ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ก่อนอื่นขอขอบคุณอาจารย์ภูริ (ฟูวงศ์เจริญ) ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำห้องในชื่อของคุณพ่อแห่งนี้ ขอบคุณอาจารย์ทวิดา (กมลเวชช) และอาจารย์อาวุโสทุกท่านที่ให้เกียรติและสนับสนุนโครงการนี้ ขอบคุณอาจารย์นรนิติ (เศรษฐบุตร) ที่ให้เกียรติกล่าวคำรำลึกให้คุณพ่อ ขอบคุณอาจารย์พีระ (เจริญวัฒนนุกูล) ที่ช่วยประสานงานเรื่องห้องและพิธีเปิดในวันนี้กับผม และขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมางาน พิธีเปิดห้อง “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นบ้านทางวิชาการแห่งแรกของคุณพ่อ และที่สำคัญคือเป็นสถานที่ทางวิชาการที่ท่านผูกพันและรักที่สุด
วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปีที่คุณพ่อจากผมและทุกคนไป เป็นเวลา 2 ปีที่ผมและน้อง และอีกหลายๆ คนที่ใกล้ชิดกับคุณพ่อต้องใช้เวลาปรับตัวกับการใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีที่ปรึกษาพิเศษที่คอยแนะแนวด้านต่างๆ ในชีวิต แต่เวลา 2 ปีนี้เป็นเวลาเดียวกันที่คุณแม่พิสูจน์ให้เห็นว่าท่านสามารถทดแทนหน้าที่ของคุณพ่อสำหรับครอบครัวของเราได้อย่างน่าอัศจรรย์
ตัวอย่างเช่นในวันนี้ หลังจากคำกล่าวของผมจะมีการมอบทุนการศึกษา 1 ทุนต่อปีต่อคณะรัฐศาสตร์ เป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปีในนาม “Surin Pitsuwan Scholarship” ซึ่งทุนนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีคุณแม่และเพื่อนๆ ของคุณแม่ อีกหนึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การจัดตั้งมูลนิธิ Surin Pitsuwan Foundation ที่จะทำหน้าที่สานต่อปณิธานของคุณพ่อในภูมิภาคอาเซียน องค์กรนี้จะไม่สามารถเริ่มต้นและสำเร็จได้หากไม่มีแรงสนับสนุนจากคุณแม่และกัลยาณมิตร ที่หลายท่านได้ให้เกียรติมาในงานนี้ด้วย อีกอย่างหนึ่งที่จะกำลังจะเริ่มดำเนินการโดยหอสมุดอาจารย์ปรีดีและจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่หากคุณแม่ไม่ให้ความร่วมมือ คือการรวบรวมจดหมาย ข้อความต่างๆ ที่จะเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิของคุณพ่อที่มีหลายอย่างถูกเก็บไว้ที่กล่องเซฟของคุณแม่ ในอีเมล และในที่ต่างๆ ให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับนักวิจัยต่อไป
ในศาสนาอิสลามตามความเชื่อของครอบครัว มีเรื่องเล่าอยู่ว่ามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งถามท่านศาสดาว่าเขาควรทำดีและรักใครมากที่สุด ท่านศาสดาตอบว่า “แม่ของเจ้า” เด็กหนุ่มคนนั้นถามอีกว่าเขาควรทำดีและรักใครมากที่สุดเป็นคนต่อไป ศาสดาก็ตอบอีกว่า “แม่ของเจ้า” เด็กหนุ่มคนนั้นถามอีกว่าหลังจากนั้นละ ท่านศาสดาก็ตอบอีกว่า “แม่ของเจ้า” ท่านย้ำอย่างนี้ถึงสามครั้ง จนครั้งที่สี่จึงตอบว่า “พ่อของเจ้า” คุณย่าเป็นคนเล่าเรื่องนี้ให้ผมบ่อยครั้งที่เจอกัน และคุณพ่อเองก็ย้ำเสมอว่าพ่อไม่สามารถมาถึงจุดที่ท่านอยู่ได้หากไม่มีคุณแม่ ผมจึงอยากใช้โอกาสนี้บอกกล่าวกับที่สาธารณะถึงบทบาทของคุณแม่และความโชคดีของผมที่ยังมีคุณแม่อยู่ และผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้เป็นแม่ทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ พวกท่านทุกคนมีหน้าที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก
กลับมาที่เรื่องของคุณพ่อที่อยากจะพูดวันนี้ หลายคนคงเห็นคำพูดของคุณพ่อที่แปะอยู่ข้างหน้า
“Life must go on. You cannot stop and turn back or stand still. Make the best of the situation and the circumstances you found yourself in. The Sun will rise again the next day.”
ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “ชีวิตต้องดำเนินต่อไป เธอมิอาจหยุดและย้อนกลับหรือนิ่งเฉย ทำให้ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์และบริบทที่เผชิญ ถึงอย่างไรตะวันก็ยังจะฉายโชนอีกครั้งในวันพรุ่งนี้”
คำพูดนี้เป็นคำพูดที่อยู่ในอีเมลที่คุณพ่อส่งถึงผมเมื่อ 7 มกราคม ปี 2549 หรือเมื่อเกือบ 14 ปีมาแล้ว หลังจากที่ผมทำได้ไม่ดีในการสอบกลางภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากมองดูย้อนหลังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่าเล็กมากในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่คุณพ่อก็ให้คุณค่ากับมัน และเปลี่ยนเป็นโอกาสในการใช้แนะนำมุมมองที่ผมควรมีต่อโลก แนวคิดแบบนี้ที่ผมขอเรียกตามป๊อปคัลเจอร์ เหมือนชื่อเพลงดังของวงบอดี้สแลม ว่าเป็นแนวคิด “ชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ” หรือภาษาอังกฤษที่ผมอยากขอเรียกว่า “resilience”
“resilience” หรือแปลตรงตัวคือ “ความยืดหยุ่น” หรือในบริบทที่คุณพ่อพยายามจะสื่อก็คือ ความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังจากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราล้ม พ่ายแพ้ รู้สึกท้อ รู้สึกสูญเสีย เราทำอะไรที่ผิดพลาดไป ถูกกระทำ หรือถูกกลั่นแกล้ง
สำหรับตัวผมเองเรื่องที่ต้องการ “resilience” อย่างมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการสูญเสียของคุณพ่อ
ในชีวิตของคุณพ่อเอง ตัวอย่างของการปรับตัวและฟื้นตัวจากความผิดหวัง ก็มีให้เห็นอยู่ตลอดทั้งชีวิต หลายสิ่งที่คุณพ่อทำ เป็นเรื่องที่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ ตัวอย่างสำคัญก็คือการที่รัฐบาลเปลี่ยนขั้วทำให้เมื่อเกือบสิบห้าปีที่แล้วคุณพ่อไม่ได้ถูกเสนอชื่อโดยรัฐบาลไทยให้ไปชิงตำแหน่งเลขาฯ UN แต่ผมไม่เคยเห็นคุณพ่อบ่นหรือแสดงความเสียใจอะไร ท่านเข้าใจในบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป ชีวิตท่านก็ดำเนินต่อไป และพอโอกาสในการเป็นเลขาฯ อาเซียนเข้ามา ท่านก็ทำเต็มที่กับมัน
หรือในระยะสุดท้ายของชีวิตท่านคิดที่จะลงชิงชัยผู้ว่าฯ กทม. ผมถามท่านว่าจะเสียใจไหมหากแพ้ ท่านบอกว่าก็เสียใจหนึ่งวันแล้วชีวิตก็ดำเนินต่อไป ยังมีเรื่องที่อยากทำอีกเยอะ ผมคิดว่าหากเราได้ศึกษาชีวประวัติของลูกแม่โดมที่โดดเด่นหลายท่าน เราจะได้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวที่เด่นชัดของผู้นำเหล่านี้
“resilience” จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำ และผมตั้งใจเลือกข้อความนี้มาติดหน้าห้อง เพื่อให้กำลังใจน้องๆ นักเรียนธรรมศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะเวลาหลังได้รับผลสอบ แต่โดยเฉพาะเวลาหลังจากที่น้องๆ ต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก ซึ่งต้องมาพร้อมกับความผิดหวังบ้างอย่างแน่นอน
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกข้อความนี้ของคุณพ่อมาแปะไว้ตรงนี้ เพราะต้องการให้กำลังใจอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ในวันที่ศาสตร์แห่งรัฐไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องมากนัก ผมอยากให้ข้อความของคุณพ่อเป็นกำลังใจให้อาจารย์ เพราะเราเจอเหตุการณ์โดยเฉพาะทางการเมืองที่ทำให้ท้อได้ทุกวัน ทำให้ไม่แน่ใจว่าทฤษฎีและสิ่งที่เราสอนจะอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจของผู้นำในหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้อย่างไร
แต่หากถามคุณพ่อ แม้ในสภาวะที่ “อยู่ยาก” เพียงนี้ เราก็อยู่ในสภาพที่หมดหวังไม่ได้ อาจารย์คือความหวัง ความหวังในการสร้างเด็กที่มีเสรีภาพทางความคิด สร้างให้เขามีความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น สร้างให้เขาอยากรักษาสิ่งที่ดีอยู่แล้วของสังคม แต่ที่สำคัญที่สุด เขาควรจะมีสิทธิ์ที่จะคิดได้เองว่าสิ่งที่ดีเหล่านั้นคืออะไรโดยไม่ใช้การบังคับหรือข่มขู่
resilience ของอาจารย์ทุกคนจึงสำคัญมากต่ออนาคตของชาติ หากอาจารย์ท่านใดท้อ ขอให้รู้ว่ามีพ่อผมคนหนึ่งที่เคารพและให้กำลังอาจารย์ทุกท่านอยู่ เพราะท่านก็เป็นอาจารย์ที่รักธรรมศาสตร์ และรักประชาชนเหมือนกับทุกท่าน
ขอบคุณครับ