ThaiPublica > เกาะกระแส > BAM ย้ำจุดแข็งผู้นำธุรกิจบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของไทย พร้อมเปิด 3 ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

BAM ย้ำจุดแข็งผู้นำธุรกิจบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของไทย พร้อมเปิด 3 ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

4 ตุลาคม 2019


จากซ้ายนายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่

BAM ย้ำความมั่นใจในศักยภาพระยะยาวขององค์กรในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของประเทศ พร้อมชี้จุดแข็งธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ เดินหน้าด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ บสก. (ฺBangkok Commercial Asset Management Plc-BAM) ได้แถลงข่าว ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจบริหารสินทรัพย์ NPLs และ NPAs โดย นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่

เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหุ้นที่เสนอขายประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (กรณีมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) โดยจะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่ายที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นางทองอุไร ลิ้มปิติ กล่าวถึงความมั่นใจในแผนการระดมทุนว่า BAM เชื่อมั่นในศักยภาพ และจุดแข็งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ(จากรายงานภาวะอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด) มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีกำไรสุทธิต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี มีเครือข่ายทั่วประเทศมากที่สุดรวม 26 แห่ง มีทีมงานประสบการณ์สูง และปัจจัยที่สำคัญคือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจกล่าวคือในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทฯ สามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ในช่วงภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ลูกหนี้ของบริษัทฯ มีศักยภาพในการชำระหนี้ และลูกค้าของบริษัทฯ มีกำลังซื้อทรัพย์สินรอการขาย เป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทฯ สามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น BAM จะสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางทองอุไรกล่าว

นางทองอุไร กล่าวอีกว่า ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโต (CAGR) เฉลี่ย 12.8% ประกอบกับราคาประเมินที่ดินล่าสุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่ 27.7% (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมธนารักษ์) จากโอกาสทางธุรกิจเช่นนี้ BAM ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อการเติบโตในอนาคต และเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายฐานทรัพย์สิน BAM ติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และ คัดเลือกสินทรัพย์ ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่บริษัทฯ มีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูงและมีความเข้าใจในตลาดอย่างดี ทำให้บริษัทฯ สามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ

ขณะนี้ขั้นตอนการเสนอขายหุ้น IPO อยู่ในการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต.จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริ่มเสนอขายหุ้นในช่วงใด แต่หลังจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะลดการถือหุ้นลงเป็น 45% ซึ่งจะทำให้ BAM หลุดจากสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้อัตราส่วนหนี้ต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ 1.4 เท่า ยังสามารถขยายธุรกิจๆได้อีกมากเมื่อเทียบกับระดับที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขอความร่วมมือไม่ให้เกิน 2% และเมื่อเทียบกับ NPLs ที่มีมูลค่า 170,000-180,000 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น BAM ให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่สามารถ BAMให้ความสำคัญกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมกันนี้ BAM ยังทำการตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทาง Social Media ขององค์กร ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร BAM เชื่อว่าพนักงานที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จทางธุรกิจ จึงได้จัดการฝึกอบรมพนักงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมีการเตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน

NPLs-NPAs สองธุรกิจหลักเติบโตต่อเนื่อง

นายสมพร มูลศรีแก้ว กล่าวว่า ธุรกิจของ BAM มี 2 ด้าน ได้แก่ การบริหารทรัพย์สินรอการขาย(NPAs)และ การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณ ภาพ(NPls) โดยทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่า โรงแรม อาคารเพื่อการพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยทั้งประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์และอาคารชุด ซึ่งบริษัทฯ มีทีมโครงการพิเศษที่พร้อมปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเข้าอาศัยได้ทันทีหลังจากซื้อ รวมทั้งเป็นการเตรียมหลักประกันที่ดีของผู้ซื้อในการนำไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพราะส่วนใหญ่ผู้ซื้อจะใช้เงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินในการซื้อทรัพย์

สำหรับที่ดินเปล่าเดิมบริษัทฯ ถือครองราว 70% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 20% เป็นผลจากการประสิทธิภาพของการขายทรัพย์ ด้วยการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ โดยได้พัฒนาให้รองรับการขยายตัวของพลังงานทดแทนในช่วง 10 ปีก่อน และโครงการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราคาที่ดินเปล่าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 28% ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจเศษของรัฐบาล ทำให้ที่ดินเปล่าของบริษัทฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงตะวันออกและบริเวณจังหวัดชายแดนเพิ่มขึ้น

บริษัทฯ สามารถจัดเก็บผลประโยชน์จาก NPAs ได้ 4-6 พันล้านบาทต่อปี โดย NPAs ที่รอการขายมีมูลค่า 50,000 ล้านบาท มีต้นทุน 21,000 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บผลประโยชน์จาก NPLs ได้ราว 10,000 ล้านบาทต่อปี

นายสันธิษณ์ วัฒนกุล กล่าวถึงโครงสร้างรายได้ว่า รายได้ในช่วง 3 ปีเติบโตในอัตราเฉลี่ย 5.5% โดยรายได้มีจำนวน 7 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านบาท และ 9 พันล้านบาท ตามลำดับ ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.6 พันล้านบาทในปี 2561

สำหรับกำไรปี 2561 มีจำนวน 5.2 พันล้านบาท หรือมีอัตรากำไร 53% ในไตรมาสแรกปี 2562 มีกำไร 3.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไร 68%

การที่บริษัทมีกำไรสูงขึ้น เป็นผลจากการบริหารจัดการการลงทุนที่สามารถเก็บเงินสดคืนได้ โดย NPLs ของบริษัทมีมูลค่าราว 180,000-190,000 ล้านบาทมีต้นทุนเพียง 74,000 พันล้านบาท อีกทั้ง NPLs และ NPAs เติบโตในอัตรา 4% และ 17% ตามลำดับ

“บริษัทฯ เก็บเงินสดคืนจาก NPLs ได้ราว 10,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 9 พันล้านบาทในปีที่แล้วๆมา และในไตรมาสแรกปีนี้เก็บเงินสดได้ 7.2 พันล้านบาท ส่วนการเก็บเงินสดจาก NPAs เฉลี่ย 5 พันล้านบาทต่อปี และในปีนี้เก็บเงินสดจาก NPAs ได้แล้ว 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย” นายสันธิษณ์กล่าว

สำหรับการจ่ายเงินปันผล ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นายสันธิษณ์กล่าวว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 80% โดยบางปีจ่ายปัน ผลถึง 97% ซึ่งสูงกว่านโยบายการจ่ายเงินปันผล 40% ที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์(Return on Asset-RoA) อยู่ที่ 5% ส่วนอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on
Equity-RoE)อยู่ที่ 12%

ในปี 2561 BAM มีกำไรสุทธิรวมที่ 5,202.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.58% จากปี 2560

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทฯ ได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPLs) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวน 90,562.65 ล้านบาท โดยสามารถเรียกเก็บเงินสดได้จำนวน 122,931.74 ล้านบาท

ในปี 2561 BAM มีเงินสดรับจากธุรกิจ NPLs และ NPAs รวมทั้งสิ้น 16,569.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 13,515.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.59% และมีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 5,202.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 4,500.82 หรือเพิ่มขึ้น 15.58% ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 BAM มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ (NPLs) จำนวน 74,482.33 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน ซึ่งเป็นราคาประเมินตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและไม่รวมการผ่อนชำระ รวมทั้งสิ้น 187,875.26 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิ (NPAs) 21,731.04 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 50,287 .17 ล้านบาท

BAM มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย

ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 3,245 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 5 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้ว 13,675 ล้านบาท โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถือหุ้น 99.99 % ทั้งนี้ หลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ FIDF มีนโยบายถือหุ้น BAM ในสัดส่วนต่ำกว่า 50% แต่ไม่ต่ำกว่า45%