ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุริยะ” ลั่น ก่อนแบน 3 สาร “กรมวิชาการเกษตร” ต้องมีทางออกทั้งระบบ

“สุริยะ” ลั่น ก่อนแบน 3 สาร “กรมวิชาการเกษตร” ต้องมีทางออกทั้งระบบ

19 พฤศจิกายน 2019


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ที่มาภาพ: http://www.industry.go.th/

จากกรณีปมปัญหาการแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ถึงความเหมาะสม และผลกระทบของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่องการดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีสาระสำคัญที่ให้ผู้ที่ครอบครองสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจะต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในความครอบครองแก่หน่วยงานที่ระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวภายใน 15 วัน หลังจากที่มีการประกาศให้สารเคมีดังกล่าวเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครอง

“สุริยะ” ลั่น ก่อนแบน 3 สาร “กรมวิชาการเกษตร” ต้องมีทางออกทั้งระบบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้ได้ให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อนมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปจัดทำประชาพิจารณ์และยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 นั้น

“คาดว่าใน 1-2 วันนี้ กรมวิชาการเกษตรจะส่งเรื่องกลับมา จากนั้นจะได้กำหนดวันและเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ (ที่มีผลตามกฎหมายฉบับใหม่ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา)ในการประชุมจะต้องนำผลจากกรมวิชาการเกษตรที่ไปทำประชาพิจารณ์มาพิจารณาด้วย จะได้ทราบว่ามีคนแสดงความเห็นอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และต้องดูว่าเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างไร รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรต้องรายงานมาด้วยว่า เมื่อยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้วจะมีสารชนิดใหม่อะไรมาใช้ทดแทน ราคาแตกต่างกันอย่างไร เกษตรกรจะเดือดร้อนหรือไม่ มีผลกระทบอย่างไร และสารตัวใหม่เป็นสารพิษหรือไม่”

นายสุริยะกล่าวต่อไปว่า ในกรณีเช่นนี้ หากพบว่าเกษตรกรเดือดร้อนก็ต้องหามาตรการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรที่ต้องเสนอมาทั้งระบบ ส่วนการจะยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ตามขั้นตอนหากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นชอบ จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป และเมื่อผ่าน ครม.แล้ว จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อถามว่า การยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามครอบครองจะต้องมีการทำลายหรือไม่ เพราะมีข่าวออกมาว่ามีญาติของนายสุริยะเป็นบริษัทรับทำลายสารที่ให้ยกเลิกการใช้เสียเอง นายสุริยะยืนยันว่า ญาติตนเองไม่มีใครทำธุรกิจพวกนี้แน่นอน

“ผมเห็นว่า ถ้ารัฐบาลให้ยกเลิกการใช้และห้ามครอบครอง ทำไมจะต้องไปทำลายสารด้วย ในเมื่อบอกว่ายังมี 3 สารนี้ในตลาดอยู่ 30,000–40,000 ตัน ค่าทำลายตันละ 100,000 บาท รวมแล้วถ้าทำลายต้องใช้เงินร่วม 3,000 ล้านบาท ก็ไม่เห็นต้องทำลายและแก้ไขโดยส่งสารกลับไปยังประเทศที่นำเข้ามาก็ได้แล้ว” นายสุริยะกล่าว

สธ.ยกผลตรวจสุขภาพเกษตรกร ป่วยเพราะ 3 สารนับหมื่นรายต่อปี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมตลอดทั้งการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีกรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พาราควอต ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อาจจะประกาศห้ามใช้

ทั้งนี้เนื่องจากการประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 สรุปผลการพิจารณาได้ว่า จากการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมในการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ประกอบกับข้อมูลพิษวิทยาจากต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลจากกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พบว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร

โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นว่า การใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส เป็นการก่อให้เกิดโรคจากสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันและควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ จึงเห็นควรยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดทันที

ทั้งนี้เนื่องจากผลจากการตรวจระดับเอนไซม์อะซีติลโคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554–2562 พบว่า ในแต่ละปีเกษตรกรประมาณร้อยละ 30 ของผู้ได้รับการตรวจมีระดับเอนไซม์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงกว่าคนทั่วไป และอยู่ในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ

นอกจากนั้นสัดส่วนของเกษตรกรที่มีความเสี่ยงจะเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและสถานการณ์เจ็บป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชที่รายงานสถานการณ์โรคของ สธ.จากหน่วยบริการทั่วประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2558–2562 พบว่า มีอุบัติการณ์ระหว่าง 8.9–17.12 รายต่อแสนประชากร หรือ ประชาชนประมาณ 10,000 รายต่อปี

โดยเมื่อทำการวิเคราะห์ประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียดพบว่า ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีมักจะเจ็บป่วยจากการฉีดพ่นพาราควอต และมีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อยหรือในนาข้าวเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าทางการเกษตรมีผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้ใช้ ผู้สัมผัส และผู้บริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนวัตถุอันตรายดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลงานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบสารพาราควอตในขี้เทาทารกแรกเกิด ซึ่งจะมีผลให้ต่อมไร้ท่อถูกทำลาย ลูกอัณฑะมีอสุจิลดลง และมีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่ทำให้เกิดปัญญาอ่อน ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและภาวะการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคต