ThaiPublica > คอลัมน์ > ความน่ารัก-ความสุข-ภยันตราย

ความน่ารัก-ความสุข-ภยันตราย

24 ธันวาคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : เพ็ญศรี พัลวัลย์

ภาพที่ชาวอินเตอร์เน็ตในระดับโลกเห็นพ้องกันว่าน่ารักที่สุดก็คือลูกแมว หากไล่เรียงลงมาก็ได้แก่ เด็กทารก ลูกหมา ลูกกระต่าย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดปรากฏดาษดื่นในโฆษณาขายสินค้า แม้แต่วิดีโอขององค์การก่อการร้าย ISIS ในปี 2016 ซึ่งมีวัตถุประสงค์สร้างภาพลักษณ์และชักชวนหนุ่มสาวให้เข้าไปร่วมรบก็มีภาพนักต่อสู้พร้อมอาวุธกำลังอุ้มและลูบหัวลูกแมวน่ารัก มาดูกันว่าความน่ารักซึ่งมีพลังมากมายมีที่มาอย่างไรและเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้างทั้งในด้านดีและด้านร้าย

นิตยสาร Discover ฉบับธันวาคม 2019 ให้ข้อมูลและบทวิเคราะห์พลังความน่ารัก(power of cuteness) โดยในขั้นพื้นฐานนั้นมนุษย์เชื่อกันมานานว่าสาเหตุของการที่เรารู้สึกเอ็นดูเด็กทารกและลูกสัตว์ก็เพราะสัญชาตญาณอันเป็นอัตโนมัติของเราในเรื่องการต้องการดูแลปกป้องซึ่งไม่ผิดแต่มันลึกซึ้งกว่าที่เข้าใจกัน

งานศึกษาพลังความน่ารักเริ่มในทศวรรษ 1930 โดยนักศึกษาพฤติกรรมสัตว์ชาวออสเตรีย Konrad Lorenz ซึ่งมีชื่อเสียงจนต่อมาได้รับรางวัลโนเบิล เขาเป็นคนอื้อฉาวเพราะเป็นนาซีที่สนับสนุนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในงานสร้างความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์อารยัน
Lorenz อธิบายความเอ็นดูเด็กทารกด้วยคำว่า “kindchenschema” หรือ “baby schema” ซึ่งอธิบายว่าลักษณะของทารกซึ่งมีส่วนของหัวโต เมื่อเปรียบเทียบกับหูตาจมูกมีหน้าผากใหญ่ ตาโต จมูกเล็ก ลักษณะอันเป็นสัดส่วนกันนี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางชีววิทยาในตัวมนุษย์ที่รวดเร็วให้เกิดความรู้สึกอยากที่จะคุ้มครอง ดูแลปกป้อง ถึงแม้ว่าจะไม่รู้จักกันมาก่อนก็ตาม นอกจากนี้สัตว์อีกหลายพันธุ์ที่ลูกของมันมีลักษณะสัดส่วนหน้าตาเช่นเดียวกับทารกก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกคล้ายกันขึ้นในมนุษย์ เช่น ลูกแมว ลูกหมา ลูกกวาง ลูกเสือ ฯลฯ

ปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดความเอ็นดูเช่นนี้ก่อให้เกิดพลังแห่งความน่ารักซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์รู้สึกพอใจและมีความสุขจากการได้เห็นหรือสัมผัส และไม่เพียงแต่ข้ามเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้นยังข้ามไปถึงสัตว์อื่นอีกด้วย ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ก็เกิดความรู้สึกเช่นเดียวกันนี้ ที่ยกเว้นก็ เช่น แกะ ซึ่งถึงแม้มันจะอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มแต่แม่มันจะดูแลเฉพาะลูกของมันไม่ให้ลูกตัวอื่นมาแย่ง กินนม ในขณะที่หนูเอ็นดูหนูด้วยกัน ช่วยกันป้องกันและเลี้ยงดูลูกซึ่งกันและกัน (เพราะมันไม่ได้เกิดพร้อมกันในหนึ่งปี ซึ่งต่างจากแกะจนทำให้มีการแข่งขันแย่งนมจากแม่) จนทำให้กลุ่มหนูมีความเข้มแข็งและขยายพันธุ์ได้มาก

Lorenz เองก็ไม่พอใจกับการค้นพบที่มนุษย์รู้สึกเอ็นดูข้ามเผ่าพันธุ์ อีกทั้งเอ็นดูลูกสัตว์ด้วย เขาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเขาก็คือเผ่าพันธุ์อารยันควรเอ็นดู ปกป้อง เลี้ยงดูกันเฉพาะเผ่าพันธุ์ตนเองตามอุดมการณ์ของฮิตเลอร์

ในเวลาต่อมามีการศึกษาเรื่อง “kindchenschema” กันอีกมาก แต่แนวคิดนี้ก็ยังคงเป็นจริงแม้กระทั่งปัจจุบัน งานศึกษาใช้เครื่องมือสมัยใหม่บันทึกการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ f MRI หรือ MEG ในปี 2008 Kringelbach และทีมงานพบว่าเมื่อเอาภาพเด็กทารกและภาพผู้ใหญ่ให้ผู้เข้าทดลองดู ปฏิกิริยาในสมองเกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนของสมองที่เกี่ยวกับอารมณ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขนาด 1 ใน 7 ของวินาทีเมื่อเห็นภาพทารก ทั้งที่โดยปกติสมองในส่วนนี้ที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์จะใช้เวลานานกว่ามากเพราะะต้องพิจารณาว่ามันคืออะไร อยู่ที่ไหน แล้วจึงใช้วิจารณญาณตัดสินว่ารู้สึกอย่างไร

