ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > BAM เคาะราคา IPO ที่ 17.50 บาท เทรด 16 ธ.ค.นี้ กองทุนฟื้นฟูฯยันไม่ขายหุ้นเพิ่ม คงสถานะผู้ถือหุ้นใหญ่

BAM เคาะราคา IPO ที่ 17.50 บาท เทรด 16 ธ.ค.นี้ กองทุนฟื้นฟูฯยันไม่ขายหุ้นเพิ่ม คงสถานะผู้ถือหุ้นใหญ่

2 ธันวาคม 2019


ข่าวประชาสัมพันธ์

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า หุ้นสามัญของบริษัทที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกหรือไอพีโอสำหรับประชาชนทั่วไประหว่างวันที่ 25 – 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีโดยมีนักลงทุนและประชาชนให้ความสนใจจองซื้อจำนวนมากผ่านธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้น คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีความมั่นใจในศักยภาพการเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์และประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปีของ BAM และมีความสนใจในการลงทุนอย่างมีคุณภาพในระยะยาว

นอกจากนี้ผลการสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) ยังแสดงให้เห็นถึงความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และได้กำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายที่ 17.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดจากช่วงราคาเสนอขายที่ 15.50-17.50 บาท

บริษัทฯ จึงขอขอบคุณนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศทุกท่านที่เชื่อมั่นในศักยภาพของ BAM ในการรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และการเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยไปกับเรา

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการเสนอขายหุ้น IPO ของ BAM ในครั้งนี้ จะมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน

สำหรับการจัดสรรหุ้นสามัญให้แก่บุคคลทั่วไปจะจัดสรรผ่านระบบการสุ่มเลือก (Random) โดยระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจะประกาศผลผู้ที่ได้รับการจัดสรรผ่านเว็บไซด์ www.settrade.com ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม 2562 นี้ โดยจำกัดจำนวนหุ้นที่ได้รับจัดสรรไม่เกิน 1,000,000 หุ้นต่อผู้จองซื้อหนึ่งราย

นางสาวสุธางค์ คนศิลป กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า คาดว่าหุ้น BAM จะสามารถพร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ นับเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่องสำหรับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กองทุนฟื้นฟูฯยันไม่ขายหุ้นเพิ่ม

ด้านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ยืนยันนโยบายสนับสนุน BAM ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO

เอกสารข่าวของกองทุนฟื้นฟูฯระบุว่า ตามแผนการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปของ กองทุนฟื้นฟูฯ จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญที่ถืออยู่ใน BAM โดยคาดว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือร้อยละ 45.6 (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) ถึงร้อยละ 49.1 (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ) โดยกองทุนฟื้นฟูฯ จะถือหุ้นทั้งหมดต่อไปไม่ต่ำกว่าระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ตามข้อจำกัดห้ามขาย (Silent Period) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกองทุนฟื้นฟูฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ BAM และยังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้น BAM เพิ่มเติม

ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะยังคงสนับสนุน BAM ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และคาดหวังเงินปันผลจาก BAM เหมือนกับผู้ถือหุ้นรายอื่นต่อไป นอกจากนี้ ด้วยขนาดของสินทรัพย์ ประสิทธิภาพและศักยภาพในการประกอบธุรกิจ BAM จะยังคงเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นกลไกสำคัญแห่งหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ หรือโอกาสที่อาจเกิดวิกฤติทางการเงินในอนาคต จากผลการดำเนินงานของ BAM ในอดีตที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ เชื่อมั่นในฐานะการเงินและความสามารถในการแข่งขันและการทำธุรกิจของ BAM ต่อไปในอนาคต

ที่ผ่านมา BAM ได้ดำเนินธุรกิจโดยอาศัยศักยภาพในการแข่งขันเหมือนธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั่วไป การขายหุ้นสามัญของกองทุนฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐในการลดภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ และสนับสนุน ให้ BAM มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน มีความคล่องตัว โปร่งใส มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และมีธรรมาภิบาลที่ดี

BAM ตอกย้ำความมั่นใจในความแข็งแกร่งของธุรกิจในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ทั้งจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เงินกู้ยืมธนาคาร และหุ้นกู้ เป็นต้น และพื้นฐานการดำเนินธุรกิจของ BAM ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบัน BAM มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทั้งสิ้น 11 แห่ง ซึ่ง BAM ล้วนมีสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งโครงสร้างธุรกิจที่ยืดหยุ่นซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจและสามารถเป็นกลไกในการดูดซับ NPL และ NPA จากสถาบันการเงินไทย

อีกทั้ง กองทุนฟื้นฟูฯ และ BAM เชื่อว่า BAM จะได้รับประโยชน์จากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ที่มีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ BAM ในระยะยาว

การกำหนดราคาขาย IPO ของ BAM ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส และยุติธรรม โดยได้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการที่ BAM จะเป็นบริษัทเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ และเสียภาษีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง