ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผน PDP2018

ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผน PDP2018

21 มกราคม 2020


ดร.ภิญโญ มีชำนะ

ข่าวรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่กำลังจะปรับปรุงแผน PDP2018 เป็นบางส่วน โดยมุ่งเป้าไปที่การสร้าง Energy for All ส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ราคาค่าไฟฟ้าต้องต่ำ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเทคโนโลยีด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าและปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดซื้อขายไฟฟ้ามากขึ้น [1] นั้นเป็นข่าวดีที่ผมเห็นด้วยว่าแผน PDP2018 ที่ได้ประกาศโดยรัฐบาลชุดก่อนควรได้รับการปรับปรุง และการปรับปรุงควรเป็นไปตามหลักวิชาการ

ในบทความก่อน [2] ผมได้กล่าวถึงผลกระทบของแผน PDP2018 ที่มีต่ออนาคตพลังงานไทย และได้เสนอแนวคิดทางวิชาการในการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศโดยใช้หลักสมดุลของปัจจัย 4E คือ Economic, Environment, Energy Security และ Engineering [3]

ในบทความนี้ผมจึงขอแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแผน PDP2018 โดยที่นโยบายที่กำหนดแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศควรคำนึงถึงการปรับสมดุลของ 4E ดังนี้

1. นโยบายกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงและพลังงานในการผลิตไฟฟ้า (Power Mix) ให้เหมาะสมเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนเชื้อเพลิงและพลังงานในการผลิตไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติร้อยละ 60 ถ่านหินร้อยละ 22 พลังน้ำจากลาวร้อยละ 7 และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 20 ซึ่งจะเห็นว่าไทยพึ่งพลังงานหลักไปที่ก๊าซธรรมชาติมากสุดที่ร้อยละ 60 ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานมาก เพราะว่าก่อนหน้านี้ไทยต้องพึ่งพลังงานจากก๊าซธรรมชาติธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 เพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยการพึ่งตนเองจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นหลัก (แม้ว่าไทยจะนำเข้าจากพม่าเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ก็ตาม) แต่ในอนาคตประเทศไทยจะกลาย

เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ ( Net Energy Importer) ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้านี้ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานและเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้นเพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดไป ประเทศไทยจะมีสภาพการใช้พลังงานคล้ายๆกับ 3 ประเทศดังกล่าวที่ต้องนำเข้าพลังงานในสัดส่วนที่สูงมาก ประเทศไทยจึงควรศึกษาลักษณะการกระจายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก 3 ประเทศนี้ เพื่อกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศให้เหมาะสม เนื่องจากประเทศทั้ง 3 ได้มีการกระจายความเสี่ยงของการใช้พลังงานอย่างสมดุลเหมาะสมและน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทย

ไต้หวันได้มีการกระจายเชื้อเพลิงในปี 2015 [4] โดยประมาณ ดังนี้ ถ่านหิน (นำเข้า) ร้อยละ 44.6; LNG (นำเข้า) ร้อยละ 31.4; นิวเคลียร์ร้อยละ 14.1; น้ำมันร้อยละ 4.7; พลังน้ำร้อยละ 1.2; และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 4.0 และไต้หวันมีค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยถูกกว่าไทย

เกาหลีใต้ผลิตไฟฟ้ามีกระจายเชื้อเพลิงในปี 2015 โดยประมาณ คือ ถ่านหิน (นำเข้า) ร้อยละ 46.0 (สัดส่วนพอๆกับไต้หวัน); LNG (นำเข้า) ร้อยละ 15.5; นิวเคลียร์ร้อยละ 32.5; น้ำมันร้อยละ 4.4; พลังงานน้ำร้อยละ 1.2 และจากพลังงานหมุนเวียนเพียงแค่ร้อยละ 0.4 เท่านั้น จนทำให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยถูกกว่าไทยเช่นกัน

ส่วน ประเทศไทยในปี 2015 [6] มีการผลิตไฟฟ้าจากลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าร้อยละ 18.0; ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 67.0; ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ร้อยละ 0.0); น้ำมันร้อยละ 0.5; พลังน้ำ (ทั้งจากในประเทศและเพื่อนบ้านจากลาว) ร้อยละ 9.5 และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 5.0 ซึ่งจะเห็นว่าการวางน้ำหนักเชื้อเพลิงของไทยมีสัดส่วนค่อนข้างไม่สมดุลมากนัก เพราะไปพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมากจนเกินไปจนทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยสูงกว่าเกาหลีใต้และไต้หวัน

สำหรับญี่ปุ่นนั้นก่อนเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคูชิมานั้นญี่ปุ่นมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (LNG นำเข้า) ร้อยละ 29.3; นิวเคลียร์ร้อยละ 28.6; ถ่านหินร้อยละ 25.0; พลังน้ำร้อยละ 8.5; น้ำมันและก๊าซชนิดต่างๆร้อยละ 7.5; ที่เหลือคือพลังงานลมและแสงอาทิตย์ร้อยละ 1.1 [7] ซึ่งจะเห็นว่าญี่ปุ่นได้มีการวางแผนกระจายความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานและเชื้อเพลิงชนิดต่างๆเอาไว้ได้ค่อนข้างดี ประกอบกับประเทศญี่ปุ่นมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูง ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติเลวร้ายด้านพลังงานขึ้นมา ญี่ปุ่นจึงสามารถประคองตัวผ่านวิกฤตมาได้

หลังเหตุการณ์ฟูคูชิมา ญี่ปุ่นได้ประกาศปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดของประเทศโดยตั้งใจว่าจะนำเอาพลังงานหมุนเวียนประเภทชนิดต่างๆเข้ามาทดแทนกำลังผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ที่หายไปจากระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ จึงได้พยายามนำเอาพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานลมและแสงอาทิตย์เข้ามาในระบบการผลิตไฟฟ้า แต่ผลปรากฏว่าสามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวจากร้อยละ 1.1 ในปี 2010 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 4.7 ในปี 2015 คือเพิ่มได้เพียงร้อยละ 3.6 ซึ่งยังห่างไกลที่จะสามารถนำมาทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ที่หายไปจากระบบเกือบร้อยละ 28 ได้ และล่าสุด (ปี 2016) รัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือกที่จะกระจายความเสี่ยงที่ไม่สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปที่ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG และถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นร้อยละ 42.2 และถ่านหินเป็นร้อยละ 32.3 และสามารถเดินโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้แค่ร้อยละ 1.7 โดยขณะนี้ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 90 โรง และมีแผนที่จะสร้างใหม่อีกกว่า 30 โรงที่มีกำลังการผลิตรวม 16,730 เมกะวัตต์ [8]

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เป็น Net Importer of Energy ได้วางแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงแบบกระจายตัวไม่กระจุกตัวแต่เชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดเป็นพิเศษ แต่ได้กระจายความเสี่ยงด้วยการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงหลายๆชนิดที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เพราะทั้ง 3 ประเทศได้นำเข้าพลังงานหรือเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากเพื่อมาผลิตไฟฟ้า และในอนาคตประเทศไทยก็น่าจะต้องผลิตไฟฟ้าในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว

ประเทศไทยจึงควรต้องวางแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศด้วยการกระจายความเสี่ยงของการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงโดยมีทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวข้างต้นเป็นแบบอย่าง กล่าวคือต้องไม่พึ่งไปที่เชื้อเพลิงตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษอย่างเช่นที่ไทยได้กำหนดไว้ในแผน PDP2018 กล่าวคือ ไทยได้วางน้ำหนักไปที่เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและ LNG นำเข้ามากจนเกินไป โดยมีสัดส่วนของเชื้อเพลิงนี้ถึงร้อยละ 53 ซึ่งจะทำให้ไทยมีความเสี่ยงในเรื่อง Price Risk หรือความผันผวนของราคา LNG ที่ในอนาคตไทยจะต้องนำเข้าเพิ่มมากขึ้น (ราคา LNG เป็นไปตามกลไกตลาดโลกที่เราไม่สามารถควบคุมได้) นอกจากนั้นยังอาจเกิดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุการส่งผ่านก๊าซธรรมชาติทางท่อที่อาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับบริเวณกว้างหรือ Blackout ได้ (เคยเกิดมาแล้ว) นอกจากนั้นยังอาจเกิดความเสี่ยงภาวะสงครามหรือการก่อการร้ายได้ ดังนั้น เราจึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการลดสัดส่วนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและ LNG ด้วยการเพิ่มสัดส่วนไปยังพลังงานหรือเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เช่น ถ่านหิน พลังน้ำจากต่างประเทศ หรือนิวเคลียร์ ทั้งนี้เพื่อเสริมความมั่นคงของการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

อนึ่ง จากการที่ไทยมีข้อขัดแย้งในเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาจนขยายกลายเป็นอุปสรรคในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อการผลิตพลังงานจากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว รัฐบาลไทยควรใช้ความพยายามเจรจากับประเทศกัมพูชาในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติทางทะเลไทย-กัมพูชา (Thai-Cambodian Maritime Overlapping Area) ซึ่งคาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนนี้ในปริมาณมากพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าที่ไทยจะต้องนำเข้าเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมากยิ่งขึ้น

2. นโยบายลดก๊าซเรือนกระจกที่ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพเป็นอันดับแรก

การที่รัฐมีนโยบายที่จะเพิ่มพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นอย่างมากมาย (10,000 เมกะวัตต์) ในแผน PDP2018 จะทำให้ต้องมีการลงทุนเอาเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีราคาแพงเข้ามาจัดการความไม่เสถียรของพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ดังนั้น นโยบายการลดภาวะโลกร้อนด้วยพลังงานหมุนเวียนของไทยนั้นแทนที่จะมุ่งน้นไปยังพลังงานแสงอาทิตย์ควรเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับพลังงานประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของไทยที่มีของเหลือการเกษตรมาก และไทยมีศักยภาพที่จะสามารถเพิ่มเติมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทนี้ได้อีกเป็นจำนวนมาก

การผลิตแก๊สจากขี้หมู

อีกทั้งในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาฟางข้าว ซังตอข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด ซึ่งเป็นของเหลือการเกษตรที่ก่อปัญหามลภาวะอยู่ในขณะนี้ รัฐควรสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการนำเอาของเหลือการเกษตรเหล่านี้นำเอามาทำเป็นเชื้อเพลิงขายให้แก่โรงงานผลิตไฟฟ้าซีวมวลหรือก๊าซชีวภาพได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและมีข่าวเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชนตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าและลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ สร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน เช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร เป็นต้น [9]

อนึ่ง หากรัฐให้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพอย่างจริงจังทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการที่ทันสมัย รวมถึงการอุดหนุนจากภาครัฐอย่างเหมาะสมพลังงานหมุนเวียนประเภทนี้สามารถพัฒนาให้เป็นพลังงานที่มีเสถียรภาพ (stability) และความมั่นคง (security) จนสามารถเป็นโรงไฟฟ้าที่ไว้ใจและพึ่งพาได้ (firm) ได้มากกว่าโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและแสงอาทิตย์ได้ (non-firm) ซึ่งหากนโยบายนี้ประสบความสำเร็จจะทำให้ไทยสามารถยกระดับให้โรงไฟฟ้าประเภทนี้กลายเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ไทยสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง (ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีที่ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพกลายเป็นโรงไฟฟ้าที่ firm ได้) ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เนื่องจากเงินตราจะหมุนเวียนในประเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ

และเมื่อรัฐได้สนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพได้จนเต็มศักยภาพการผลิตแล้วจึงค่อยหันมาพิจารณาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงงานลมและแสงอาทิตย์เป็นลำดับต่อไป ซึ่งการกำหนดลำดับความสำคัญเช่นนี้จะทำให้รัฐ (หรือ กฟผ.) สามารถที่จะชะลอการลงทุนเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าสำรอง (Backup Power Plant), Transmission Development และ Grid Modernization ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต้องลงทุนสูงเพื่อมารองรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่มีความเสถียรและมั่นคงจนอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นได้

3. นโยบายที่ลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และลดสัดส่วนไฟฟ้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นที่น่าเสียดายว่าแผน PDP2018 ได้ลดสัดส่วนไฟฟ้าจากถ่านหิน (ร้อยละ 11) และยกเลิกไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ (ร้อยละ 5) รวมกันเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 16 โดยนำสัดส่วนนี้ไปเพิ่มให้แก่ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติละ LNG จากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 53 จะทำให้ไทยเสียโอกาสที่จะใช้ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน นิวเคลียร์ และพลังน้ำนั้นมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และการเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่สูงเกินไปก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงจนอาจทำให้ความมั่นคงทางพลังงานลดน้อยไป (ดังได้อธิบายข้างต้น)

สำหรับกรณีที่มีการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่และเทพานั้น แม้ว่าจะได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โครงการทั้ง 2 แห่งว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่จะนำมาใช้ในโครงการนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนาจนมีประสิทธิภาพสูง คือเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีระบบ Ultra Super Critical (USC) ซึ่งนอกจากจะมีการปลดปล่อยมลพิษต่ำแล้วยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ค่อนข้างมาก โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งได้ล่าช้าจากแผนเดิมค่อนข้างมากแล้วประมาณ 5-6 ปี แม้ว่าจะได้มีการการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการทั้ง 2 ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมานั้น แต่ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะอยู่ในระหว่างขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นตามข้อกำหนดของ EIA แต่ก็ต้องถูกมติคณะรัฐมนตรีให้ต้องเริ่มขบวนการทำ EIA ใหม่ทั้งหมด ที่เรียกว่าเซ็ตซีโร่ [10] ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาแม้ว่า EIA จะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไปได้ แต่มติคณะรัฐมนตรีได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องถอนรายงาน EIA ออกไป (เสมือนหนึ่งว่ารายงาน EIA ยังไม่ได้รับการอนุมัติ) และกระทรวงพลังงานโดยรัฐมนตรีคนก่อนได้ให้เหตุผลว่าทั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาควรรอการศึกษาโครงการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ (Stragegic Environmental Assessment หรือ SEA) สำหรับ การพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคใต้ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จราวปลายปี 2563 ซึ่งดำเนินการโดยนิด้าก่อนการตัดสินใจ [11]

และเป็นที่น่าเสียดายว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ถูกนำออกไปจากออกไปจากแผน ดังนั้นโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนต่ำและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำจะมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในหลายๆประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แต่เราก็ไม่ควรจะละทิ้งทางเลือกนี้เนื่องจากกำลังมีการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งในประเทศฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย ที่จะทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรตั้งทีมบุคคลที่จะคอยติดตามและศึกษาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อว่าในอนาคตหากเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้พัฒนาจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยเราจะไม่ตกขบวนในเรื่องนี้

เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น มีกำลังติดตั้ง 1285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบเต็มกำลังต้นเดือนพ.ย. 2562

นอกจากนั้นแล้ว การที่แผน PDP2018 ได้ระบุให้เปลี่ยนสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาว) ให้น้อยลง คือจากเดิมร้อยละ 15 ในแผน PDP2015 ลดลงเหลือร้อยละ 9 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีนโยบายพลังงานที่โลเล ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากลาวได้มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของไทย ดังนั้นท่าทีเช่นนี้อาจทำให้การเจรจาต่อรองของไทยที่จะขอซื้อไฟฟ้าจากลาวในอนาคตอาจมีอุปสรรค เพราะลาวมีแผนที่จะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ซึ่งในอนาคตลาวอาจมีนโยบายกระจายความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม และจีน เพื่อลดแรงกดดันจากไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

เพราะนอกจากการที่ไทยจะเสียโอกาสใช้ไฟฟ้าจากลาวในราคาถูกแล้ว ในอนาคตไทยอาจมีปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในหลายๆพื้นที่ จนทำให้ไทยเสียทางเลือกที่สำคัญที่ไทยจะได้ใช้ไฟฟ้าที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่ไม่มีปัญหาการต่อต้าน แถมยังมีราคาถูก อนึ่งการที่ไทยนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่เกินร้อยละ 15 ซึ่งจะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เพราะไทยได้กำหนดไฟฟ้าสำรองในกรณีฉุกเฉินเอาไว้ที่ร้อยละ 15 ซึ่งเป็นตัวเลขพลังงานสำรองที่ได้คำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศหากเกิดกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศเอาไว้แล้ว

อนึ่ง เนื่องจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (เช่นโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ และพลังน้ำจากเขื่อน) มักถูกต่อต้าน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจากจะต้องมีกระบวนการที่จะให้ความรู้ที่ถูกต้องแล้วควรต้องมีระบบที่ชดเชยในลักษณะที่มีส่วนร่วมในผลประโยชน์หรือ Benefit Sharing ที่ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆโครงการได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ควรมีการสร้างระบบการชดเชยที่เหมาะสม (เช่น การใช้ไฟฟ้าฟรีหรือในอัตราพิเศษ เป็นต้น) ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อาศัยใกล้เคียงกับโครงการสามารถยอมรับได้ โดยจะต้องมีการศึกษาระบบชดเชยให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยนั้นได้ โดยสามารถศึกษาจากกรณีของบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสที่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เคยมีการต่อต้านได้

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผมจึงขอเสนอปรับปรุงแผน PDP2018 ใหม่ ดังนี้

1) ควรลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ให้มีสัดส่วนที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยกระจายพลังงานหรือเชื้อเพลิงไม่ให้มีการกระจุกตัวไปพลังงานหรือเชื้อเพลิงใดเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรใช้ความพยายามเจรจากับประเทศกัมพูชาในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติทางทะเลไทย-กัมพูชา (Thai-Cambodian Maritime Overlapping Area) เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนนี้

2) ควรเพิ่มสัดส่วนถ่านหินให้อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 20-25 เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากถ่านหินสามารถจัดหาได้ง่าย มีราคาถูกและผันผวนน้อย ประกอบกับเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดได้ถูกพัฒนาจนมีประสิทธิภาพสูงซึ่งนอกจากจะมีการปลดปล่อยมลพิษต่ำแล้วยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้มาก ส่วนกรณีที่มีการคัดค้านและสนับสนุนครงการไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างให้นิด้าทำการศึกษาโครงการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคใต้ (หรือการศึกษา SEA) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จราวปลายปี 2563 นั้น ผลการศึกษาน่าจะเป็นทางเลือกหลายทางซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเป็นเช่นใดก็ตาม ผมคาดว่าก็จะไม่เป็นที่ยอมรับทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ผมจึงเสนอให้ประชาชนรอบโรงไฟฟ้าลงประชามติว่าจะยอมให้มีการดำเนินการทั้ง 2 แห่งต่อไปอีกหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนของโครงการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนโยบายผลิตไฟฟ้าของประเทศต่อไปในอนาคต

3) ควรเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (โดยเฉพาะจากลาว) เพิ่มขึ้นแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ทั้งนี้ไทยไม่ควรตัดโอกาสที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำซึ่งราคาถูกและก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย อีกทั้งมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งตัวเลขร้อยละ 15 นี้ได้พิจารณาจากกำลังสำรองของการผลิตไฟฟ้าของไทยไว้ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 15

4) เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (เช่นโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ และพลังน้ำจากเขื่อน) ในประเทศไทยมักถูกต่อต้าน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจากจะให้ความรู้ที่ถูกต้องแล้วควรต้องมีระบบที่ชดเชยในลักษณะที่มีส่วนร่วมในผลประโยชน์หรือ Benefit Sharing ที่ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆโครงการได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องสร้างระบบการชดเชยที่เหมาะสม (เช่น การให้ใช้ไฟฟ้าฟรีหรือในอัตราพิเศษ เป็นต้น) ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อาศัยใกล้เคียงกับโครงการสามารถยอมรับได้มากขึ้น โดยจะต้องมีการศึกษาระบบชดเชยให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากผู้ที่ได้รับผลกระทบและประชาชนที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยนั้นได้

