ThaiPublica > เกาะกระแส > มหาทวีป “ยูเรเซีย” (Eurasia) อาณาจักรเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ 21

มหาทวีป “ยูเรเซีย” (Eurasia) อาณาจักรเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ 21

7 พฤศจิกายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เป็นที่ยอมรับกันว่า ยุคสมัยปัจจุบัน ศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกกำลังหันเหออกจากตะวันตกมาสู่เอเชีย ในระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศที่มีเศรษฐกิจมูลค่าใหญ่สุดในโลก 3 ใน 5 แห่งจะอยู่ในเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่ยังไม่ชัดเจนก็คือว่า ประเทศไหนจะมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก ระหว่าง เยอรมนี อินโดนีเซีย รัสเซีย หรือบราซิล

แต่คนเอเชียก็ไม่ได้ตื่นเต้นมากมาย ที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจะย้ายมาภูมิภาคนี้ เพราะหลายประเทศในเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น ยังต้องมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอีกมากในเรื่องความทันสมัย เพื่อที่จะไล่ตามประเทศตะวันตก นอกจากนี้ ในทางวัฒนธรรมและระดับการพัฒนา เอเชียก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบบเดียวกับกลุ่มประเทศตะวันตก

การเคลื่อนย้ายของแกนเศรษฐกิจการเมืองของโลกมายังเอเชีย จะเกิดภาวะที่นักรัฐศาสตร์บางคนเรียกว่า โลกที่ไม่มีประเทศไหนมีฐานะเป็นผู้นำ สภาพจะเป็นแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่อาณาจักรแมนจูของจีน โมกุลของอินเดีย และฮับส์เบิร์กของยุโรป ต่างฝ่ายต่างก็ดำรงอยู่แบบแยกออกจากกัน แต่ในอนาคต มหาอำนาจต่างๆของโลกจะไม่อยู่แบบแยกตัวโดดเดี่ยวเหมือนกับอดีต เพราะพลังโลกาภิวัตน์จะทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันและกัน

ยุคของมหาทวีป ยูเรเซีย

การสิ้นสุดของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ และการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคต่างๆ ทำให้ Bruno Macaes อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของโปรตุเกส เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Dawn of Eurasia (2018) ว่า ศตวรรษที่ 21 อาจจะไม่ใช่ศตวรรษของเอเชีย แต่จะเป็นศตวรรษของยูเรเซีย มหาทวีปที่มีขอบเขตกว้างขวาง ตั้งแต่เมืองลิสบอนในโปรตุเกส มาจนถึงนครเซี่ยงไฮ้ของจีน และอาจจะขยายรวมไปถึงจาการ์ตา นครหลวงของอินโดนีเซีย

ยูเรเซียเป็นทวีปที่มีพื้นที่ใหญ่สุดในโลก ที่ประกอบด้วยทั้งหมดของยุโรปและเอเชีย เพราะเหตุนี้ ยูเรเซียจึงมีความหมายสำคัญในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ นาย Zbigniew Brzezski อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ เคยเขียนไว้ว่า

“อเมริกาจัดการอย่างไรต่อยูเรเซียเป็นเรื่องที่สำคัญ ประเทศที่มีอำนาจเหนือยูเรเซียจะครอบครอง 2 ใน 3 ของภูมิภาคที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากสุดของโลก และ 3 ใน 4 ของแหล่งพลังงานของโลกอยู่ในยูเรเซีย”

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือชื่อ Super Continent (2019) ของ Kent E. Calder กล่าวว่า ในปัจจุบัน การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ลึกมากขึ้นของประเทศต่างๆ ในยูเรเซีย เกิดจากปัจจัยทางด้าน (1) พลังงาน (2) การค้าผ่านแดน (transit trade) และ (3) เงินทุนที่สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ยูเรเซียเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่ใหญ่สุดของโลก พลังงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดธุรกรรมด้านการค้า ประเทศอย่างรัสเซีย คาซักสถาน และอิรัก ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าจาก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป พลังงานจึงเป็นปัจจัยสร้างสภาพคล่องให้แก่เศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ

ในด้านเงินลงทุนในยูเรเซีย ในปี 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศที่คาซักสถานและอินโดนีเซีย เรื่องโครงการที่ปัจจุบันเรียกว่า “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ ทั้งในทางบกและทางทะเล ที่ประกอบด้วยการลงทุนในท่าเรือ ทางด่วน รถไฟความเร็วสูง และท่อส่งพลังงาน โครงการนี้จะเชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย ไปจนถึงยุโรป โครงการนี้จะเกี่ยวข้องกับกว่า 70 ประเทศ และใช้เงินลงทุนกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์

โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ประกอบด้วย 2 เส้นทางที่สำคัญ เส้นทางที่ 1 เรียกว่า แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) ที่เป็นเส้นเศรษฐกิจทางบก ตามรอยเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์ จากเมืองซีอานของจีน ผ่านเอเชียกลาง อิหร่าน ตุรกี และรัสเซีย และไปจบลงที่ยุโรปตะวันตก

ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือ เส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษ 21 (Twenty-First-Century Maritime Silk Road) ที่ในอดีต เจิ้งเหอ (Zheng He) ผู้บัญชาการกองทัพเรือสมัยราชวงศ์หมิง เคยเดินเรือขนาดใหญ่จากชายฝั่งมณฑลฟุเกี้ยนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อไปยังเกาะลังกา โครงการนี้จะทำให้เกิดการลงทุนด้านท่าเรือและการช่วยเหลือด้านการพัฒนาของจีนแก่ประเทศที่อยู่ตามทะเลจีนใต้ อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดีย

โครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง แผนที่จากหนังสือ Super Continental (2019)

การค้าผ่านแดนยูเรเซีย

หนังสือ Super Continent กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งภายในประเทศของจีน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาการค้าผ่านแดนในยูเรเซีย ระยะทางจากเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออกของจีนไปจนถึงพรมแดนตะวันออกของสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของระยะทางดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในจีน

นอกจากนี้ เส้นทางบกที่เชื่อมระหว่างศูนย์กลางการผลิตด้านอุตสาหกรรมของยุโรปกับของจีน จะมีระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางทางทะเล และจีนเองเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดของทวีปยูเรเซีย ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรถไฟและถนนภายในจีน จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของการค้าผ่านแดนของยูเรเซีย

ในช่วง 10 ปีแรก (2006-2015) ของการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง จีนลงทุนเป็นเงิน 2.4 ล้านล้านหยวน เมื่อสิ้นปี 2017 จีนมีเส้นทางรถไฟเป็นระยะทางยาว 127,000 กม. โดยเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 25,000 กม. ในปี 2017 ระบบรถไฟความเร็วสูงขนผู้โดยสาร 1.7 พันล้านคน หรือราวๆ 50% ของผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงของโลก จีนมีแผนจะเพิ่มเส้นทางรถไฟในปี 2025 ให้มีความยาวเป็น 175,000 กม. โดยเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 38,000 กม.

หนังสือ Super Continent กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญ เช่น การพัฒนาของจีนที่ถือโครงสร้างพื้นฐานเป็นศูนย์กลาง การปฏิวัติด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการขนส่งสินค้าผ่านแดนที่สะดวกมากขึ้น ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างเอเชียเหนือกับยุโรปใกล้ชิดและแน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะเส้นทางขนส่งทางบกระหว่างเอเชียเหนือกับยุโรป เป็นเส้นตรงมากกว่าเส้นทางเดินเรือที่เป็นเส้นทางอ้อม

แผนที่จาก weforum.org

อย่างเช่นเส้นทางเดินเรือจากเซี่ยงไฮ้ ผ่านช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย คลองสุเอซ จนถึงเมืองรอตเทอร์ดาม มีระยะทาง 23,000 กม. ใช้เวลาเดินทาง 45-60 วัน แต่เส้นขนส่งทางบกจาก ฉงชิ่ง-ดุสเบิร์ก ในเยอรมนี ระยะทาง 10,769 กม. การขนส่งใช้เวลา 15 วัน แต่ถ้าใช้เส้นทางหลีกเลี่ยงการผ่านดินแดนรัสเซียโดยไปผ่านทางตุรกีแทน จะใช้เวลาเดินทาง 20-23 วัน

Super Continent กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในทางภูมิศาสตร์ ศูนย์กลางการผลิตด้านอุตสาหกรรมของทวีปยุโรปกับจีน ก็เคลื่อนย้ายเข้ามาใกล้กันมากขึ้น หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น ห่วงโซ่การผลิตของเยอรมนีย้ายมาทางยุโรปตะวันออกเพราะค่าแรงและอสังหาริมทรัพย์ที่ถูก ส่วนการผลิตด้านอุตสาหกรรมของจีนก็เคลื่อนย้ายจากมณฑลชายฝั่งทะเล เช่น เซี่ยงไฮ้หรือเทียนสิน มายังมณฑลทางตะวันตกมากขึ้น เช่น เสฉวน หรือซ่านซี

เมื่อผนวกรวมกับประสิทธิภาพของการขนส่งทางบกผ่านยูเรเซีย จะทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานข้ามทวีป ระหว่างยุโรปกับจีน ฐานการผลิตอุตสาหกรรมของยุโรปตอนกลาง ที่เน้นเครื่องจักรกล รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ จะอาศัยชิ้นส่วนที่ผลิตจากจีนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตของจีนก็จะยกระดับการผลิตสูงขึ้น โดยการซื้อกิจการบริษัท SME ของเยอรมนี

ในระยะที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในทวีปยูเรเซียมีบูรณาการทางเศรษฐกิจที่เพิ่มและลึกมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ พลังงาน การค้าผ่านแดน และปริมาณเงินลงทุน การค้าผ่านแดนและระบบห่วงโซ่เครือข่ายการผลิตอุตสาหกรรม ทำให้จีนเชื่อมโยงกับยุโรปมากขึ้น สิ่งนี้จะมีความหมายสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจการเมืองโลก

เอกสารประกอบ

Super Continent: The Logic of Eurasian Integration, Kent E. Calder, Stanford University Press, 2019.