ThaiPublica > เกาะกระแส > TDRI ตั้ง 5 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”

TDRI ตั้ง 5 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”

30 เมษายน 2020


รายงานโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ในช่วงนี้คำว่า “ความปกติใหม่” (new normal) เป็นคำที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง และมีคนจำนวนมากร่วมกันจินตนาการต่อ “โลกหลังโควิด” (post-Covid world) จนมี “คำทำนาย” ต่างๆ ออกมามากมาย เช่น ต่อไปคนจะนิยมอยู่บ้านเดี่ยวมากกว่าคอนโดมิเนียม เพราะไม่ต้องการใช้ลิฟท์หรือพื้นที่ร่วมกับผู้อื่น ผังบ้านและผังเมืองจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย และพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space) จะลดความนิยมลงมาก เป็นต้น

เช่นเดียวกัน เกิดข้อเสนอจำนวนมากต่อการดำเนินการในอนาคต เช่น เราควรเน้นการพึ่งพาตนเองในการผลิตยารักษาโรค อาหารและพลังงานมากขึ้น รัฐควรจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชนโดยให้ “รายได้พื้นฐานอย่างทั่วถึง” (universal basic income) และเราต้องปรับออกจากการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยวโดยเร็ว เป็นต้น

ผู้เขียนเองก็สนใจติดตามเรื่องนี้เหมือนกับหลายท่าน และเห็นด้วยกับคำทำนายเหล่านี้บางเรื่อง แต่ก็มีหลายเรื่องที่ผู้เขียนมีความเห็นต่างอยู่มาก โดยเห็นว่าหลายคำทำนายน่าจะไม่ถูกต้องและมีลักษณะด่วนสรุปเกินไป ซึ่งน่าจะทำให้ข้อเสนอแนะต่อนโยบายของภาครัฐ แนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจ และคำแนะนำสำหรับประชาชนที่จะเกิดขึ้นตามมาไม่มีความเหมาะสม หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดผลเสีย

การร่วมกันจินตนาการถึงอนาคตในการพัฒนาประเทศดังกล่าว เป็นสัญญาณดีที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคมได้ตื่นตัวและต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา อย่างไรก็ตาม การร่วมกันจินตนาการถึงอนาคตดังกล่าว ควรต้องได้รับการหนุนเสริมด้วยข้อมูลและหลักวิชาการที่หนักแน่น และผ่านการถกเถียงกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์มากที่สุด และไม่ติดอยู่กับ “หลุมพรางทางความคิด” ต่างๆ

ในความเห็นของผู้เขียนมี “หลุมพรางทางความคิด” ที่พบบ่อยอย่างน้อย 5 ประการดังต่อไปนี้

ประการแรก การไม่แยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม กับ “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” เช่นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะช่วยลดต้นทุนจากการเดินทาง

การไม่แยกแยะประเด็นดังกล่าวตามที่ ดร. สันติธาร เสถียรไทย เคยตั้งข้อสังเกตไว้ อาจทำให้เราเข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมของมนุษย์เราในช่วงผิดปกติในปัจจุบันส่วนใหญ่จะดำรงต่อเนื่องไป ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอดีตชี้ว่า ในหลายกรณี พฤติกรรมส่วนใหญ่ในช่วงผิดปกติ จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว เช่น มีการศึกษาพบว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกในช่วงปี 1918-1919 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกหลายสิบล้านคน ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น มหานครชิคาโก นิวยอร์ก และฟิลาเดลเฟียมากมาย อย่างที่มีการพูดกันว่า เมืองใน “โลกหลังโควิด-19” จะมีความนิยมในคอนโดมิเนียมลดลง ในขณะที่ความนิยมในบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้น

อีกกรณีที่อาจเปรียบเทียบกันได้คือ เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง หลายคนก็เคย “ฟันธง” ว่า บ้านแถวปทุมธานีจะขายไม่ได้แล้ว แต่หลังจากนั้นไปเพียงปีครึ่งก็ปรากฏว่า ประชาชนกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลนี้เหมือนเดิม ตามที่ ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ไว้

ประการที่สอง มีการตั้งเป้าหมาย “ความปกติใหม่” ในลักษณะที่อุดมคติมาก โดยไม่ได้คิดถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในการปรับตัวไปสู่ “ความปกติใหม่”นั้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านความปลอดภัย หรือการเน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น (self sufficiency) ในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งยารักษาโรค อาหารและพลังงาน แม้ว่าต้นทุนของการพึ่งพาตนเองดังกล่าวอาจอยู่ในระดับที่สูงมาก จนไม่สามารถเกิดเป็น “ความปกติใหม่” นั้นได้ เช่น ข้อเสนอให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองด้านอาหารมากขึ้น ไม่น่าจะมีความจำเป็นเพราะประเทศไทยพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ในระดับสูงมากอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับสิงคโปร์ ซึ่งมีปัญหาดังกล่าว การเพิ่มระดับการพึ่งพาตนเองด้านอาหารให้สูงขึ้นไปอีกจะมีผลทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยสาขาเกษตรเป็นหลัก ทั้งที่สาขาดังกล่าวมีผลิตภาพโดยรวมต่ำกว่าสาขาเศรษฐกิจอื่นมาก

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกันก็คือ การไม่คำนึงถึงข้อจำกัดใหม่ (new constraint) ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะฐานะการคลังของภาครัฐที่จะมีระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่ความมั่งคั่งของภาคธุรกิจ และครัวเรือนก็จะลดลงอย่างมาก จากผลกระทบของการยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ และการที่รัฐต้องใช้จ่ายสูงกว่าปกติมากเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทำให้การปรับเปลี่ยนไปสู่ “ความปกติใหม่” ตามที่บางฝ่ายจินตนาการไว้ เช่น ให้รัฐจัดสรรรายได้พื้นฐานอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน (universal basic income) ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เป็นต้น

ประการที่สาม การไม่คำนึงถึงเส้นทางการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่การพัฒนาเศรษฐกิจมีลักษณะขึ้นกับเส้นทางในประวัติศาสตร์ (path dependent) อย่างมาก การปรับเปลี่ยนไปสู่ “ความปกติใหม่” ตามที่บางฝ่ายจินตนาการไว้ จึงอาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย เช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้ลงทุนไปมากกับการสร้างโรงแรมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนต่อปี การปรับเปลี่ยนโมเดลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ลดจำนวนนักท่องเที่ยวลงขนานใหญ่ เพื่อเน้น “การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ” ทำให้เกิดคำถามว่า จะใช้ประโยชน์จากการลงทุนมหาศาลในอดีตดังกล่าวอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่า ในแง่นี้ บริการลองสเตย์อาจเป็นทางออกได้บางส่วน เพราะผู้ใช้บริการลองสเตย์หนึ่งคน จะอยู่อาศัยนานเหมือนมีนักท่องเที่ยวหลายสิบคน

ประการที่สี่ การไม่คำนึงถึงบริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างเพียงพอ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (small open economy) ซึ่งต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของไทย จึงต้องเข้าใจบริบทใหม่ดังกล่าวให้ดี โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารความเสี่ยงในซัพพลายเชนระหว่างประเทศ และการกีดกันการค้าที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ในปี 2008

ประการที่ห้า การไม่ระบุข้อสมมติ (assumption) ที่สำคัญต่างๆ อย่างชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่า ข้อสรุปและข้อเสนอต่างๆ นั้นเกิดจากความเข้าใจใด และไม่ทราบว่า จะสามารถใช้ข้อสรุปและข้อเสนอเหล่านั้นได้เพียงใด เมื่อสถานการณ์จริงแตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้

ข้อสมมติที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อโควิด-19 ถูกควบคุมได้จนไม่เป็นโรคระบาดใหญ่ในระดับโลก (pandemic) อีกต่อไป แต่กลายเป็นเพียงโรคระบาดประจำฤดูกาล (seasonal epidemic) เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ ในระยะเวลาที่เชื่อกันว่า ประมาณ 12-18 เดือน เนื่องจากมีวัคซีน หรือยารักษาโรคที่สามารถใช้ได้ในวงกว้าง หรือมีประชากรที่ติดเชื้อในระดับมากพอที่ทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity) แล้วนั้น จะเกิดโรคระบาดใหญ่ในระดับโลก ในระดับที่ใกล้เคียงกับโควิด-19 อีกบ่อยเพียงใดในอนาคต เช่น 10 ปีข้างหน้า