การศึกษาในปี 2013 พบว่ามีความแตกต่างของคลื่นสมองด้วยเมื่อใช้เสียงของเด็กที่แสดงความน่ารักและเสียงร้องไห้ นอกจากนี้ยังให้ผู้เข้าทดลองฟังเสียงร้องของผู้ใหญ่ หมา แมว และพบว่าปฏิกิริยาของคลื่นสมองที่ตอบรับกับเสียงของเด็กนั้นเร็วกว่ามาก สรุปก็คือมนุษย์เสมือนมีสายต่อถึงเด็กทารกจึงทำให้รู้สึกเอ็นดูและก่อให้เกิดพลังของความน่ารักของเด็กทารกขึ้น

ผู้รู้เรื่องราวเหล่านี้ได้นำพลังแห่งความน่ารักมาใช้ประโยชน์ในทางการค้านานแล้ว Mickey Mouse เกิดในปี 1928 ตอนแรกเป็นภาพของหนูผอม ๆ ต่อมาเมื่อความรู้ในเรื่องนี้มีมากขึ้น ตัวมันก็อ้วนขึ้น มีลักษณะของ “baby schema” มากขึ้นเพื่อเรียกร้องความเอ็นดู การ์ตูนญี่ปุ่นที่คนติดกันงอมแงมนั้นก็มีลักษณะเช่นนี้แอบซ่อนอยู่เช่นเดียวกับจำนวนวิดีทัศน์มากมายในยูทูป ส่วนภาพยนตร์โฆษณาใช้เด็กทารก ลูกแมว ลูกหมาแบบตรง ๆ เลย

ที่น่ากลัวก็คือสิ่งที่เรียกว่า “evil cute” (น่ารักอย่างชั่วร้าย) ดังตัวอย่างของ ISIS ที่กล่าวแล้ว ตลอดจนการใช้ภาพที่น่ารักของลูกแมวบนอุปกรณ์สล็อตแมชชีน (มีอีกชื่อว่า “ไอ้โจรแขนเดียว”) เพื่อทำให้การพนันน่ารักขึ้น การล้วงเข้าไปในใจเพื่อโฆษณาขายสินค้าโดยใช้ความรู้ในเรื่องพลังของความน่ารักหาประโยชน์จากผู้บริโภคในโลกสมัยใหม่นั้นหยุดยั้งได้ยากเพราะเราไม่เคยคิดว่าเด็กทารกและลูกสัตว์เหล่านี้เป็นสิ่งอันตราย

ถึงแม้ “baby schema” ยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสาเหตุแห่งความน่ารัก แต่นักวิชาการยุคใหม่ต้องการใช้พลังความน่ารักให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากขึ้น ในปี2016 Kringelbach และทีมงานตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Trends in Cognitive Science โดยพบว่าความน่ารักเป็นตัวเปิดประตูไปสู่พฤติกรรมของสังคมโดยมิได้หยุดอยู่แค่ความปรารถนาจะปกป้องดูแลของปัจเจกบุคคลเท่านั้น

Steinnes และเพื่อนตีพิมพ์บทความในเดือนมีนาคม 2019 ในวารสาร Frontiers in Psychology ซึ่งพบว่าความน่ารักก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า kama muta (กรรม = การกระทำ ; มุทา = ความยินดี,ความสุขใจ) ซึ่งหมายถึงความรู้สึกยินดีอย่างยิ่งในทันทีเพื่อกระทำบางสิ่งร่วมกันในสังคม เช่น การได้เห็นภาพที่แม่ลูกพลัดพรากจากกันและได้พบกันในที่สุด การอุ้มชูลูกสัตว์ที่บาดเจ็บจนหาย ครอบครัวห่างไกลกันได้พบกัน ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้กระตุ้นให้เกิด kama muta

Steinnes ฉายวิดีทัศน์สั้น ๆ ต่ำกว่า 30 วินาที ในเรื่องข้างต้นให้ผู้เข้าทดลองชม ปรากฏว่าทุกคนน้ำตาชุ่มเพราะเกิด kama muta อันเป็นความรู้สึกที่เกิดทันทีอย่างเข้มข้น และอารมณ์นี้สนับสนุนพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น เกิดความรู้สึกอยากช่วยเหลือและแบ่งปันกัน เขาเชื่อว่าสมองทำงานคล้ายกันในกรณีเห็นสิ่งน่ารักและเห็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิด kama muta

Steinnes สรุปว่าความน่ารักมีพลังสร้าง kama muta และทำให้มนุษย์มีความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และความเข้มข้นของ kama muta จะกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาที่จะแสวงหาความสุขจากการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

ยิ่งไปกว่านั้นความน่ารัก และ kama muta ร่วมกันทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกันและกับผู้สร้างความรู้สึกนั้นด้วย ตัวอย่างก็คือฮิตเลอร์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ปลุกเร้าความรู้สึกของคนเยอรมันนีที่ถูกเอาเปรียบจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งจนรู้สึกต่ำต้อย โกรธแค้น และขมขื่นให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน จนเขาได้รับการสนับสนุนในการก่อสงครามโลกในเวลาต่อมา

ความน่ารักของเด็กทารกและลูกสัตว์ทำให้มนุษย์ทั้งโลกมีความสุข คำถามที่สำคัญก็คือพวกเราได้ตอบแทนเด็กทารกด้วยการช่วยกันอุ้มชูดูแลและบ่มเพาะให้เขาเติบโตขึ้นมีโอกาสที่ดีในชีวิตอย่างถ้วนหน้าแล้วหรือยัง และพวกเราได้ให้ความเมตตากรุณาแก่สัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลกของเราอย่างยุติธรรมแล้วหรือไม่

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 3 ธ.ค. 2562