ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประยุทธ์” สั่ง ครม. ตั้งรับมาตรการคิวอี ดูแลตลาดหุ้น-ค่าเงิน โต้ประชาธิปไตยยังไม่ตาย เดินหน้าช่วยคนจน 3 พันล้าน ให้ขึ้นรถเมล์-รถไฟฟรีอีก 6 เดือน

“พล.อ. ประยุทธ์” สั่ง ครม. ตั้งรับมาตรการคิวอี ดูแลตลาดหุ้น-ค่าเงิน โต้ประชาธิปไตยยังไม่ตาย เดินหน้าช่วยคนจน 3 พันล้าน ให้ขึ้นรถเมล์-รถไฟฟรีอีก 6 เดือน

27 มกราคม 2015


เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ธนาคารกลางยุโรปออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) เดือนละ 60,000 ล้านยูโร ว่า ได้สั่งการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ให้เตรียมมาตรการสำหรับรับมือผลกระทบกับค่าเงินบาทและปริมาณเงินไหลเข้า ซึ่ง ธปท. รายงานกลับมาว่า ในระยะสั้นจะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินบาท แต่ในระยะยาวอาจจะมีผลกระทบบ้าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว มั่นใจว่าธปท.สามารถดูแลได้

สอดคล้องกับความเห็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการการตั้งรับการทำคิวอีว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยซึ่ง ธปท. ได้ดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าได้ดีมาก เห็นได้จากค่าเงินบาทที่ไม่ได้ผันผวน ตลาดหุ้นไทยจะขึ้นไปสูงถึง 1,600 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธปท. ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีแล้วจึงไม่ต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติมอีก ปรากฏการณ์เช่นนี้แสดงว่ามีการดูแลอย่างดี

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2558 ว่า ได้สั่งการมาตลอดเพราะรู้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาบ้างในภาวะเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจระดับโลก ปัจจัยภายนอกต่างๆ รวมถึงความเข้มแข็งของเราค่อนข้างน้อย ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยเป็นธุรกิจขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไม่มีความเข้มแข็งพอจึงยังสู้เขาไม่ได้ ตลาดก็เป็นตลาดเดิม

“ในเรื่องการส่งออกข้าว ที่ต้องส่งออกไปตามสัญญาเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ ส่วนสัญญาใหม่อยู่ในขั้นตอนการประมูล เพราะฉะนั้น ข้าวที่ส่งออกขณะนี้ล้วนเป็นข้าวใหม่ทั้งสิ้นเนื่องจากต่างชาตินิยมข้าวใหม่ และข้าวเก่าของไทยก็ราคาตกลงเรื่อยๆ จึงถูกมองว่านโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วสร้างความเสียหาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/270115_1/2701151-53775.html
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/270115_1/2701151-53775.html

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการระบายข้าวในสต็อก 17 ล้านตัน ด้วยว่า ข้าวที่ค้างอยู่ในคลังตอนนี้ ถ้าขายราคาก็ตกรัฐบาลก็ขาดทุน แต่อาจไม่ขาดทุนมากเพราะยังมีข้าวอยู่ ซึ่งการขายข้าวก็ต้องดูว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร หากรัฐบาลพยายามขายข้าวทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าขาดทุน สุดท้ายรัฐบาลก็ถูกมองว่าขายข้าวขาดทุนเยอะ รัฐบาลก็เสียหายอีก แต่หากไม่ขายข้าวรัฐบาลก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลคลังเดือนละ 2,600 ล้านบาท” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ว่าเป็นเพียงกฎหมายประกอบการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ ครม. อนุมัติหลักการ และเมื่อไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยังต้องมีการตั้งกรรมาธิการอีก ต้องผ่านทั้ง 3 วาระ จึงจะมีผลบังคับใช้ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการล้วงตับ รัฐบาลจะออกกฎหมายอะไรต้องมีเหตุผล

