ThaiPublica > คอลัมน์ > กู้วิกฤติโลกร้อน ด้วยพลเมืองที่ตื่นรู้ สู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง

กู้วิกฤติโลกร้อน ด้วยพลเมืองที่ตื่นรู้ สู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง

14 ธันวาคม 2019


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ที่มาภาพ : https://www.clientearth.org/clientearth-actions-in-support-of-global-climate-strike/

“พวกเราพยายามไม่พอเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องการความทะเยอทะยานจากทุกคนมากกว่านี้” (อันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ, 3 ธันวาคม 2562)

สิ่งบ่งชี้ว่าโลกพยายามไม่พอ ดูได้จากรายงานของกรมอุตุนิยมโลก (World Meteorological Organization — WMO) ว่าปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุด และเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ความพยายามที่ไม่พอสะท้อนเป็นรูปธรรมจากรายงานของ Global Carbon Project (GCP)โดยในปีนี้ (2019) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานฟอสซิลและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2018) ถึงร้อยละ 0.6 สวนทางกับที่ข้อตกลงปารีสคาดหวังว่าต้องลดลงตั้งแต่ปี 2015 โดยอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น 0.26 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2) ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดลดลง -0.02 GtCO2

ดูเหมือนว่า ความหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 45 ภายในปี พ.ศ. 2573 (อีก 11 ปีข้างหน้า) ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ดูจะเลือนรางมากแล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องเพิ่มเป้าหมายที่แต่ละประเทศจะลดการปล่อยก๊าซลง โดยขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีท่าทีต่อการปรับเป้าหมายแตกต่างกันไป กลุ่มแรก (75 ประเทศ) ต่อยอดเป้าหมายเดิม กลุ่มที่สอง (37 ประเทศ) จะทบทวนและปรับปรุงแผน เช่น สหภาพยุโรป กลุ่มที่สาม (71 ประเทศ) ยังไม่แสดงทิศทาง และกลุ่มที่สี่ (14 ประเทศ) คงเป้าหมายเดิมไว้

ในส่วนประเทศไทยเองอยู่ในกลุ่มที่สี่ คือคงเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2558 (ตามข้อตกลงปารีส) ว่าจะลดปล่อยก๊าซให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประกาศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เหตุที่ไม่ปรับเป้าหมายเพิ่มเพราะต้องคำนึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ ว่าหากปรับเป้าหมายแล้วจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่

ไม่ใช่เพียงรัฐไทยที่ยึดเอาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาก่อนความอยู่รอดของโลก รัฐอื่นๆ ส่วนใหญ่ทั่วโลกก็ดูจะคิดคล้ายๆ กัน พิจารณาจากรายงานของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2018 ต่ออันดับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด

จากตารางดังกล่าว พบว่าหากนับสัดส่วนการปล่อยก๊าซที่จีนกับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังทำสงครามการค้ากันอยู่นั้นรวมกันจะพบว่า ทั้งสองประเทศนี้ปล่อยก๊าซถึงร้อยละ 43 หรือเกือบครึ่งของประเทศทั้งหมดทั่วโลก โดยทั้งสองประเทศเป็นประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 (สหรัฐฯ) และอันดับสอง (จีน) ของโลก ซึ่งตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศแม้จะพยายามลดก๊าซ แต่จีนกลับปล่อยเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งเท่าด้วยการความต้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยใช้พลังงานถ่านหิน ส่วนสหรัฐฯ (ที่ไม่ยอมลงนามในข้อตกลงปารีส) มีอัตราส่วนลดลง เพราะใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนถ่านหิน แต่กระนั้นโดยภาพรวมพลังทางเศรษฐกิจของสองประเทศก็คือสาเหตุหลักของก๊าซเรือนกระจกโลกที่เพิ่มขึ้น

สิ่งที่น่าพิจารณาคือ แม้ทั้งสองประเทศจะพยายามควบคุมก๊าซเรือนกระจกของตนแต่ก็ไม่สำเร็จ การคาดหวังให้ทั้งสองประเทศรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นจะเปลี่ยนพลังงานจากถ่านหินมาเป็นพลังงานหมุนเวียนเป็นไปได้ยาก เป็นไปได้ไหมว่า ภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กำลังลุกลามโดยไม่มีท่าทีว่าจะหาข้อยุติลงได้ ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศรวมไปถึงทั่วโลกซบเซา อาจเป็นปัจจัยแวดล้อมที่มาทำให้การปล่อยก๊าซลดลงจากความซบเซาทางเศรษฐกิจก็เป็นได้

แรงผลักดันให้ประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซในปริมาณสูงก็คือ เศรษฐกิจพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอื่นๆ ที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซสูงขึ้นมาจากการเพิ่มการใช้พลังงานถ่านหิน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราส่วนปล่อยก๊าซลดลงส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการลดใช้ถ่านหิน และเปลี่ยนมาเป็นพลังงานหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม การดูแต่เพียงข้อมูลภาพรวมการปล่อยก๊าซของแต่ละประเทศอาจทำให้เราไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหามากพอ เพราะเมื่อดูอัตราส่วนการปล่อยก๊าซของประเทศแบบเฉลี่ยรายคน จากข้อมูลเว็บไซต์ statista.com จะพบว่าให้แง่มุมที่ต่างกันไป

ในภาพรวมสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเป็นอันดับสองของโลกในอัตราร้อยละ 15.2 แต่อัตราปล่อยก๊าซรายคน ชาวอเมริกันปล่อยก๊าซสูงที่สุดของโลกอยู่ที่ 14.95 เมตริกตัน เกินกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า ส่วนอันดับสองคือชาวแคนาดา ในภาพรวมประเทศมีอัตราส่วนแค่ร้อยละ 1.6 แต่หากพิจารณาอัตราส่วนต่อคนแล้ว อยู่ที่ 14.91 เมตริกตัน หรือสูงเป็นอันดับสองของโลกทีเดียว สำหรับประเทศจีนที่อัตราส่วนระดับประเทศเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ร้อยละ 27.8 แต่เมื่อดูอัตราส่วนรายคนอยู่เพียง 6.54 เมตริกตัน (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) เช่นเดียวกับอินเดีย ที่ในระดับประเทศมีอัตราส่วนปล่อยก๊าซร้อยละ 7.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.8 แต่เมื่อดูอัตราส่วนรายคนชาวอินเดียอยู่ที่อันดับสิบสอง คือ 1.57 เมตริกตัน (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย)

ข้อมูลเฉลี่ยรายคนในแต่ละประเทศทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม และปัญหาความรับผิดชอบที่มีต่อสภาวะโลกร้อนอย่างมาก ชาวสหรัฐและชาวแคนาดาซึ่งมีประชากรไม่มากเท่ากับจีนและอินเดียกลับใช้ทรัพยากรที่ปล่อยคาร์บอนสูงกว่าหลายเท่า แต่เมื่อคิดรวมเป็นระดับประเทศแล้วกลับปล่อยก๊าซน้อยกว่า

นั่นเป็นเพราะค่าเฉลี่ยรายคนมาจากการคำนวณจำนวนประชากร รายได้ และอัตราการบริโภคทรัพยากรรายหัว ขณะที่ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยส่วนมากมาจากการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มอุตสาหกรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานที่มีบทบาทกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศและของโลก

ดังตัวเลขคนจีนและคนอินเดียที่ปล่อยก๊าซน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่หากคิดในระดับประเทศกลับเป็นอันดับหนึ่งและสามของโลก นั่นหมายความว่า “รอยเท้าคาร์บอน” (การวัดปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากกิจกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ประเทศ) ของปัจเจกชน หรือการใช้ทรัพยากรของแต่ละคนไม่ได้มีผลเท่ากับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมบนฐานพลังงานฟอสซิลที่เป็นโครงสร้างโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นผลประโยชน์ข้ามพรมแดน

ความย้อนแย้งดังกล่าวทำให้เห็นว่า การเรียกร้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น ประหยัดไฟฟ้า ประหยัดการเดินทาง บริโภคพืชผักผลไม้แทนเนื้อสัตว์ ใช้รถไฟฟ้า ติดโซลาร์รูฟทอป ลดอาหารขยะ และอื่นๆ แม้เป็นมาตรการที่พึงกระทำ แต่การเรียกร้องแบบรวมๆ โดยไม่มุ่งเน้นว่าควรเจาะจงไปที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนกลุ่มไหนจะไม่ส่งผลเท่าใดนัก เพราะเราอยู่ในโครงสร้างทุนนิยมโลกที่เหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศกำลังพัฒนามีผลน้อยมาก ขณะที่ผู้คนในอีกซีกโลกที่เติบโตทางเศรษฐกิจกลับใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยสร้างผลกระทบโลกร้อนสูง เพียงแต่ถูกบดบังด้วยข้อมูลภาพรวมประเทศ อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมให้เพิ่มมากขึ้น เพราะคนจนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า กลับต้องยากลำบากกว่าในการแบกค่าใช้จ่ายเพื่อปรับพฤติกรรมรักษาโลก

ไม่ว่าเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล หรือกลุ่มชุมชนอย่างไร แต่หากไม่ปรับรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลที่เป็นฐานใหญ่ที่สุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีความเป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราก็ยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้

กลไกตลาดเสรีได้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทปัญหา ผลกระทบ และความรับผิดชอบต่อสภาวะโลกร้อนได้อย่างง่ายดาย ทั้งด้วยการลงทุนข้ามชาติ ที่สามารถย้ายฐานไปผลิตในประเทศที่ค่าแรงและทรัพยากรถูก แต่ทำให้ประเทศนั้นๆ ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนที่สูงขึ้น และด้วยเทคนิควิธีทางเศรษฐศาสตร์มากมาย เช่น carbon credit, carbon offset และอื่นๆ ที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ สามารถจ่ายให้เพื่อแลกกับความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจกได้

กลไกการกำหนดตัวเลข การวัดปริมาณ การโยกย้ายถ่ายเทความรับผิดชอบเหล่านี้ ได้ทำให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่สร้างสภาวะโลกร้อนอยู่นอกเหนือกรอบนโยบาย กฎหมาย กลไกรัฐ หลุดจากอำนาจการกำกับของประชาชน

เราจึงต้องมุ่งปรับโครงสร้างการพัฒนาทั้งหมดจากที่เอาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีกลุ่มทุนเป็นตัวนำ มาเป็นการกอบกู้สภาวะโลกร้อนบนพื้นฐานสิทธิประชาชนต่ออนาคตมนุษยชาติอย่างเสมอหน้า

รัฐไทยเองไม่ควรยืนหยัดที่จะคงเป้าหมายเดิมในการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะประเทศไทยสามารถช่วยโลกได้มากกว่านี้ สามารถเป็นผู้นำของอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและปฏิบัติการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการมุ่งปรับลดพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรของบุคคล องค์กรธุรกิจที่สร้างผลกระทบสภาวะโลกร้อนสูง ใช้มาตรการทั้งทางกฎหมาย ภาษี และอื่นๆ เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานควรกำหนดเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเลิกการใช้พลังงานถ่านหินและน้ำมัน และสร้างพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวภาพ มาแทนที่ภายในเวลารวดเร็ว รวมไปถึงกำกับหน่วยงานรัฐ วิสาหกิจ หรือบริษัทที่หน่วยงานรัฐร่วมทุนที่ไปลงทุนข้ามพรมแดนประเทศอื่นๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสภาวะโลกร้อน

โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และภาคใต้ (SEC) ควรจะต้องถูกประเมินใหม่ว่ามีส่วนสร้างภาวะโลกร้อนมากขึ้นหรือไม่ หากมีส่วนจำเป็นต้องทบทวนเสียใหม่ และควรมีมาตรการต่างๆ เช่น การเก็บภาษีแก่นักลงทุนเพื่อให้มีรับผิดชอบต่อสภาวะโลกร้อน ด้วยหลักคิดที่ว่า เศรษฐกิจการค้าแม้จะเสรีแต่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

พร้อมกันนี้ รัฐต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมของเมืองและชนบทให้ดีขึ้น เช่น ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลลง การขนส่งสาธารณะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และนำงบประมาณไปสนับสนุนกลุ่มคนจนทั้งในเมืองและชนบท หรือภาคส่วนที่มีความยากลำบากในการปรับเปลี่ยน เช่น เกษตรกรที่กำลังเผชิญปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง ทั้งความแห้งแล้ง ความผันผวนภูมิอากาศ ให้มีขีดความสามารถในการฟื้นฟูระบบนิเวศ การผลิตที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ ดังเช่น การจัดการป่าชุมชน การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น

เกรียตา ทุนแบย์ (ถือป้าย)ที่มาภาพ : https://www.ft.com/content/5dedd106-3391-33ff-ba2f-24ace1a914d6

หากประชาชนอยู่เฉยๆ หรือเพียงแต่เปลี่ยนการบริโภคเล็กน้อย เชื่อได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะไม่เกิดขึ้น รัฐจะเพิกเฉย กลุ่มทุนพลังงานและอุตสาหกรรมจะแสวงหาทางหลบเลี่ยงที่จะรับผิดชอบต่อปัญหา ไม่ต้องรอให้ถึง 11 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2573 ประเทศไทยก็จะไม่ได้มีส่วนกอบกู้โลกที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเลวร้ายไปถึงไม่สามารถฟื้นกลับมาได้แล้ว

ความหวังในการกอบกู้โลกให้พ้นวิกฤติโลกร้อนจึงอยู่ที่การสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ต่อสู้สภาวะโลกร้อน ที่พร้อมปรับพฤติกรรมลดการปล่อยก๊าซ และร่วมในการขับเคลื่อนเกิดเป็น climate strike ทั้งในท้องถิ่น ประเทศ และทั่วโลก เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายการจัดการพลังงาน อุตสาหกรรม ให้มีความรับผิดชอบและสร้างความเป็นธรรมในการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ นำเอาสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรม ซึ่งก็คือประชาธิปไตยของประชาชนต่อสภาวะอากาศกลับคืนมา

ดังที่สาวน้อยเกรียตา ทุนแบย์ ผู้นำ climate strike ที่นิตยสาร Time ได้เลือกให้เป็น “บุคคลแห่งปี” (2019) ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า

“คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งทั้งแบบปัจเจก รวมถึงร่วมขบวนการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ เพื่อกดดันผู้มีอำนาจ …ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แค่การเลือกตั้ง แต่อยู่ในทุกวินาที”