ThaiPublica > คอลัมน์ > เมืองอัจฉริยะคืออะไรกันแน่ ?

เมืองอัจฉริยะคืออะไรกันแน่ ?

18 มีนาคม 2020


ดร.สุธี อนันต์สุขสมศรี
หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัย RUBEA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ RoLD Fellow สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice)

หลายภาคส่วนต่างมีความเห็นเห็นตรงกันว่า เมือง (city) เป็นจักรกลสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความรู้ และนวัตกรรม โดยองค์การสหประชาชาติคาดว่า ในปัจจุบัน ประชากรของโลกประมาณร้อยละ 50 อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง (urban area) พลังงานประมาณร้อยละ 60-80 ของโลกถูกใช้เพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในเมือง และคาดการณ์ว่า ในอนาคต ประชากรของโลกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองจะเพิ่มเป็นประมาณร้อยละ 70 ในปี 2050 ซึ่งจะทำให้การใช้ทรัพยากร สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เมืองเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะเดียวกัน ขยะและมลพิษต่างๆ ที่ถูกผลิตออกมาเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตของกิจกรรมเหล่านั้นก็จะมีมากขึ้นอีกด้วย โดยผลกระทบเชิงลบจากการผลิตนี้จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อปัญหาทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นอุปสรรคของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับเมือง ระดับประเทศ และระดับโลก

ตั้งแต่ช่วงปี 1990 แนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” (smart city) ได้รับการกล่าวถึงและได้รับการนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองอย่างแพร่หลาย แต่ทว่าแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะนั้นมักจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communication technology — ICT) ว่า เทคโนโลยีเป็นแกนหลักของแนวคิดเมืองอัจฉริยะ

โดยความเข้าใจดังกล่าวนี้มักสร้างความสับสนให้กับใจความสำคัญของแนวคิดเมืองอัจฉริยะ โดยความสับสนเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการวางนโยบายและแผนการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงมาตรการส่งเสริม และการประเมินและติดตามผลของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ดังนั้นความเข้าใจที่ชัดเจนในนิยามของแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการนำแนวคิดนี้ไปใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาเมืองในอนาคต

หน่วยปฏิบัติการวิจัยการวิเคราะห์ภูมิภาค เมือง และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Regional, Urban, and Built Environmental Analytics — RUBEA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิเคราะห์คำนิยามจากบทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง และพบว่า บทความวิชาการหลายบทความเห็นพ้องตรงกันว่า นิยามของเมืองอัจฉริยะยังขาดความชัดเจน ดังนั้นหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ จึงทำการวิเคราะห์บทความที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะจำนวน 4,410 บทความจากระบบฐานข้อมูลบทความวิชาการ Web of Science และพบว่า “เมืองอัจฉริยะ” มีนิยามที่หลากหลายภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน โดยคำนิยามของเมืองอัจฉริยะสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แนวทาง ได้แก่

    1. เทคโนโลยี (technology)
    2. ทรัพยากรมนุษย์ (human resources)
    3. ชุมชน (community)
    4. ความร่วมมืออย่างเป็นระบบ (systematic collaboration)
  • ในแนวทางด้านเทคโนโลยี แนวคิดเมืองอัจฉริยะมักจะมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับเมืองที่มีการใช้เทคโนโลยี ICT อย่างเข้มข้นและแพร่หลาย เช่น อาคารอัจฉริยะ (smart building) บ้านอัจฉริยะ (smart home) ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่มีอุปกรณ์ตรวจจับและตรวจวัดที่สามารถเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายข้อมูลสำหรับการประมวลผลในด้านต่างๆ โดยในบริบทของเมืองอัจฉริยะนั้น โครงข่ายของข้อมูลเหล่านี้อาจจะถูกขยายให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองทั้งหมด
  • ในแนวทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เป็นหัวใจในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีประชาชน การศึกษา การเรียนรู้ และความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน มีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม (social infrastructure) ที่ส่งเสริมทุนทางปัญญา (intellectual capital) ทุนทางสังคม (social capital) ที่เป็นพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นจากประชากรที่ชาญฉลาด (smart people) ที่เป็นผลของการศึกษาและอบรม ศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงธุรกิจและพาณิชกรรมที่เกิดขึ้นภายในเมือง และเมืองอัจฉริยะจะมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ที่มีการศึกษาและทักษะสูงเพิ่มเข้ามาอาศัยและเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองอีกด้วย
  • ในแนวทางด้านชุมชน แนวคิดเมืองอัจฉริยะมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดชุมชนอัจฉริยะ (smart community) ที่หมายถึง ชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาและแก้ปัญหาร่วมกันโดยคนและองค์กรในชุมชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาชุมชน โดยมีแกนหลักในการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของรัฐและชุมชน
  • ในแนวทางด้านความร่วมมืออย่างเป็นระบบ เมืองอัจฉริยะจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากขาดความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในด้านการออกกฏหมาย การกำกับดูแล การกำหนดยุทธศาสตร์ การวางนโยบาย แผน และโครงการ การดำเนินงาน และการติดตามผล เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงคนทุกกลุ่มในสังคม
  • จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลบทความพบว่า นิยามของเมืองอัจฉริยะที่มักได้รับการอ้างอิงมากที่สุด คือ บทความเรื่อง Smart Cities in Europe โดย Andrea Caragliu, Chiara Del Bo, และ Peter Nijkamp ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Urban Technology ในปี 2011 โดยมีนิยามว่า

    “เมืองอัจฉริยะเป็นเมืองที่มีการลงทุนในทุนมนุษย์และทุนทางสังคม ในโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม (เช่น การคมนาคม) และการสื่อสารแบบใหม่ (เช่น ICT) เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น โดยมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด ผ่านการกำกับดูแลอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

    และเสนอองค์ประกอบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่

      1. เศรษฐกิจที่ชาญฉลาด (smart economy)
      2. การเคลื่อนที่อย่างชาญฉลาด (smart mobility)
      3. สิ่งแวดล้อมที่ชาญฉลาด (smart environment)
      4. ประชากรที่ชาญฉลาด (smart people)
      5. ความเป็นอยู่ที่ชาญฉลาด (smart living)
      6. การกำกับดูแลที่ชาญฉลาด (smart governance) แต่ทว่านิยามนี้ก็ยังขาดความชัดเจน ไม่สามารถครอบคลุมบริบทของเมืองทุกเมืองได้

    ในบริบทของประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้คำนิยามของเมืองอัจฉริยะว่า “เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน”

    และแบ่งประเภทของเมืองอัจฉริยะออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่

      1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment)
      2. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy)
      3. พลังงานอัจฉริยะ (smart energy)
      4. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (smart governance)
      5. การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (smart living)
      6. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility)
      7. พลเมืองอัจฉริยะ (smart people)

    ในประเทศไทย แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้รับความนิยมและกล่าวถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากตัวอย่างของความสำเร็จจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้แนวคิดเมืองอัจฉริยะได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาโครงการที่มีความหลากหลายในระดับและขนาด เช่น ความร่วมมือขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดตั้งบรรษัทพัฒนาในจังหวัดต่างๆ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ความร่วมมือของเมืององค์กรของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการพัฒนาโครงการระดับย่านให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาในระดับโครงการ เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และประเภทผสมผสานการใช้ประโยชน์ (mixed use) รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

    ถึงแม้ว่า คำนิยามของเมืองอัจฉริยะนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและอาจจะไม่มีคำนิยามเฉพาะใดที่สามารถอธิบายแนวคิดเมืองอัจฉริยะได้ทั้งหมด แต่ภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดเมืองอัจฉริยะในบริบทของตนเอง

    โดยความเข้าใจในแนวคิดนั้นจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย แผน การดำเนินงาน และการติดตามผลของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นเมืองที่ชาญฉลาดอย่างแท้จริง ทำให้การสนับสนุนของรัฐเกิดผลจริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่การรวมกลุ่มเพื่อหาผลประโยชน์จากการพัฒนาเมือง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ต้องการสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมของรัฐ หรือไม่ได้เป็นเพียงแค่การพัฒนาที่มีคำว่า “อัจฉริยะ” ในชื่อโครงการเท่านั้น