“ที่ ครม. ต้องผ่านหลักการไปก่อน เพราะมีเวลาจำกัด อะไรผ่านได้ก็ผ่านไปก่อน มีกฎหมายหลายฉบับที่ส่งไปถึง สนช. ยังไม่ผ่านออกมาก็ยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แม้ผ่าน ครม. ไปแล้ว ก็ต้องรอผ่าน 3 วาระใน สนช. ก่อน ยังไม่ประกาศใช้ ยังไม่มีผล ไปแก้กันได้หมด ตัวร่างกฎหมายจะผ่านออกมาอย่างนั้นทั้งหมดหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ได้โพสต์ข้อความ “ประชาธิปไตย ประเทศไทยตายแล้ว” ว่า “ไม่ได้อ่าน การโพสต์ดังกล่าว ที่ว่าประชาธิปไตยตายแล้วนั้นก็อยากถามกลับว่าแล้วมันตายแล้วหรือยัง ประชาธิปไตยยังไม่ตายจากแผ่นดินไทยและผมไม่ได้รู้สึกอะไร ก็ผมไม่ได้ตาย เราก็ยังสร้างประชาธิปไตยอยู่ทุกวัน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็ขับเคลื่อนบูรณาการแผนงานโครงการ ผมไม่ได้ไปยึดอำนาจมาแล้วเอาเงินคนนั้นไปให้คนนี้ หรือยึดเอามาเป็นสมบัติของตัวเองหรือของชาติ ผมอยากจะบอกว่านี่เป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่าปกติอีก ขอร้องให้เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ประชาธิปไตยที่ดีต้องดูแลทั้งคนจน คนมีรายได้ปายกลาง และรายได้สูง ผมคิดถึงคนจนมาก่อน วันนี้ผมฟังทุกเสียง”

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมและมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติแผนงาน นโยบาย และงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้

อนุมัติงบ 3,173 ล้าน ช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง 2.1 ล้านราย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยใช้งบประมาณจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2558 วงเงิน 3,173.9 ล้านบาท ซึ่งโครงการมีหลักการสำคัญ คือ ทางชุมชนจะต้องเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และเป็นโครงการที่เน้นการจ้างงานในชุมชนเป็นหลัก โดยจะได้รับเงินสนับสนุนโครงการงบประมาณไม่เกินตำบลละ 1 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ประเมินชุมชนเกษตรกรทั้งหมดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบภัยแล้งแล้วจำนวน 3,052 ตำบล 58 จังหวัด ตามบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตร ปี 2558 ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างแรงงาน 2.01 ล้านคนต่อวัน และเกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของชุมชนประมาณ 2,441 ล้านบาท

มาตรการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องมีการงดส่งน้ำและงดทำนาปรัง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน และช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้งในระยะยาว

สำหรับโครงการที่ต้องว่าจ้างบริษัทขนาดใหญ่ดำเนินการ ต้องมีการกำหนดในสัญญาจ้าง และต้องให้มีการจ้างแรงงานชาวนาประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมดเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งให้มีรายได้ และสร้างโอกาสให้ชุมชนเกษตรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยืนยันว่า การช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ขณะนี้มีการโอนเงินให้กับชาวนาแล้วกว่า 90% ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มเงินให้ชาวนาได้ราคาข้าวเพิ่มประมาณ 1,500 บาท/ตัน หรือทำให้ได้รับเงินเฉลี่ย 9,500 บาทต่อตัน ขณะที่การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางมีการโอนเงินไปแล้วประมาณ 7 แสนราย ซึ่งทำให้ชาวสวนยางได้เงินเพิ่มขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งรายได้ในส่วนนี้อาจไม่ทำให้รายได้ของเกษตรกรสูงเท่ากับคนในเมืองแต่ก็เป็นการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลวางไว้

ปรับมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรี รัฐจ่ายอีก 2,113 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการเกี่ยวกับมาตรการในการลดค่าครองชีพสำหรับประชาชนด้านการเดินทาง (รถเมล์-รถไฟฟรี) โดยอนุมัติให้ขยายเวลาในการใช้มาตรการดังกล่าวไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 – 31 กรกฎาคม 2558

โดยรัฐบาลทำการจัดรถโดยสารประจำทางจำนวน 800 คัน/วัน ใน 73 เส้นทาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประมาณการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คิดเป็นวงเงินที่รัฐต้องรับภาระจำนวน 1,589 ล้านบาท ด้านมาตรการลดค่าใช้จ่ายการเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 แบ่งเป็น รถไฟชั้น 3 ในขบวนรถเชิงสังคม 164 ขบวน/วัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกล ในขบวนรถเชิงพาณิชย์ 8 ขบวน/วัน ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐประมาณภาระในค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นจำนวนเงิน 524 ล้านบาท รวมวงเงินชดเชยทั้งสิ้น 2,113 ล้านบาท

