ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำความเข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากรัฐบาล “ทักษิณถึงประยุทธ์”

ทำความเข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากรัฐบาล “ทักษิณถึงประยุทธ์”

25 มีนาคม 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ทำความเข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากรัฐบาล “ทักษิณถึงประยุทธ์” ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้กับสถานการณ์โรคระบาด จากที่ก่อนหน้าทั้ง 7 ครั้งกฎหมายฉบับนี้ถูกใช้กับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองทั้งสิ้น

เนื่องจากในวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ประกาศว่าจะใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในวันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยการประกาศใช้ครั้งนี้เป็นไปเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชน ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เบื้องต้นยังไม่ถือว่าเป็นการปิดเมืองปิดประเทศ หรือ เคอร์ฟิวแต่อย่างใด ประชาชนทุกคนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใต้ประกาศของผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด

เพื่อความเข้าใจ และรู้ถึงสิทธิ หน้าที่ของตนภายใต้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไทยพับลิก้าเชิญชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกฎหมายฉบับเล็กๆ ที่มีเพียง 19 มาตรา แต่ทรงพลังฉบับนี้ พร้อมย้อนรอยการใช้งานนับแต่การประกาศใช้ครั้งแรกในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน

ทำความเข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คืออะไร – มีผลอย่างไร

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้ ผู้มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีที่จะประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตบางท้องที่ตามความ จำเป็นเมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น และนายกรัฐมนตรีเห็นสมควร ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน แต่ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงทีนายกรัฐมนตรี อาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วจึงมาดำเนินการเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน

ทั้งนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ให้ใช้บังคับ ตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนดแต่ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันประกาศ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นต้องขยายระยะเวลา จะสามารถขยายเวลาการใช้กฎหมายนี้ไปได้อีกเป็นคราวๆ คราวละไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ฉุกเฉินได้สิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามประกาศ นายกรัฐมนตรีจึงจะประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นได้

ตาม มาตรา 4 “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาการรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติการปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะ อันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนั้น เมื่อได้มีการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ใดแล้ว อำนาจใดๆ ของหน่วยงานต่างๆ ที่จะดำเนินการใดๆ รวมถึงบริหารจัดการพื้นที่จะโอนมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว โดยนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจอื่นๆ อีก ดังต่อไปนี้

  • นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ แต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.นี้ รวมทั้งในกรณีที่มีความจำเป็นคณะรัฐมนตรีอาจให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการชั่วคราวได้

ในครั้งนี้จะมีการ จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะมีการประชุมทุกวันเวลา 9.00 น.เพื่ออัพเดทข้อมูลสถานการณ์และกำหนดมาตรการ มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานทางปกครอง ตำรวจ ทหาร พลเรือน ในการตั้งจุดตรวจ ด่านสกัด สำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างจังหวัด (ข้อมูลจากคำแถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563)

  • นายกรัฐมนตรี มีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็น การยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามการเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความไม่สงบ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ ยานพาหนะที่กำหนด ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ใดๆ หรืออพยพประชาชน ออกจากพื้นที่ที่กำหนด

แม้ยังไม่มีการเคอร์ฟิวแต่เบื้องต้นได้มีการขอความร่วมมืองดเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด หรือ การกักตัวอยู่ที่บ้าน  และให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกรณีต่างๆ อาทิ การกักตุนสินค้า การขายสินค้าเกินราคา รวมถึงการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น (ข้อมูลจากคำแถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563)

  • ในกรณีที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง กฎหมายนี้ได้ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย

ตาม มาตรา 11 “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ได้แก่สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้ายการใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สิน ของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

    • ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัว บุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น
    • ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้ บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบหลักฐาน ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ หรือวัตถุอื่นใดในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำ ให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
    • ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตรวจสอบจดหมาย หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการ สื่อสารใด และการสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร ให้คนต่างด้าวออกไป นอกราชอาณาจักร
    • ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัย ของประชาชน
    • ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้าย ต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ นายกรัฐมนตรีกำหนด
    • ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน
  • บทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ ออกตามกฎหมายนี้ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากมีผู้ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติ หน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ กฎหมายได้เปิดช่องให้ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตาม กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม แม้การแถลงเมื่อวันที่ 24 มีนคาม 2563 ยังมีเพียงมาตรการเบื้องต้น และยังไม่ได้เป็นการบังคับกักกันผู้คนมาก คงเพียงขอความร่วมมือจากประชาชน การจัดระบบบริหารจัดการที่รวมศูนย์ยิ่งขึ้น และการตรวจตราที่เข้มงวดขึ้น แต่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไปหากไม่ได้รับความร่วมมือ หรือสถานการณ์เลวร้ายลง นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นเพิ่มเติมได้

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากรัฐบาล “ทักษิณถึงประยุทธ์”

พระราชกำหนดฉบับนี้ประกาศให้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จนถึงปัจจุบัน จำนวน 8 ครั้ง ใน 6 รัฐบาล ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้กับสถานการณ์โรคระบาด และเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศใช้ทั่วประเทศจากที่ก่อนหน้าทั้ง 7 ครั้งกฎหมายฉบับนี้ถูกใช้กับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และใช้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น

  • ครั้งที่ 1 ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใช้ในเขตท้องที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานีและจ.ยะลาและมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาต่อมา อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2562 ได้มีการปรับลดพื้นที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เปลี่ยนมาใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทน

  • ครั้งที่ 2 ในสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551

ใช้ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครอันเนื่องมาจาก สถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปะทะกับผู้ชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติบริเวณถนนราชดำเนิน

  • ครั้งที่ 3 ในสมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใช้ในเขตท้องที่ เขตดอนเมืองและเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และอ.บางพลีและอ. บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิเพื่อขับไล่รัฐบาล

  • ครั้งที่ 4 ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใช้ในเขตท้องที่จ.ชลบุรี อันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงบุกเข้าไปในบริเวณที่มีการจัด การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

  • ครั้งที่ 5 ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใช้ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.บางบ่อ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.ธัญบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว อ.สามโคก อ.ลำลูกกา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และอ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา อันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดถนน ในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลเพื่อขับไล่รัฐบาล

  • ครั้งที่ 6 ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใช้ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางพลี อ.พระประแดง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.บางบ่อ และอ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และอ.วังน้อย อ.บางปะอิน อ.บางไทร และอ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา อันเนื่องมาจากสถานการณ์ การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดถนนบริเวณแยกราชประสงค์และบุกรัฐสภา

  • ครั้งที่ 7 ในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใช้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล จ.สมุทรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว กรอบบังคับใช้ 60 วัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ที่มีชัตดาวน์กรุงเทพฯ ปิดสถานที่ราชการและธนาคารต่างๆ เพื่อขับไล่รัฐบาล

  • ครั้งที่ 8 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563

ใช้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ  อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19

อนึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบัน แปรสภาพมาจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และในประเทศไทยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงยังมีอีกหลายฉบับ นอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายที่ถูกหยิบมาใช้บ่อย คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่สมัย ร.6 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยให้อำนาจให้กอ.รมน. ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่ได้รับมอบหมาย