ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดตัว “National Digital ID” พร้อมใช้ยืนยันตัวบุคคลดิจิทัลไตรมาส 4 ปีนี้ เพิ่มความสะดวกรับบริการต่างๆ ในอนาคต

เปิดตัว “National Digital ID” พร้อมใช้ยืนยันตัวบุคคลดิจิทัลไตรมาส 4 ปีนี้ เพิ่มความสะดวกรับบริการต่างๆ ในอนาคต

19 กรกฎาคม 2019


เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ภายใต้แนวคิด Collaboration for the Future of Finance บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ได้เปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศไทย คือ โครงสร้างระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Digital ID – NDID) โดยมีบทบาทหน้าที่การเป็นตัวกลางให้ภาครัฐและเอกชนเชื่อมต่อข้อมูลในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เอื้อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนโดยยึดหลักประชาชนผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวประกอบด้วยบริษัทหรือสมาคมต่างๆ 60 แห่ง เพื่อกระจายความหลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกไป ไม่ว่าจะเป็นสมาคมธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สมาคมประกันต่างๆ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยมีทุนเริ่มต้น 100 ล้านบาท

นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด กล่าวถึงหลักการทำงานของเครือข่ายดิจิทัลไอดีหรือการยืนยันตัวบุคคล โดยพื้นฐานข้อมูลตัวตนของบุคคลที่มีอยู่และผ่านการยืนยันมาแล้วกับการให้ความยินยอมที่จะส่งข้อมูลตัวตนไปยืนยัน ตัวอย่างเช่น ถ้านาย ก เคยเปิดบัญชีและผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารเอแล้ว ต่อมาต้องการเปิดบัญชีกับธนาคารบี นาย ก ไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนอีกครั้ง แต่ใช้แอปพลิเคชันของธนาคารบีว่าตนเองให้ความยินยอมให้ธนาคารเอส่งข้อมูลตัวตนที่ยืนยันแล้วมาแทน

“ดังนั้นเครือข่ายนี้จะเป็นเหมือนถนนที่เชื่อมบริการต่างๆ ไว้ด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นการเก็บข้อมูลใดๆ ไว้เลย ข้อมูลจะยังคงอยู่ที่องค์กรที่เก็บข้อมูลเดิม แล้วประชาชนในฐานะเจ้าของข้อมูลมีสิทธิเลือกที่จะส่งข้อมูลต่างๆ ให้ใครได้บ้าง ต่อไปอาจจะขยายไปยังบริการอื่นๆ อย่างเรื่องสาธารณสุขอาจจะส่งข้อมูลการรักษาพยาบาลของตนเองให้แต่ละโรงพยาบาลได้ ส่วนความพร้อมของระบบตอนนี้เรียกว่าการยืนยันเร็วมาก ใช้เวลาหลักวินาที แต่ปัญหาอีกด้านคือคนต้องมีแอปพลิเคชันมาใช้ประกอบกันด้วย” นายบุญสันต์กล่าว

ขณะที่ปัญหาระบบล่ม ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในการบริการโอนเงินอย่าง “พร้อมเพย์” นายบุญสันต์กล่าวว่า บริษัทเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว โดยจะดูการเติบโตของปริมาณการใช้งาน แต่ต้องเข้าใจอีกประการว่าบริการนี้ไม่ได้มีน้ำหนักรุนแรงเท่าการโอนเงินหรือชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินของประชาชนหรือเกี่ยวข้องกับความรวดเร็วของระบบ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดหากใช้งานไม่ได้เลย ประชาชนยังมีทางเลือกอื่นในระบบเดิม

ส่วนการกำกับดูแลบริการต่างๆ จะมีหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องมาดูแลแต่ละส่วน เช่น ธนาคารจะมี ธปท.ดูแล บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จะมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแล และประกันชีวิตกับประกันวินาศภัยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดูแล และบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด จะถูกกำกับจากหน่วยงานใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าวจะเปิดให้ใช้ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งที่อยู่ในโครงการทดลอง หรือ Sandboxของ ธปท. โดยจะทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์ เช่น การเปิดบัญชี การให้สินเชื่อ โดยธนาคารที่มีเจ้าของข้อมูลที่จะใช้ยืนยันตัวตนจะเป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งกำลังตกลงกันอยู่ว่าประมาณเท่าใดหรืออาจจะตั้งเป็นลักษณะค่าธรรมเนียมสูงสุดแทน ส่วนบริการอื่นๆ อาจจะต้องรอเรื่องของการดูกฎระเบียบต่างๆให้สอดคล้องกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562

อนึ่ง ในระยะแรกจะเน้นไปที่บริการเปิดบัญชี การให้สินเชื่อ เปิดบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์และหลักทรัพย์จัดการกองทุน เปิดบัญชี e-money ขณะที่ในระยะที่ 2 จะเน้นไปที่นิติบุคคลและต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายและมีรายละเอียดมาก เพราะการทำธุรกรรมของนิติบุคคลจะแตกต่างจากบุคคลธรรมดาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องของเอกสารที่ใช้ ตัวอย่างเช่น การเปิดบัญชีนิติบุคคลก็ต้องเตรียมเอกสารอย่างเอกสารยืนยันตัวของหุ้นส่วนต่างๆ หนังสือรับรองการจดทะเบียนธุรกิจ หนังสือบริคณห์สนธิ เป็นต้น และการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับได้จะทำให้เพิ่มความสะดวกได้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ จะทำการยืนยันตัวบุคคลของต่างชาติ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกของธุรกิจต่างๆ ได้ดี ซึ่งจะเป็นลักษณะการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นการตกลงในระดับระหว่างประเทศ

นางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานบริษัท ตัวแทนบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

นางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานบริษัท ตัวแทนบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด เปิดเผยว่า NDID มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับการทำธุรกรรมทางดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ  และได้รับการรับรองทางกฎหมายในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนโลกดิจิทัล จากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เปรียบเสมือนถนนโครงข่ายหลักที่ทำให้ทุกภาคส่วนมาเชื่อมต่อกันได้ง่าย ไม่ตัดถนนซ้ำซ้อน ไม่ยุ่งเหยิง เป็นระบบ และประหยัด พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รองรับการให้บริการจากภาครัฐและภาคธุรกิจ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0”

ขณะที่การทำงานและความปลอดภัยของระบบ NDID ว่า NDID เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยที่ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลต้องให้การยินยอม (Consent)ก่อนการดำเนินการใดๆ ระบบ NDID ไม่มีการรวมศูนย์เก็บข้อมูล ข้อมูลจะถูกเก็บแบบกระจายศูนย์ภายใต้หน่วยงานที่ดูแลข้อมูลนั้นๆ ระบบถูกออกแบบภายใต้แนวคิด Decentralized ด้วยเทคโนโลยี Blockchain  โดยข้อมูลบนระบบ Blockchain ของ NDID เป็น Timestamp Log  ของรายการที่เกิดขึ้น หน่วยงานต่างๆ จึงมั่นใจได้ว่า เราไม่ได้เห็นข้อมูลใดๆ ของลูกค้า จึงทำงานร่วมกับเราอย่างสบายใจได้ว่าถนนที่เชื่อมโยงนี้ปลอดภัย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ต้องยกเครดิตให้ทีมงานด้านเทคนิคของคณะทำงานฯ (Digital Identity Committee) ที่ออกแบบมาได้ดีเยี่ยม

NDID จะสร้างประโยชน์ในทุกมิติได้อย่างกว้างขวางและเข้าถึง ให้กับทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค สำหรับภาคธุรกิจหรือภาคบริการนั้น NDID จะสามารถยืนยันตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ที่ต้องให้ลูกค้าหรือผู้ขอใช้บริการมาแสดงตน ช่วยให้เกิดการบริการที่สะดวก รวดเร็วและประหยัดเวลา นอกจากนี้ NDID ยังช่วยยกระดับกระบวนการทำความรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) อีกด้วย ในด้านลูกค้าหรือผู้บริโภค NDID เป็นทางเลือกของประชาชนในการยืนยันและพิสูจน์ตนเองต่อหน่วยงาน NDID ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการที่หลากหลายและได้รับความสะดวกในการใช้บริการทั้งในภาคการเงินและทั่วไป เช่น การเงินและการลงทุน ประกันภัย สาธารณสุข โทรคมนาคม และการศึกษา

ระบบ NDID มีการพัฒนาและทดสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเริ่มใช้กับบริการเปิดบัญชีเงินฝากที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าข้ามธนาคาร (cross verification) โดยปัจจุบัน ธนาคารต่างๆ อยู่ระหว่างพัฒนาบริการสำหรับลูกค้า คาดว่าจะเริ่มการทดสอบการให้บริการจริงในวงจำกัด ภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox ของ ธปท. คาดว่าต้นไตรมาส 4 ปี 2562 ทั้งนี้ ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละธนาคาร ซึ่งในอนาคต NDID มีแผนจะขยายการพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากบุคคลธรรมดาไปสู่นิติบุคคลและชาวต่างชาติในระยะต่อไป

บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด จัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือ สนับสนุน ผลักดัน จากทุกภาคส่วนโดยแรกเริ่มนั้นเกิดจากการที่ภาครัฐได้ให้ความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการประชาชน และภาคธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ในเรื่องของการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัล  โดยมีกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง Digital Identity Committee ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้ตั้งคณะทำงานชุดย่อยอีก 3 คณะ ประกอบด้วย Technical Team, Legal Team และ Pilot Team เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงจึงได้มีการจัดตั้งบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัดขึ้นโดยสมาคมธนาคารไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นแกนหลักในการจัดตั้ง เพื่อรับช่วงต่อให้การดำเนินงานพัฒนาระบบ NDID ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท ประกอบไปด้วยธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด รวมมากกว่า 60 บริษัท ซึ่งต้องดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA และยังมีหน่วยงานที่เป็น strategic partner ของบริษัทอีก ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทและการพัฒนาระบบ ทั้งนี้ บริษัทมีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำการสร้างแพลตฟอร์มระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลซึ่งเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ อันเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์บริการและธุรกิจใหม่ๆ ในยุคดิจิทัลต่อไป