ThaiPublica > เกาะกระแส > 20 ปี การแก้ปัญหาทุพโภชนาในเด็กในพื้นที่ห่างไกลจากความร่วมมือเครือเจริญโภคภัณฑ์และหอการค้าญี่ปุ่น

20 ปี การแก้ปัญหาทุพโภชนาในเด็กในพื้นที่ห่างไกลจากความร่วมมือเครือเจริญโภคภัณฑ์และหอการค้าญี่ปุ่น

15 พฤศจิกายน 2019


ปัญหาทุพโภชนาของเด็กในพื้นที่ห่างไกลเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อพัฒนาการและสุขภาพของเด็กในพื้นที่เหล่านี้ ประเด็นนี้ได้รับความสนใจในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเริ่มโครงการอาหารกลางวันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โดยกระทรวงศึกษาธิการเริ่มทดลองจัดอาหารให้นักเรียนในสังกัด กระนั้นด้วยงบประมาณที่ไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถจัดงบประมาณได้ทั่วถึง

โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน

ใน พ.ศ. 2530 โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนได้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วยการผลักดันของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จึงกำหนดนโยบายให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ภายใต้คำขวัญ 60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทเข้าร่วมกับภาครัฐในโครงการอาหารกลางนี้ ด้วยการตั้งโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โดยมูลนิธิดำเนินการโดยให้พันธุ์ไก่ อาหาร ยารักษาโรค วิธีการเลี้ยง โรงเรือนเพื่อเลี้ยงไก่ ตลอดจนสัตวบาลเพื่อดูแลไก่ในแต่ละโรงเรียน ทั้งนี้โครงการมีเป้าหมายเพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพและได้ลงมือทำในการเลี้ยงและดูแลไก่ อีกทั้งยังได้เข้ามาบริหารการขายผลผลิต และบริหารงบประมาณที่เกิดจากการขายนี้ อันนำไปสู่ทักษะในการทำธุรกิจของเด็กและโรงเรียนต่อไป

ต่อมาใน พ.ศ. 2542 หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (Japanese Chamber of Commerce-Bangkok หรือ JCCB) ได้เข้าร่วมเป็นภาคีหนึ่งที่สนับสนุนโครงการเนื่องในวโรกาศเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หอการค้าญี่ปุ่นลงนามความร่วมมือ เมื่อ พ.ศ. 2543 ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเข้าแก้ปัญหาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ทุรกันดารและมีปัญหาทุพโภชนามาก

ทั้งนี้หอการค้าญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลือโครงการนี้ด้วยการสนับสนุนการสร้างโรงเรือน การติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ อาหาร และวัคซีนผ่านมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ งบประมาณ คัดเลือกโรงเรียนและติดตามผลของโครงการในแต่ละโรงเรียน ประสานงานกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ และใน พ.ศ. 2548 ได้ขยายความร่วมมือเข้ากับสำนักงานโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินการโครงการฯ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

ความร่วมมือ 19 ปีของซีพีเอฟ,หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ, มูลนิธิเจิรญโภคภัณฑ์พัฒนาชนบท และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนรวมกัน 122 โรงเรียน ในพื้นที่ 38 จังหวัด นักเรียน 35,171 คน และ ครูกว่า 850 คน มีมูลค่า 27.06 ล้านบาท ทำให้โรงเรียนมีกองทุนหมุนเวียนจากโครงการฯเพื่อนำไปต่อยอดได้ รวมทั้งยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งโรงเรียนที่ร่วมโครงการนี้สามารถผลิตไข่ได้มากพอที่จะให้เด็กนั้นสามารถบริโภคได้ 120 ฟองต่อปีอันเป็นปริมาณที่เด็กควรได้รับ โดยสามารถบริโภคไข่ได้ประมาณ 2-3 ฟองต่ออาทิตย์หรือมากกว่านั้น

ในการดำเนินโครงการนั้นเริ่มจากโรงเรียนด้วยการติดต่อไปยังมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทเพื่อขอเข้าร่วมโครงการ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิมาตรวจสอบความพร้อมของโรงเรียนในด้านต่างๆ จากนั้นจึงเข้าไปช่วยเหลือด้วยการสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ส่งมอบพันธุ์ไก่อีกด้วย ทั้งนี้ในปีแรกสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางมูลนิธิร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงการดูแลไก่ให้กับนักเรียนและบุคคลากร และยังคอยตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งสุขภาพไก่ การใช้งบประมาณที่ได้จากการขายไข่ไก่อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้และพัฒนาเกี่ยวกับการขายไข่ไก่ให้กับนักเรียน ผลประกอบการที่ได้จากการขายนั้นบริหารโดยโรงเรียน แต่อยู่ภายใต้กฎของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ให้ใช้เกี่ยวกับการผลิตไข่ไก่เท่านั้น จากการพูดคุยกับเด็กนักเรียนที่ดูแลโรงเลี้ยงไก่ เด็กชาย ธนาธรณ์ โกพล หรือน้องคอตโต้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า จะต้องมาดูแลไก่ 1 รอบต่อวันคือการให้อาหารเวลาบ่าย 3 โมง ซึ่งอาหารจะได้รับการเตรียมจากอาจารย์ไว้แล้ว นอกจากการให้อาหาร นักเรียนก็จะทำหน้าที่เก็บไข่และนับไข่ อีกทั้งนำมูลไก่ออกมาเก็บเพื่อเตรียมจำหน่ายต่อไป

มิใช้ให้เพียงเงินแต่ให้อาชีพและวิธีการคิด

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่เป็นเพียงการให้เงินแก่โรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นการให้ทักษะและวิธีการคิดทำธุรกิจอีกด้วย

ในประการแรกการสร้างโรงเรือนและสนับสนุนการเลี้ยงไก่ครบวงจรเพื่อให้มีอาหารกลางวันจนนักเรียนได้รับโปรตีนเพียงพอตามหลักโภชนาการ

ประการที่สอง โครงการนี้จะให้สิ่งต่างๆ ทั้งโรงเรือนและระบบการเลี้ยงไก่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปีแรก และตามผลการจัดการการเลี้ยงไก่และการใช้เงินที่ได้มาจากการเลี้ยงไก่ หากโรงเรียนละเลยไม่ดูแล อาจถูกตัดออกจากโครงการได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้โรงเรียนและเด็กรู้จักการบริหารจัดการ ทั้งการเลี้ยงไก่ การจัดการเงิน รวมถึงการทำธุรกิจ เมื่อนักเรียนหรือครูได้เรียนรู้และบอกต่อ และอาจนำไปต่อยอดในการเลี้ยงไก่หรือทำธุรกิจของตนได้ จึงเป็นการสอนให้ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

ประการที่สาม การเข้ามาสร้างโรงเรือนตลอดจนระบบการเลี้ยงไก่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะมาจากการพิจารณาในแต่ละพื้นที่ถึงความเหมาะสมของจำนวนไก่และขนาดโรงเรือน

เหตุใดโครงการเพื่อความ “ยั่งยืน” จึงทำมากว่า 30 ปี

คำถามต่อว่า หากเป็นโครงการเพื่อความยั่งยืนจริงคงไม่จำเป็นต้องมีโครงการนี้มาเป็นระยะเวลานานขนาดนี้ ในประเด็นนี้นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้อธิบายว่า โครงการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้การสนับสนุนกับโรงเรียนต่อโรงเรียนไปตลอด เพียงแต่ให้การสนับสนุนในปีแรกเท่านั้นด้วยการสร้างโรงเรือนและให้ระบบการเลี้ยงไก่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลและการจำหน่าย เมื่อเข้าถึงปีที่สองจะเหลือการช่วยเหลือเพียงแค่คำแนะนำและการซื้อไก่ อาหาร ยารักษาโรค ในราคาทุนเท่านั้น โดยให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนั้นบริหารเงินเองทั้งหมดในกรอบที่มูลนิธิตั้งไว้

พร้อมอธิบายต่อว่า เหตุที่โครงการนี้ต้องดำเนินงานมานานนี้เนื่องจากยังคงให้การสนับสนุนทางเทคนิคซึ่งไม่ใช่การสนับสนุนแบบให้เปล่า เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คือการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความรู้และวิธีการคิดแบบธุรกิจเพื่อให้นักเรียนและครูเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชุน จนชุมชนนั้นมีความสามารถในการต่อยอดธุรกิจของตนเองได้ แทนที่จะเป็นเพียงแค่ให้ทุนทรัพย์หรือเทคโนโลยีเท่านั้น

โครงการนี้เข้ามารุกรานท้องถิ่นหรือไม่

คำถามต่อมาโครงการนี้เป็นการเข้ามารุกรานเศรษฐกิจท้องถิ่นหรือไม่ เนื่องจากมองได้ว่าการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาทำการผลิตไข่ไก่ในโรงเรียนนั้นเป็นการเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่นในบริเวณเดียวกับโรงเรียน เพราะสามารถผลิตได้ในต้นทุนถูกกว่าจากการสนับสนุนของโครงการ อีกทั้งยังได้เปรียบเรื่องการขนส่งอีกด้วย ประเด็นนี้นายวราราชย์ เรืองศรี รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจไก่ไข่ บริษัทเจริญโภคภัณท์ อาหาร จำกัด ได้อธิบายไว้ว่า ธุรกิจไก่ไข่ที่มีอยู่นั้นมักจะเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ซึ่งมีโรงเรือนที่มีไก่มากกว่าสองแสนตัว การเข้าไปแข่งขันในระดับที่ทำอยู่นี้จึงไม่สามารถเรียกว่าการแข่งขันได้ ควรมองว่าเป็นการกระจายรายได้มากกว่า