ThaiPublica > เกาะกระแส > ส่องประธานาธิบดีสหรัฐฯใครบ้างที่ถูกยื่นถอดถอน

ส่องประธานาธิบดีสหรัฐฯใครบ้างที่ถูกยื่นถอดถอน

1 พฤศจิกายน 2019


ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/DonaldTrump/photos/a.488852220724/10163229953295725/?type=3&theater

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯได้ลงมติ ด้วยคะแนนเสียง 232 ต่อ 196 ตามเสียงส่วนใหญ่ให้เริ่มการไต่สวนอย่างเปิดเผย เพื่อสอบสวนในสิ่งที่พรรคเดโมแครตกล่าวหาเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการกดดันรัฐบาลยูเครนให้ดำเนินการสอบสวนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเขาเอง

ผลของการลงมติให้เริ่มต้นการไต่สวนสาธารณะของสภาผู้แทนราษฎรจะส่งผลให้ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นไปอยู่ในเส้นทางการเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯที่จะถูกยื่นถอดถอน

ทั้งนี้มีสัญญานว่า สภาผู้แทนฯจะลงมติอย่างเป็นทางการในวาระการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ก่อนสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตามการลงมติจะต้องใช้คะแนนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในวุฒิสภา ซึ่งมีพรรครีพับลิกันครองเก้าอี้ส่วนใหญ่ ดังนั้นการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์มีความเป็นไปได้น้อยมาก

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯกล่าวก่อนการลงมติว่า “ไม่มีใครเข้าสภามาเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี แต่สมาชิกสภามีหน้าที่จะต้องทำ และเราภูมิใจที่ได้ยกมือเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่มาของการลงมติในวันนี้”

การลงมติของสภาผู้แทนฯไม่ได้กำหนดเส้นตายของการไต่สวนไว้ แต่กำหนดให้คณะกรรมาธิการ 6 ชุด ดำเนินการไต่สวนต่อเนื่องในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งในการบริหารงาน ธุรกิจและคนรอบข้าง โดยที่คณะกรรมาธิการข่าวกรองเป็นแกนหลักในการไต่สวนข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับยูเครน

โดยคณะกรรมาธิการข่าวกรองและคณะกรรมาธิการกำกับดูแลและการต่างประเทศได้เปิดรับฟังความเห็นแบบไม่เปิดเผยมาประมาณหนึ่งเดือนแล้ว และจะดำเนินการต่อไป ส่วนการไต่สวนสาธารณะจะเริ่มขึ้นในอีกสองสัปดาห์

ที่ผ่านมามีประธานาธิบดี 2 รายที่ถูกยื่นถอดถอน คือ นายแอนดรูว์ จอห์นสัน ในสมัยหลังสงครามการเมือง และนายบิล คลินตันในปี 1998 ซึ่งทั้งสองกรณี วุฒิสภาไม่สามารถถอดถอนได้ ส่วนประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ลาออกเสียก่อนที่สภาจะลงคะแนนในวาระการยื่นถอดถอน

ด้านพรรครีพับลิกันมีความเห็นว่ากระบวนการยื่นถอดถอนไม่โปร่งใส โดย นายทอม โคล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า อย่างน้อยในวันนี้เสียงส่วนใหญ่ยอมรับในสิ่งที่เราทุกคนรู้กันมาแล้ว ว่า สภาผู้แทนฯไม่ได้ยึดกระบวนการยื่นถอดถอนทที่เหมาะสม

นายโคลยังกล่าวอีกว่า กระบวนการยื่นถอดถอนทำให้เกิดการลงคะแนนที่ไม่ยุติธรรมต่อประธานาธิบดี ต่อสภาและต่อประชาชนอเมริกา

“กระบวนการยื่นถอดถอนที่มีผลต่อเรา แตกต่างจากกระบวนการที่ใช้ในกรณีของทั้งประธานาธิบดีนิกสันในปี 1974 และประธานาธิบดีคลินตัน ปี 1998” นายโคลกล่าว

วันที่ 24 กันยายน 2019 ประธานสภาผู้แทนราษฎร แนนซี เพโลซี ประกาศเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อการถอดถอนอย่างเป็นทางการประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ในข้อกล่าวหาว่ากดดันให้ประธานาธิบดียูเครนสอบสวนอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมือง

การตัดสินให้เริ่มกระบวนการถอดถอนมีขึ้น หลังจากที่ผู้ให้เบาะแสรายหนึ่งให้ข้อมูลการสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ซึ่งกล่าวหาว่าประธานาธิบดีทรัมป์โยงการให้ความช่วยเหลือกองทัพยูเครนเพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง

ทำเนียบขาวได้เผยแพร่บทสนทนาทางโทรศัพท์ซึ่งได้มีการเรียบเรียงใหม่ ซึ่งสมาชิกพรรคเดโมแครตให้ความเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดของประธานาธิบดีทรัมป์

ขณะนี้คณะกรรมาธิการตุลาการ สภาผู้แทนฯยังไม่ผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ดังนั้นกระบวนการจึงยังอยู่ในการเริ่มต้น

กรณีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์นับเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯที่ประธานาธิบดีเป็นเป้าหมายการไต่สวนอย่างเป็นทางการเพื่อถอดถอน

อดีตมีการยื่นถอดถอน 2 ราย

ในช่วงที่ผ่านมา มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 ราย ที่ถูกยื่นถอดถอนอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรส คือ ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน และประธานาธิบดีบิล คลินตัน แต่ยังไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใดต้องออกจากตำแหน่งด้วยการถูกถอดถอน

นอกจากประธานาธิบดีจอห์นสันและประธานาธิบดีคลินตันแล้ว ประธานาธิบดีอีก 2 รายที่ถูกนำเข้าสู่การไต่สวนอย่างเป็นทางการในสภาผู้แทนราษฎร คือประธานาธิบดี ริชาร์ด จอห์นสันและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมีประธานาธิบดีอีกจำนวนหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกยื่นถอดถอนจากคู่แข่งทางการเมือง

รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯได้ถูกวางกรอบให้การถอดถอนประธานาธิบดีที่ยังดำรงตำแหน่งโดยสภาคองเกรสทำได้ยาก กระบวนการยื่นถอดถอนเริ่มจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยการเปิดการไต่สวนการถอดถอนอย่างเป็นทางการ หากคณะกรรมาธิการตุลาการเห็นว่ามีข้อมูลหรือหลักฐานเพียงพอ ก็จะกำหนดให้เป็นวาระการถอดถอนและให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะนำเข้าสู่สภาเพื่อลงมติ

การถอดถอนประธานาธิบดีต้องใช้คะแนนเสียงข้างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าประธานาธิบดีจะพ้นจากหน้าที่ในทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนสุดท้าย คือ การลงคะแนนของวุฒิสภา หาก 2 ใน 3 ของวุฒิสภาพบว่าประธานาธิบดีมีความผิดจริงตามญัตติถอดถอน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯหรือ President of the United States หรือ POTUS ก็จะพ้นจากตำแหน่ง

แม้สภาคองเกรสได้ถอดถอนเจ้าหน้าที่ตุลาการแห่งรัฐให้พ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 8 ราย แต่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนที่พบว่ามีการกระทำผิดในกระบวนการไต่สวนของวุฒิสภา แม้ประธานาธิบดีจอห์นสันก็รอดพ้นการตัดสินว่ากระทำผิดไปด้วย 1 คะแนนเสียง

ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ถูกยื่นถอดถอนปี 1868

ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ที่มาภาพ: https://www.nps.gov/articles/why-was-andrew-johnson-impeached.htm

ประธานาธิบดีจอห์นสัน ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดี สมัยประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ปี 1864 ประธานาธิบดีลินคอล์นประสบกับภาวะการณ์ตัดสินใจที่ยากที่สุดในสมัยสอง นั่นคือการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ สมาพันธรัฐอเมริกา หรือ Confederate States of America หลังจากสงครามกลางเมืองยุติ (สมาพันธรัฐ คือ 7 รัฐทางใต้ที่อนุญาตการมีทาส ซึ่งได้แยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาปี 1860 และก่อตั้งเป็นสมาพันธรัฐ แต่ภายหลังประธานาธิบดีลินคอล์นชนะ)

ประธานาธิบดีลินคอล์นวางแผนที่จะบูรณะและฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่ประสบกับการขัดขวางของบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกันหัวรุนแรง(Radical Republicans) ที่ต้องการลงโทษนักการเมืองฝ่ายใต้และขยายสิทธิพลเมืองให้กับทาสที่ได้รับเสรีภาพ

ประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบสังหารหลังจากรับตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้เพียง 42 วัน ส่งผลให้จอห์นสันต้องเข้ามาดูแลโครงการฟื้นฟูแทน ซึ่งก็เกิดความขัดแย้งกับสมาชิกพรรครีพับลิกันหัวรุนแรงในทันที โดยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้นำฝ่ายใต้และใช้วีโต้ยับยั้งสิทธิทางการเมืองของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว

ในปี 1867 สภาคองเกรสตอบโต้ด้วยการผ่านร่างกฎหมายการดำรงตำแหน่ง(Tenure of Office Act) ซึ่งห้ามประธานาธิบดีปลดรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา

ประธานาธิบดีจอห์นสันเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญจึงสั่งปลดรัฐมนตรีกระทรวงการทำสงคราม ซึ่งเป็นพันธมิตรของสมาชิกพรรครีพับลิกันหัวรุนแรง ศัตรูทางการเมืองของประธานาธิบดีจอห์นสันจึงร่างญัตติการถอดถอนต่อสภา

สภาผู้แทนฯลงมติถอดถอนประธานาธิบดีจอห์นสัน ด้วยคะแนน 126 ต่อ 47 แต่ประธานาธิบดีจอห์นสันก็รอดพ้นจากการถูกถอดถอนตามกฎคะแนน 2 ใน 3 ไปได้ด้วย 1 คะแนน หลังจากพ้นข้อกล่าวหา ได้ทำหน้าที่จนครบวาระและเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวได้รับการรับเลือกมาทำหน้าที่ในวุฒิสภา

ประธานาธิบดีบิล คลินตันถูกยื่นถอดถอน ปี 1998

อดีตประธานธิบดี บิล คลินตัน ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/billclinton/photos/a.10151669798392252/10151669798892252/?type=3&theater

ประธานาธิบดีคลินตันเดินเข้าทำเนียบข่าวพร้อมปัญหาทางกฎหมายและข่าวฉาว ในปี 1993 คลินตันและฮิลลารี คลินตัน เป็นเป้าหมายการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรม กรณีไวท์วอเตอร์(ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคนซัสคลินตันได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แต่ล้มเหลว ต่อมาปี 1994 พวกเขาถูกตั้งข้อหาทุจริตทางการเงิน)

ปี 1994 คลินตันถูก พอลลา โจนส์ อดีตเจ้าหน้าที่รัฐอาร์คันซอยื่นฟ้อง ด้วยข้อหาคุกคามทางเพศ โดยระบุว่าเมื่อปี 1991 คลินตันขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ ได้ล่อลวงเธอซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้เข้าไปหาในห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่ง

ทั้งสองกรณีเป็นประเด็นทางกฎหมายที่สามารถนำคลินตันเข้าสู่กระบวนการถอดถอนได้ โดยเคนเน็ธ สตารร์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอิสระของกระทรวงยุติธรรมได้สืบสวนกรณีไวท์วอเตอร์ แต่ไม่สามารถหาหลักฐานเพื่อการถอดถอนได้

ขณะเดียวกันทนายความของ โจนส์ได้ข้อมูลว่าคลินตันมีสัมพันธ์กับนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาววัย 21 ปีชื่อ ว่า โมนิก้า ลูวินสกี้ ซึ่งทั้งคลินตันและลูวินสกี้ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ภายใต้การสาบานระหว่างการเบิกความในศาล

สตารร์จึงเปลี่ยนการสืบสวนหลังจากที่ได้รับเทปสนทนาทางโทรศัพท์จาก ลินดา ทริปป์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกับลูวินสกี้ที่ได้เล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์กับคลินตัน สตารร์จึงนัดแนะกับเอฟบีไอให้ติดตั้งเครื่องดักฟังที่ตัวทริปป์ระหว่างการนัดพบกับลูวินสกี้ที่โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน นอกวอชิงตัน ซึ่งลูวินสกี้ยอมรับถึงความสัมพันธ์กับคลินตันอีกครั้ง

เมื่อเรื่องนี้กระจายสู่สาธารณะ ประธานาธิบดีคลินตันถูกกดดันให้แถลงเรื่องนี้ผ่านโทรทัศน์ โดยกล่าวว่า “ขอให้ฟังผม ผมไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงคนนั้น นางสาวลูวินสกี้ ผมไม่เคยบอกให้ใครให้โกหก แม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยเลย”

การสืบสวนที่กินเวลานานของสตารร์ นำไปสู่รายงานฉบับยาวและรายละเอียดการมีความสัมพันธ์ทางเพศของคลินตันกับลูวินสกี้พร้อมหลักฐานว่าคลินตันโกหก ขณะที่อยู่ในศาล เพื่อขัดขวางการสืบสวนของสตารร์

วันที่ 19 ธันวาคม 1998 สภาผู้แทนฯสหรัฐลงคะแนนให้ถอดถอนประธานาธิบดีคลินตันด้วย 2 ข้อกล่าวหา คือ เบิกความเท็จและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม แต่ในการพิจารณาของวุฒิสภาที่กินเวลา 5 สัปดาห์ประธานาธิบดีคลินตันก็รอดพ้นการถอดถอนไปได้

แม้เจอการยื่นถอดถอนและกรณีอื้ฉาว และเป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ถูกยื่นถอดถอน ประธานาธิบดีคลินตันก็ได้รับความนิยมโดยคะแนนนิยมสูงสุดถึง 73% ในปี 1999

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ลาออก ปี 1974

ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Impeachment_process_against_Richard_Nixon#/media/

แม้มีความซับซ้อนในกรณีอื้อฉาวทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน ก็ไม่เคยถูกถอดถอน เพราะลาออกก่อนที่สภาผู้แทนฯจะมีโอกาสยื่นถอดถอน แต่หากไม่ลาออก นิกสันก็จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอนและพ้นจากทำเนียบขาว อันเป็นผลจากการกระทำผิดซึ่งเขาได้ยอมรับว่ามีการปกปิดการมีส่วนร่วมของเขาในกรณีวอเตอร์เกต(คดีโจรกรรมข้อมูลที่อาคารวอเตอร์เกต)

วันที่ 27 กรกฎาคม 1974 หลังจากใช้เวลา 7 เดือนคณะกรรมาธิการตุลาการ สภาผู้แทนฯก็ได้ให้ความเห็นชอบ 1 ใน 5 ญัตติยื่นถอดถอนประธานาธิบดีนิกสัน โดยกล่าวหาว่าขัดขวางกระบวนการยุติธรรมเพื่อกันตัวเองออกจากการการสอบสวนกรณีวอเตอร์เกต

มีสมาชิกพรรครีพับลิกันไม่กี่รายในคณะกรรมาธิการตุลาการลงคะแนนให้กับวาระถอดถอน และไม่แน่ชัดว่าขณะนั้นว่าจะมีคะแนนเสียงในสภาพอที่จะถอดถอนอย่างเป็นทางการหรือไม่

วันที่ 5 สิงหาคม 1974 สถานการณ์เปลี่ยน เมื่อศาลสูงสั่งให้นิกสันส่งมอบเทปบันทึกเสียงการสนทนาที่ไม่ตัดต่อซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ Smoking gun ของเขากับเจ้าหน้าที่ทำเนียบข่าวระหว่างการสอบสวนคดีวอเตอร์เกต โดยในการสนทนานิกสันเสนอให้ใช้ซีไอเอ เพื่อขัดขวางการสอบสวนของเอฟบีไอและใช้เงินปิดปาก

เมื่อเทปถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ นิกสันได้รับข่าวจากผู้นำพรรครีพับลิกันว่า วุฒิสมาชิก 15 คนน่าจะลงคะแนนคัดค้านเขาในกระบวนการถอดถอน ซึ่งมากพอที่จะถอดเขาออกจากตำแหน่ง

เพื่อไม่ให้เสียชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอนโดยสภาคองเกรส นิกสันจึงลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 สิงหาคม 1974

นิกสันได้รับการนิรโทษกรรมโดยประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด แต่ผู้ที่สมคบคิดในคดีวิเตอร์เกตหลายคน รวมทั้ง จอห์น ดีน ที่ปรึกษากฎหมายทำเนียบขาวต้องเข้าคุก

ประธานาธิบดีอื่นที่เสี่ยงต่อการถูกถอดถอน

ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Presidency_of_Ronald_Reagan#/media/
ประธานาธิบดีสหรัฐฯหลายรายสุ่มเสียงที่จะถูกถอดถอน รวมทั้ง 5 ประธานาธิบดี จาก 6 สมาชิกพรรครีพับลิกัน แต่มีเพียงไม่กี่รายที่สภา
คองเกรสดำเนินการอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องให้ถอดถอน ยอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรก จากฝ่ายที่คัดค้านนโยบายของเขา อย่างไรก็ตามเสียงเรียกร้องนี้ไม่ถึงขั้นที่จะนำมาสู่การลงคะแนนหรือการตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ

จอห์น ไทเลอร์ เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เจอกับการยื่นถอดถอน ทั้งนี้มีการเรียกขาน จอห์น ไทเลอร์ ว่า His Accidency เพราะเข้ารับตำแหน่งแทน ประธานาธิบดี วิลเลียม เฮนรี แฮรริสันที่เสียชีวิตหลังจากเข้าทำหน้าที่ได้เพียง 30 วัน

สมาชิกสภาผู้แทนฯจาก รัฐเวอร์จิเนียได้ยื่นญัตติขอถอดถอน แต่ไม่เคยมีการดำเนินการถึงขั้นลงคะแนนในสภาผู้แทนฯ

ระหว่างปี 1922 และ 1923 สภาคองเกรสได้ยื่นถอดถอนประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ทั้งสองครั้งถูกพิจารณาด้วยเสียงข้างมาก และครั้งล่าสุด ทั้งประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน และประธานาธิบดียอร์ช เอช.ดับเบิ้ลยู. บุช เป็นเป้าหมายการถอดถอนจากการเสนอของเฮนรี กอนซาเลซ สมาชิกสภาผู้แทนฯจากพรรคเดโมแครต รัฐเท็กซัส แต่ไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการ

ประธานาธิบดี ยอร์ช บุช เจอการยื่นถอดถอนจาก เดนนิส คูซินิช สมาชิกสภาผู้แทนฯจากพรรคเดโมแครต ในข้อกล่าวหาอาชญากรทางสงคราม ซึ่งสภาผู้แทนฯมีมติ 251 ต่อ 166 ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการ แต่ประธานสภา แนนซีเพโลซีกล่าวว่า การถอดถอนพ้นจากการพิจารณา

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงมีความผิดทางอาญาซึ่งสมควรถูกถอดถอน ปี 2012 วอลเตอร์ โจนส์ จากพรรครีพับลิกันยื่นต่อสภากล่าวหาประธานาธิบดีโอบามา ในการใช้อำนาจทางกองทัพในลิเบียโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส ซึ่งสภาได้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมาธิการตุลาการและไม่เคยนำเข้าสู่การลงคะแนน