ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดย กพอ. รับทราบ คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านราคา) จากเอกชนที่ผ่านข้อเสนอซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) ทั้ง 3 ราย และมีมติให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่เสนอเงินประกันรายได้เป็นผลตอบแทนให้ภาครัฐสูงที่สุด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และเข้าสู่กระบวนการเจรจา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ทั้งนี้ การเจรจาจะได้ข้อสรุปภายใน มีนาคม 2563 และสามารถเสนอร่างสัญญาที่สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาให้ สกพอ. และ ครม. พิจารณา เมษายน 2563 นี้
2.แผนบริหารจัดการน้ำใน อีอีซี : แก้ระยะสั้น วางแผนระยะยาวให้ยั่งยืน โดยแผนบริหารจัดการน้ำใน อีอีซี ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของอีอีซี รองรับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว และแผนระยะสั้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563
2.1 แผนระยะสั้น เร่งทำงานใกล้ชิด ป้องกันภัยแล้ง มาตรการสำคัญระยะสั้น รองรับวิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของ สทนช. สกพอ. กรมชลประทาน คณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) บริษัท East Water และภาคเอกชน ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ มีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำ ดังนี้
-
1. โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย East Water ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
2. โครงการผันน้ำคลองหลวง มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
3.โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 10–35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทาน และคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนดได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 สามารถเริ่มผันน้ำ 4.3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
-
1.ขอให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จัดทำแผนลดใช้น้ำร้อยละ 10 ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563
2.โครงการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชน เข้าระบบจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการประปาภูมิภาค ประสานกับ East Water เร่งดำเนินการ
3.โครงการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มายังหนองปลาไหล สามารถผันน้ำ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยกรมชลประทาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 28 กุมภาพันธ์ 2563
4.โครงการวางท่อคลองน้ำแดง เพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 1.3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย East Water ประสานกับกรมชลประทานเร่งดำเนินการ
2.2 บริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพออย่างดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สทนช. ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580)
1) พัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน 53 โครงการ วงเงิน 52,797 ล้านบาท
- แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น
- แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 12 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น
- มาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท
2) การผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคตกับภาคเอกชน
3.โครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ อีอีซี ทางกพอ. เห็นชอบหลักการโครงการ มอบหมายให้ สกพอ. เสนอกระทรวงพลังงาน นำเข้าบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคาไฟฟ้าที่เหมาะสม
-
1. ศึกษา พัฒนา ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่อีอีซี เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ในการผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30
2. ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป้าหมายระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่ อีอีซี โดยผสมผสานร่วมกับการทำ การเกษตรในพื้นที่
3. ให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ออกแบบระบบ วางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี ให้เป็นโครงการตัวอย่าง