ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.เห็นชอบข้อเสนอ ป.ป.ช. ป้องกันคอร์รัปชัน-แก้ผูกขาด “ธุรกิจดิวตี้ฟรี”

ครม.เห็นชอบข้อเสนอ ป.ป.ช. ป้องกันคอร์รัปชัน-แก้ผูกขาด “ธุรกิจดิวตี้ฟรี”

21 เมษายน 2020


จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

แนะรัฐบาลเปิดเสรีดิวตี้ฟรีในเมือง เพิ่มจำนวนผู้รับสัมปทานมากกว่า 1 ราย และให้นักท่องเที่ยวนำสินค้าปลอดอากรติดตัวไปได้ โดยไม่ผ่านจุดส่งมอบสินค้า รวมทั้งให้ AOT บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินเอง – เก็บค่าเช่าโดยตรง เพิ่มรายได้ Non-Aero

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน้าสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,ท่าอากาศยานภูเก็ต,ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ทอท. โดยมีสาระสำคัญคือ

1.ข้อเสนอต่อรัฐบาล

    1) ควรส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) โดยเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เป็นผู้ได้รับสัมปทาน หรือ เปิดเสรีในการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เพื่อป้องกันการผูกขาด และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเพียงรายเดียว สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาด และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น

    2) ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากรในเมือง และนำสินค้าดังกล่าวติดตัวไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปรับสินค้า ณ จุดส่งมอบสินค้าในสนามบิน

    3) ควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้เหมาะสมเช่นเดียวกับร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยาน

2.ข้อเสนอต่อ ทอท. แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะสั้น

    1) ควรติดตั้งระบบรับรู้รายได้ (Point of Sale : POS) ที่ได้มาตรฐานตามที่กรมสรรพากรกำหนดและใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการติดตั้งระบบ POS ให้แล้วเสร็จไว้ในสัญญาด้วย

    2) ควรกำหนดแนวทางและมาตรการตรวจสอบการดำเนินงานต่าง ๆ ตามที่กำหนดสัญญา เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญา

    3) ควรมีกระบวนการตรวจสอบการใช้พื้นที่ ราคาสินค้า ราคาอาหาร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ระยะยาว เช่น

    1) ควรศึกษารูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้สัมปทานแก่เอกชน โดยต้องวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐควรได้รับ และควรศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้สัมปทานของท่าอากาศยานในต่างประเทศ ตลอดจนควรให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมประมูลและประชาชนควรทราบ

    2) ควรพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกผู้ชนะการประมูล โดยพิจารณาปรับสัดส่วน หรือน้ำหนักเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรได้รับให้มากขึ้น

    3) ควรให้ ทอท. เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานเอง เพื่อให้ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่โดยตรงกับ ทอท. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน

    4) ควรแยกการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า ออกจากสัญญาการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อป้องกันการผูกขาดและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับสัมปทาน โดยอาจกำหนดจุดส่งมอบสินค้าในพื้นที่ของ ทอท. เอง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ สามารถใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าได้

    5) ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือหน่วยงานมีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานและตรวจสอบ เช่น การเข้าร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนการประมูลหรือจัดทำ TOR

ทั้งนี้ ทอท. ไม่ขัดข้อง และหลายเรื่องได้ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ดังนี้

ข้อเสนอระยะสั้น ปัจจุบัน ทอท. ได้ดำเนินการติดตั้งระบบรับรู้รายได้ POS ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เรียบร้อยแล้ว ส่วนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับกระบวนการตรวจสอบการดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา ทอท. มีหน่วยงานภายในและสำนักงานตรวจสอบ เป็นผู้ดำเนินการ

ข้อเสนอระยะยาว โดยข้อเสนอส่วนใหญ่ ทอท. ได้นำไปใช้ในโครงการคัดเลือกผู้ประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงที่ผ่านมาแล้ว และข้อเสนอให้มีการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า แยกต่างหากจากสัญญาบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น ทาง ทอท. ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต และจะเริ่มดำเนินการท่าอากาศยานดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ส่วนข้อเสนอที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เช่น การปรับปรุงเกณฑ์การให้คะแนนในการคัดเลือก หรือ ให้ ทอท.พัฒนาแนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานเอง ทอท. จะพิจารณานำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป