ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมบัญชีกลางจับมือกรุงไทยใช้ Blockchain ออกหนังสือรับรองสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ 1 ม.ค. 63

กรมบัญชีกลางจับมือกรุงไทยใช้ Blockchain ออกหนังสือรับรองสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ 1 ม.ค. 63

26 ธันวาคม 2019


นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข(ซ้าย) อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

กรมบัญชีกลางจับมือธนาคารกรุงไทย ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ผู้ประกอบการสามารถออกหนังสือรับรองสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Credit Confirmation ประกอบการขอขึ้นทะเบียนจัดลำดับชั้นผู้ประกอบการงานก่อสร้าง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (25 ธันวาคม 2562) กรมบัญชีกลางได้แถลงข่าวเปิดตัวการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้สำหรับการออกหนังสือรับรองสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Credit Confirmation ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนจัดลำดับชั้นผู้ประกอบการงานก่อสร้าง ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ต้องการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานของหน่วยงานในกระทรวงการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดขั้นตอนการทำงาน ตอบสนองผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมรัฐบาลยุคไทยแลนด์ 4.0

สำหรับระบบ e-GP ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน 2 โครงการ ได้แก่ 1) e-Letter of Guarantee : e-LG เป็นการจัดทำหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์กับธนาคารต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2563 และ

2) e-Credit Confirmation เป็นการขอออกหนังสือรับรองสินเชื่อด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะใช้ประกอบในการขอขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการ ทำให้ช่วยลดภาระของผู้ประกอบการในการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ สำหรับการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับระบบของสถาบันการเงิน และในระยะยาวจะพัฒนาต่อยอดในการจัดลำดับ Rating ของผู้ประกอบการตามผลงานในการทำงานกับภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ( e-Credit Confirmation ) ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยในระยะแรกเปิดให้บริการที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอออกหนังสือรับรองสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Credit Confirmation สามารถขอได้ที่ www.gprocurement.go.th หลังจากที่ลงทะเบียนเข้าระบบแล้ว เลือกเมนู > ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ > ยื่นขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำตามขั้นตอนจนเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดคู่มือการยื่นขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ www.gprocurement.go.th หัวข้อ > ดาวน์โหลดแนะนำ > คู่มือ > คู่มือสำหรับผู้ค้ากับภาครัฐ > คู่มือการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้าง

“การดำเนินงานดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศแล้ว ยังช่วยลดขั้นตอนการทำงานและปริมาณการใช้กระดาษในการทำธุรกรรมต่าง ๆ อีกด้วย” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารให้การสนับสนุนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อยกระดับการให้บริการต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยล่าสุดร่วมพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ให้กับกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและการตรวจสอบหลักประกันของผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของหลักประกันที่นำมาใช้

โดยผู้ประกอบการสามารถขอ e-LG จากทุกธนาคารและผ่านระบบบล็อกเชนที่พัฒนาขึ้นจากเดิมผู้ประกอบการใช้เวลาการยื่นขอเอกสาร 4-5 วันทำการ โดยระบบที่พัฒนานี้ ลดระยะเวลาการยื่นขอการตรวจสอบ และการอนุมัติเหลือเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบ e-Credit Confirmation สามารถเชื่อมโยงกับระบบของสถาบันการเงิน และระบบการประเมินคุณภาพแบบบูรณาการของผู้ประกอบการที่ร่วมงานกับภาครัฐได้อีกด้วย โดยผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงไทยผ่านระบบ e–GP ได้ทันที

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถให้บริการดังกล่าว ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการลดระยะเวลาในการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ภาระในการจัดเตรียมเอกสาร และการยื่นเสนอราคา โดยจากข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ปี 2562 ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 3.6 ล้านโครงการ วงเงินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ลดภาระให้ผู้ประกอบการกว่า 270,000 ราย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งช่วยผลักดันการใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่รากหญ้าให้เร็วที่สุด