ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23-29 กุมภาพันธ์ 2563
บขส. เปิดเดินรถอุดรธานี-วังเวียงในลาว

บริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ร่วมกับกรมท่าอากาศยาน กรมการขนส่งทางบก สานต่อนโยบาย Feeder ของกระทรวงคมนาคม จัดพิธีเปิดจุดจอดท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เส้นทาง Feeder Services สายที่ 9 อุดรธานี-เมืองวังเวียง เชื่อมต่อท่าอากาศยานอุดรธานี อำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธาน ในพิธีเปิดจุดจอดท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีเส้นทาง Feeder Services สายที่ 9 อุดรธานี-เมืองวังเวียง โดยมีนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่งจำกัด, นางสาวปาหนัน ถนัดค้า ขนส่งจังหวัดอุดรธานี, นางสาวสุพรรณวดี จันโทภาส นักวิชาขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุดรธานี พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมฯ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า การเปิดเดินรถเส้นทาง Feeder Services สายที่ 9 อุดรธานี-เมืองวังเวียง เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งกรมท่าอากาศยาน กรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ บขส. สามารถจัดเดินรถเชื่อมต่อท่าอากาศยาน หรือ Feeder Services เส้นทางเดินรถโดยสารระหว่างประเทศสายที่ 9 อุดรธานี-หนองคาย-เมืองวังเวียง สปป.ลาว และประชาชนเกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง สามารถเดินทางเชื่อมระหว่างเมืองไปยังชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวได้ โดยผู้โดย สารสามารถนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีและซื้อตั๋ว บขส. เดินทางไปเมืองวังเวียง สปป.ลาว ได้ทันที
สำหรับเส้นทางเดินรถโดยสารระหว่างประเทศสายที่ 9 อุดรธานี-หนองคาย-เมืองวังเวียง สปป.ลาว มีระยะทาง 246 กิโลเมตร เปิดให้บริการทุกวัน วันละ 1 เที่ยว โดยรถโดยสารออกจาก บขส. แห่งที่ 1 เวลา 08.30 น. และออกจากท่าอากาศยานอุดรธานี เวลา 09.00 น. อัตราค่าโดยสาร 320 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สถานีเดินรถอุดรธานี โทร 042 221489 และเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว ท่าอากาศยานอุดรธานี โทรศัพท์ 095 765 1790
ฟิลิปปินส์เล็งกำหนดใช้วัตถุดิบในประเทศ 50% ในการผลิต

กระทรวงพาณิชย์ฟิลิปปินส์เตรียมที่จะร่างนโยบาย กำหนดให้ผู้ผลิตทุกรายในประเทศใช้วัตถุดิบในประเทศ 50% ในการผลิตสินค้าเพื่อสนับสนุนการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ในประเทศ
สำหรับแนวนโยบายที่จะกำหนดให้ภาคการผลิตทั้งหมดใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศอย่างน้อย 50%นั้น นายรามอน เอ็ม. โลเปซ รัฐมนตรีมนตรีกระทรวงพาณิชย์ มีเป้าหมายที่จะให้ผู้ผลิตในสนับสนันห่วงโซ่อุปทานในประเทศ และเปิดโอกาสให้คนในประเทศจำนวนมาก
นายโลเปซอธิบายว่า นโยบายนี้จะครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหมายถึงว่าผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องหาทางเพื่อจะจัดหาแหล่งวัตถุดิบตามที่กำหนดจากผู้ผลิตในประเทศ
“หากเป็นโครงการที่ได้ใช้เงินในประเทศในการก่อสร้าง หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออื่นๆ ก็จะถูกบังคับให้เพิ่มวัตถุดิบในประเทศในการดำเนินการ” นายโลเปซกล่าวและว่า “และจะต้องซื้อวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ”
นายโลเปซกล่าวว่า “หากเป็นปูนซีเมนต์ เหล็ก ท่อ แผ่นเหล็ก ที่ผลิตในประเทศและได้มาตรฐาน ก็จะได้รับการส่งเสริมให้มีการใช้มากขึ้น ตามแคมเปญ Buy Philippine Made ซึ่งจะมีการสร้างการรับรู้ให้ซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ”
