ThaiPublica > คนในข่าว > ชวน “อนุชิต อนุชิตานุกูล” คุยเบื้องหลัง National Digital ID คืออะไร – ทำไมประเทศต้องมี?

ชวน “อนุชิต อนุชิตานุกูล” คุยเบื้องหลัง National Digital ID คืออะไร – ทำไมประเทศต้องมี?

14 พฤศจิกายน 2019


ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล

การเปิดตัว “โครงการความร่วมมือสู่การพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัลของประเทศไทย” หรือ National Digital ID (NDID) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมากว่า 2 ปี ระหว่างกลุ่มธนาคารนำร่อง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บริษัทประกันชีวิต บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด

ทั้งนี้ NDID คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกันในระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นที่บุคคลจะต้องเดินทางไปยืนยันตัวด้วยตนเอง ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก ลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารหรือหลอกลวงจากการทำธุรกรรมต่างๆ และลดขั้นตอนต่างๆ ในการทำธุรกิจหรือรับบริการของภาคเอกชนและประชาชน รวมไปถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

สำหรับกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนจะประกอบไปด้วยหน่วยงาน 3 ฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่ ผู้ขอรับข้อมูลและการยืนยันตัวตน (Relying Party: RP), ผู้ให้บริการพิสูจน์ตัวตน (Identity Provider: IdP) และหน่วยงานเจ้าของข้อมูล (Authoritative Source: AS) โดยกระบวนการจะเริ่มต้นจาก

  • ผู้ใช้บริการทั้งประชาชนหรือธุรกิจ ต้องการไปติดต่อราชการหรือเอกชน เพื่อขอรับบริการ เช่น ขอใบอนุญาต ฯลฯ
  • หน่วยงานราชการและเอกชนที่ประชาชนจะไปขอใช้บริการทางออนไลน์ ซึ่งในที่นี้จะเป็นหน่วยงานผู้ขอรับข้อมูลและการยืนยันตัวตน (RP) จะส่งคำขอการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านโครงสร้างพื้นฐาน NDID Platform
  • คำขอดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปที่ผู้ให้บริการพิสูจน์ตัวตน (IdP) ที่ผู้ใช้บริการเลือกเอาไว้ อาจจะเป็นธนาคารหรือหน่วยงานอื่นที่เคยพิสูจน์ตัวตนของประชาชนหรือกระบวนการ KYC มาแล้ว เช่น ธนาคารที่ผู้ใช้งานเคยไปเปิดบัญชีที่สาขาหรือเปิดใช้งาน mobile banking และมีรูปแบบการยืนยันตัวตนอย่างรหัสพินหรือลายนิ้วมือแล้ว
  • ผู้ให้บริการพิสูจน์ตัวตน (IdP) จะส่งคำขอไปยังผู้ใช้บริการให้ยืนยันตัวตนตามแพลตฟอร์มที่ผู้ให้บริการพิสูจน์ตัวตนมี เช่น ส่งคำขอการยืนยันตัวตนเข้าไปแพลตฟอร์ม mobile banking ของธนาคาร และผู้ใช้บริการจะพิสูจน์ตัวตนผ่านรหัสพินหรือลายนิ้วมือ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้พิสูจน์ตัวตนได้ พร้อมทั้งให้ความยินยอมให้หน่วยงานเจ้าของข้อมูล (AS) ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยงานผู้ขอรับข้อมูลและการยืนยันตัวตนโดยตรง
  • เมื่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูล (AS) ได้รับการพิสูจน์ตัวตนและให้ความยินยอมจากผู้ใช้บริการกลับมาจาก NDID platform แล้วจะสามารถส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยังผู้ขอรับข้อมูลและการยืนยันตัวตนโดยตรงและไม่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มกลาง ทำให้ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ถูกเก็บเอาไว้ในแพลตฟอร์มนี้
  • ผู้ใช้บริการจะสามารถเข้าบริการต่างๆ ของราชการและเอกชนได้ทางออนไลน์

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ชวนคุยอีกครั้งกับ “ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล” ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ถึงที่มาที่ไปและความสำคัญของโครงการดังกล่าวต่อประเทศไทย ในฐานะผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ และเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญที่บุกเบิกการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมาตั้งแต่ระบบการชำระเงินจาก “Any ID” จนสำเร็จออกมาเป็นระบบ “พร้อมเพย์” ในปัจจุบัน

หรืออาจะกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวหอกผู้ช่วยทลายกำแพงการพิสูจน์ตัวตนให้เชื่อมต่อกันได้…

  • ก้าวข้ามกับดัก 6 ด้านสู่ Digital Economy แก้โจทย์ “แก่ เจ็บ จน คนน้อย ด้อยศึกษา เหลื่อมล้ำสูง”
  • อวสาน “ขีดคร่อม-สำเนาถูกต้อง”! เปิดตัว Thailand Digital ID นำร่องระบบพิสูจน์ตัวตนออนไลน์
  • ดร.อนุชิตเริ่มต้นออกตัวก่อนว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่ตนคนเดียวที่เข้ามาทำ แม้ว่าจะมีส่วนในการผลักดันหรือริเริ่มทำให้มันออกมา แต่เบื้องหลังยังมีแรงของคนเป็นร้อยในนั้น เป็นคนที่อาสามาช่วยกันทำงาน ช่วยกันเขียนโปรแกรม ช่วยกันออกแบบระบบ ช่วยกันเขียนกฎหมายและผลักดัน มีคนมากมาย รวมทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ

    “อย่างเช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ของกระทรวงการคลังที่ออกแรงอย่างมากที่ช่วยผลักดันทุกอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ทุกคนช่วยเยอะ เอกชนช่วยเยอะ ตัวแทนจากธนาคารต่างๆ ผมพูดในที่ประชุมว่าไม่ง่ายนะ ที่คนเป็นร้อยมาช่วยกันทำงาน การประชุมแค่ละครั้ง จะถ่ายทอดออกไปอย่างไร มีคนเกี่ยวข้องเยอะ และเราเปิดอิสระ เป็น open source ใครจะมาก็มา จะทำตรงไหนก็ทำ แต่ก็ไม่ใช่เห็นตรงกันทุกเรื่อง คิดแตกต่างกันเยอะ ผมได้พูดกับทุกคนว่า เราต้องเลิกทะเลาะกัน เรารวมหัวกันทั้งประเทศยังไม่รู้จะชนะชาวโลกหรือเปล่าเลยนะ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละเรื่องมีสักกี่คน หันไปดูจีนเอาก้อนหินขว้างไปก็โดนไม่รู้กี่คน ของเรารวมกันไม่รู้จะชนะหรือเปล่า ต้องช่วยกันทำออกมา ทุกคนก็มาช่วยกันทำเลย ซึ่งผลักมาได้ขนาดนี้แล้ว ก็ติดตามกันต่อไป”

    บัตรประชาชนไทย “ก้าวหน้าไฮเทค” แต่ไม่เคยใช้

    ดร.อนุชิตย้อนกลับไปถึงความสำคัญของ “เลขประจำตัวประชาชน” หรือ ID ว่ามันเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกอย่าง โดยที่ยังไม่ต้องไปถึง”เศรษฐกิจดิจิทัล” และสำหรับประเทศไทยเรื่องนี้ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกหลายประเทศ ที่ต้องเจอปัญหามากมายจากการไม่มีระบบเลขประตัวประชาชน ตัวอย่าง กรณีของสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้มีระบบเลขประจำตัวประชาชนแบบของไทย แต่ใช้เลขประกันสังคม 4 หลักสุดท้ายยืนยันตัวตน ซึ่งไม่ได้เป็นความลับอะไรเลย เพราะประชาชนต้องบอกให้คนอื่นรู้เพื่อจะทำธุรกรรมต่างๆ จะมีคนคอยอ่านข่าวหาคนตายในหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะพวกที่ไม่มีญาติ พอเจอก็ไปที่บ้าน งัดแงะเข้าไปแล้วก็อ้างสิทธิว่าเป็นเจ้าของบ้าน ขนของ เก็บข้าวของ พร้อมขโมยตัวตน โดยใช้เลขบัตรประกันสังคม แล้วก็เข้าถึงบัญชีธนาคารอะไรของผู้ตายได้หมด ของเราสัปเหร่อไม่เผาศพถ้าไม่มีใบมรณะบัตร คือกฎหมายล็อกเอาไว้หมดตั้งแต่เกิดจนตายต้องลงทะเบียน

    ธนาคารโลกก็พยายามแก้ปัญหาพวกนี้ให้กับโลก คือพยายามสร้างเลขบัตรประจำตัวให้กับโลก เรียกว่า ID for Development หรือ ID4D โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ประโยชน์จะยิ่งมาก กรณีที่ธนาคารโลกไปทำที่อินเดีย เขาภาคภูมิใจมาก เพราะสมัยเมื่อก่อนไม่มีเลขประจำตัว ก็ไม่รู้ตัวตน พอไม่รู้ตัวตนก็ไม่รู้จำนวนประชากร พอเริ่มลงทะเบียนเลขประจำตัวประชาชน เขาถึงเริ่มรู้ว่าประชากรจริงๆ มีเท่าไหร่ พอรู้แล้วก็เริ่มทำระบบสวัสดิการหรือระบบอะไรเพื่อให้บริการประชาชนต่อไปได้ แต่กลับกันถ้าไม่มีเลขบัตรประจำตัว ก็ทำระบบอะไรไม่ได้

    นอกจากระบบเลขประจำตัวประชาชนของไทยที่ก้าวหน้ากว่าหลายที่แล้ว ดร.อนุชิตยังกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยพัฒนาใส่เทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปในบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางค่อนข้างมากแล้วด้วย ตัวอย่างเช่น มีบัตรประชาชนที่มีชิปเก็บข้อมูลแบบดิจิทัล มีการเก็บลายนิ้วมือในนั้น ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามาก หรือหนังสือเดินทางของประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่เป็นระบบ e-passport ทั้งประเทศ คือมันอ่านข้อมูลแบบ contactless ได้ตามมาตรฐาน ICAO Compliance มีใส่ biometric 2-3 ตัวในนั้นด้วย เรียกว่าเป็นประเทศแรกในเอเชีย แล้วถ้านับว่าเป็นประเทศที่ใช้แบบทั่วประเทศอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกด้วยซ้ำ คือที่อื่นอาจจะเอามาทดสอบบ้าง แต่ไม่ได้ใช้ทั้งประเทศ

    “เรามีอะไรพวกนี้มาตั้งนาน แต่เราแทบไม่ได้เอามาใช้ ถามว่าเราใช้วิธีอะไร บัตรประชาชนยังถ่ายสำเนา เซ็นสำเนาถูกต้อง หรือหนังสือเดินทางคุณยังให้คนยืนตรวจหนังสือเดินทางอยู่ แทนที่มันจะแตะที่เครื่องแล้วเข้าออกได้ไปนานแล้ว ไม่ต้องเสียบแบบตอนนี้ด้วยซ้ำ”

    ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล

    ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องไปมากกว่านั้น

    ทีนี้ถ้าเราจะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบเลขประจำตัวกับบัตรประชาชนแบบเดิมมันใช้งานไม่ได้แล้ว ทำไมไม่ได้ คิดดูว่าเราอยากให้คนทำธุรกิจง่ายๆ เขามาติดต่อราชการหรือติดต่อเอกชนก็ตาม เราอยากให้เขาทำได้บนมือถือผ่านอินเทอร์เน็ต แล้วคุณมีบัตรอยู่ในมือจะพิสูจน์ตัวตนอย่างไร คุณเอาบัตรเสียบมือถือตรงไหน ต่อให้บัตรมันเทคโนโลยีสูงมาก มันทำไม่ได้เลย เป็นที่มาว่าเราต้องพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาใหม่ให้เป็นดิจิทัลไอดี

    ดร.อนุชิตยกตัวอย่างต่อว่า พอระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ยังไม่ได้พัฒนาให้ทำบนออนไลน์ได้ทั้งหมด แต่รัฐบาลต้องการทำโครงการระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนและยืนยันตัวบุคคล ก็จะมีปัญหา อย่างเช่น การลงทะเบียนคนจน พอไม่มีดิจิทัลไอดี ก็ต้องใช้คนจนไปที่ธนาคารกรุงไทย เพราะว่าที่ธนาคารกรุงไทยมีเครื่องเสียบ แล้วมีคนดู มีกล้อง เสียบบัตรเข้าไป ให้ข้อมูลออกมาเทียบกับหน้าคนที่ไปโชว์ตัว

    “หรือการลงทะเบียนชิมช้อปใช้ ให้ถ่ายรูปบัตรประชาชน ปรากฎว่าหน้าไม่ตรงกับรูปในบนบัตรประชาชน แล้วจริงๆ มันพิสูจน์อะไรไม่ได้ มันก็โกงได้ง่ายเพราะอาจจะโดนเปลี่ยนรูปก็ได้ เพราะอุปกรณ์มันอ่านบัตรประชาชนแบบดิจิทัลไม่ได้”

    อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องการขอเอกสารของราชการ ของเดิมพอพิสูจน์ตัวตนไม่ได้ ก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูล รัฐก็ให้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครขอมา ดังนั้น ทุกธุรกรรม ทุกการทำงานขึ้นอยู่กับการให้ข้อมูลของเจ้าของเอง ต้องไปกรอกเองด้วยตัวเอง วิธีเดียวที่มีตอนนี้คือไปเอามาจากรัฐเอง แล้วเอามาส่งมอบเอง เหมือนข้อมูลทางการแพทย์จาก 2 โรงพยาบาล ส่งให้กันไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะยืนยันเจ้าของข้อมูลอย่างไร เจ้าตัวก็ต้องกลับไปขอเอกสารใส่ลังแบกมาเอง

    รัฐบาลพยายามแก้ไขว่าไม่ให้ขอข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้วจากประชาชนอีก ออกคำสั่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่สุดท้ายก็ยังมีปัญหา เพราะหน่วยงานที่ไปติดต่อมีปัญหาว่าแล้วจะเอาข้อมูลจากไหน ครม.ก็บอกว่าให้ไปเอาของราชการด้วยกันเอง แต่ราชการทุกแห่งมีระเบียบว่าต้องเขียนคำร้อง ทุกแห่งต้องเขียนคำร้องหมด แล้วคำร้องตามกฎหมายคืออะไร เวลานักกฎหมายตีความก็มักตีความแคบๆ ว่าก็ต้องไปนั่งเขียนจดหมาย ลงนาม แล้วเอามาส่ง กว่าจะได้ข้อมูลอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือปกติ 2 เดือน

    ดร.อนุชิตเล่าต่อว่า “ตอนหลังไปทำระบบใหม่ขึ้นมา เชื่อมโยงหน่วยงานราชการ ตอนนี้ไม่ต้องเขียนคำร้องแล้ว ก็ให้เข้าไปเปิดข้อมูลของเราเลยในฐานข้อมูลเลย ปัญหาเดิมหมดไป แต่มีปัญหาใหม่ก็เพิ่มเข้ามาอีก เพราะทำแบบนี้หมายความว่ามีช่องทางเข้าไปได้ทั้งหมด ข้าราชการเปิดข้อมูลของทุกคนได้ทุกฐานข้อมูล ทุกกรมกองที่เกี่ยวข้องเหรอ ตอนนี้เป็นปัญหาแบบนี้อยู่ จากปิดไปหมด เป็นโล่งไปหมด แล้วถ้าวันไหนถูกเจาะเข้าไปได้สักจุด พอมันเชื่อมกันหันหลังชนถึงกันหมดแบบนี้ มันไปหมดเลยทั้งประเทศ แล้วก็ยังไม่มีใครแก้ไขปัญหานี้

    ยังไม่รวมว่าเอกชนที่ทำธุรกิจทั้งประเทศ เขาไม่ต้องใช้ข้อมูลหรอ ก็ไม่จบอยู่ดี เอกชนก็ต้องขอบัตรประชาชนคุณอยู่ดี ไม่ใช่แค่การเงินนะ แต่จะทำสัญญาทำอะไร มันต้องพิสูจน์ตัวตนทุกครั้ง คุณต้องพกบัตรประชาชน แล้วถ้าเป็นนิติบุคคล ก็พกเอกสารไปอีกปึกหนึ่ง พวกใบจดทะเบียนบริษัทโน่นนี่ นี่คือทำไมเศรษฐกิจดิจิทัลมันไปไม่ได้”

    อนาคตการพัฒนาเทคโนโลยี อย่างฟินเทค หรืออีคอมเมิร์ซ ปัจจุบันลงทะเบียนลูกค้าอย่างไร แล้วใครเป็นใคร ก็ไม่รู้ รัฐบาลหันมาทำศูนย์ข่าวปลอมไล่จับกันอยู่ เพราะไม่ได้พิสูจน์ว่าใครเป็นใครตั้งแต่แรก ไม่ต้องพูดเรื่องกฎหมายต่างๆ อีกที่จะตามมา แล้วความยากง่ายในการทำธุรกิจที่เราผลักดัน ก็จะไม่ง่าย เพราะไม่สามารถทำธุรกรรมให้สมบูรณ์ในออนไลน์ได้ ต้องเอาตัวไปยืนยันเสมอ

    “รัฐบาลเร่งๆ หน่วยงานราชการก็ทำ ทุกคนพยายามทำ 4.0 ทำเว็บไซต์ขึ้นมา ทำเสร็จแล้ว แต่การทำธุรกรรมไม่ได้ทำแบบสมบูรณ์เลย เพราะต้องเอาตัวไปยืนยัน เอาบัตรไปยื่น เอาหน้าไปโชว์ บางคนก็เสนอแนวคิด(ที่น่าจะใช้ความคิดมากกว่านี้) คือเสนอมาว่าก็ให้ตั้งงบประมาณซื้อเครื่องอ่านบัตรให้คนไทยทุกคน ต่อไปนอกจากพกบัตรประจำตัวติดกระเป๋าแล้ว ยังต้องพกเครื่องอ่านไปด้วย หรือจะเอาวิธีอย่างที่เป็นอยู่ ถ่ายรูปโชว์บัตร ไม่รู้รูปจริงรูปปลอม มันตรวจสอบไม่ได้”

    ฉะนั้น ดิจิทัลไอดีเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศเหมือนกับระบบเลขประจำตัวประชาชน นี่คือความสำคัญว่าทำไมต้องมี National ID ทำไมต้องมี e-consent (การให้ความยินยอมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) พวกนี้ถ้าบางประเทศ อย่าง อินเดียเขาเรียกว่า IndiaStack คือมันต้องตัวหนึ่งมาสนับสนุนอีกตัวขึ้นไปเรื่อยๆ มันเหมือนปูพื้น ต้องปูทีละชั้น ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นฐานรากก่อน กรณีนี้ก็เหมือนกันถ้าไม่มีเลขประจำตัวอะไร มันก็ไม่มีพื้นฐานให้ต่อยอดขึ้นไป เพราะมันขาดโครงสร้างพื้นฐานใหญ่

    จุดเด่นของ NDID ไทย อะไร?

    ดร.อนุชิตกล่าวต่อไปถึงประเด็นเรื่องทำไมระบบของประเทศถึงน่าสนใจกว่าประเทศอื่นว่า แนวคิดหลักของการพัฒนาระบบการพิสูจน์ตัวตนไทยคือให้หลายคนช่วยกันพิสูจน์ได้ ไม่ให้เป็นจุดเดียวหรือมี single point of failure ทำให้ให้ปริมาณข้อมูลกระจายได้ แล้วถ้าบางที่ล่มไป ก็มีที่อื่นให้บริการได้ แล้วพอเปิดแบบนี้มันเป็นระบบตลาดที่จะกำกับดูแลอีกชั้นด้วย คือใครบริการได้ดีลูกค้าก็ใช้งานเยอะ แล้วมีการแข่งขัน แข่งกันพัฒนาต่อไปอีก ปลอดภัยขึ้น ไวขึ้น แล้วพอมันสามารถพิสูจน์มากกว่า 1 แหล่งได้ก็มาช่วยป้องกันการถูกเจาะได้อีก คือจะพิสูจน์ว่าเป็นผมในข้อมูลสำคัญมากๆ เขาบอกว่าให้ยืนยันจาก 3 แหล่งโอกาสที่ฐานข้อมูลจะโดนพร้อมกันมันก็ยากขึ้น

    นอกจากนี้ ระบบยังถูกวางให้ไม่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี วิธีคิดมันต้องไม่ติดกับว่าเทคโนโนโลยีเคลื่อนที่อย่างไร หรือไม่ยึดติดกับอุปกรณ์บางประเภทเท่านั้น ระบบถูกออกแบบให้มันยืดหยุ่น เพราะการยืนยันตัวบุคคลสุดท้ายมันขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีไหนก็ได้ ขณะเดียวกันในแง่เศรษฐศาสตร์ ระบบถูกออกแบบให้เอื้อให้คนสร้างนวัตกรรมบนสิ่งนี้ต่อไปได้ด้วย คือเป็นระบบเสรีตลาดมาแข่งขันกันคิดอะไรดีๆ ออกมา มันเป็นตัวอย่างว่าทำไมธนาคารโลกชอบ ระบบแบบนี้มันวางแผนไปถึงว่าถ้าขยายข้ามประเทศก็ยังต่อไปได้หรือไปทั้งโลกก็ได้ ถ้าเริ่มต้นคิดแบบนี้

    ฉะนั้นจะเห็นว่าตอนนี้ธนาคารก็เริ่มทำพวกการพิสูจน์ตัวตนด้วย biometric ที่จะพัฒนามาใช้กับระบบนี้ เพราะมีการวางพื้นฐานหรือมาตรฐานของการพิสูจน์ตัวตนด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มีการวางกระบวนการ e-KYC อะไรที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วย ประเทศไทยบังเอิญอุตสาหกรรมธนาคารแข็งแรงทำให้มีแรงพอจะทำได้ อีกอุตสาหกรรมหนึ่งคือโทรคมนาคม เพราะว่ามีจุดให้บริการเยอะ ลูกค้าเยอะ แข็งแรงพอที่จะสามารถทำได้

    สุดท้ายความงดงามอันหนึ่งของการออกแบบ เป็นความฉลาดในแง่การออกแบบสิ่งนี้ คือ โครงสร้างพื้นฐานมันไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ เอาไว้เลย ฉะนั้นมันถูกเจาะไป ก็ไม่มีอะไรในนั้น ในนั้นมีแต่คำขอข้อมูลระหว่างหน่วยงาน พอขอเสร็จยืนยันตัวตนเสร็จ ข้อมูลก็ส่งตรงจากฐานข้อมูลอย่างของรัฐไปสู่เอกชนที่จะใช้งาน ตัวข้อมูลไม่ได้เก็บไว้ระหว่างทางเลย

    อีกเรื่องที่สำคัญคือเราพยายามดึงคนในสังคมทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาทำ โดยตั้งบริษัทใหม่ใส่คนใส่เงินเข้ามา ให้เกิดการขับเคลื่อนจากสังคมแล้วไม่ให้มีใครควบคุมระบบนี้เอาไว้ได้ ไม่ใช่อยู่ในมือของนายทุนคนใดหรือหน่วยงานใด

    “จุดแข็งของระบบคือคิดทุกอย่างให้ลงตัวทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบที่เก่ง คิดถึงทั้งเทคโนโลยี เทคนิคต่างๆ คิดถึงสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของระบบ”

    ดร.อนุชิตกล่าวปิดท้ายว่า “สิ่งที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมคืออำนาจรัฐที่จะผลักแรงๆ สักครั้งเพราะว่าตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานก็พร้อม กฎหมายก็พร้อม ดังนั้นมันจะเร็วขึ้นมากถ้ารัฐบาลช่วยผลักด้วย”