์ค้นหาเป้าหมายแบบกล้อง TV ทั้งกลางวันและกลางคืน กล้องตรวจการณ์รอบทิศทาง PANORAMA (360 องศา) ระบบอาวุธถือว่าเป็นลักษณะเด่นของรถยานเกราะล้อยางนี้ มีอำนาจการยิงจากระบบอาวุธ 5 ระบบ ได้แก่ ปืนใหญ่อัตโนมัติ ปืนกล เครื่องยิงลูกระเบิด เครื่องยิงระเบิดควัน และเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ทั้งนี้ หากสถานการณ์จำเป็น กำลังพลในรถยานเกราะยังสามารถทำการรบจากภายในได้ด้วยอาวุธประจำกายของตน ผ่านทางช่องยิงโดยรอบรถยานเกราะทำให้เป็นยานลำเลียงพลและยานรบในตัวเดียวกัน

รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1
รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1

นอกจากนี้ รถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 สามารถทำการยิงปืนประจำรถทั้ง 5 ระบบ คือ ระบบจรวดต่อสู้รถถัง BARRIER นำวิถีด้วยแสงเลเซอร์แบบกึ่งอัตโนมัติยิงที่หมายตั้งแต่ระยะ 75 เมตร ถึง 5,500 เมตร (จำนวน 4 นัด/คัน) ระบบปืนหลัก MAIN GUN เป็นปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร อัตราการยิง 330 นัด/นาที (อัตรากระสุนประจำรถจำนวน 400 นัด) ระยะยิงหวังผลด้วยกระสุนระเบิดเท่ากับ 4,000 เมตร ระบบปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตร อัตราการยิง 700 ถึง 800 นัด ระยะยิงหวังผล 2,000 เมตร (อัตรากระสุนประจำรถจำนวน 2,000 นัด) ระบบเครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร อัตราการยิง 350 ถึง 400 นัด/นาที ระยะยิงไกลสุด 1,700 เมตร (อัตรากระสุนประจำรถ 87 นัด) และระบบเครื่องยิงระเบิดควันขนาดลำกล้อง 81 มิลลิเมตร จำนวน 6 ลำกล้อง สามารถทำฉากควันที่ระยะ 210 ถึง 350 เมตร

ในส่วนสมรรถนะของรถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จากขนาดความจุของถังน้ำมัน 350 ลิตร สามารถปฏิบัติการบนถนนระยะประมาณ 850 กิโลเมตร ปฏิบัติการในภูมิประเทศระยะประมาณ 500 กิโลเมตร อัตราการสิ้นเปลือง 2 กิโลเมตรต่อน้ำมัน 1 ลิตร และสามารถเคลื่อนที่ไปในภูมิประเทศที่มีความยากลำบากทุรกันดารได้ทั้งที่ลุ่ม ป่า ภูเขา ลำน้ำ และทะเล ความเร็วสูงสุดบนถนนไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

รวมถึงสามารถเคลื่อนที่ทางน้ำ สามารถเคลื่อนที่ต่อเนื่องจากบนบกลงสู่ผิวน้ำได้ในลักษณะสะเทินน้ำสะเทินบกโดยไม่ต้องหยุดเพื่อเตรียมการใดๆ เพียงแค่พลขับปรับคันบังคับจากระบบล้อไปเป็นการใช้เครื่องพ่นน้ำระบบใบพัดภายในแบบ JET PROPELLER แบบเปลี่ยนอัตโนมัติ ความเร็วสูงสุดในลักษณะการสะเทินน้ำสะเทินบก 8 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเมื่อต้องการขึ้นจากผิวน้ำก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องหยุดการเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน

ดังนั้น พิธีปิด “คชสีห์ 2012” วันที่ 5 เม.ย.นี้ถือเป็นการเปิดตัวรถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 อย่างเป็นทางการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อแสดงสมรรถนะความสามารถ ให้รัฐบาลเห็นว่าโครงการดังกล่าวคุ้มค่าสมราคา และมั่นใจต่อรถยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จะเป็นเขี้ยวเล็บของกองทัพบกไทยต่อการปกป้องอธิปไตยไทยด้านทิศบูรพา…