ThaiPublica > คนในข่าว > Open Talks ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : “สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่” ในโลกที่ผันผวน…ทิ้งอดีต หาจุดแข็ง เปิดใจกว้าง มองไกล… เข้าใจหนึ่ง เข้าถึงล้าน

Open Talks ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : “สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่” ในโลกที่ผันผวน…ทิ้งอดีต หาจุดแข็ง เปิดใจกว้าง มองไกล… เข้าใจหนึ่ง เข้าถึงล้าน

25 มิถุนายน 2018


ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/openbooks2/

หลังจากเขียนหนังสือ ONE MILLION | ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น หนึ่งในซีรีส์ “ปัญญา” และกลับจากการเดินทางไกลครั้งล่าสุด

“ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักเขียนเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks เปิดเวทีบรรยายสาธารณะ Open Talks  พบปะ แลกเปลี่ยน สนทนา และตอบคำถามกับผู้อ่านกลุ่มเล็กๆ อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง ที่ร้านหนังสือ คิโนะคุนิยะ สยามพารากอน เมื่อบ่ายวันเสาร์ 23 มิถุนายน 2561  ที่ผ่านมา ในหัวข้อ Reinventing Oneself Again and Again : Why Now and How “สร้างตนเองใหม่อีกครั้ง และอีกครั้ง”

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า  ถอดความในส่วนบทบรรยายครั้งนี้มาฝากคุณผู้อ่าน ว่าทำไมเราต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เดี๋ยวนี้ เวลานี้ และจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร ในยุคที่โลกสมัยใหม่ผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากหนึ่งเป็นล้าน เช่นนี้…

ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ขงจื่อกล่าวไว้ว่า มีบุคคลอยู่สองประเภทที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกต่อไป บุคคลประเภทที่หนึ่งคือบุคคลที่ฉลาดที่สุด กับบุคคลประเภทที่สองคือบุคคลที่โง่ที่สุด ที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าท่านฉลาดสุดๆ ไม่ต้องเปลี่ยนหรอกครับ คิดได้หมด รู้แล้วว่าสัจธรรมหรือความจริงคืออะไร

คนฉลาดที่สุดในโลกน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อ 2500 ปีที่แล้ว ถึงทุกวันนี้ไม่เหลือแล้วครับ ยุคนั้นเป็นยุคของคนฉลาดมาก เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โสกราตีส หรือว่าปรัชญาเมธีที่เราอาศัยภูมิปัญญาของพวกท่านเป็นแสงสว่างหรือเป็นเครื่องนำทางอยู่ทุกวันนี้

แต่ทุกวันนี้มีคนอีกส่วนหนึ่ง ที่คิดว่าเราอาจจะเป็นคนที่ฉลาดมาก แล้วเราอาจจะไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ถ้าว่ากันถึงที่สุด เราทุกคนที่รวมกันอยู่ที่นี่ ล้วนเป็นบุคคลค่าเฉลี่ย เราคือคนธรรมดาสามัญ เราไม่ได้ฉลาดสุดๆ และเราไม่ใช่เป็นบุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญาที่สุด ฉะนั้น เราเป็นมนุษย์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตามคำของขงจื่อ

ถามว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในโลกสมัยที่เปลี่ยนแปลงตัวเองรวดเร็วขนาดนี้ ทุกท่านอ่านข่าวเหมือนผม อ่านหนังสือมาเหมือนกัน ดูโทรทัศน์ ดูอินเทอร์เน็ต ดูข่าวสารบ้านเมืองมาเหมือนกัน เรารู้ว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงสิบปีนี้ เอาแค่สิบปีก็พอ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เอาแค่คนที่เก่งที่สุดในโลกสักสิบคน ที่ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็ทำให้เรามีความจำเป็นต้องปรับตัวอย่างยิ่งยวด

สิบคนท่านลิสต์มาเถอะครับ ซ้ำๆ กันอยู่ไม่กี่คน คนที่คิดระบบอินเทอร์เน็ตขึ้นมาในโลกได้ ทำให้โลกสามารถสื่อสารเชื่อมถึงกันได้หมด คนที่คิดมือถือขึ้นมาอย่างสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) คิดแอปเปิลขึ้นมาได้ ทำให้สรรพสิ่งมันเปลี่ยนแปลงไปมากมาย

เมื่ออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น เมื่อสตีฟ จอบส์ เกิดขึ้น มันเป็นสมาร์ทโฟนเกิดขึ้นมา มันมีมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เกิดขึ้นมา เราสื่อสารกันผ่านเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดีย มันพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ หลังมือเป็นหน้ามือ กลับไปมาอย่างรวดเร็ว

เรามีสตีฟ จอบส์ เรามีมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เรามีแจ็ค หม่า (Jack Ma) ซึ่งขายทุเรียน 8 หมื่นลูกหมดไปภายใน 1 นาที ปีหน้าอาจจะขายถึงแสนลูกหรืออาจจะหนึ่งล้านลูกให้กับผู้บริโภคหมดไปภายใน 1 นาที มันเป็นไปได้หมด

คนเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก ในอัตราเร่งที่สูงมาก เป็นอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงที่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกสมัยใหม่ ฉะนั้นเมื่อโลกมันเปลี่ยนแปลงโดยคนเหล่านี้สิบคน ยี่สิบคนที่กุมเทคโนโลยีสูงสุดของโลกเอาไว้ ทำให้ค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงมันถูกดึงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสิบปี

สิบปีนี้โลกเปลี่ยนเร็วกว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาเสียอีก เราต้องเข้าใจความจริงข้อนี้ก่อน ฉะนั้น พอคนสิบคน ยี่สิบคน หรือคนร้อยคนที่อยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ หรืออยู่ในเซินเจิ้นเมืองจีน เขาดึงค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คะแนนรวมทั้งหมดมันสูงขึ้นโดยคนสิบคน

คนเหล่านี้กุมทรัพยากร กุมความมั่งคั่ง กุมความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ทั้งหมด พอค่าเฉลี่ยสูงขึ้น ต่อให้เราไม่เปลี่ยนแปลงหรือเราพยายามเปลี่ยนแปลงในอัตราเท่าเดิม เราก็จะกลายเป็นคนตกยุคตกสมัย เพราะว่ามันเปลี่ยนไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นมา