นายโลเปซชี้ว่า การซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศจะทำให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจในหลายภาคอุตสาหกรรม เพราะไม่เพียงมีผลดีต่อการผลิต แต่ยังมีผลต่อความต้องการแรงงาน และยังจะผลักดันการเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม
“นโยบายนี้จะมีผลกับภาคอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะธุรกิจรถยนต์ที่จะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ” นายโลเปซกล่าว
ภายใต้ยุทธศาสตร์คืนชีพรถยนต์แบบเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Automotive Resurgence Strategy: CARS) ผู้ผลิตที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการจะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับการประกอบรถยนต์เป็น 60% จาก 40% และเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ต้องการให้มีการสร้างโรงงานผลิตในประเทศมากกว่าการนำเข้า
โครงการ CARS จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใช้วัสดุในประเทศที่มีปริมาณการผลิตอย่างน้อย 200,000 คันเป็นเวลา 6 ปี โดยแต่ละบริษัทจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 9 พันล้านเปโซจากรัฐบาล นอกเหนือจากการสนับสนุนที่ไม่ใช่มาตรการทางการคลัง ซึ่งโตโยต้ามอเตอร์สฟิลิปปินส์คอร์ป ได้นำรถโตโยต้า วีออส เข้าโครงการ ขณะที่มิตซูบิชิมอเตอร์สฟิลิปปินส์คอร์ป นำรถรุ่น มิราจเข้าโครงการ
แผนระยะยาวสำหรับโครงการนี้คือการส่งออก แต่นายโลเปซกล่าวว่า เป้าหมายนี้ต้องพับไปชั่วคราวเพราะต้นทุนการผลิตสูงเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย
ลาวปรับขึ้นค่าขนสินค้าผ่านแดน

กระทรวงการคลังของลาวจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนอัตราใหม่ในเดือนมีนาคม เพื่อใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์เปลี่ยนโฉมจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลหรือ landlocked เป็นประเทศเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศ หรือ land bridge รวมทั้งเพื่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และการขยายฐานรายได้ของรัฐบาลเพื่อหาเงินไปลงทุนในโครงการพัฒนาต่างๆ
รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อการก่อสร้างรถไฟ ถนน และสะพานเพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โดยหนึ่งในหลายโครงการใหญ่ คือโครงการรถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ในอนาคต และโครงการรถไฟในผ่านลาวจะแล้วเสร็จปี 2021
รัฐบาลเชื่อมั่นว่า สปป.ลาวมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ได้ รองรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าของธุรกิจไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแห่ง สปป.ลาวในสัปดาห์ที่แล้วได้เผยแพร่ประกาศคำสั่งกระทรวง เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนที่แก้ไข โดยให้มีผลกลางเดือนหน้า
ประกาศคำสั่งกระทรวงที่แก้ไข ซึ่งลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายสมดี ดวงดี เมื่อวันที่ 10 มกราคม กำหนดให้สินค้าที่มีการนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อจะต้องถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนในอัตราใหม่ แต่จะไม่เท่ากันโดยขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและปริมาณ เช่น ค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนสำหรับสุรา ไวน์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮออล์อื่นปริมาณ 1 ลิตรอยู่ที่ 1 ดอลลาร์
ธุรกิจที่นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่นเพื่อการส่งออก จะเสียค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนในอัตราลิตรละ 0.25 ดอลลาร์ ค่าธรรมเนียมสำหรับรถบรรทุกที่ใช้ขนสินค้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 3,000 ซีซีอยู่ที่ 1,500 ต่อคัน ส่วนการนำเข้าสัตว์ เช่น วัว ควาย ม้า หรือแกะเพื่อการส่งออกก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนเช่นกัน โดยสามารถตรวจสอบอัตราค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดนได้ที่ https://laoofficialgazette.gov.la
