อุณหภูมิที่แถบแอนตาร์กติกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส หรือ 68 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดความวิตกต่อสภาพความไม่แน่นอนของแหล่งกักเก็บน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอุณหภูมิซึ่งวัดได้เกาะซีมัวร์ (Seymour Island). ที่ระดับ 20.75 องศาเซลเซียสนั้นเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและผิดปกติ
จากการวัดอุณหภูมิที่เกาะซีมัวร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2020 นักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลพบว่าอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 1 องศาเซลเซียสจากระดับ 19.8 องศาเซลเซียสของการวัดครั้งก่อนที่เกาะซิกนี (Signy Island) ปี 1982
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ชาวอาร์เจนตินาวัดอุณหภูมิของสถานีเอสเพอร์รันซา (Esperanza) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2020 ได้ 18.3 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของคาบสมุทรแอนตาร์กติก
อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการวัดทั้งสองครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องผ่านการรับรองจากกรมอุตุนิยมวิทยาโลก แต่ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ส่วนใหญ่ในบริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติกและเกาะที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอุ่นขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และเป็นอุณหภูมิที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งของโลก
นักวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งเก็บข้อมูลจากสถานีตรวจสอบระยะไกลทุกๆ 3 วัน อธิบายว่า อุณหภูมิที่ทำสถิติใหม่นี้เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและผิดปกติ
“เราเคยเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจากหลายสถานีที่เราเฝ้าติดตาม แต่ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน” คาร์ลอส เชฟเฟอร์ ซึ่งทำงานในโครงการเทอร์รานทาร์ (Terrantar) โครงการของรัฐบาลบราซิลที่มุ่งไปที่การประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change ต่อชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือ permafrost (permafrost หมายถึง พื้นดินที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่พบพื้นดินแบบนี้ในบริเวณขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น ซึ่งบนผิวดินอาจไม่จำเป็นต้องมีน้ำแข็งปกคลุมก็ได้) และด้านชีววิทยาจาก 23 สถานีที่คาบสมุทรแอนตาร์ติก
เชฟเฟอร์กล่าวว่า อุณหภูมิในคาบสมุทรแอนตาร์ติก บริเวณเกาะเชตแลนด์ใต้ (South Shetland Island) และหมู่เกาะเจมส์ รอสส์ (James Ross archipelago) ซึ่งครอบคลุมเกาะซีมัวร์ มีความไม่แน่นอนในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และหลังจากที่เย็นลงในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษนี้ ก็กลับมาอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลซึ่งอยู่ในโครงการแอนตาร์กติกให้ความเห็นว่า การที่อุณหภูมิสูงขึ้นเกิดจากอิทธิพลของการยกตัวของกระแสน้ำในมหาสมุทรและปรากฎการณ์เอลนีโญ
“เราพบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกันมากกับการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวและมหาสมุทร ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กันมาก”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกันทั่วทั้งคาบสมุทร ที่ประกอบด้วยผืนดิน เกาะ และมหาสมุทรซึ่งอยู่บริเวณเส้นขนานหรือละติจูดที่ 60 องศาใต้ ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ 70% ของโลกในรูปของหิมะและน้ำแข็ง ซึ่งหากละลายทั้งหมดจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 50-60 เมตร แต่นั่นต้องเป็นอีกหลายชั่วชีวิตคน นักวิทยาศาสตร์สหประชาชาติพยากรณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 30-110 เซนติเมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่ขึ้นอยู่กับความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเปราะบางของแผ่นน้ำแข็ง
ขณะที่อุณหภูมิทางตะวันออกและตอนกลางของแอนตาร์กติกยังคงทรงตัว แต่ก็มีความวิตกมากขึ้นต่อทางตะวันตกของแอนตาร์กติก ซึ่งมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นมีผลต่อธารน้ำแข็งที่เกาะไพน์และเกาะทะวาอิทส์ (Thwaites and Pine Island) และก็ยังมีผลน้อยต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่ก็อาจจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วได้หากอุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่องคาบสมุทรแอนตาร์ติกที่มีความยาวทอดไปยังอาร์เจนตินาได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการที่เดอะการ์เดียนร่วมเดินทางไปกับกลุ่มกรีนพีซพบว่า ธารน้ำแข็งลดลงมากกว่า 100 เมตรในอ่าวดิสคัฟเวอรี (Discovery Bay) และพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะคิง จอร์จ (King George Island) ซึ่งหิมะค่อยๆ ละลายมากว่าสัปดาห์ จนเห็นก้อนหินสีดำ ขณะที่การละลายของน้ำแข็งเกิดขึ้นทุกๆ หน้าร้อน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดขึ้นว่า อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นในหน้าหนาว สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าเป็นสาเหตุของสัญญานอันตรายของการลดลงมากกว่า 50% ของกลุ่มนกเพนกวินสายพันธ์ชินสแตรป (chinstrap penguin) ซึ่งต้องพึ่งพาทะเลน้ำแข็ง
เชฟเฟอร์กล่าวว่า การติดตามการเก็บบันทึกข้อมูลในบริเวณนี้ อาจจะบ่งชี้ได้ถึงสถานการณ์ในส่วนอื่นของภูมิภาค “เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีพื้นที่เฝ้าระวังอย่างเกาะเชตแลนด์ใต้ และคาบสมุทรแอนตาร์กติกเพราะจะบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นอนาคตอันใกล้นี้”