ผู้เขียนไม่ทราบว่า ผู้ทำนาย “โลกหลังโควิด” จำนวนมากมีข้อสมมติอย่างไร แต่ดูคล้ายกับเชื่อกันว่า จะมีโรคระบาดครั้งใหญ่แบบโควิด-19 เกิดขึ้นอีกบ่อยครั้งมากในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่ผู้เขียนเชื่อว่า โอกาสที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกในระดับที่ใกล้เคียงกับโควิด-19 ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า น่าจะลดลงไปมาก เนื่องจาก ประเทศต่างๆ จะตื่นตัวเตรียมการรับมือกับการระบาดของโคโรนาไวรัสมากขึ้นหลังการระบาดครั้งนี้ ทำให้สามารถพัฒนาวิธีการตรวจโรค วัคซีนและยารักษาโรคได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดการระบาดครั้งใหม่ ซึ่งจะจำกัดขอบเขตในการระบาดของโรคให้อยู่ในวงแคบได้ แม้เชื้อโรคจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังน่าจะทำให้ประเทศต่างๆ เตรียมพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ โรคจากไวรัสอื่น แบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อโรคอื่นๆ มากขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะทำให้การระบาดของโรคมีโอกาสถูกจำกัดให้อยู่ในวงแคบลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า ก่อนที่เราจะด่วนสรุปว่า “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด” เป็นอย่างไร และเราควรดำเนินการอย่างไรนั้น เราควรต้องถามตัวเองอย่างน้อย 5 คำถาม คือ

1. เราใช้ข้อสมมติ (assumption) อะไรในการวาดภาพอนาคต?

2. เราได้พยายามแยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดออกจาก “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” หรือยัง?

3. “ความปกติใหม่” ที่เราตั้งเป้าอยากเห็นจะมีต้นทุนสูงเพียงใด เราพร้อมจะจ่ายและสามารถจ่ายได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย ที่น่าจะเติบโตช้าลง ในขณะที่รัฐบาล ธุรกิจและประชาชนไทยจะมีทรัพยากรน้อยกว่าก่อนเกิดโควิด-19 มาก?

4. การสร้าง “ความปกติใหม่” ตามที่เราจินตนาการไว้ จะต่อยอดจากการลงทุนสร้าง “ความปกติเดิม” ก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไร ทั้งทุนกายภาพและทุนมนุษย์ ซึ่งหาก “ความปกติ” ใน 2 ช่วงเวลาแตกต่างกันมาก เราจะทำอย่างไรไม่ให้การลงทุนมหาศาลในอดีตสูญเปล่า?

5. เราเข้าใจบริบทใหม่ (new context) ในเศรษฐกิจการเมืองโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปดีพอหรือยัง ที่จะทำให้เราปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับบริบทใหม่นี้?

การทำความเข้าใจต่อ “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด-19” มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างมาก เราจึงควรช่วยกันศึกษาให้ดี ไม่ควรด่วนสรุปจากการหาคำตอบแบบผิวเผิน

ในความเห็นของผู้เขียน มีโจทย์สำคัญ 4 โจทย์ใหญ่ที่เราต้องช่วยกันขบคิด คือ

1. โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังการระบาดของโควิด-19?

2. ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?

3. อะไรคือ “อนาคตที่พึงประสงค์” ของประเทศไทยใน “โลกหลังโควิด-19”?

4. คนไทยควรทำอย่างไร เพื่อสร้าง “อนาคตที่พึงประสงค์” ดังกล่าวให้เกิดขึ้น?

การศึกษาโจทย์ที่ 1 และโจทย์ที่ 2 ควรเป็นการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโลก และเชื่อมโยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้นเข้ากับประเทศไทย โดยต้องวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาล จับประเด็นสำคัญให้ถูก โดยแยก “เสียงรบกวน” (noise) ออกจาก “สัญญาณ” (signal) ให้ได้ ก่อนเอาสัญญาณนั้นมาตีความให้เหมาะสม ซึ่งสุดท้าย คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องใช้การวาดฉากทัศน์ (scenario) เนื่องจาก จะมีทั้งตัวแปรที่ “เรารู้แล้ว” (knowns) ตัวแปรที่ “เรารู้ว่าเรายังไม่รู้” (known unknowns) และตัวแปรที่ “เราไม่รู้ว่าเรายังไม่รู้” (unknown unknowns) จำนวนมาก

ส่วนการตอบโจทย์ที่ 3 และโจทย์ที่ 4 ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในวงกว้าง และมีกระบวนการสื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ผลการศึกษาของโจทย์ที่ 1 และโจทย์ที่ 2 เป็นพื้นฐานในการพิจารณา โดย

แนวทางในการตอบโจทย์ส่วนนี้ควรทำผ่านกระบวนการระดมสมองที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้เกิดความมีส่วนร่วม เพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนผ่าน (transformation) ไปสู่ “อนาคตที่พึงประสงค์” โดยเฉพาะจากคนหนุ่มสาวที่จะต้องอยู่กับ “โลกหลังโควิด-19” ไปอีกนาน

ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19” สามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (คลิกชื่อบทความ)

1.รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด

2.Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน

3.ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

4.เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?

5.เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้

6.แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63

7.ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19

8.วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์

9.ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาด และมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง

10.ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

11.“ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19”