ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เครือซีพี-มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ฯ ประสานชาวปกาเกอะญอ ร่วมอนุรักษ์-ฟื้นฟูพื้นที่ป่า “อมก๋อย” ยกระดับคุณภาพชีวิต

เครือซีพี-มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ฯ ประสานชาวปกาเกอะญอ ร่วมอนุรักษ์-ฟื้นฟูพื้นที่ป่า “อมก๋อย” ยกระดับคุณภาพชีวิต

1 ธันวาคม 2023


เราปรับ โลกเปลี่ยน We Shift, World Change เป็นรายงานพิเศษด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand)กับไทยพับลิก้า เพื่อนำเสนอ วิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน ในบริบทของธุรกิจขององค์กร การมีส่วนร่วมพัฒนาและสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร เช่น คู่ค้า ลูกค้า ในห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับตัว และการมีส่วนร่วมยกระดับชุมชนและสังคม ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) กรรมการเเละเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท

พื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีความสำคัญในฐานะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของประเทศไทย อีกทั้งยังมีวิถีชาติพันธุ์ จากการที่เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนปกาเกอะญอทำไร่หมุนเวียนจำนวนมาก เครือซีพีและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ริเริ่มโครงการ “อมก๋อยโมเดล” “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ขึ้น เพื่อฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่ อ.อมก๋อย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี สนับสนุนเงินทุน และการตลาด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ในทุกมิติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (เครือซีพี) กรรมการเเละเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ก่อตั้งมา 30 กว่าปี เข้าช่วยแก้ปัญหาสังคมส่วนรวมในมิติต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนงานใน 4 เรื่อง ทั้งเรื่องเด็กและเยาวชน พัฒนาอาชีพและเกษตรกร คุณภาพชีวิตและผู้สูงอายุ รวมถึงโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแผนใหม่ที่เริ่มเมื่อปี 2564

โดยเลือกในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุที่เป็นพื้นที่นี้ เพราะภาคเหนือเป็นเขตภูเขา ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร แต่มีปัญหาเรื่องการทำเกษตรบนพื้นที่สูง มีการทำไร่หมุนเวียน บางฤดูกาลก็มีปัญหาหมอกควันไฟป่า และยังมีปัญหาทับซ้อนอีกมากมาย เช่น การใช้สารเคมีด้านการเกษตรในพื้นที่สูง เข้าไปในพื้นที่ป่าภาคเหนือที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ทำให้หลายภาคส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จังหวัดน่าน พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ขณะที่ อมก๋อย ปัจจุบันถือเป็นอำเภอที่มีสัดส่วนการคงไว้ของป่าในอัตราที่สูงอันดับต้นของพื้นที่ภาคเหนือ โดยพื้นที่อมก๋อย 1.31 ล้านไร่ อยู่ในเขตภูเขาสูงประมาณ 98% เป็นพื้นที่ราบลุ่มสำหรับตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำนาบางส่วนเพียง 2% ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นป่า

“ต้องชื่นชมชาวอมก๋อยที่เมื่อหลายปีที่แล้วร่วมกันทำสัญญาประชาคมกันว่าจะไม่ปลูกข้าวโพดบนดอย และทำตามสัญญามาจนถึงปัจจุบันนี้” นายจอมกิตติกล่าว

แต่ขณะเดียวกัน พื้นที่อมก๋อย ก็มีพื้นที่ชุมชน 6 ตำบล 95 หมู่บ้าน มีผู้คนที่เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ อาศัยราว 7 หมื่นคน ที่ต้องอาศัยการทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก การทำการเกษตรบนพื้นที่สูงจึงมีความสำคัญ ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นการเกษตรแบบพออยู่พอกิน แต่หลังจากความเจริญเข้าไปเริ่มไม่พอกิน การสร้างรายได้เพิ่มในพื้นที่สูงมีอย่างเดียวคือ เพิ่มพื้นที่การเกษตร ถ้าไม่เข้าไปช่วย หรือมีโมเดลสร้างความยั่งยืนใหม่ ๆ ในพื้นที่ วันหนึ่งอมก๋อยมีโอกาสที่จะเป็นเหมือนหลายพื้นที่ที่เป็นดอยหัวโล้น