และภายหลังสิ้นสุดกรอบระยะเวลา 6 เดือน นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งสร้างความชัดเจนในการให้รายละเอียดของมาตรการใหม่ โดยต้องจำกัดกลุ่มประชาชนที่จะเข้าถึงบริการรถเมล์หรือรถไฟฟรี มุ่งเน้นกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย อาทิ นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ถือบัตรประจำตัวเหรียญพิทักษ์เสรีชน เป็นต้น โดยจะใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในการให้บริการ

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/270115_1/2701151-53775.html
ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/270115_1/2701151-53775.html

สั่งรื้อกองทุนหมุนเวียน 105 แห่ง สินทรัพย์ 3.03 ล้านล้าน

คณะรัฐมนตรี รับทราบตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นำเสนอเรื่องกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังและกองทุนอื่นๆ รวม 121 กองทุน โดยให้จัดหมวดหมู่และใช้หลักการประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านการดำเนินการด้านการเงิน ผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการบริหารพัฒนาทุน

กองทุนหมุนเวียนในปัจจุบันมี 105 ทุน ในปีงบประมาณ 2557 มีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้น 3.07 ล้านล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2558 มีกองทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์ตามกฎหมายจัดตั้งรองรับการวิจัยและพัฒนาอย่างชัดเจนจำนวน 6 ทุน มีงบประมานที่ใช้ดำเนินการวิจัยวงเงินรวม 3,509 ล้านบาท

จากการประเมินพบว่ามีกองทุนหมุนเวียนที่ “ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน” จำนวน 54 กองทุน แสดงถึงความมีประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ครม. เห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอจัดตั้งดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2557 กำหนดหลักเกณฑ์แรงจูงใจเพิ่มเติมจากปกติที่จะมอบเฉพาะรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปีเพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

ทุนหมุนเวียนที่อยู่ในข่าย “ปรับปรุงและพัฒนา” จำนวน 43 ทุน ก็จัดทำแผนปรับปรุงและประเมินการดำเนินงานในระยะเวลา 3 ปี นำเสนอคณะกรรมการประเมินผลภายในเดือนพฤษภาคม 2558 พร้อมทั้งรายงานการดำเนินงานตามแผนเป็นรายไตรมาส

ส่วนทุนหมุนเวียนที่ “ไม่ผ่านเกณฑ์” คือ ทุนหมุนเวียนที่ได้ผลรับการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานระดับ 3 คะแนน ติดต่อกัน 2 ปี มีจำนวน 5 ทุน ได้แก่ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เงินทุนหมุนเวียนการพิมพ์หนังสือพจนานุกรม และเอกสารทางวิชาการ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้ข้าราชการสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกู้ยืมเพื่อชำระหนี้สิน กองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเงินทุนหมุนเวียนโรงงานฟอกหนัง ซึ่งเงินทุนหมุนเวียนโรงงานฟอกหนัง ได้มีการยกเลิกแล้วและปัจจุบันอยู่ระหว่างการชำระบัญชี

สำหรับทุนที่เหลือ ครม. มีมติให้จัดทำแผนทบทวนและฟื้นฟูประสิทธิภาพการดำเนินงานในระยะเวลา 1 ปี เพื่อเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการประเมินผลในเดือนมีนาคม 2558 พร้อมทั้งรายการการดำเนินการตามแผนทบทวนเป็นประจำทุก 2 เดือน หากผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนทบทวนก็ให้คณะกรรมการประเมินผลพิจารณานำเสนอ ครม. เพื่อทำการยกเลิกต่อไป

ออกฎหมายคุมพื้นที่จอดเจ็ตสกีบนเกาะล้าน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการควบคุมธุรกิจเจ็ตสกีให้นักท่องเที่ยวเช่า โดยออกเป็นกฎกระทรวงคมนาคม กำหนดให้เจ้าของเจ็ตสกีที่จะขอรับใบอนุญาตต้องทำประกันภัย และมีกรมธรรม์ประกันภัยที่มีผลคุ้มครองชีวิตและร่างกายของผู้เช่า และชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลอื่นๆ รวมทั้งคุ้มครองตัวเรือเจ็ตสกีด้วย เพราะที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวนิยมเช่าเจ็ตสกีเล่นเป็นจำนวนมากและมักเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างนักท่องเที่ยว เจ้าของเรือ และบุคคลอื่นๆ โดยกฎหมายที่มีอยู่เดิมก็ไม่ได้ครอบคุลมชัดเจน จนสุดท้ายเมื่อเกิดปัญหาก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศอย่างมาก

