ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯ ถกเอกชนหามาตรการเยียวยาโควิด-19เพิ่ม

สภาพัฒน์ฯ ถกเอกชนหามาตรการเยียวยาโควิด-19เพิ่ม

13 เมษายน 2020


เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ฯ แถลงข่าว ผลการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องแถลงข่าว (ห้อง 511) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาพัฒน์ฯ ระดมสมองภาคเอกชน ค้นหามาตรการเยียวยาโควิด-19 เพิ่มเติม สภาหอฯคาดตกงาน 7 ล้านคน สภาอุตฯเสนอจัดงบฯอุดหนุนค่าจ้าง 50%

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” จัดการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/ 2563 โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวภายหลังการประชุมว่าที่ประชุมได้หารือแนวทางหลายเรื่องอันแรกดูว่ามาตรการที่ออกไปแล้วใน 3 ระยะที่ผ่านมา รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนและภาคธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ คิดว่ายังมีข้อติดขัดตรงไหนบ้างและมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะปรับตัวอย่างไร

ทั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นจะแบ่งการทำงานเป็น 5 กลุ่ม เพื่อไปหารือในรายละเอียดและนำกลับเข้ามาในการประชุมในวันจันทร์หน้า ก่อนที่จะนำเสนอมาตรการต่างๆให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป มีรายละเอียดดังนี้

  1. กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสหากรรม และธนาคารแห่งประเทศไทย
  2. กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย
  3. กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์
  4. กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์
  5. กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) ประกอบด้วยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสิ่งที่หารือในวันนี้ก็มีมาตรการบางส่วนที่อาจจะขอเพิ่มเติม เช่น ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่า ft ตามราคาน้ำมัน, เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า, ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม, ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs เหลือไม่เกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่นเหลือไม่เกิน 20% , ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ, อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาท ทำงานได้วัน 4-8 ชั่วโมง , ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% , ขอให้บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานในช่วง COVID-19 มาหักภาษี 3 เท่า, การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน และการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ อยากจะให้มีมาตรการที่ให้รัฐจ่ายเงินเดือนแก่ลูกจ้างเป็นการทั่วไปด้วย ยกตัวอย่าง ภาคอุตสาหกรรมยังต้องรับผิดชอบเงินเดือนของลูกจ้าง ทั้งๆที่ไม่มีงานทำ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากวันนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก และบางกรณีก็เลิกจ้างไม่ได้ เพราะต้องจ่ายชดเชยตามกฎหมายและก็มีปัญหาอีก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เขาดูแลลูกจ้างได้ในช่วงนี้ อย่างเช่น ให้รัฐออกค่าจ้างสัก 50% ในส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อีกส่วนนายจ้างออกอีก 25% ลูกจ้างก็ลดลง 25% และให้นายจ้างไปลดหย่อนภาษีเพิ่มได้

“ตอนนี้ถ้ารัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราวได้อยู่แล้ว แต่ธุรกิจรอบ ๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นที่ต้องขายของเข้าไปในห้างทั้งหมด แต่ห้างปิดหมดก็ขายไม่ได้ เขาก็ยังปิดกิจการไม่ได้ ถ้าปิดลูกจ้างก็ไปหมด เขาก็ต้องดำเนินการต่อบางส่วน ตรงนี้ต้องขอให้รัฐช่วยเหลือค่าแรงให้ลูกจ้างโดยทั่วไป ตัวอย่าง อาจจะคิดที่ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเงินเดือนเต็ม ก็จะเป็น 7,500 บาทต่อหัวต่อคน เขาก็น่าจะอยู่ได้ ส่วนหนึ่งนายจ้างก็ช่วยจ่ายอีก 25% ลูกจ้างก็ลดเงินเดือน 25% คือก็ช่วยกัน ถ้าเป็นแบบนี้นายจ้างก็ไม่ต้องปิดกิจการเลย์ออฟพนักงานด้วย เพราะถ้าไปทางนั้นก็มีปัญหาอีกเหมือนกัน ก็เป็นแนวคิดประมาณนี้” นายสุพันธ์ กล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ให้ภาคเอกชนได้เข้ามารวมกลุ่มกันและเล่าปัญหาให้ฟัง เรื่องที่สำคัญคือ หากขนส่งสินค้าได้ ก็แก้ปัญหาไปได้พอสมควร มีข้อเสนออยากให้รัฐเร่งเบิกจ่ายงบฯให้กับผู้รับเหมาที่ทำงานเสร็จแล้ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการได้ เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลที่หลายกิจการน่าจะขาดทุนแน่นอน แต่อยากให้ปรับเกณฑ์เรื่องขาดทุนสะสมให้จาก 5 ปีเป็น 7 ปีได้หรือไม่ เรื่องลดหย่อนภาษีต่างๆให้ลดหย่อยได้มากขึ้นแค่ไหน เรื่องลดค่าธรรมเนียมของราชการต่างๆ มีการหารือว่าต่างชาติมาอยู่ในไทยค่อนข้างมากและวีซ่าจะหมดอายุแล้วจะต่อให้ถึงเมษายนแล้ว แต่ยังไม่หมดทีเดียว ขอให้ต่ออายุไปถึงพฤษภาคมและครอบคลุมไปถึงใบอนุญาตทำงานด้วย มีเรื่องการประชุมกรรมการบริษัทที่ว่า 1 ใน 3 ต้องอยู่ด้วยกันในประเทศไทย อยากจะให้ผ่อนปรน อยากให้ขยายเพดานลดหย่อนภาษีเพื่อการกุศล น่าจะทำให้หลายคนสามารถบริจาคเงินเพิ่มขึ้นได้ ขอให้เลื่อนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้สามารถติดต่อกลุ่มบุคคลได้

“ส่วนเรื่องการเปิดธุรกิจที่ได้รับมอบหมายจะต้องดูว่าจะทำอย่างไร และโรคนี้น่าจะอยู่กับเราอีกสักพัก ก็ต้องดูเรื่องความปลอดภัยของประเทศด้วย แต่ตอนนี้ลองคำนวณตัวเลขคนตกงานดูว่าช่วงนี้มีประมาณ 7 ล้านคน แต่ถ้ายืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน อาจจะถึง 10 ล้านคน เป็นภาพรวมทั้งหมด ส่วนอยู่ในระบบไหนอย่างไรบ้าง ยังบอกไม่ได้” นายกลินทร์ กล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย กล่าวว่า ประเด็นที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการได้รับสินเชื่อ จากสภาพของธุรกิจของธนาคารวงเงินสินเชื่อต่าง ๆจะมีกฎเกณฑ์ออกมาว่าทำอย่างไรได้บ้าง เช่น ออกมาอันแรกของธนาคารออมสิน 150,000 ล้านบาท ก็มีกฎเกณฑ์ว่าใครขอได้ เท่าไหร่ อย่างไร แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีผู้ต้องการค่อนข้างมากและการปฏิบัติงานต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้รับได้ทั่วถึงกันทุกคน

“อย่างของออมสินก็กำหนดจำนวนว่าให้คนละไม่เกินกี่ล้านบาท ส่วนในช่วงสัปดาห์ที่แล้วก็มีออกมาอีก 500,000 ล้านบาท อันนี้ พ.ร.ก.ยังไม่เสร็จ ฉะนั้นเกณฑ์ต่างๆต้องรอดูกฎหมายว่าจะกำหนดอย่างไร แต่คิดว่าเบื้องต้นจะกู้ได้ 20% ของจำนวนเงินสินเชื่อคงค้างปีที่แล้วในธุรกิจที่มีสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่ต้องรอรายละเอียดอีกครั้ง ตอนนี้พ.ร.ก.ยังไม่ออกมา ยังไม่เห็นรายละเอียด และไม่อยากให้เข้าใจผิด แต่มันยังต้องไปดูรายละเอียดด้วย แต่ท้ายที่สุดก็ต้องทำงานกันว่าปัญหาอุปสรรคเป็นอะไรและจะช่วยกันแก้ไขได้อย่างไร ก็คงทำเป็นโครงไว้ แต่ด้วยความเร่งด่วน ตอนนี้คิดว่าน่าจะรวดเร็วและอาทิตย์หน้า คงเป็นอะไรที่เป็นรูปธรรมจากทางธนาคารว่าจะทำแนวทางอย่างไร”

ส่วนประเด็นที่ทำให้การทำงานล่าช้าไปบ้าง คือลูกค้ามีจำนวนมากและยังมีกฎเกณฑ์ที่ต้องดูในการพิจารณาสินเชื่ออยู่ เช่น มีหลักประกันหรือไม่ มีความสามารถในการชำระคืนหรือไม่ เป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามดูอยู่ แต่หลังจากนี้จะมีคณะทำงานคิดมาดูว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้นอย่างไร

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในส่วนของคณะทำงานด้านดิจิทลจะเน้นไปที่การจ้างงานและสร้างงานใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ทั้งที่เป็น startup หรือ e-commerce รวมไปถึงการศึกษาในลำดับต่อไป การฝึกทักษะใหม่ๆ เหล่านี้สามารถทำได้ด้วยระบบดิจิทัล เรียกว่าเป็นทางออกใหม่ที่เราต้องหาขึ้นมา

อันที่สองคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย ความจุต่าง ๆ ราคาต้องประหยัดในการเข้าถึงระบบดิจิทัล และเครื่องมือที่จะเรียนหนังสือ ประกอบอาชีพ หรือ สร้างธุรกิจขึ้นมา ต่อไปเด็กทุกคน ควรจะต้องมีคอมพิวเตอร์ เด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ ต้องมีคอมพิวเตอร์ เพื่อจะได้เรียนรู้ข้อมูลต่างๆเหล่านี้ และเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วย การเชื่อมโยงของตลาดจะสมบูรณ์มากขึ้น รวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลด้วย เช่น การเข้าถึงตลาด การควบคุมโรคเหล่านี้ ถ้าไม่มี ก็จะทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องสุดท้ายจะเป็นเรื่องกฎระเบียบหรือกฎหมาย เช่น การประชุมกรรมการบริษัทแบบดิจิทัลที่จะสามารถประชุมและเก็บข้อมูลเป็นหลักฐาน โดยไม่ต้องมาประชุมร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันในการประชุมที่เป็นทางการ ก็ต้องมาประชุมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 อยู่ และที่ตามมาคือความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งเมื่อการประชุมเป็นระบบออนไลน์ การตัดสินใจสำคัญๆเป็นระบบออนไลน์แล้ว กฎหมายที่จะดูแลความปลอดภัยก็จะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์

ดร.ทศพร กล่าวว่าสถานการณ์ตอนนี้มันไม่ปกติ ในที่ประชุมคุณศุภชัยก็บอกว่าต้องแก้ปัญหาแบบไม่ปกติเหมือนกัน หลังจากนี้ทั้ง 5 กลุ่มจะไปดึงผู้ที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันคิด ทางสภาพัฒน์ก็ได้สำรวจความคิดเห็นและเชิญให้ทุกคนที่มีไอเดียหรือเสนอแนะอะไรก็ส่งมาที่เฟซบุ๊ก “ร่วมด้วยช่วยคิด” ได้

“ทั้งหมดวันนี้ที่คุยกันเป็นเพียงไอเดียเบื้องต้น และต้องไปดูว่าทำได้จริงแค่ไหน ติดขัดอะไรก็พยายามปลอดล็อก อะไรที่ทำได้ก็จะทำไปก่อน อะไรที่อ่อนไหวก็จะพิจารณาต่อไป สภาพัฒน์จะเป็นคนกลางช่วยประสานกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้คำตอบที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ แต่ต้องดูความปลอดภัย หรือ สุขภาพ ต้องมาก่อน” ดร.ทศพร กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เพื่อให้การปฏิบัติงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปด้วยความรอบคอบ และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 2

นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เพื่อทำหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นกรรมการ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ (รองผู้อำนวยการ รักษาการแทน) ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกรรมการ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธีประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
นายปรีดี ดาวฉาประธาน สมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธาน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นกรรมการ
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นกรรมการ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ
นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