5) นโยบายลดภาวะโลกร้อนของไทยที่จะทำด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นนั้นควรสนับสนุนให้ความสำคัญกับพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพเป็นอันดับแรกเสียก่อน และเมื่อสนับสนุนให้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพในการผลิตไฟฟ้าได้เต็มศักยภาพแล้วจึงค่อยไปสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เนื่องจากไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นที่ต้นไม้และพืชต่างๆสามารถเติบโตได้เร็วกว่าประเทศในเขตหนาว ประเทศไทยสามารถปลูกพืชโตเร็วและมีของเหลือการเกษตรปริมาณมากพอที่จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้มากพอที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศได้หากได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการชดเชยที่เหมาะสมจากภาครัฐก็จะสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน (Energy Security) ของประเทศได้ และจากการที่ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ การที่จะทำให้เกษตรกรของไทยมีรายได้เสริมจากการการปลูกพืชโตเร็วและของเหลือการเกษตรเพื่อผลิตไฟฟ้า เกิดการหมุนเวียนของเงินตราในประเทศ และจะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศได้ นอกจากนั้นแล้วของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรซึ่งเดิมมักถูกนำไปเผาทิ้งในที่โล่งก็จะมีแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจที่เกษตรกรจะนำเอาของเหลือการเกษรเหล่านั้นนำไปจำหน่ายเพื่อนำไฟผลิตไฟฟ้าแทนการเผาทิ้ง ก็จะสามารถแก้ปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนี้ได้

อ้างอิง

[1] Energy for All แก้แผน PDP ให้ “ชุมชน” เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 17 สิงหาคม 2562.
(Energy for All แก้แผน PDP ให้ “ชุมชน” เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า – ประชาชาติธุรกิจ)
[2] ผลกระทบของแผนพลังงานไฟฟ้า PDP2018 ที่มีต่ออนาคตพลังงานไทย,
ดร.ภิญโญ มีชำนะ, THAIPUBLICA, 27 ตุลาคม 2019.
(ผลกระทบของแผนพลังงานไฟฟ้า PDP2018 ที่มีต่ออนาคตพลังงานไทย | ThaiPublica)
[3] หลักคิดทางวิชาการในการวางแผน PDP, ดร.ภิญโญ มีชำนะ, THAIPUBLICA, 27 กันยายน 2019.
(หลักคิดทางวิชาการในการวางแผน PDP | ThaiPublica)
[4] Power infrastructure including RE for 2015 Taiwan The economic… | Download Scientific Diagram
[5] https://www.researchgate.net/figure/Energy-mix-in-South-Korea-21-Data-source-IEA-Energy-Statistics_fig3_257775202
[6] ‎www.irena.org/-/media/Files/IRENA/Agency/Publication/2017/Nov/IRENA_Outlook_Thailand_2017.pdf
[7] Japan’s Shift To Renewable Energy Losses Power, Mayumi Negishi, The Wall Street Journal, 14/09/16.
(Japan’s Shift to Renewable Energy Loses Power – WSJ)
[8] Japan continues to rely on coal-fired plants despite global criticism, Chisato Tanaka, The Japan Times, 09/10/18.
[9] กพช. เร่งเดินหน้า “โรงไฟฟ้าชุมชน”, ข่าวพลังงานมิติใหม่ ใกล้ตัวเรา, 30 สิงหาคม 2562.
(กพช. เร่งเดินหน้า “โรงไฟฟ้าชุมชน” – Energytimeonline)
[10] “รัฐ”ยอมถอย ม็อบต้านโรงไฟฟ้า กระบี่ สลายตัวกลับบ้าน, คม•ชัด•ลึก, 19 กุมภาพันธ์ 2560.

[11] ขอเลื่อนผลศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ยาวไปถึงสิ้นปี 2563, ศูนย์ข่าวพลังงาน, 02/01/2020.