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดให้เจ้าของเรือที่จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการเจ็ตสกีให้เช่า ก่อนจะยื่นคำขอจากเจ้าพนักงานต้องทำประกันภัยที่คุ้มครองผู้ใช้เรือ ทายาทผู้ใช้เรือ บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย และเจ้าของเรือ โดยมีการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้ง กรณีเสียชีวิต พิการ สูญเสียอวัยวะ ค่ารักษาพยาบาล ทรัพย์สินเสียหาย กำหนดให้ได้รับเงินประกันรวมกัน 200,000 บาทต่อครั้งต่อปี และได้เงินประกันความเสียหายต่อตัวเรือ 50,000 บาทต่อครั้ง

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมรายงานว่า การเล่นเจ็ตสกี เป็นกีฬาทางน้ำที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาก มีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้น คือ ความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ เรือชนกัน หรือไปชนกับบุคคลอื่น ทำให้เกิดความสูญเสีย โดยที่กฎหมายเดิมควบคุมไม่ทั่วถึง จึงต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับปัญหา โดยจัดทำมาตรการการเยียวยาความเสียหายในทุกรูปแบบ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงคมนาคม กำหนดเขตท่าเรือ เขตจอดเรือ และเขตควบคุมการเดินเรือ บริเวณอ่าวพัทยา เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เพราะปัจจุบันบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำหลากหลาย มีการคมนาคมขนส่งทางน้ำหนาแน่นในพื้นที่จำกัด ทั้งการเดินเรือ การขนส่งคนโดยสาร กิจกรรมสันทนาการ และใช้เครื่องเล่นทางน้ำหลายประเภท ซึ่งพบว่าได้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งจนทำให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย ขณะที่กฎหมายฉบับเดิมที่บังคับใช้อยู่ก็ไม่ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว และไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เพราะเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า พื้นที่ท่าเรือที่กำหนดไว้เดิมรวมทั้งเขตจอดเรือคลาดเคลื่อนจากเดิมอย่างมาก ไม่ครอบคลุมกิจกรรมทางน้ำปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องออกแนวทางควบคุมใหม่มาดูแล

อนุมัติเชื่อมอุซเบกิสถาน ลาว ดันเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยร่างความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญในการเสริมสร้างและส่งเสริมความร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยวภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างกัน ทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างคู่ภาคี แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านสร้างสรรค์แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์กรการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และปรับปรุงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวภายในกรอบภารกิจทางการค้า เศรษฐกิจ วิชาการ และเทคนิคระหว่างกัน โดยข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันทั้ง 2 ประเทศ เป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกผลการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 6 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

โดยที่ประชุมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นความร่วมมือทวิภาคีที่ทั้ง 2 ประเทศ เห็นพ้องจะแก้ไข พัฒนา และผลักดันให้เกิดความคืบหน้า ในประเด็นการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทย–สปป.ลาว การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือด้านทางการค้าและการลงทุน ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และความร่วมมือภาคเอกชน เป็นต้น

คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 4 โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Fourth Environment Minister’ Meeting) จัดทุก 3 ปีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเห็นชอบต่อแถลงการณ์ร่วมสำหรับเป็นแนวทางในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงการให้การรับรองแผนความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม การประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2558 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

อนุมัติลดภาษีให้ รฟม. จาก 285 เหลือ 166 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมได้รับการลดหย่อนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) สายเฉลิมรัชมงคล จาก 285 ล้านบาท เหลือ 166 ล้านบาท ในพื้นที่ที่ไม่สามารถประกอบการเชิงพาณิชย์และไม่สามารถแบกรับภาษีได้ ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เสนอเหตุผลและความจำเป็นว่า รฟม. ขออุทธรณ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อลดค่าลดหย่อนภาษีโรงเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งให้ รฟม. ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปี 2557 แต่ รฟม. ไม่พอใจการประเมินดังกล่าว จึงได้มีหนังสืออุทธรณ์ จากนั้นกรุงเทพมหานครส่งหนังสือใบชี้แจงคำชี้ขาดต่อ รฟม. โดยยกคำร้องและยืนตามการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน รฟม. จึงได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าคำชี้ขาดของกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนสูงเกินสมควรและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงคมนาคมกำหนด