ThaiPublica > เกาะกระแส > “มดงาน อสม.” เคาะบ้าน 12.4 ล้านหลัง พลังจิตอาสา “เป็นหูเป็นตา” เฝ้าระวังโควิด-19

“มดงาน อสม.” เคาะบ้าน 12.4 ล้านหลัง พลังจิตอาสา “เป็นหูเป็นตา” เฝ้าระวังโควิด-19

17 พฤษภาคม 2020


อสม.ลงพื้นที่ในหมู่บ้าน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

“บางทีเขาไม่ได้เรียกเราว่า ‘อสม.’ เขาเรียกหมอ เพราะเรารู้จักทุกคน เขาคิดว่าเราเป็นหมอมาจากโรงพยาบาล ทุกคนจะเชื่อฟัง ไม่ค่อยมีใครอยากมีปัญหา… เวลาเห็น อสม. ถ้าเขาไม่ใส่แมสก์เขาจะกลัวเลย บอกเดี๋ยวผมไปเอาแมสก์ก่อน (น้ำเสียงลุกลี้ลุกลน) เราเห็นก็ดีใจที่เขาฟังและให้ความร่วมมือจนบ้านเรา (บุรีรัมย์) ไม่มีคนป่วย”

เสียงสะท้อนจากการลงพื้นที่ของ “ชลาธร สวายประโคน” อสม.ตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เล่าถึงบทบาทของการทำหน้าที่ ‘อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน’ (อสม.) กับการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อภายในหมู่บ้าน เคาะประตูบ้านตรวจวัดไข้ และเป็นหูเป็นตาตั้งแต่การเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก กันไม่ให้คนมั่วสุม และไม่ให้คนฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

ปัจจุบันประเทศไทยมี อสม. ราว 1,050,000 คน รองรับ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครอีก 15,000 คน มีหน้าที่ให้ความรู้ รักษาโรคเบื้องต้น เฝ้าระวังและค้นหากลุ่มเสี่ยงโควิด-19 โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สบส. เบิก ‘งบกลาง’ สำหรับการปฏิบัติงานเฝ้าระวังไงวรัสตามพื้นที่ทั่วประเทศเป็นเงินทั้งสิ้น 65,295,000 บาท แบ่งเป็น 3 งวด

    งวดที่ 1 ผลการดำเนินงาน อสม. ระหว่างวันที่ 2-26 มีนาคม 2563 เป็นเงิน 19,623,050 บาท
    งวดที่ 2 ผลการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2563 เป็นเงิน 33,267,750 บาท
    งวดที่ 3 อยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นเงิน 12,404,200 บาท

ผลการดำเนินงานของคือ อสม. เคาะประตูบ้านเฝ้าระวังโควิด-19 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,730,083 หลังคาเรือน ภายใต้รูปแบบการทำงาน 4 กลุ่มหลังจากที่ไวรัสแพร่ระบาด

    (1) อสม. ด่านหน้า ปฏิบัติหน้าที่ติดตามกลุ่มเสี่ยง (home quarantine) และปฏิบัติงาน ณ จุดคัดกรองชุมชน
    (2) อสม. เคาะประตูบ้านค้นหากลุ่มเสี่ยง และให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน
    (3) อสม. กลุ่มสนับสนุน เช่น ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฯลฯ
    (4) อสม. ที่ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19

ด้วยแนวคิดสาธารณสุขมูลฐานแบบ “ประชาชนบริการประชาชน” นับเป็นบทบาทสำคัญในป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามพื้นที่ต่างจังหวัด พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากการทำงานของ อสม. แบบ ‘เคาะประตู’ พูดคุย ให้ข้อมูลและช่วยเหลือชาวบ้านในฐานะคนในพื้นที่ ทำให้เข้าใจความเป็นไปของชุมชน และสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในพื้นที่ด้วยกันเอง

“ตำบลเรามี 14 หมู่บ้านจะตั้งด่านทุกจุด ส่วนบ้านเราหมู่ 9 มีทั้งหมด 170 หลังคาเรือน วันหนึ่งตรวจไปกว่า 20 หลังคาเรือน วันนี้ไปคุ้มนู้นบ้างคุ้มนี้บ้าง อสม. จะเดินไปทีละหลังคา” อสม. ต.ปังกู อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ให้ข้อมูล

