
กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำรวจฐานะการเงิน 82 สหกรณ์ เจ้าหนี้การบินไทย ถือหุ้นกู้ 42,000 ล้าน พบ 15 แห่ง สภาพคล่องต่ำกว่า 10% เล็งผ่อนกฎลดภาระตั้งสำรองหนี้สูญ
ตามที่มีกระแสข่าวบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังจัดทำคำร้อง และแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อยื่นต่อศาลล้มละลาย ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเฉพาะกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เกิดความวิตกกังวล เกรงว่าเงินของสมาชิกที่นำไปลงทุนในการบินไทยจะไม่ได้คืน จึงส่งตัวแทนเข้าหารือกับนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมหามาตรการรับมือกรณีการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ปัจจุบันมีกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ 82 แห่ง นำเงินไปลงทุนในบมจ.การบินไทยประมาณ 42,503 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.62% สินทรัพย์รวม 1.17 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 4 แห่ง ลงทุนหุ้นสามัญของบริษัทการบินไทย 274 ล้านบาท อีก 81 แห่ง ลงทุนหุ้นกู้ รวม 42,229 ล้านบาท น้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่หุ้นกู้
หากจำแนกตามสัดส่วนของเงินที่ลงทุนหุ้นกู้ พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นกู้ของการบินไทยไม่เกิน 5% ของสินทรัพย์ มีอยู่ 59 แห่ง , ลงทุน 5-10% มีประมาณ 15 แห่ง,ลงทุน 10-15% มี 5 แห่ง และ ลงทุน 15-20% มีเพียง 2 แห่ง
ข้อสังเกตคือมีสหกรณ์ที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ของการบินไทยจัดเป็นสหกรณ์ชั้นที่ 1 มีฐานะการเงินมั่นคง ใช้เงินทุนที่มาจากสมาชิกของตนเองเป็นหลัก เข้าไปลงทุนในการบินไทยมีสัดส่วนเฉลี่ย 3.6% ของสินทรัพย์ แต่มีเพียง 7 แห่งเท่านั้น ที่นำเงินเข้าไปลงทุนมากกว่า 10% ของสินทรัพย์รวม โดยภาพรวมแล้วไม่น่ามีผลกระทบต่อฐานะการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 81 แห่ง แต่อย่างใด
แต่ถ้ามาดูระยะเวลาไถ่ถอนจะเห็นว่าหุ้นกู้ของบมจ.การบินไทย ครบกำหนดไถ่ถอนทุกปี นับตั้งแต่ปี 2563-2577 เฉพาะปี 2563 มีหุ้นกู้ของ การบินไทยที่ถือครองโดยสหกรณ์ออมทรัพย์ 21 แห่ง กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนสิงหาคม และกันยายน 2563 คิดเป็นมูลค่า 1,117 ล้านบาท หาก บมจ.การบินไทย ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนดเวลา ตามกฎหมายสหกรณ์ทั้ง 21 แห่ง ต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวน
ตรงนี้จะส่งผลกระทบ 2 เด้ง กล่าวคือ แทนที่สหกรณ์ออมทรัพย์จะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย ก็ไม่ได้ แถมยังนำเงินรายได้มาตั้งสำรองหนี้เต็มจำนวนด้วย คาดว่าจะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ 9 แห่ง กำไรลดลงมากกว่า 10% ซึ่งจะมีผลทำให้สมาชิกได้รับเงินปันผลน้อยลง แต่ไม่มีสหกรณ์แห่งใดขาดทุนจากการตั้งสำรองฯ อย่างไรก็ตาม นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “การชำระหนี้คืนไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าบมจ.การบินไทย ไม่สามารถคืนเงินได้ตามเวลาที่กำหนด นายทะเบียนสหกรณ์ก็จะใช้อำนาจในการผ่อนคลายเกณฑ์สำรองหนี้สงสัยจะสูญให้กับสหกรณ์นั้น ๆได้” นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะปี 2563
ส่วนหุ้นกู้ของการบินไทยที่จะครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบมจ.การบินไทย เชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างดีที่สุด
หากพิจารณาสภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 82 แห่ง พบว่ามีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนในการบินไทย 67 แห่ง มีสภาพคล่องมากกว่า 10% ส่วนที่เหลือ 15 แห่ง มีสภาพคล่องน้อยกว่า 10% ปัญหา คือ หากสมาชิกขาดความเชื่อมั่น แห่ถอนเงิน อาจทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขาดสภาพคล่องในระยะสั้นๆ ดังนั้น สหกรณ์ออมทรัพย์จึงควรชี้แจงและทำความเข้าใจกับสมาชิก รวมทั้งจัดเตรียมเงินสด เพื่อรองรับการถอนเงินฝาก โดยการเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้เป็นเงินสด
สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทยจำกัด มีฐานะการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง ผลประกอบการมีกำไรติดต่อกันถึง 3 ปี ณ สิ้นปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,365 ล้านบาท แต่ก็อาจได้รับผลกระทบในกรณีที่สมาชิกขาดความเชื่อมั่น ลาออก หรือ ถอนเงินฝากจำนวนมาก และทำให้สหกรณ์ต้องต้องคืนเงินรับฝากและค่าหุ้นให้กับสมาชิก รวมไปถึงกรณีสมาชิกถูกเลิกจ้าง หรือ ลดเงินเดือน อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกที่ใช้วิธีหักเงินเดือนใช้หนี้ ทำให้ NPL เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน สมาชิกก็อาจจะไม่ฝากเงินเพิ่ม หรือ นำส่งเงินค่าหุ้นรายเดือนน้อยลง ส่งผลทำให้มีเงินสดเข้าสหกรณ์น้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม สหกรณ์การบินไทยฯ ก็ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องที่เป็นเงินสด เงินฝาก ตราสารและกองทุน รวมกันประมาณ 8,700 ล้านบาท
ดังนั้น สหกรณ์การบินไทยฯ ควรต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ได้