สินค้าที่นำเข้ามาเพื่อการส่งออกจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายใน สปป.ลาว
ลาวลดขั้นตอนจดทะเบียนธุรกิจเหลือ 30 วัน

กระทรวงพาณิชย์ของ สปป.ลาว โดยกรมทะเบียนการค้าและการจัดการ (Enterprise Registration and Management Department) ได้ปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ ผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ที่สนใจจะเริ่มธุรกิจในลาว
ทั้งนี้กระบวนการจดทะเบียนธุรกิจจะง่ายขึ้น เพื่อยกอันดับของลาวในรายงานการจัดอันดับความยากง่ายของการทำธุรกิจหรือ Ease of Doing Business ในปีหน้า จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 181 ของโลกจาก 190 ประเทศทั่วโลก
นายสมพวง เพียนพินิด อธิบดีกรมทะเบียนการค้าและการจัดการ กล่าวว่า “เราได้ปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนธุรกิจเพื่อรองรับผู้ที่สนใจเริ่มธุรกิจในลาว โดยลดขั้นตอนลงเหลือ 3 ขั้นตอนจากเดิมที่มี 10 ขั้นตอน แต่ไม่รวมขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ”
“ปัจจุบันกระบวนการจดทะเบียนธุรกิจใช้เวลา 30 วันจากเดิมที่ใช้เวลานานถึง 178 วัน” นายสมพวงกล่าวในที่ประชุม ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานอื่นๆ ธนาคารโลก หอการค้าและอุตสาหกรรมยุโรปในลาว หอการค้าและอุตสาหกรรมออเสตรเลียในลาว หอการค้าและอุตสาหกรรมลาว และที่ปรึกษาการลงทุนนานาชาติ
บุคคลใดหรือนักลงทุนรายใหม่ ต้องผ่าน 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ 1) จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจพร้อมยอมรับให้มีการตรวจสอบข้อมูล 2) ต้องมีตราบริษัท 3) จดทะเบียนแรงงาน
ผู้ประกอบการไม่ต้องกรอบแบบฟอร์มและเตรียมเอกสารจำนวนมากอีกต่อไป รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่ผู้ประกอบการต้องแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ
กระบวนการจัดตั้งธุรกิจได้เริ่มปรับปรุงมาในปลายปี 2018 และแล้วเสร็จในปี 2019
นายสมพวง กล่าวว่า ลาวอยู่ในอันดับท้ายๆ ของ Ease of Doing Business ในปีนี้เพราะที่ปรึกษาการลงทุนในลาว หอการค้านานาชาติ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคิดว่า กระบวนการจัดตั้งธุรกิจและกระบวนการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นกระบวนการเดียวกัน ทั้งๆ ที่แยกออกเป็น 2 กระบวนการ
คำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 3 เรื่อง Ease of Doing Business ได้ออกมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เพื่อปรับปรุงกลไกการประสานงานและหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจในลาว โดยมีเป้าหมายที่ยกอันดับของลาวใน Ease of Doing Business ที่จัดทำโดยธนาคารโลกขึ้น
คำสั่งนี้มีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ กระตุ้นความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศ และลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจในลาว
เวียดนามดึง FDI กว่า 6 พันล้านดอลลาร์ใน 2 เดือนแรก

ในรอบ 2 เดือนแรกปี 2020 นี้เวียดนามดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้เป็นมูลค่า 6.47 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 23.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดเผยของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Agency)
การเบิกใช้เงินลงทุน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ลดลง 5% มีจำนวน 2.45 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มีการอนุญาตการลงทุนกับโครงการใหม่ 500 โครงการรวมมูลค่าลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่ง 4 พันล้านดอลลาร์เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในจังหวัดบากเลียว ที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ทำให้บากเลียวเป็นแหล่งใหญ่สุดของลงทุนด้านผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจมากที่สุด
ส่วนการลงทุนอีก 638 ล้านดอลลาร์เป็นการลงทุนเพิ่มในโครงการที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว 151 โครงการ และอีก 827 ล้านดอลลาร์เป็นการเพิ่มทุนกับการซื้อหุ้น
สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดในเวียดนามในรอบ 2 เดือนนี้จากมูลค่าลงทุน 4.12 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ จีน 720.4 ล้านดอลลาร์และเกาลหลีใต้ 425.4 ล้านดอลลาร์
ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในเวียดนามที่ดำเนินการอยู่มีจำนวน 31,345 โครงการรวมทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 369.4 พันล้านดอลลาร์ โดย 214.23 พันล้านดอลลาร์ได้มีการเบิกใช้แล้ว
ส่วนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของเวียดนามมีมูลค่า 30.3 ล้านดอลลาร์ โดยที่ 21.4 ล้านดอลลาร์เป็นโครงการใหม่ ส่วนที่เหลือ 8.9 ล้านดอลลาร์เป็นการลงทุนในโครงการเดิมที่มีอยู่
เงินลงทุนส่วนใหญ่ 14.3 ล้านดอลลาร์ อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและบริการจัดเลี้ยงคิดเป็น 48% ของการลงทุนรวม ส่วนมูลค่าลงทุนในการผลิตและแปรรูป อยู่ที่ 8.9 ล้านดอลลาร์หรือ 29.4% ตามมาด้วยธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โลจิสติกส์ และอื่นๆ และมีการลงทุนมากที่สุดในสหรัฐฯ 20 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ กัมพูชา 8.9 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งมีการลงทุน ฮ่องกง สหราชอาณาจักร เมียนมา และประเทศอื่นๆ รวม 12 ประเทศ
เมียนมาไฟเขียวต่างชาติเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นได้ มี.ค.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งเมียนมาจะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นได้ในตลาดหุ้นย่างกุ้งหรือ Yangon Stock Exchange (YSX) เดือนมีนาคมนี้
ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2019 ตลาดหลักทรัพย์แห่งเมียนมาประกาศว่า นักลงทุนบุคคลทั้งต่างชาติและนักลงทุนในประเทศที่ได้จดทะเบียนจะได้รับอนุญาตให้ลงทุนในหุ้นได้ในสัดส่วนถึง 35% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นย่างกุ้ง แต่ไม่ได้กำหนดระยะที่ชัดเจนลงไป
อู เต ชุน สมาชิก ตลาดหลักทรัพย์แห่งเมียนมา เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์รายละเอียดและเวลาที่ชัดเจนที่ นักลงทุนต่างชาติจะซื้อขายหุ้นที่จดทะเบียนใน YSX ได้นั้นจะประกาศภายในเดือนมีนาคมนี้และจะอนุญาตให้เริ่มทำการซื้อขายได้ในเดือนเดียวกัน
“เราได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นย่างกุ้ง และเชื่อว่าการที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนจะทำให้ตลาดขยายตัว”
อย่างไรก็ตามบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งนักลงทุนต้องหาความรู้เพิ่มเติมและมีความเชื่อมั่นตลาดหุ้นในประเทศ
ปัจจุบันตลาด YSX มีบริษัทจดทะเบียน 5 รายได้แก่ First Myanmar Investment, Myanmar Thilawa SEZ Holdings, Myanmar Citizens Bank และ First Private Bank and TMH Telecom
ตลาดหลักทรัพย์แห่งเมียนมากำลังผลักดันให้มีการจดทะเบียนมากขึ้น โดยวางกรอบธรรมาภิบาลให้บริษัทมหาชนใช้เป็นแนวทาง รวมทั้งแบ่งปันความรู้และการตระหนักรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้น ตลาด YSX มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ เปิดเป็นทางการเดือนธันวาคม 2015 และเริ่มซื้อขายเดือนมีนาคม 2016