นี่ไม่ใช่ความผิดของพวกเราเลย เราอยู่ของเรามาดีๆ เราอยู่ของเราอย่างมีความสุข เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เมื่อโลกมันเปลี่ยน และเปลี่ยนในอัตราเร่ง ต่อให้เราอยู่เฉยๆ และไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็ผิดอยู่ดีที่อยู่เฉยๆ หรืออยู่แล้วไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แน่นอน เราไม่ใช่คนฉลาดที่สุดที่เข้าถึงสัจธรรม ถ้าเราบรรลุนิพพานเราไม่ต้องเปลี่ยนหรอกครับ เรารู้ว่าโลกมันก็จะเป็นวัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นนี้ หรือว่าถ้าเรายืนยันที่สุดว่าเราจะไม่เปลี่ยน เราจะเอาหัวชนฝาจนกว่าฝาจะพัง เราก็ยืนยันไปเถอะครับ หัวเราจะพังก่อนฝา แต่ถ้าเราเป็นคนกลางๆ เป็นคนที่มีมาตรฐานปกติ แน่นอน นี่คือเวลาที่จำเป็นที่สุดที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ตัวเราเป็นอุปสรรคที่สุดของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องยากที่สุด ไม่มีอะไรที่คุ้นเคยกับเรามากเท่ากับตัวเราเอง หัวใจสำคัญหรือปัญหาใหญ่ที่สุด มันเป็นเรื่องที่ยากที่สุดหรือว่าเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด มันเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดที่กลายเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะเราคืออุปสรรคสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

เราจะโทษโลกภายนอกมากมาย เราไม่มีเหตุปัจจัย หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เราเลยมีข้ออ้างว่าเรายังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถามว่าทั้งหมดมันเกิดจากอะไร ถึงที่สุด หัวใจลึกที่สุดที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ยากหรือว่าเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้คือตัวเราเอง

ครั้งหนึ่งเรามีชีวิตมาอยู่ถึงขณะทุกวันนี้ แน่นอน เรามีความสำเร็จหลายประการ เราถึงเป็นเราทุกวันนี้ขึ้นมาได้ เราอาจจะเรียนเก่ง เคยประสบความสำเร็จ เคยมีชื่อเสียง เคยทำอาชีพมีรายได้สูง มีความยอมรับ มีเพื่อนฝูง มีสังคมแบบเดิมๆ มีโลกทัศน์แบบเดิมๆ แล้วเราก็คิดว่าเราจะอยู่ยั้งยืนยงกับโลกที่เราสร้าง ที่เราทำ และที่เราสำเร็จ

ต่อไปเป็นเวลาอีกสิบปี ยี่สิบปี หรือว่าสามสิบปี  ความสำเร็จของเรานี่แหละ ตัวตนเดิมๆ ของเรานี่แหละ แท้ที่สุดแล้ว ถึงที่สุดแล้วมันคือปัจจัยที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างยากที่สุด

ย้อนกลับไปมองดูตัวเองนะครับ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือการพัฒนาตัวเองเท่ากับตัวเรา เราคืออุปสรรคของตัวเรา ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของตัวเรา แต่ในวันนี้ความสำเร็จเก่าๆ มันถูกท้าทายโดยปัจจัยภายนอก และเรานั่นเองที่กลายเป็นอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างยิ่งยวด

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ถอดรหัสบทเรียนสำคัญจากอดีต

จริงๆผมเขียน Future ก่อน แต่คนชอบเรียงตาม Tense ก็นึกว่าเขียนอดีตก่อน ถ้าเขียนอดีตก่อนคงไม่มีอนาคต คงขายไม่ได้เพราะไม่มีใครอยากกลับไปอยู่กับอดีต แท้จริงแล้วเขียน Future ขึ้นมาก่อน คือปัญญาอนาคต เพื่ออยากชวนทุกท่านไปสู่อนาคต แต่วันนี้จะเริ่มคุยจากเรื่อง Past ก่อน

เรื่องนี้เราเปิดฉากที่กรุงศรีอยุธยา 2310 เราทุกคนเรียนประวัติศาสตร์มา รู้หมดว่า 2310 เกิดอะไรขึ้น กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นเวลาแรมปี แล้วคนอยุธยาก็อยู่ในกรอบของคูเมือง อยู่ในรั้วรอบขอบชิดของกำแพงเมือง อยู่ในความรุ่งเรืองมั่งคั่งของสิ่งที่อยุธยาเคยมี เคยเป็น แล้วก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลง

จริงๆ สองสามปี สี่ห้าปี หรือว่าสิบปีก่อนหน้านั้น อยุธยามีความเสื่อมด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว หัวเมืองสำคัญต่างๆ รอบอยุธยา ก็ไม่ได้มีความซื่อสัตย์ภักดีต่ออยุธยา เหมือนที่เราจินตนาการว่ามันมีจังหวัดต่างๆ แล้วรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่หรอกครับ ขุนนางก็ไม่ได้ภักดีต่ออยุธยาเท่าไหร่ ความเสื่อมก็มี

เมื่อพม่าเข้าใจปัจจัยว่า อยุธยาถ้าจะล้อมปราบแล้วยึดอยุธยาเพื่อทำลายอยุธยา ไม่ให้เป็นปัจจัยในการไปให้ท้ายรัฐชายขอบที่จะรบกับพม่าได้ สิ่งที่พม่าต้องการทำรอบนี้คือไม่ได้ทำลายอยุธยาโดยตรง แต่ทำลายปัจจัยแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอยุธยาต่างหาก พม่าจึงยกทัพทางเหนือและทางใต้ขึ้นมา แล้วไล่ตีหัวเมือง เหนือตีลงมา ใต้ตีลงมา เพื่อไม่ให้หัวเมืองทั้งหมดใหญ่น้อย มีกำลังเหลืออยู่ที่จะส่งปัจจัยมาช่วยอยุธยาในวันที่อยุธยาถูกพม่าล้อมไว้ทั้งหมด

ถ้าหัวเมืองต่างๆ ยังแข็งแรงดีอยู่ อยุธยาไม่ล่มสลายครับ พม่าล้อมก็ล้อมไป เดี๋ยวน้ำหลากมา เดี๋ยวกองทัพจากหัวเมืองต่างจังหวัดมาช่วยตีกระหนาบทัพหลังพม่า พม่าแตก และแพ้อย่างนี้ทุกครั้ง อยุธยาใช้ยุทธศาสตร์เดิมในการรักษากรุงศรีมาโดยตลอด

แต่วันนึงเมื่อปัจจัยมันเปลี่ยน ปัจจัยภายนอกเขาเข้าใจว่าจุดอ่อนของอยุธยาอยู่ที่ไหน เขาไล่ทำลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของการเป็นมหานครเอาไว้ได้ เขาทำลายจากเหนือ ทำลายจากใต้ขึ้นมา นี่มันคือยุทธศาสตร์ของโลกสมัยใหม่โดยแท้

ถ้าท่านกลับไปอ่านประวัติศาสตร์อยุธยา จะเห็นการต่อสู้ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญในการมีชีวิตอยู่ในโลกสมัยใหม่ เมื่อทำลายปัจจัยแห่งความสำเร็จรอบกรุงศรีอยุธยาออกได้หมด อยุธยาก็เหลือแต่เมืองเล็กๆ ที่เป็นเกาะกลางน้ำ ไม่มีกระทั่งปัจจัยที่จะรักษาเมืองเอาไว้ได้ แต่คนอยุธยาก็ยังคิดว่าอยุธยาเป็นความยิ่งใหญ่ อยุธยาเคยเมลืองมลัง มีปราสาท พระราชวัง มีความรุ่งเรืองในอดีต แล้วคิดว่ามันจะรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต

คำถามคือ ถ้ายังคงกุมสภาพอยุธยาไว้อย่างนี้ มันจะอยู่รอดไปได้นานแค่ไหน พม่าล้อมจนเสบียงอาหารร่อยหรอ ขวัญและกำลังใจของอยุธยาตกต่ำลงมาก ถ้าเราเป็นคนอยู่ในอยุธยา เราไม่มีทางเห็นว่าอยุธยาที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราก็จะหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าอยุธยาจะรอดไปได้อีกครั้ง แต่ในชีวิตจริงอย่างที่ทุกท่านรู้กันดีอยู่ 2310 อยุธยาไม่รอด ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดอย่างสั้นๆ

แล้วถามว่าทำไมมีคนส่วนหนึ่งที่รอด แน่นอน หัวเมืองส่วนหนึ่งแปรพักตร์จากอยุธยาไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่มันมีกองทัพทหารไทยอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดพิชัย นำทัพโดยพระยาตาก ทัพอยู่ข้างนอกเมือง ไม่ได้อยู่ในกรอบเมือง ไม่ได้อยู่ในกรอบคิดเดิมของอดีตที่เคยมั่งคั่ง

เมื่อคุณอยู่ข้างนอก คุณเห็นปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด ได้รับข้อมูลข่าวสารทั้งหมดว่าปัจจัยเดิมๆ ที่เคยเป็นความสำเร็จของอยุธยามันได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แล้ววันหนึ่งเมื่อพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา คุณมีทางเลือกอยู่แค่สองทาง หนึ่งคือกลับเข้าอยุธยาแล้วตายไปพร้อมกัน สองคือรวมรวมทรัพยากรที่สำคัญที่สุดเท่าที่คุณมีในเวลานั้นคือกองทหาร 500 แล้วตีออกจากกรุงศรี ตีฝ่าทัพพม่าที่ล้อมเมือง แล้วไปสร้างอนาคตใหม่

ทิ้งอดีตแห่งความสำเร็จปรับตัวเองไปสู่อนาคต

ผมเล่าเรื่องนี้เพื่ออุปมาให้เห็นว่า สถานการณ์ของพวกเราส่วนใหญ่ในวันนี้ไม่ได้ต่างจากสถานการณ์กรุงศรีอยุธยา 2310 ในโลกทุกวันนี้ที่ผมพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนธรรมดา ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง กระทั่งธุรกิจขนาดใหญ่ กระทั่งธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้บริหารทุกคนมีทางเลือกอยู่สองทางเท่านั้น

หนึ่งคือยึดกุมความสำเร็จเดิมในอดีต แล้วก็บอกว่าข้าพเจ้าจะไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เลยโดยสิ้นเชิง แล้วก็ดูดกลืนความสำเร็จเดิมไปเรื่อยๆ จนความสำเร็จมันฝ่อลงๆ และในที่สุดมันจะล่มสลายไป

ในอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว บริษัทขนาดใหญ่ใน Fortune 500 ของอเมริกา มีอายุอยู่นานห้าสิบปี เวลาผ่านมาทุกวันนี้ บริษัทขนาดใหญ่อยู่เกินยี่สิบปีได้ก็เก่งมากแล้ว ใหญ่ไม่ใช่ปัจจัยแห่งความสำเร็จอีกต่อไป ยิ่งใหญ่ยิ่งอันตราย เพราะว่าปรับตัวช้า เปลี่ยนแปลงตัวเองยากมาก

“ฉะนั้น หัวใจสำคัญของธุรกิจสมัยใหม่คือการปรับตัวเอง และเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อสปีดของการเปลี่ยนแปลงของโลก ขนาดไม่เกี่ยว เล็กใหญ่ไม่เกี่ยว ขึ้นอยู่กับว่าใครปรับตัวได้เร็วและตรงประเด็นกว่ากัน”

ทุกเซกเตอร์ที่ผมมีโอกาสได้พบเจอ มันแบ่งแล้วเหลือคนอยู่สองประเภทเท่านั้น คือ คนที่เกาะกุมอยู่กับอดีตและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง กับคนที่เห็นแล้วว่าความท้าทายมาล้อมที่กรุงศรีอยุธยาของตัวเองอยู่ และจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเดินหน้าไปสู่อนาคต

วันนี้เราพบปะกันใจกลางกรุงเทพมหานคร มันมีทางอยู่สองทางเท่านั้นที่เราจะเดินไปข้างหน้าได้ คือหนึ่ง เรากลับไปอยู่กับอดีต กอดความมั่งคั่ง นิยามความสำเร็จเดิมของตัวเองไว้ กับสอง มันไปต่อไม่ได้ เราเริ่มเห็น เริ่มจับสัญญาณได้ และถ้าเราจะไปต่อมันมีเหตุปัจจัยอยู่ประการเดียวคือ เราต้องปรับตัวและเดินไปสู่อนาคต

“การจะเดินไปสู่อนาคตได้ มันต้องทิ้งอดีตก่อน อดีตเป็นภาระที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ถ้าคุณแบกอดีตไว้ คุณเดินลอดผ่านประตูสยามพารากอนไปไม่ได้ อดีตมันเยอะ มันใหญ่ ฉะนั้น ปัจจัยที่เป็นภาระ เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงตัวเองก็คือตัวเอง”

แล้วถามว่าตัวเราคืออะไร ตัวเราคือการสะสมอดีตแห่งความสำเร็จและล้มเหลวของเราไว้ทั้งหมด แล้วเราไม่อยากทิ้ง ทิ้งอะไรก็ง่าย แต่ทิ้งตัวเอง ทิ้งความสำเร็จของตัวเอง ยากที่สุด

นี่คือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกต่อว่า นั่นคือ Why? ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง Why Now ทำไมต้องเปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกมันเร็วมาก เกินกว่าที่เราจะตั้งรับได้ทัน เนื่องจากยุคนี้เทคโนโลยีมันเพิ่มตัวทวีคูณ จาก One กลายเป็น Million

อัจฉริยะคนหนึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับทั่วโลกในอัตราทวีคูณ และโลกกำลังสร้างอัจฉริยะขึ้นมามากมายเต็มไปหมดทุกๆ มุมโลก และอัจฉริยะเหล่านี้กำลังสร้างปัจจัยที่จะท้าทายชีวิตและความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของพวกเราอย่างยิ่งยวด เราไม่มีทางเลือกอื่นที่เราต้องปรับปรุงตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ Why

