ThaiPublica > เกาะกระแส > “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ชวนส่องเศรษฐกิจ 2563 ชวด-ไม่ชวด?

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ชวนส่องเศรษฐกิจ 2563 ชวด-ไม่ชวด?

5 กุมภาพันธ์ 2020


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) แถลงข่าวผลประกอบการครึ่งหลังปี 2562 และทิศทางดำเนินธุรกิจปี 2563 โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ได้แถลงถึงทิศทางเศรษฐกิจในหัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจ 2563: ชวด ไม่ชวด?”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า จากเดิมตั้งใจจะมาเล่าข่าวดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เพราะในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกและไทยเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในหลายๆ เรื่องๆ อย่างไรก็ตาม พอเปิดปี 2563 ขึ้นมาได้เพียงเดือนเดียวภาพต่างๆ พลิกกลับกันไปหมดจนทำให้ต้องปรับประมาณการณ์จีดีพีลง จากเดิมที่คาดว่าในปีนี้จะเติบโตได้ 2.8% เหลือเพียง 2.2% โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย

ไวรัสโคโรนารุนแรงกว่าซาร์ส กระทบจีดีพี 0.15% ต่อเดือน

ปัจจัยแรกคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งหลายคนยังคิดว่าเป็นโรคระบาดมีลักษณะแพร่กระจายคล้ายกับโรคซาร์สในปี 2546 แต่เมื่อมาดูจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่ามันแพร่กระจายเร็วกว่าและมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อไปแล้ว 20,197 ราย ผ่านมาเพียง 2 วันตัวเลขนี้ล่าสุดเพิ่มไปถึง 24,000 รายแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 12% ของจีดีพีไทยและมีนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากที่ทางการจีนมีคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวหรือกรุ๊ปทัวร์ออกมาท่องเที่ยว โดยจากการคาดการณ์ถ้าหากกรุ๊ปทัวร์ของจีนหายไปเพียงครึ่งหนึ่งในระยะเวลา 1 เดือนจะทำให้จีดีพีของไทยลดลงไปได้ถึง 0.15% และถ้าหากยังคงแพร่ระบาดต่อไปจีดีพีไทยจะได้รับผลกระทบมากกว่านี้

“เดิมเราคาดการณ์ว่าภายหลังจีนปิดเมืองอู่ฮั่นไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 แล้วนับไปอีก 2 สัปดาห์ที่เป็นระยะฟักตัวของโรค ตัวเลขของผู้ติดเชื้อน่าจะเริ่มทรงตัว แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่ามันจะหายไปแบบนั้น เทียบกับตอนที่ซาร์สระบาดตอนนั้นระบาดอยู่เพียง 2 เดือนก่อนจะเริ่มทรงตัว นักท่องเที่ยวหายไป 40% และพอทางการสามารถควบคุมโรคได้ในช่วง 2 เดือน สุดท้ายการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วจนทั้งปีการท่องเที่ยวไทยตอนนั้นยังกลับมาเติบโตได้ 7%” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอาจจะแตกต่างออกไปค่อนข้างมาก เนื่องจากในตอนโรคซาร์สมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนออกไปท่องเที่ยวทั่วโลกเพียง 17 ล้านคน แต่ตอนนี้มีถึง 161 ล้านคน และเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยจาก 800,000 คนในตอนนั้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 ล้านคนในตอนนี้ และสัดส่วนของการท่องเที่ยวในจีดีพีเพิ่มจาก 7.7% เป็น 12% ดังนั้น ความสำคัญของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมากและจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1-2 ค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ในแง่ของสายพานการผลิตที่ในหลายประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองอู่ฮั่นของจีน เนื่องจากเมืองอู่ฮั่นถือว่าเป็นเมืองสำคัญทางการค้าของภูมิภาค อย่างเกาหลีใต้เริ่มมีรายงานว่าไม่มีวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตสินค้า ดังนั้นในระยะต่อไปอาจจะกระทบกับการผลิตและการส่งออกของไทยได้ และอีกประเด็นที่ต้องติดตามคือการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นในไทยหรือไม่ก็จะเป็นปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นนี้

“การปรับจีดีพีในครั้งนี้ยังถือว่าเป็นการปรับเบื้องต้น เราอาจจะต้องรอดูว่าการแพร่ระบาดจะยาวนานและมีผลกระทบไปอีกนานขนาดไหน แล้วถ้ามันมีผลกระทบมากขึ้นหรือยาวนานขึ้น ก็อาจจะต้องปรับจีดีพีในปีนี้ลดไปได้อีก” ดร.พิพัฒน์กล่าว

  • TMB Analytics คาดพิษไวรัสโคโรนาทำธุรกิจโรงแรม 7,500 รายสูญรายได้กว่าสองหมื่นล้าน
  • อีไอซีปรับ GDP ปี 2020 เหลือ 2.1% จากไวรัสโคโรนา 2019 – งบประมาณล่าช้า
  • งบล่าช้าเบิกจ่ายไม่ทัน จากกระทบระยะสั้นเป็นถาวร

    ปัจจัยประการที่ 2 คือ ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 จากเดิมที่งบประมาณผ่านการพิจารณาของสภาล่าช้าอยู่แล้ว โดยงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วงกลางเดือนตุลาคมก่อนที่จะผ่านออกมาเป็นกฎหมายในช่วงกลางมกราคม แต่พอมีปัญหาว่ามีการเสียบบัตรแทนกันก็คาดว่าการพิจารณาอาจจะล่าช้าออกไปอีก

    ถามว่าทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คิดว่าอาจจะมีอยู่ 4 ทางที่เสนอขึ้นมา

      อันแรกคืออิงจากการตีความของศาลในครั้งที่ผ่านๆ มาว่าต้องเป็นโมฆะและต้องกลับมาพิจารณาใหม่ตั้งแต่วาระที่ 1 ซึ่งอาจจะใช้วิธีนำร่างงบประมาณเดิมเข้ามาพิจารณา 3 วาระให้เร็วที่สุด แต่คาดว่าต้องใช้เวลาอยู่ดี

      อันที่ 2 คืออาจจะโหวตใหม่ในวาระที่ 2-3 ที่มีปัญหาเสียบบัตรแทนกัน

      อันที่ 3 มีคนเสนอว่าให้ตัดเสียงที่มีปัญหาออกไปแล้วนับว่างบประมาณผ่านสภาไปเลยได้หรือไม่ และ

      สุดท้ายคืออิงตามรัฐธรรมนูญว่างบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของสภามากกว่า 105 วันแล้วสามารถประกาศใช้ได้เลยหรือไม่

    ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ไม่ว่าจะออกมาทางไหนก็จะต้องกระทบกับระยะเวลาเบิกจ่ายงบประมาณที่จะต้องล่าช้าออกไปอีก อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไทยมีวางแนวทางในกรณีแบบนี้เอาไว้ว่าให้รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามงบประมาณเดิมของปีที่แล้วไปพลางก่อน ดังนั้นที่ผ่านมาประเทศไทยจึงไม่เคยปัญหา shutdown อย่างหลายประเทศ โดยจะให้เบิกจ่ายได้เพียงงบประมาณประจำต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือน ฯลฯ ซึ่งเคยเบิกจ่ายในปีที่แล้ว และจะมีเพียงโครงการใหม่เท่านั้นที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้

    ทั้งนี้ หากดูข้อมูลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2563 พบว่าในช่วง 4 เดือนแรกเบิกจ่ายน้อยกว่าปีที่ผ่านมาไปแล้ว 260,000 ล้านบาท หรือลดลงไปกว่า 21% ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เป็นผลกระทบจากการอนุมัติงบประมาณออกมาล่าช้าในปีนี้

    “แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่ผ่านมาผลกระทบนี้มักเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเมื่องบประมาณผ่านการพิจารณาออกมาได้ รัฐบาลมักจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเหล่านี้ชดเชยคืนมาได้ แต่ในกรณีของปีนี้เมื่องบประมาณอาจจะล่าช้าออกไปอีก 2 เดือนหรือล่าช้ารวมไปเกือบ 6 เดือนจากที่ควรจะเป็น ทำให้รัฐบาลมีระยะเวลาเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ไม่ทัน และทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจกลายเป็นผลกระทบที่ถาวรหรือไม่” ดร.พิพัฒน์กล่าว

    ภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี

    ปัจจัยประการสุดท้ายคือ เรื่องภัยแล้ง หากดูระดับน้ำในเขื่อนสำคัญของไทยในปัจจุบันพบว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในหลายปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญกับภัยแล้งที่ค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นในระยะต่อไปคาดว่าภาคการเกษตรของไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของจำนวนคนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมของไทยที่คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร แม้ว่าในแง่ของจีดีพีอาจจะไม่มากนัก

    ดร.พิพัฒน์กล่าวสรุปว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหรือใช้เครื่องมือทางการคลังและการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากปล่อยให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ การออกมาตรการที่จะช่วยดึงเศรษฐกิจขึ้นมาจะยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ

    “ดังนั้น เมื่อดูแล้วนโยบายการคลังอาจจะยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ แรงกดดันอาจจะไปตกอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ใช้นโยบายการเงินเข้ามาพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ และคาดว่าในวันนี้ กนง.อาจจะมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ไปที่ 1% ซึ่งจะเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย และถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ในการประชุมครั้งต่อไปก็อาจจะปรับลดลงไปอีกได้ด้วย” ดร.พิพัฒน์กล่าว