ขั้นตอนการทำงานของ อสม. ภายใต้วิกฤติโควิด-19 เป็นไปตามข้อสรุปการประชุม ครั้งที่ 4/2563 จากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน

    (1) การเตรียมความพร้อมระดับจังหวัด โดยจะมีการเตรียมการตั้งแต่ข้อมูล คอยติดตามสถานการณ์โรค ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด ถัดมาเป็นการเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย สื่อให้ความรู้/คำแนะนำ และแบบฟอร์มรายงานผล
    (2) อสม. เคาะประตูบ้าน
    (3) คัดกรองด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการ และวัดไข้
    (4) ประสานงานต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเจ้าหน้าที่จะทำการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 หรือไม่ หากพบเชื้อจะถูกส่งตัวไปรักษาตัว
    (5) กรณีที่ไม่พบเชื้อ กลุ่มเป้าหมายจะยังคงถูกติดตามอาการ 14 วัน โดยเฝ้าระวังอาการ และจะมี อสม. เข้าไปวัดไข้ทุกวัน
    (6) รายงานผลผ่านช่องทางออนไลน์
อสม.ลงพื้นที่บ้านวัดตาลใต้ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ด้านแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “เพื่อน อสม.” เพจที่รวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ อสม. ทั่วประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า บทบาทของ อสม. ที่เพิ่มเข้ามาในช่วงวิกฤตินอกจากช่วงวิกฤติคือการส่งยาให้ผู้ป่วยหรือที่เรียกว่า Grab Drug จากสถานการณ์ปกติที่ชาวบ้านออกไปรับยาตามสถานพยาบาลด้วยตนเอง แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้การส่งยากลายเป็นหน้าที่ของ อสม. ไปโดยปริยาย

เมื่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลและโรงพยาบาลชุมชนจัดยาให้ อสม. แต่ละพื้นที่ไปแจกจ่ายให้ผู้ป่วยในหมู่บ้าน อสม. จะนำยาไปส่งโดยใช้วิธีการผูกถุงยากับไม้ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ต้องสัมผัสมือผู้ป่วย ตามหลัก social distancing

แอดมินเพจเพื่อน อสม. กล่าวต่อว่า อสม. ยังต้องเฝ้าระวังคนที่เดินทางกลับจากต่างจังหวัด โดย อสม. จะไปที่บ้านของผู้เดินทางแล้วมีการประสานข้อมูลให้ส่วนกลาง อีกทั้งตามจุดคัดกรองก็จะมี อสม. ประจำทุกจุด มีการเข้าเวรกันแบ่งเป็น 2 กะ ช่วงกลางวันและกลางคืน

“จากมาตรการไม่ให้จัดงานเลี้ยง หรืองานอะไร แต่งานที่ห้ามไม่ได้คืองานศพ เมื่อไรที่มีงานศพจะมี อสม. ไปประจำ ไปตรวจวัดไข้ แจกเจลล้างมือ แจกหน้ากาก” แอดมินเพจเพื่อน อสม. กล่าว

ยิ่งในพื้นที่สีแดงที่ยังคงการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น ภูเก็ต สามจังหวัดชายแดน กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ฯลฯ และชุมชน-หมู่บ้านที่มี ‘กลุ่มเปราะบาง’ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ติดบุหรี่ สุรา และยาเสพติดในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ยิ่งต้องอาศัยบทบาท อสม. ให้ช่วยเป็นหูเป็นตา เนื่องด้วยกลุ่มเปราะบางอาจไม่ได้แสดงอาการอย่างชัดเจน กระทั่งบางครั้งกลุ่มเปราะบางไม่สามารถบอกอาการตนเองได้

ดังนั้นสิ่งที่ อสม. ต้องทำคือ เฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ติดตามอาการทุก 1-2 วันจนครบ 14 วัน สังเกตอาการหายใจเร็ว-หอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึม สับสน และความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลง

ส่วนพื้นที่สีเขียวซึ่งไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระยะ 14 วัน บทบาทของ อสม. จะเปลี่ยนไปเป็นการรณรงค์ให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ให้ อสม. ทำตัวเป็นต้นแบบและแนะนำให้ประชาชนกินร้อน ช้อนส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ

นอกจากนี้ อสม. ยังได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดระเบียบในตลาดสดให้เว้นระยะห่างในการซื้อของ รถเร่ขายอาหาร ร้านค้า ร้านขายอาหารในชุมชน และงานศพ รวมทั้งร่วมทีมปฏิบัติงานที่ด่านตรวจคัดกรองในชุมชน ให้ความรู้ผ่านสื่อชุมชน เช่น หอกระจายข่าว เสียงตามสาย รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่

แอดมินเพจเพื่อน อสม. เล่าว่า “อสม. มีบทบาทอย่างมากในการเฝ้าระวังโรค อย่างเรื่องของโรคอุบัติใหม่ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2546-2547 ไข้หวัดนก H5N1 ครั้งนั้นเป็นการระบาดจากสัตว์ปีก ไม่ใช่การระบาดจากคนสู่คน ช่วงนั้น อสม. เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขที่ไปเคาะประตูบ้านสำรวจสัตว์ปีก เขาเป็นแขนเป็นขาให้กับกรมปศุสัตว์ในเรื่องสัตว์ปีก การระบาดหลังจากนั้นมีโรคซาร์สแต่มันก็จะไม่ได้รุนแรงมาก”

อสม.ลงพื้นที่ลองตอง จ. สุพรรณบุรี ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

มาครั้งนี้ โควิด-19 ชัดเจนมากว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบเยอะ ฉะนั้น อสม. ก็จะมีบทบาทในการลงพื้นที่ พูดได้เลยว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการสาธารณสุขชุมชน และเรามองว่ามันจะเป็นพื้นฐานของการทำงานในอนาคต หมายความว่าคนยอมรับอาสาของคนกลุ่มนี้มากขึ้น และเขาจะให้ความร่วมมือมากขึ้น” แอดมินเพจเพื่อน อสม. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไวรัสแพร่ระบาดตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 มี อสม. ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 2 ราย แต่ได้รับการยืนยันว่ารักษาหายแล้ว

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในที่ประชุม อสม. เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ว่าแม้ไม่มี อสม. เสียชีวิตจากการติดเชื้อ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมี อสม. 3 รายเสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน

“รายแรกที่พิษณุโลกที่ด่านคัดกรองพบเส้นเลือดในสมองแตก อีกรายที่ด่านคัดกรองที่คัดกรอง อยู่เวร local quarantine ก็เส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต ส่วนรายที่สามออกไปแจกแมสก์กับเจลแอลกอฮอล์ที่ได้รับจาก อบต. เอาไปให้ชาวบ้าน เกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ชนกับรถบรรทุกน้ำแข็งที่สุพรรณบุรี” รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ข้อมูล

ด้วยความที่ อสม. เป็นแบบจิตอาสา-อาสาสมัคร ทำให้ อสม. มีผู้สูงอายุมาร่วมทำงานด้วย แม้ สบส. จะกำชับว่า อสม. ที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องมีสุขภาพแข็งแรง และ อสม. ที่อายุมากกว่า 70 ปีควรงดปฏิบัติงาน แต่ยังไม่มีมาตรการอย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าว

“บางครั้ง อสม. ได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการควบคุมโรคระดับอำเภอให้เข้าไปอยู่ด่านคัดกรอง ถ้า อสม. ประเมินแล้วว่าไม่พร้อม หรือมีโรคประจำตัว ก็ให้ปฏิเสธหรือเลี่ยง ต้องมีการประเมินตัวเองก่อนก่อนที่จะออกไป ถ้าพบว่ามีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ก็ควรหยุดปฏิบัติงานและได้รับการตรวจ รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้พร้อม” รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเยียวยาของ อสม. ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่จะได้รับ 10,000 บาท และจากมูลนิธิ อสม. ให้กรณีเสียชีวิตอีกรายละ 5,000 บาท ส่วนสมาชิก อสม. ได้รับ 200,000 บาท

ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีการจ่ายเงินเยียวยาให้ อสม. เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ กรณีป่วยติดโควิด เยียวยา 100,000 บาท พิการ 240,000 บาท เสียชีวิต 400,000 บาท ต่อมาได้มีการปรับให้เมื่อเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่จะได้รับเงินเป็นสองเท่าคือ 800,000 บาท