Point เปลี่ยน Point of View เปลี่ยน

ทุกคนรู้กันดีว่าทำไมเราต้องเปลี่ยน หนังสือออกมากันเยอะมากว่าทำไมเราต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่ที่ยากที่สุดและเป็นคำถามสำคัญที่อยากจะคุยกับทุกท่านในวันนี้ว่า How? เราอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร ในวันที่ปัจจัยทั้งหลายไม่ได้เอื้อให้เราเปลี่ยนแปลงได้มากนัก

ท่านย้อนกลับไปที่อยุธยา ย้อนกลับไปที่กองทัพพระเจ้าตาก ที่วัดพิชัย ที่กำลังจะเคลื่อนจากอยุธยาตีฝ่าทัพพม่าไปเข้าเมืองจันทบุรีหรือว่าจันทบูร บ้านผม

มันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่ามนุษยชาติอย่างพวกเรา เผ่าพันธุ์พวกเรา คนที่ปรับตัวได้มากที่สุดมันจะมียีนลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นมาในสายพันธุ์ของพวกเรา มนุษย์ครั้งหนึ่งเคยเกือบจะสูญพันธ์ไปจากโลก เหลือประชากรหรือเผ่าพันธุ์เราน้อยมากที่มีชีวิตอยู่ในโลก

สัตว์บางสปีชีส์สูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว เพราะว่าปรับตัวไม่ได้ เราเป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งที่สามารถปรับตัวได้ดีมาก แล้วหัวใจสำคัญของวิทยาศาสตร์ในการปรับตัวคือ คนที่ปรับตัวได้ดีคือ “คนที่เคลื่อนที่ออกจากจุดเริ่มต้นของตัวเองไปได้ไกลที่สุด”

มันจะมียีนพิเศษของการเคลื่อนที่ของคน มันจะไปเกิดกับคนเหล่านั้น ออริจินัลจริงๆ มนุษย์อยู่ที่แอฟริกา และมีการไปทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าคนที่มียีนเหล่านี้สูงสุดคือคนที่เคลื่อนที่ออกจากจุดกำเนิดคือแอฟริกาไปได้ไกลที่สุด

เขาไปรีเสิร์ชที่ยุโรป ไปเอเชีย แล้วไปดูว่ามันมียีนพิเศษซึ่งมันเกิดจากการเคลื่อนที่ของตัวเราออกจากจุดกำเนิด นั้นคือหัวใจข้อแรกของการเปลี่ยนแปลง คุณต้องพร้อมจะเคลื่อนที่ตัวเองออกจากจุดที่เราปลอดภัยที่สุด จุดที่เราเคยอยู่ เคยมี เคยเป็นมา เมื่อคุณเคลื่อนที่ตัวเองออกจากจุดนั้น ออกจาก Point นั้น

เมื่อคุณเปลี่ยน Point ที่ยืน สิ่งที่จะเปลี่ยนตามมาคือ Point of View จุดที่คุณยืนแล้วมองโลกไป ผมยืนนิ่งๆ ไม่เปลี่ยนที่ ผมเห็นอยู่แค่นี่แหละครับ แต่ถ้าผมเปลี่ยนที่เมื่อไหร่ Point of View ผมเปลี่ยนทันที Point เปลี่ยน Point of View ก็เปลี่ยน

เมื่อ Point of View เปลี่ยน สิ่งที่เห็นมันจะเปลี่ยนไป สิ่งที่เห็นกับโลกมันจะเปลี่ยนไป Point of View เปลี่ยน World View มันจะเปลี่ยน โลกทัศน์คุณจะเปลี่ยน แต่ถ้าคุณอยู่ที่เดิม อยู่จุดเดิม ทำงานบริษัทเดิม คบเพื่อนคนเดิม กินข้าวร้านเดิม สามสิบปีไม่มีเปลี่ยน มีความจงรักภักดีต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีมาในชีวิตสูงมาก คุณไม่มีทางเห็น World View หรือโลกทัศน์ที่มันเปลี่ยนไปแน่นอน

เดินทาง เปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่อยู่

ฉะนั้น จุดแรก หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ “คุณต้องเปลี่ยนที่ตัวเอง” ในทุกๆ มิติเท่าที่จะทำได้ ในโลกสมัยใหม่ ในต้นทุนที่ถูกขนาดนี้ ถามว่าการเปลี่ยนที่คืออะไร หนึ่งคือ “เดินทาง” ครับ การเดินทางทำให้คุณเห็นโลกในมุมมองที่ต่างออกไป คือเอาตัวเองออกจากที่อยู่ที่เป็นของตัวเอง

เดินทางให้เยอะ เดินทางให้ไกล เปิดใจให้กว้าง แล้วเห็นว่าโลกสมัยใหม่เขาปรับตัวไปถึงไหนแล้ว ไปเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ จะไปกินข้าว ถ่ายรูปเซลฟีลงเฟซบุ๊กบ้างก็ไม่ว่ากัน แต่ไปดูว่าโลกเขาเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้ว เดินทางออกไปดูโลก มันจะเป็นแรงบันดาลใจแบบที่คนสมัยใหม่เขาเดินทางกันนั่นแหละครับ

นอกจากเดินทางแล้ว กล้าไหมครับที่จะ “เปลี่ยนงาน” งานที่คิดว่ามันไม่มีอนาคต งานที่คิดว่ามันทุกข์ทรมานแม้ว่าจะได้เงินมาก แม้ว่าจะทำงานมานานปี แต่มันก็ตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ สิ่งที่จะสร้างตัวเราต่อไปในอนาคต

การเปลี่ยนงานทำให้เราได้สิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด ทำให้ได้เพื่อนใหม่ เหมือนตอนจบ ป.6 จะไปขึ้น ม.1 นั่นแหละครับ แค่เปลี่ยนโรงเรียนก็ตื่นเต้นแล้ว ม.1 จะขึ้น ม.3  ม.3 จะเข้า ม.4 เปลี่ยนอีกทีตื่นเต้นอีกตอนเข้ามหาวิทยาลัย เราสูญเสียความตื่นเต้นแบบนั้นมานานครับ เพราะเราทำงานและชีวิตการงานเรามันยาวนานมาก

แต่คนสมัยใหม่ เด็กรุ่นใหม่เขาเปลี่ยนงานกันถี่มาก ฉะนั้นโลกทัศน์ของคนเจนปัจจุบัน กับเจนรุ่นผม กับเจนรุ่นท่านผู้ฟังหลายต่อหลายท่าน มันจะไม่เหมือนกัน เพราะสปีดในการเปลี่ยนงานมันไม่เหมือนกัน สปีดในการเดินทางไม่เท่ากัน โลกที่เห็นไม่เหมือนกัน World View ไม่เหมือนกัน Point of View มันต่างกันตรงนี้

