ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้ความตึงเครียดการค้าโลกฉุดการลงทุน เตือนประเทศกำลังพัฒนาคิดก่อนก่อหนี้ใหม่ ระบุแรงส่งเศรษฐกิจอ่อน

ธนาคารโลกชี้ความตึงเครียดการค้าโลกฉุดการลงทุน เตือนประเทศกำลังพัฒนาคิดก่อนก่อหนี้ใหม่ ระบุแรงส่งเศรษฐกิจอ่อน

6 มิถุนายน 2019


ธนาคารโลกออกรายงาน Global Economic Prospects: Heightened Tensions, Subdued Investment ระบุว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 3 ปี แม้ยังคงมีเสถียรภาพ แต่แนวโน้มยังเปราะบางและมีความเสี่ยงหลายด้าน

ธนาคารโลกประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ไว้ที่ 2.6% ปรับลดลงจาก 2.9% ก่อนที่จะขยายตัวดีขึ้นที่ 2.7% ในปี 2020

การค้าระหว่างประเทศและการลงทุนอ่อนแอมากกว่าที่คาดตั้งแต่ต้นปี และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศก้าวหน้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะยูโรโซน และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging) ขนาดใหญ่จำนวนหนึ่ง รวมไปถึงประเทศกำลังพัฒนาที่การเติบโตอ่อนตัวกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า

สำหรับความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบแนวโน้มการเติบโต ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่รุนแรงขึ้น วิกฤติการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการชะงักงันของเศรษฐกิจประเทศใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ประเด็นความกังวลหลักคือ การชะลอตัวของการค้าโลกที่ลงมาในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ในปีนี้และชะลอตัวลงในปี 2020 โดยจะเติบโตเพียง 1.7% ขณะที่ยูโรโซนคาดว่าจะขยายตัว 1.4% ทั้งปีนี้และปีหน้า โดยที่ความต้องการด้านการค้าและความต้องการในประเทศมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้มีแรงสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินต่อเนื่อง

เอเชีย-แปซิฟิกคาดว่าจะขยายตัว 5.9% ในปีนี้และปีหน้า และเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคนี้เติบโตต่ำกว่า 6% นับตั้งแต่วิกฤติการเงินในปี 1997-1998 โดยจีนจะขยายตัว 6.2% จาก 6.6% ในปีก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของการค้าโลก สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาทรงตัว รวมทั้งภาวะการเงินโลก และความสามารถของทางการในการมีมาตรการการเงินและการคลังรับมือกับความท้าทายจากภายนอก

ประเทศอื่นในเอเชีย-แปซิฟิกคาดว่าเศรษฐกิจจจะเติบโตน้อยลงที่ 5.1% ก่อนที่จะฟื้นตัวเล็กน้อยมาที่ 5.2% ในปีหน้าและปีถัดไป

การเติบโตของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะมีเสถียรภาพดีขึ้นในปีหน้า เพราะความผันผวนและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเมื่อปลายปีก่อนและปีนี้ได้ลดลง

รายงาน Global Economic Prospects จัดทำขึ้น 2 ครั้งต่อปี คือเดือนมกราคมและมิถุนายน เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคของประเทศหลักโลกและผลกระทบต่อประเทศอื่น รวมทั้งนำเสนอแนวนโยบายเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีการเติบโตที่ลดลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 4% ในปีนี้แต่จะขยายตัว 4.6% ในปีหน้า หลายประเทศสามารถรับมือกับความกดดันทางการเงินและความไม่แน่นอนทางการเมือง และผลกระทบนี้จะลดลง

เศรษฐกิจของประเทศรายได้ต่ำและประเทศปานกลางจะขยายตัว 6% ในปี 2563 จาก 5.4% ในปีนี้ แต่ก็ไม่มากพอที่จะลดความยากจน แม้ประเทศรายได้ต่ำจำนวนหนึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางในช่วงปี 2000-2018 แต่ประเทศรายได้ต่ำที่ยังเหลือก็ประสบกับความท้าทายในการที่จะมีความก้าวหน้าขึ้นไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางเพราะมีความเปราะบาง เสียเปรียบในเชิงที่ตั้งและพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก

“การเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ มีความสำคัญต่อการลดความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิต” นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกกล่าวและว่า “แรงส่งทางเศรษฐกิจขณะนี้อ่อน ขณะที่ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนที่ลดลงในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อปรับปรุงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและดึงดูดการลงทุน รวมทั้งต้องมีการจัดการกับภาระหนี้และความโปร่งใส มีความสำคัญสูงสุด เพื่อที่หนี้ก้อนใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะทำให้เกิดการเติบโตและการลงทุน”

นอกจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว การลงทุนที่โตช้าทำให้วิตกต่อการเติบโตระยะยาวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา แม้การลงทุนเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของช่วงหลายปีที่ผ่านมา

การลงทุนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายการคลังมีข้อจำกัด และมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง การฟื้นตัวของการลงทุนมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา การปฏิรูปภาวะแวดล้อมทางธุรกิจจะช่วยส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนที่ชะลอตัวทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาตามไม่ทันประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ขณะที่การสะสมปัจจัยทุนและการส่งต่อของทุนที่ช้าก็มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ และยิ่งทำให้ช่องว่างของการพัฒนาถ่างมากขึ้นในทศวรรษหน้า การฟื้นตัวของการลงทุนมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การจัดสรรงบประมาณจากภาคที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่าย เป็นแนวทางที่จะกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ การขจัดข้อจำกัดทางธุรกิจ สร้างภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม การแก้ไขความไร้ประสิทธิภาพของกลไกตลาด และธรรมภิบาลภาคธุรกิจที่อ่อนแอ ก็จะช่วยส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐเองสามารถสร้างความชัดเจนด้านทิศทางนโยบายและตอกย้ำการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก

ประเทศกำลังพัฒนามักจะกู้เงินเพื่อเชยการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพทางการเงินหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอีก การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นสร้างแรงกดดันทางการเงินให้กับประเทศที่พึ่งพาการค้า

“ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับต่ำมาก การลงทุนที่ไม่ขยายตัวทำให้รัฐบาลอาจจะก่อภาระหนี้เพิ่ม เพื่อสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการที่สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ชี้ให้เห็นว่าหนี้ไม่ใช่ของฟรี” นาย Ayhan Kose ผู้บริหารด้าน Prospects Group แห่งธนาคารโลก

รายงานยังระบุว่า ระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นสร้างความกังวล เพราะหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนากู้เงินจำนวนมาก ขณะที่ความสามารถในการลดภาระหนี้ภาครัฐได้เสื่อมถอยลง ต่างจากช่วงก่อนหน้าที่พยายามอย่างหนักจนลดภาระหนี้ลงได้ก่อนเกิดวิกฤติการเงิน

หนี้ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 15 จุด (percentage points) มาที่ระดับ 51% ของ GDP ในปี 2018 การเพิ่มขึ้นของหนี้เป็นสิ่งที่รับได้เพื่อรองรับโครงการที่มีผลต่อการเติบโต เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสุขภาพ และการศึกษา ที่สำคัญ ความต้องการเหล่านี้มีมหาศาล

อย่างไรก็ตาม การมีหนี้มากเกินไปมีความเสี่ยงสูง แม้แต่ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ หนี้สามารถเพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับที่ไม่ยั่งยืน

การใช้จ่ายของรัฐบาลหลักอยู่ที่การชำระหนี้ ทำให้ไม่สามารถจัดสรรเงินไปยังด้านอื่นที่มีความสำคัญ ภาระหนี้ที่สูงยังทำให้มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะเพิ่มอัตราภาษีเพื่อชดเชยการดุลงบประมาณ ซึ่งมีผลต่อธุรกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค และในกรณีที่เลวร้ายสุด หนี้ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่การที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้และต้องใช้เงินเข้าช่วยเหลือ

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาต้องรักษาความสมดุลระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับการสร้างภาระหนี้ และเลี่ยงความเสี่ยงจะมาจากหนี้จำนวนมหาศาล นอกจากนี้ การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของรัฐจะช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศรายได้ต่ำ รายงานให้ข้อมูลว่า จำนวนประเทศรายได้ต่ำลดลงตั้งแต่ปี 2001 จาก 64 ประเทศเหลือ 34 ประเทศในปี 2019 เป็นผลจากการความขัดแย้งที่ลดลงในหลายประเทศ การลดลงของภาระหนี้ และมีการค้ากับประเทศขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของประเทศรายได้ต่ำที่เหลือยังมีมากกว่าประเทศที่เลื่อนขึ้นไปสู่ประเทศรายได้ปานกลาง

จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลกพบว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำ (มีรายได้ 995 ดอลลาร์หรือต่ำกว่าต่อปี) และประเทศรายได้ปานกลาง มีความต้องการราว 640 พันล้านดอลลาร์ ถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนต่อปีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนปี 2030

ประเทศรายได้ต่ำจำนวนหนึ่งเริ่มต้นจากประเทศที่มีสถานะการเงินอ่อนแอ และมากกว่าครึ่งของประเทศรายได้ต่ำได้รับผลกระทบจากความเปราะบาง ความขัดแย้ง และความรุนแรง และส่วนใหญ่เสียเปรียบด้านที่ตั้ง เพราะไม่มีทางออกทะเล ทำให้การเข้าสู่การค้าโลกยาก

นอกจากนี้ประเทศรายได้ต่ำพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก ทำให้มีความเปราะบางมากต่อสภาพอากาศที่เลวร้ายสุดขั้วและไม่สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตของโลกได้ แม้ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสจากสินค้าโภคภัณฑ์แต่ความต้องการอ่อนตัวลงเพราะเศรษฐกิจประเทศหลักชะลอตัว ขณะที่มีความเปราะบางด้านภาระหนี้ที่สูงขึ้นเร็ว ทำให้แนวโน้มความก้าวหน้าไม่สดใส

การที่ประเทศรายได้ต่ำจะมีการขยายตัวที่แข็งแกร่งได้ ผู้กำหนดนโยบาย ประชาชน และสังคมโลก จะต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่มีส่วนต่อการขยายตัว รวมถึงแนวทางการจำกัดความเสี่ยง โดยในประเทศต้องมีการพัฒนาระบบการเงินที่เข้มแข็งและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และเสริมความแข็งแกร่งของธรรมาภิบาล สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนภาคเอกชน

การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการค้าโลกและส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นแนวทางที่ต้องพิจารณา นอกเหนือจากการเติบโตจากภายในประเทศ

รายงานยังเตือนว่า การเติบโตที่เท่าเทียมมีความสำคัญต่อการบรรเทาความยากจนและมีความรุ่งเรืองร่วมกัน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาต้องเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

ผู้กำหนดนโยบายและส่วนที่เกี่ยวข้องเผชิญกับประเด็นสำคัญหลายข้อที่จะรักษาการเติบโตภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เปราะบาง ได้แก่

1) ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเลือกพิจารณโครงการยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมทั้งวิธีการจัดการกับหนี้ที่ดีขึ้นรวมทั้งความชัดเจนของภาระหนี้

2) การลงทุนที่ลดลงในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา สร้างความกังวลว่าประเทศเหล่านี้จะตอบสนองความต้องการการลงทุนที่ขยายตัวอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา

3) การกระจุกตัวของความยากจนในประเทศรายได้ต่ำทำให้เกิดคำถามว่าจะก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อให้เติบโตรวดเร็วได้อย่างไร

4) ความเสี่ยงที่จะเกิดความกดดันทางการเงินรอบใหม่ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของความแข็งแกร่งของธนาคารกลางและกรอบนโยบายการเงินที่จะจำกัดผลกระทบของค่าเงินที่อ่อนค่าซึ่งส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อ