ThaiPublica > เกาะกระแส > กลุ่มเซ็นทรัล ทุ่ม 2 หมื่นล้าน เดินหน้าขยายการลงทุน 3 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยม เวียนนา-โอซากา-ตูริน

กลุ่มเซ็นทรัล ทุ่ม 2 หมื่นล้าน เดินหน้าขยายการลงทุน 3 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยม เวียนนา-โอซากา-ตูริน

4 พฤศจิกายน 2019


นายทศ จิราธิวัฒน์ (ที่ 2 จากซ้าย) ให้การต้อนรับ “เคียรา อัปเปนดิโน” นายกเทศมนตรีเมืองตูริน (ที่ 4 จากซ้าย)

จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัล ล่าสุดได้สยายปีกการลงทุนในต่างประเทศ กับ 3 โปรเจกต์ยักษ์ที่เกิดจากความทุ่มเทอย่างเต็มที่ด้วยประสบการณ์ค้าปลีกและบริการที่สั่งสมมามากกว่า 72 ปี ใน 3 ทำเลยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เวียนนา-โอซากา-ตูริน ด้วยงบลงทุนรวมสูงถึง 20,000 ล้านบาท

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้สานต่อยุทธศาสตร์ขยายการลงทุนในต่างประเทศตามเทรนด์การท่องเที่ยวโลก ด้วยการพัฒนาโครงการแฟล็กชิพที่มีศักยภาพสูงในเมืองท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ล่าสุดได้ลงทุนโครงการครั้งยิ่งใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ โครงการมิกซ์ยูสที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย, โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา ประเทศญี่ปุ่น และห้างสรรพสินค้ารินาเชนเต เมืองตูริน ประเทศอิตาลี โฉมใหม่ ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทุกแห่งที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปลงทุนล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นและสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ครบทุกความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวทั่วโลก

1. มิกซ์ยูสโปรเจกต์สุดหรูกลางกรุงเวียนนา

โครงการขนาด 58,000 ตร.ม. ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าและโรงแรมสุดหรูขนาด 150-165 ห้องพัก ร้านค้า พร้อมด้วยร้านอาหารชั้นนำและสวนสาธารณะลอยฟ้า สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ที่จะเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเวียนนา โดยมุ่งเน้นให้เป็นจุดหมายใหม่แห่งการพบปะสังสรรค์ ด้วยรูปแบบที่ทันสมัยและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมือง

เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงได้ร่วมกับเทศบาลนครเวียนนา จัดการประกวดการออกแบบระดับนานาชาติขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยมี 4 บริษัทสถาปนิกชื่อดังระดับโลกร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ได้แก่ O.M.A (Office of Metropolitan Architecture) จากเมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์, BIG (Bjarke Ingels Group) จากเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก, Snøhetta จากประเทศนอร์เวย์ และ Hadi Teherani สถาปนิกสัญชาติอิหร่าน-เยอรมันจากประเทศเยอรมนี

เวียนนา อาคารภายใต้แนวคิด “เดอะลิงก์”
มุมมองด้านบน
แกลเลอรี่สวน (Galerie Garten)

โดยผลงานการออกแบบที่ชนะการประกวดเป็นของบริษัท O.M.A จากแรงบันดาลใจภายใต้แนวคิด “เดอลิงก์” (The Link) ชูจุดเด่นของตัวอาคารใหม่ที่เชื่อมโยงกับตัวเมืองได้อย่างลงตัว ผ่านการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ ให้ดูมีชีวิตชีวา แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวในเวลาเดียวกัน

โครงการนี้ ตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพสูงใจกลางถนนมาเรียฮิลเฟอร์ สตราเซ (Mariahilfer Straße) แหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมและยังอยู่ในละแวกใกล้เคียงย่านพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของกรุงเวียนนา โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มซิกน่า (SIGNA Group) บริษัทชั้นนำในประเทศออสเตรีย โดยมีแผนที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2566

2. โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา

โรงแรมภายใต้แบรนด์เซ็นทาราแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่น ใจกลางย่านนัมบะ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเมืองโอซากาและภูมิภาคคันไซ โดยโอซากาถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมามากที่สุด ด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่น และทำเลของเมืองที่ใกล้กับเมืองเกียวโต โกเบ และนารา สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มเซ็นทรัลในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจสู่เมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก

โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา เป็นโรงแรมแฟล็กชิพระดับ 5 ดาว ใจกลางเมือง เทียบเท่ากับโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นโรงแรมหรู 34 ชั้น ขนาด 515 ห้องพัก สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของสวนสาธารณะนัมบะได้เต็มวิสัยทัศน์ 360 องศา ชั้นบนสุดของโรงแรมจะมีทั้งเลานจ์และพื้นที่สำหรับจัดงานอีเวนท์และประชุมสัมมนา รวมถึงร้านอาหารชั้นดาดฟ้าและสกายบาร์ พร้อมทัศนียภาพอันงดงามของเมืองโอซากาในแบบพาโนรามา

ในส่วนของการออกแบบ เป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างแรงบันดาลใจสไตล์ญี่ปุ่น และความมีชีวิตชีวาและสีสันของวัฒนธรรมไทย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งสปาเซ็นวารี ที่ได้รับการการันตีด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย ฟิตเนสเชนเตอร์ ห้องอาหารหลากหลายรูปแบบและห้องจัดเลี้ยงสำหรับการจัดงานอีเวนต์และสัมมนาประเภทต่างๆ รวมถึงล็อบบี้ขนาดโอ่โถงเพื่อมอบการต้อนรับและบริการแก่แขกผู้เข้าพักจากทั่วทุกมุมโลกอย่างอบอุ่น

นอกจากนี้ โรงแรมยังตั้งอยู่ในย่านท่องเที่ยวยอดนิยมของโอซากา เพียงไม่กี่ก้าวจากสถานที่ยอดฮิตอย่างนัมบะพาร์ก สวนสาธารณะลอยฟ้าที่มีทั้งหน้าผา บ่อน้ำ ลำธาร และน้ำตก และยังไม่ไกลจากย่านนัมบะ หรือที่เรียกว่ามินามิ ซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหารและบาร์มากมาย รวมถึงแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ย่านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และศาลเจ้าชินโต หนึ่งในศาลเจ้าเก่าแก่ที่เป็นที่เคารพบูชามากที่สุดของชาวโอซากา

โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา เป็นการร่วมทุนระหว่างโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กับสองบริษัทก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น Taisei Corporation และ Kanden Realty & Development เมื่อแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566 เซ็นทารา แกรนด์ โอซากา จะเป็นโรงแรมแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองโอซากาอย่างแน่นอน

3. ห้างสรรพสินค้ารินาเชนเต สาขาตูริน

ตูริน ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กลุ่มเซ็นทรัลภาคภูมิใจ โดยเล็งเห็นศักยภาพของการค้าและการท่องเที่ยวของเมืองตูริน ซึ่งเปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามของประเทศอิตาลี ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์สุดคลาสสิก ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อที่ดินอาคารเมื่อปี พ.ศ. 2560 และออกแบบพัฒนาโครงการใหม่ทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มเซ็นทรัลที่ตั้งใจจะยกระดับเมืองตูรินสู่ประสบการณ์ช้อปปิ้งนำสมัย สร้างความภูมิใจให้กับชาวเมืองตูรินและผู้มาเยือนทุกคน

Rinascente ห้างรินาเชนเต ตูริน ก่อนถูกปรับปรุง
Rinascente ด้านหน้าห้างรินาเชนเต ตูริน
Rinascente ภาพจากมุมสูงของห้างรินาเชนเต ตูริน

ห้างสรรพสินค้าถูกปรับปรุงอย่างเต็มรูปแบบ และขยายพื้นที่ขายสุทธิเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อาคารห้างได้รับการออกแบบโดย Gianmatteo Romegialli นักออกแบบชื่อดังระดับโลก ผู้ตกแต่งเปลือกอาคาร (Façade) ของห้างด้วยหินอ่อน Travertine สุดหรู และสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้ชั้น G ด้วยเสาขนาดใหญ่ 4 ต้น และโคมระย้า (Chandelier) สุดอลังการใจกลางห้าง โดยมีทีมดีไซเนอร์มืออาชีพที่ร่วมรับผิดชอบในโครงการนี้ด้วย ได้แก่ Paolo Luccetta, Fabio Fantolino, David Lopez และ Fanny Bauer

ความพิเศษของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ คือ โซนเครื่องประดับโฉมใหม่ รองเท้า กระเป๋า จิวเวลรี่ และแบรนด์ลักชูรี่ใหม่ๆ เช่น Bottega Venetta, Burberry, Alexander McQueen และ Marni นอกจากนี้ยังมี ร้านอาหารเทมาคินโฮ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วที่สาขาโรม เสิร์ฟอาหารสไตล์ฟิวชั่นญี่ปุ่น-บราซิล พร้อมที่นั่งโซนเอาท์ดอร์สุดพิเศษ โดยในวันเปิดห้างสรรพสินค้า เคียรา อัปเปนดิโน นายกเทศมนตรีเมืองตูรินให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดห้างอย่างเป็นทางการ ร่วมกับผู้บริหารเซ็นทรัล และรินาเชนเต พร้อมด้วยเซเลบริตี้และลูกค้าที่มาร่วมเฉลิมฉลองอย่างคับคั่ง

การแข็งค่าของเงินบาทและอัตราภาษีนำเข้าสูง

ยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มเซ็นทรัลยังได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทแข็งซึ่งช่วยให้การพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2561 ประกอบด้วย เวียดนาม ยุโรป และมัลดีฟส์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มเซ็นทรัล และจะเติบโตขึ้นต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าจากการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่ได้เปิดตัวไป

ถึงแม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปจะชะลอตัว แต่ธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลในยุโรป ได้แก่ อิตาลี เดนมาร์ก และเยอรมนี ยังคงเห็นแววการเติบโตที่สดใส โดยมาจากยอดขายจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น 12-20% จากปีที่แล้ว รวมถึงยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยที่ไปช้อปปิ้งตามห้างของกลุ่มเซ็นทรัลในยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกแห่ง โดยเฉพาะห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ ที่นครมิวนิค และ ห้างรินาเชนเต ประเทศอิตาลี ที่ยอดขายจากนักท่องเที่ยวไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 เติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจถึง 30% และ 50% ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลต้องขอขอบคุณลูกค้าชาวไทยทุกคนที่สนับสนุนและช้อปปิ้งที่ห้างยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล

การเติบโตของธุรกิจสะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวของลูกค้าไทยยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยแรงจูงใจมาจากราคาสินค้าที่ต่ำกว่าเนื่องจากไม่มีภาษีนำเข้า และเมื่อค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นทำให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลง

“ประเทศไทยยังมีโอกาสสูงที่จะส่งเสริมและกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศหากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง และภาษีนำเข้าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ของประเทศไทยมีอัตราสูงที่สุดในเอเชีย ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากเงินบาทอ่อนค่าลง และมีการลดอัตราภาษีนำเข้า จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยให้เกิดการเติบโต คนไทยก็ไม่ต้องไปช้อปต่างประเทศ เพิ่มการจ้างงานทั้งในภาคค้าปลีกและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นตามไปด้วย” นายทศกล่าว

-ค่าเงินบาทแข็ง และการตั้งกำแพงภาษีสูงของไทย ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความน่าดึงดูดใจของประเทศไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว
– รัฐบาลทั่วโลกได้ทำการประเมินและลดอัตราภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง มิใช่เพียงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ
– กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า รายได้โดยตรงจากการท่องเที่ยวคิดเป็น 12% ของจีดีพีประเทศไทย หากรวมกับรายได้โดยอ้อมแล้ว สัดส่วนตัวเลขอาจแตะถึง 20%
– สมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า รายได้จากภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งคิดเป็นร้อยละ 16 ของจีดีพี และมีส่วนในการจ้างงานถึงร้อยละ 17