เดินทางให้มาก เปลี่ยนงานได้ทดลองดู “เปลี่ยนที่อยู่” ได้มั้ยครับ มีผลเหมือนกัน เมืองที่เราอยู่ ประเทศที่เราอยู่ กระทั่งบ้านที่เราอยู่ส่งผลต่อมุมมองของชีวิตของเราอย่างยิ่งยวด เราอยู่ในกรุงเทพฯ เราคิดว่าการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานสองชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ เพราะเราอดทนจนชินว่ามันสองชั่วโมง เป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้าเราไปอยู่ในเมืองที่ทันสมัย มีการเชื่อมต่อที่ดี เวลามันจะลดลงเหลือยี่สิบนาที เราจะรู้ทันทีว่าการจราจรในกรุงเทพมหานครไม่ใช่เรื่องปกติ เราเป็นเมืองที่รถติดที่สุดในโลก ผมไปจาการ์ตา อินโดนีเซีย แล้วก็รู้สึกว่ารถมันติดจนหงุดหงิดใจ แล้วก็ลืมไปว่าผมเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ที่เราติดมากกว่าเขาเยอะ

แต่เมื่อเราเปลี่ยนเมือง ไปอยู่ในเมืองสมัยใหม่ ไปอยู่ในญี่ปุ่น เราใช้เวลาสั้นมากในการเดินทาง กระทั่งเดินเท้า โลกทัศน์ที่เราเห็น เวลาที่เราได้คืนมา มันจะเปลี่ยนเราไปพอสมควร

เวลาเราเดินทาง ถ้าเรากลับไปเมืองซ้ำๆ หรือไปประเทศซ้ำๆ ประสบการณ์ที่เราได้ใหม่จะน้อยกว่าเรากล้ารับความเสี่ยงแล้วไปเดินทางในประเทศใหม่ๆ แต่ละประเทศให้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันกับตัวเรา เราต้องกล้าพอที่จะไปในที่ที่เรายังไม่เคยไป ไปในพรมแดนใหม่ๆ ไปในที่ที่เราไม่เคยรู้สึกว่าเราอยากจะไป ลองไปเสี่ยงดูบ้าง กินข้าวร้านใหม่บ้าง ลองอาหารใหม่ๆ บ้าง ใช้สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ กระตุ้นยีนแห่งการปรับตัวของเราให้มันตื่นขึ้นมา หลังจากมันหลับใหลมาเป็นเวลาแรมปี

คบเพื่อนกลุ่มใหม่ ฟังความเห็นที่แตกต่าง อ่านหนังสือ

เปลี่ยนปัจจัยภายนอกเสร็จ คบคนใหม่ๆ บ้าง คบเพื่อนฝูงที่เกินกว่าที่เราคบมายี่สิบ สามสิบปีบ้าง คบคนที่เห็นต่างจากเราบ้าง คบคนต่างอาชีพจากเราบ้าง คบคนที่ต่างวัยกับเราบ้าง ประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายทั้งอาชีพ  วัย และความสนใจ แล้วเรานั่งถกกับเขาเงียบๆ ไม่ใช่คุยทางไลน์นะครับ ล้อมวง กินอาหาร จะดื่มสุรา จิบชา กาแฟ ได้หมด แล้วแลกเปลี่ยนกัน

มนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนจากการคิดเถียงกับตัวเองอยู่ในหัว ไม่มีใครเอาชนะตัวเองได้ มันแพ้ตัวเองหมด แล้วจะเป็นโรคซึมเศร้ากันเพราะว่าทะเลาะกับตัวเอง มนุษย์มันเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการแลกเปลี่ยนมุมมองกับโลกภายนอก แล้วโลกภายนอกมันคืออะไร โลกภายนอกก็คือโลกทัศน์ของคนที่เราสนทนาด้วย

“อย่าใจแคบ อดทนฟังความคิดเห็นต่าง กระทั่งความคิดเห็นต่างทางการเมืองให้ได้ มันจะได้เห็นและเข้าใจเพื่อนมนุษย์คนอื่นว่าทำไมเขาคิดอย่างนี้ ทำไมเขาเป็นอย่างนี้ ฟังความแตกต่างทางการเมือง ฟังความแตกต่างทางศาสนา ฟังความแตกต่างทางรสนิยม เพื่อเรียนรู้ว่าโลกของคนอื่นเขาเป็นอย่างไร”

ปัจจัยเหล่านี้ การเปลี่ยนแปลงตัวเองในแต่ละจุด ทั้งภายนอก รอบข้าง มันจะก่อให้เกิดมิติใหม่ในการมองโลก มองชีวิต เมื่อ World View เราเปลี่ยน Point of View เราเปลี่ยน จุดที่มองโลกมันเปลี่ยน โลกภายนอกมันเปลี่ยน ถึงที่สุดเราทำต่อเนื่องอย่างมีวินัย ทำเรื่อยๆ มันจะสะท้อนกลับมาที่การเปลี่ยนโลกทัศน์ภายในของตัวเรา

World View มันจะเปลี่ยน Mindset ของเรา เพราะ Mindset ของเรานั้นมันเซ็ตอยู่ในใจ มันเข้มแข็งมาก การจะเปลี่ยน Mindset ของเราเป็นเรื่องที่ยากมาก มันต้องไปและกลับ ไปและกลับ โลกภายนอกเกิดขึ้นเมื่อเราเปลี่ยนแปลงโลกภายใน คุณจะเห็นโลกใหม่ต่อเมื่อโลกภายในมันเปลี่ยน

แต่โลกภายในมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณเห็นโลกภายนอกที่เปลี่ยนไป ถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน มันเกิดพร้อมกันครับ ไก่กับไข่มันเรื่องเดียวกัน คุณต้องเปลี่ยนทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน มันอยู่ด้วยกัน เมื่อโลกภายนอกเปลี่ยน โลกภายในมันก็จะเปลี่ยน เมื่อโลกภายในเปลี่ยน สายตาที่มองโลกภายนอกมันจะเปลี่ยน

เอาล่ะ คุณเดินทาง ย้ายที่อยู่ ย้ายงาน คบเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ ฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย “อ่านหนังสือ” ที่มันให้ไอเดียใหม่ๆ ผมทดลองมาหลายปี หลายวิธี หนังสือเป็นการให้ความรู้และให้วิชาที่ถูกที่สุด เท่าที่โลกมนุษย์สมัยใหม่จะซื้อได้ นักวิชาการที่เก่งที่สุดในโลก นักเขียนที่เก่งที่สุดในโลก นักธุรกิจที่เก่งที่สุดในโลก ทุกคนล้วนมีความปรารถนาที่จะเขียนหนังสือดีทั้งสิ้น

คุณจะอ่านวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) คุณจะอ่านบิลล์ เกตส์ (Bill Gates) คุณจะอ่านสตีฟ จอบส์ ได้ในราคาที่ถูกมาก ไม่เกิน 1,000 บาท เท่ากับไปนั่งคุยกับเขาทั้งชีวิต กว่าเราจะเขียนหนังสือขึ้นมาได้หนึ่งเล่ม เราใช้เวลายี่สิบ สามสิบปี กว่าจะถ่ายทอดออกมาได้ ฉะนั้น ถ้าเงินไม่เกิน 1,000 บาท จ่ายเถอะครับ ถูกที่สุด ไม่มีวิธีไหนที่เรียนแล้วถูกขนาดนี้

มันเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุด ผมถึงพยายามรณรงค์ให้ทุกท่านกลับมาอ่านหนังสือ และดีใจมากที่จะได้มาพูดกับทุกท่านในร้านหนังสือ นี่คือขุมพลังทางปัญญา นี่คือคลังมหาสมบัติที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ในโลกสมัยใหม่

ร้านหนังสือนี่สนุกกว่าห้องสมุดนะครับ เพราะห้องสมุดคือซื้ออดีตเก็บเอาไว้ แล้วทุกท่านก็ไปค้นอดีต หนังสือ ร้านหนังสือ คือทุกท่านเดินสู่อนาคต แถวหน้าที่สุดของร้านเดินเข้าไปก็จะเห็นทันทีว่ามีหนังสืออะไรออกใหม่ นั่นคืออนาคต นักคิดนักเขียน นักวิชาการ นักการเมือง เขาอยากจะพูดอะไรกับโลก เขาอยากจะสื่อสารอะไรกับโลก เขาจะสื่อสารผ่านหนังสือ

และในเวลาอันสั้น เมื่อมันถูกตีพิมพ์ออกมา มันจะถูกวางที่หน้าร้าน ถ้าท่านอยากเห็นอนาคตว่าโลกจะเดินไปทางไหน เดินเข้าร้านหนังสือ แล้วไปดูนิวรีลีสของหนังสือ ท่านจะเห็นว่าโลกจะเคลื่อนที่ไปทางไหน นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราปรับตัวได้เร็วที่สุด

Reinvent ตัวเองขึ้นมาใหม่

เมื่อเราใช้กระบวนการต่างๆ อย่างเข้มข้นและมีวินัยพอในการมองโลกภายนอก ในการเปลี่ยนแปลง มันจะเกิด Mindset ใหม่ที่จะทำให้เราเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ทีนี้ เมื่อเราเห็นโลกภายนอกทั้งหมด และเราจะโยนการเปลี่ยนแปลงไปให้โลกภายนอกทั้งหมด มันก็ไม่ค่อยยุติธรรมกับโลกเท่าไหร่

ถึงที่สุดแล้ว ยากมากที่เราจะเปลี่ยนโลกภายนอก เพราะโลกภายนอกเป็นที่สั่งสมของพลังงาน ของผู้คนหลายพันล้านคน มนุษย์มีความอยากเปลี่ยนแปลงผู้อื่น มากกว่าอยากเปลี่ยนแปลงตนเอง

ขงจื่อบอกว่า เดินมาสามคน หนึ่งคนเป็นครูเราได้ แต่เมิ่งจื่อบอกว่า มนุษย์ทุกคนล้วนกระหายอยากจะเป็นครูของผู้อื่น ตกลงเราอยากเปลี่ยนแปลงคนอื่นหรือว่าเราอยากเรียนรู้กับผู้อื่น เราเลือกได้ว่าจะเป็นแบบไหน ถ้าเราอยากเรียนรู้กับผู้อื่น เดินมาสามคน หนึ่งคนอย่างน้อยเป็นครูของเราได้ เรียนรู้จากพวกเขา

เมื่อเราเห็นแลนด์สเคปของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติในโลกสมัยใหม่ เรารู้ว่าเราอยู่ในจุดที่อัตราย ถ้าไม่เปลี่ยน ไม่ปรับตัว คำถามคือ แล้วเราจะปรับเปลี่ยนอย่างไร

ผมบอกกระบวนการที่ง่ายๆ สั้นๆ และชัดเจนว่า เราเปลี่ยนจุดยืน เปลี่ยนที่ เดินทาง อ่านหนังสือ สนทนากับผู้คน เปิดใจให้กว้าง มองให้ไกล ไปข้างหน้าแล้ว ถึงที่สุดพอได้แบบนี้แล้ว ถามว่าเราเปลี่ยนอะไร เราไปเปลี่ยนโลกภายนอกหรือ หามิได้ครับ

สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเปลี่ยน คือเราเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจึงตั้งหัวข้อวันนี้ว่า Reinventing Oneself ไม่ใช่ Other People อย่าเสียเวลาไปเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เพราะผู้อื่นก็จะเสียเวลามาเปลี่ยนแปลงเราเหมือนกัน และในที่สุดจะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย นอกจากความว่างเปล่า

ถามว่าเราจะ Reinvent ตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร เราต้องเข้าใจว่าในโลกสมัยใหม่ ถ้าเรา Reinvent ตัวเองเข้ามาได้หนึ่งครั้ง เราอาจจะอยู่ไปได้ยี่สิบปี สามสิบปี สี่สิบปี ห้าสิบปี หกสิบปี หรือว่าเราประสบความสำเร็จหนึ่งครั้ง เราอาจจะเกาะกุมความสำเร็จนั้นไปได้ตลอดชีวิต แต่เดิมเป็นมาอย่างนั้นครับ

แต่ในโลกสมัยใหม่ ความสำเร็จมันเกิดขึ้นเร็ว และล้มเหลวเร็วมาก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในความเร็วแสง ฉะนั้นถ้าเราไม่ Reinvent ตัวเอง หรือสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา เราจะติดสังขารเดิม ความสำเร็จเดิม อัตตาเดิม ประวัติศาสตร์เดิม อดีตเดิม

“ผมเขียนบอกไว้ในหนังสือว่าละครมันจบแล้ว แสงไฟปิดแล้ว เวทีเขาก็ปิดฉากแล้ว ยังจะแสดงอะไรอยู่ คุณต้องรู้ว่าละครมันจบ เขากำลังจะเล่นเรื่องใหม่ แล้วถ้าคุณมาแคสติ้งในบทเดิม ใครจะให้คุณเล่น คุณจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ เพื่อรับบทใหม่ในละครเรื่องใหม่อยู่ตลอดเวลาและสม่ำเสมอ”

ย้อนกลับไปอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตาก แต่เดิมก็เป็นแค่เจ้าเมืองตาก มาตั้งทัพเป็นแม่ทัพอยู่วัดพิชัย อยุธยา ถ้าวันที่อยุธยาแตก แล้วยังจะเป็นแม่ทัพอยู่ ก็คงแตกไปพร้อมอยุธยา ไม่ได้เดินหน้าไปจันทบูรสร้างกรุงธนบุรี มีรัตนโกสินทร์มาจนทุกวันนี้

สิ่งที่พระเจ้าตากทำเป็นหัวใจสำคัญของสตาร์ทอัป เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างตัวเองในสมัยใหม่ คือ Reinvent ตัวเองขึ้นมาใหม่ วันที่พระเจ้าตากยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา วัดพิชัยจะไปเมืองจันท์ นั่นคือปรารถนาจะตั้งตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว ไม่ได้คิดตัวเองว่าเป็นแม่ทัพนายกองอีกต่อไป Reinvent ตัวเองว่าจะนำทัพกอบกู้เอกราช ฟื้นสยามขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่คิดขนาดนั้น ไม่คิดการใหญ่ขนาดนั้น ทำการใหญ่ขนาดนั้นไม่ได้

คนจะทำการใหญ่ คิดการใหญ่ได้ มันต้องมีมโนภาพอันเข้มแข็งมาก แล้วถึงจะคิดว่าจะเป็นอย่างนั้น มันต้องมโนภาพตัวเองได้ว่าเราคือใคร เราคืออะไร เราจะตีฝ่าไปข้างหน้าได้อย่างไร นี่คือการ Reinvent ตัวเองขึ้นมาใหม่ของพระเจ้าตาก

ไปจ่ออยู่ที่กำแพงเมืองจันทบูร จะตีเมืองจันทรบูร เจ้าเมืองจันทรไม่เปิด วันนั้นต้องทิ้งทุกอย่างแล้วสวมบท Reinvent ตัวเองขึ้นมาเป็นนักรบที่แกร่งกล้า ในพงศาวดารเขียนว่า “ตรัสสั่งโยธาโยธาหาญทั้งปวงให้หุงหาอาหารรับพระราชทานแล้ว เหลือจากนั้นให้เทเสีย ต่อยหม้อข้าวหมอแกงทิ้ง ตีเอาเมืองจันท์คืนนี้ให้ได้ ไปหาข้าวเช้ากินเอาในเมือง ถ้าหาไม่ได้ก็ตายเสียด้วยกันทั้งหมดเถิด”

คุณคิดว่าคนที่คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ได้ สปิริตในหัวใจมันคือใคร หัวใจในวันนั้นต้องเป็นนักรบ ตายเป็นตาย ต้องเอาเมืองจันท์ให้ได้ Reinvent ตัวเองขึ้นมาใหม่ แล้วเอาพลังทั้งหมดของกองทหาร 500 ตีเมืองให้ได้ มันเสี่ยงเป็นเสียงตายขนาดนี้ในอดีต ถึงกอบกู้เมือง สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาได้สำเร็จ

ถามว่าทุกวันนี้เรามีความเสี่ยงขนาดนั้นมั้ย เราไม่มี เราอยู่รอดปลอดภัย นั่งสบายๆ สนทนากันในร้านหนังสือ แล้วมีเหตุปัจจัยอะไรที่เราจะไม่กล้าหาญขนาดนั้น ทั้งที่เราไม่มีความเสี่ยง ยึดเมืองจันทบุรีได้ สถาปนากรุงธนบุรีได้ ยังจะเป็นแม่ทัพอยู่มั้ย เป็นไม่ได้ ต้องสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์

อยาก ไม่อยาก ไม่ทราบ แต่จะรวมศูนย์อำนาจแล้วตั้งขึ้นมาใหม่ได้ ก็ต้องสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ต้อง Reinvent ตัวเองใหม่ จากแม่ทัพหัวเมืองขึ้นมาเป็นกษัตริย์ที่ครองราชอาณาจักรใหม่ ง่ายเหรอครับ

อยุธยาเป็นองคาพยพอันยิ่งใหญ่ การที่ลูกจีนโพ้นทะเลหนึ่งคนจะตั้งตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ในผืนแผ่นดินนี้ มันง่ายเหรอครับ มันไม่ง่าย แต่ถ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่มีสปิริตในการสร้างตัวเองเองขึ้นมา จะนำพาประเทศให้ผ่านช่วงวิกฤติที่สุดไม่ได้

นี่คือบทเรียนธุรกิจ นี่คือบทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเราถอดรหัสออก เราจะเข้าใจโลกสมัยใหม่ นี่คือเล่าไว้ใน Past จากคนตัวเล็กๆ ธรรมดาเต็มไปหมด ไม่ได้มีการศึกษา สมเด็จพระเจ้าตากไม่ได้จบปริญญาตรี ปริญญาโท ไม่ได้จบ PSD. อาชีพเดิมค้าขายทางเกวียน แล้วมาเป็นเจ้าเมือง

ใน Past เล่าเรื่องคนที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาในโลก ทุกคนล้วนไม่ได้จบปริญญาตรี ไม่ได้มีการศึกษา ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษดี ไม่ได้มีปัจจัยอื่นเลย มันเหลืออย่างเดียวคือตัวเองมีความเชื่อมั่นว่าจะสร้างตัวเองขึ้นมาในโลกที่มันผันผวน แล้วต้องการความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าอย่างยิ่งยวด

ใน Future เล่าสปิริตนี้ไว้ กลับไปที่คนเล็กๆ ธรรมดา คนที่ทำซูชิ คนที่ทำขนมปังบาแกตต์ คนที่ทำเสื้อผ้า คนเล็กคนน้อยคือคนที่สร้างโลก และเมื่อปรัชญาของคนเล็กคนน้อยมันถูกเอาไปใช้ในระดับประเทศ มันก็เปลี่ยนแปลงประเทศได้ ฉะนั้น มันจึงไม่มีปัจจัยที่เราจะใช้เป็นข้ออ้างว่าเราจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะเราเล็กไป เพราะเราการศึกษาน้อยไป เพราะเราเงินน้อยไป เพราะเราไม่มีความพร้อม

ในอดีต คนทั้งหมดที่สร้างโลก สร้างประเทศ สร้างอนาคตขึ้นมา ล้วนเป็นคนที่ไม่มีความพร้อม แต่มันมีสปิริตที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าได้ ถ้าคุณพร้อมอยู่แล้ว คุณไม่เปลี่ยน ก็อยู่กันแบบนี้แหละ

“แต่ที่มันเปลี่ยนได้ เพราะเรารู้สึกว่าเราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน และถ้าเรารู้สึกแบบนั้น เราสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จ”

และถ้าเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แน่นอน เราจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมรอบข้าง เปลี่ยนแปลงเพื่อนฝูง เปลี่ยนแปลงครอบครัว ญาติมิตร องค์กร บริษัท และในที่สุดจะย้อนกลับไปเปลี่ยนประเทศ แล้วค่อยไปเปลี่ยนแปลงโลกเป็นอันดับสุดท้าย

อย่าเปลี่ยนแปลงโลกก่อน แล้วถอยกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณจะล้มเหลวตั้งแต่ก้าวย่างแรกที่เดินออกจากประตู เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างยิ่งยวดก่อน ทีละขั้นๆ แล้วค่อยคิดจะไปเปลี่ยนแปลงโลก ตอนนี้ทุกองค์กรอยู่ในจุดอย่างนี้เหมือนกันหมด แล้วผู้นำองค์กรสูงสุดทุกคน ลงมาเปลี่ยนแปลงองค์กรของตัวเองอย่างยิ่งยวด วันหลังจะเขียนเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า

“ผู้บริหารสูงสุด เจ้าของกิจการ ลงมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง หมดทุกที่แล้วครับ เพราะเขารู้ว่าวิธีการทำธุรกิจแบบเดิม วิธีการบริหารธุรกิจแบบเดิม มันไปไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ และมันกำลังถูกท้าทายอย่างยิ่งยวด ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเขาจะเผชิญหน้ากับหายนะ เหมือนอย่างที่อยุธยาเคยเจอ ทุกวันนี้ทุกคนลงมาหมด เขาจะบอกหรือไม่บอกกับเราเท่านั้นเอง”

ฉะนั้น ถ้าคนที่เก่งที่สุด ฉลาดที่สุด ยังพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ในโลกที่ผันผวนขนาดนี้ ผมก็ถามคำถามสำคัญกลับไปที่ผู้อ่าน ผ่านหนังสือทุกเล่มที่เขียนมา 4 เล่มในซีรีส์นี้ว่า แล้วมีเหตุปัจจัยใดๆ ที่เราจะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองและสร้างอนาคต

หาจุดแข็งให้เจอ

ใน Managing Oneself ซึ่งแปลมาจากปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) ปรมาจารย์ด้านการจัดการ ถามต่อว่า ก็อยากเปลี่ยนแปลง แล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

“ผมเล่าหัวใจสูงสุดเพียงข้อเดียวคือ มันไม่มีทางเลือกอื่น คุณต้องเผชิญหน้ากับตัวเองอย่างจริงจัง แล้วก็หาให้เจอว่าจุดแข็งสูงสุดของของคุณ จุดแข็งที่ดีที่สุด ทรัพยากรสูงสุดคือตัวคุณ จุดแข็งคืออะไร แล้วคุณจับจุดนั้นจุดเดียว แล้วใช้มันเป็นสปริงบอร์ดในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสร้างอนาคต”

อย่าเสียเวลาไปทำเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เรื่องที่เป็นจุดอ่อน อย่าเสียเวลาไปทำเรื่องที่ไม่เก่ง 99 เรื่อง ให้เก็บทรัพยากรคือพลังงานและเวลาไว้ทำเรื่องที่ดีที่สุดหนึ่งเรื่อง แล้วเอาชนะที่เรื่องนั้นเรื่องเดียว

“ในโลกสมัยใหม่ เมื่อไหร่ที่คุณสูญเสียโฟกัส คุณจะพังทลาย เพราะคุณจะถูกโลกดูดกลืนพลังงานไปจนหมด จนไม่เหลือพลังงานพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้  รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา วิชาสูงสุดคือรู้วิชาในการจัดการตนเอง”

เข้าใจหนึ่ง เข้าถึงล้าน

สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดจาก Past เชื่อมเข้าสู่ Future บอกเคล็ดลับในการจัดการตัวเองผ่าน Managing Oneself หลอมรวมเป็นประสบการณ์ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกใส่ไว้ใน One Million ถามว่าทำไมต้องเป็น One Million ทำไมต้องเป็น One และเป็น Million

หัวใจสูงสูงของสิ่งที่คุยกันในวันนี้ คือถ้าคุณเข้าใจเพียงหนึ่งว่าคุณจะเริ่มต้น คุณจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และสร้างอนาคตใหม่ให้ตัวเองได้อย่างไร เทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดนี้ มันจะก่อพลานุภาพให้จากหนึ่งกลายเป็นล้าน หรือที่ผมเรียกว่าร้อยหมื่น

จาก One กลายเป็น Million จากหนึ่งกลายเป็นล้าน คุณไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่าเดิม ใช้ทรัพยากรเท่าเดิม ใช้องค์กรขนาดใหญ่ ใช้กองทัพที่เป็นแสนยานุภาพ รบราฆ่าฟันเช่นในอดีต วันนี้เพียงคุณมีไอเดียที่แหลมคมที่สุดไอเดียหนึ่ง แล้วคุณ Implement หรือว่าทำมันให้เกิดผลในการปฏิบัติอย่างแท้จริงขึ้นมาได้ คุณใส่เข้าไปในระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ จากหนึ่งจะกลายเป็นหนึ่งล้านทันที

สิ่งที่เผชิญหน้าและเป็นปัญหาของคุณ เป็นอุปสรรค เป็นกำแพง เป็นเส้นผมที่บังภูเขา แต่ถ้าคุณเข้าใจเขา เข้าใจเส้นผมนี้ ดึงเส้นผมออกนิดเดียว คุณจะเห็นภูเขาอยู่เบื้องหน้าทั้งลูก

และแทนที่ภูเขาจะเป็นอุปสรรค ภูเขาเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยธรรมชาติอันรื่นรมย์ เต็มไปด้วยทรัพยากรอันมีค่า และจะทำให้คุณเดินขึ้นเขาแห่งความเปลี่ยนแปลง ภูเขาที่จะนำคุณไปสู่อนาคตอย่างรื่นรมย์ จุดมันนิดเดียวครับ จาก One เป็น Million

ผมพยายามจะอธิบายความเปลี่ยนแปลง และเล่าความเชื่อมโยงทั้งหมดอยู่ในซีรีส์หนังสือสี่เล่ม ใช้เวลาเล่ายังนานขนาดนี้ อยากให้อ่านช้าๆ ใจเย็นๆ อ่านซ้ำได้

นี่คือความเชื่อมโยงของทั้งหมดที่อยากเล่าให้ฟังทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เล่าจากใจ เหมือนเล่าให้เพื่อนฝูงฟัง เจอเพื่อนฝูงก็เล่าแบบนี้ เจอลูกหลานก็เล่าแบบนี้ ทุกวันนี้เสมอกันหมด เล่าเบื้องหน้า เล่าเบื้องหลังเหมือนกันหมด

อยากให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ อยากให้ทุกคนหาทางไปข้างหน้าได้ อยากให้สังคมเราดีขึ้น อยากให้ประเทศของเรา ซึ่งเรารู้ว่ามีปัญหามาก มันเกิดสปิริตในการที่อยากจะนำพาสังคมนี้ ประเทศนี้ ไปสู่อนาคตเบื้องหน้าได้ ไม่อยากทิ้งภาระอันหนักหน่วงนี้ไว้ใหลูกหลาน

“เราทุกคนมีพลังพอ ที่จะร่วมมือกันแล้วสร้างอนาคตใหม่ให้ตัวเอง ให้ประเทศ และให้ลูกหลาน เริ่มด้วยจุด One ที่ง่ายที่สุด เรียนรู้จากตัวเอง ทิ้งอดีต หาจุดแข็ง เปิดใจให้กว้าง มองให้ไกล แล้วนำตัวเองไปสู่อนาคต”

ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ ขอบคุณครับ