“ถ้าไม่เข้าไปมีโอกาสมากที่อมก๋อยจะเหมือนพื้นที่อื่นที่ชาวบ้าน เกษตรกร ต้องมีการเพิ่มพื้นที่ในการทำกินเข้าไปในป่า ถ้าไม่ทำวิธีการทำกินแบบเก่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่โชคดีที่ชาวบ้านอมก๋อย เกษตรกรอมก๋อย เป็นคนที่พออยู่พอกิน อมก๋อยจึงเป็นหมุดหมายหนึ่งในภาคเหนือของไทยมีศักยภาพในการเข้าไปทำงานเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านั้นไว้” นายจอมกิตติกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งทีเครือซีพีและมูลนิธิฯ เข้าไปดำเนินการ มี 3 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้มีการศึกษา จากการที่ทีมงานเข้าไปทำงานในพื้นที่ภาคเหนือและคลุกคลีอยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน เพราะการแก้ไขปัญหาภาคเหนือ ต้องใช้ความเข้าใจพื้นที่อย่างแท้จริง โดย

    ยุทธศาสตร์แรก คือการปกป้องและรักษาทรัพยากร โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้
    ยุทธศาสตร์ที่สอง ให้คนในพื้นที่พออยู่พอกินบนพื้นฐานการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ
    ยุทธศาสตร์ที่สาม การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งความเข้มแข็งของชุมชน และการศึกษาของเด็กและเยาวชน

โดยมูลนิธิฯ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในเครือซีพี รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และหลายภาคส่วน เข้าไปดำเนินการตาม 3 ยุทธศาสตร์นี้ โดยมี 6 แผนงาน ขับเคลื่อนงานใน 3-4 ตำบล ของพื้นที่อมก๋อย ประกอบด้วย

แผนงานที่ 1 ปกป้องและฟื้นฟูป่าต้นนํ้า เรื่องนี้สำคัญมาก เพื่อให้ชาวอมก๋อยดูแลรักษาป่าได้อย่างต่อเนื่อง โดยปลูกฝังชาวบ้าน เด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมด้านการดูแลอนุรักษ์และรักษาป่า ขณะเดียวกัน มีพื้นที่ที่เคยถูกเข้าไปทำการเกษตรหรือทำไร่เลื่อนลอย แต่ตอนหลังไม่ได้มีการเข้าไปใช้พื้นที่ ก็เข้าไปช่วยชุมชนชาวบ้านปลูกต้นไม้ กลับมาเป็นป่า รวมถึงการสร้างป่าชุมชนในพื้นที่อมก๋อย

แผนงานที่ 2 การอนุรักษ์สัตว์ป่า กวางผา ที่มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะพื้นที่อาศัยของกวางผาถูกรุกล้ำจากการใช้พื้นที่ของชุมชน จึงร่วมกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช รวมถึงชุมชนที่ตำบลม่อนจอง ที่เป็นเขตอยู่อาศัยของกวางผา ขณะเดียวกัน มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะกวางผา จนปัจจุบันมีการร่วมกันปล่อยกวางผาได้สำเร็จแล้ว 4 ตัว และปลายปีนี้จะปล่อยอีก 4 ตัว

นายจอมกิติกล่าวว่า “ดูเหมือนน้อยแต่จริง ๆ แล้วมาก เพราะในธรรมชาติขณะนี้ก็มีกวางผาอยู่ไม่กี่สิบตัว และกว่าจะเพาะพันธ์และเลี้ยงจนแข็งแรง จนเข้าไปสู่ธรรมชาติจริง ยากลำบากมาก โดยกวางผาจะอาศัยอยู่ 2-3 พื้นที่ คืออำเภออมก๋อย อินทนนท์ และเชียงดาว สมัยก่อน 3 เขตนี้ไม่มีชุมชนและถนนคั่น กวางผาจะเดินทางไปมา มีการแพร่ขยายพันธ์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่พอมีชุมชนและถนนมาคั่น ทำให้อยู่ในพื้นที่เหมือนติดเกาะ เกิดปัญหาภาวะเลือดชิด เพราะไม่สามารถผสมพันธ์ที่แพร่หลายได้ และ โครงการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีมากจากชาวบ้านในพื้นที่ตำบลม่อนจองอีกด้วย”

แผนงานที่ 3 เกษตรมูลค่าสูง เนื่องจากเดิมอมก๋อยจะทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่บนเขา เพราะมีที่ราบเพียง 2% แต่วิถีเดิมการปลูกของชาวบ้านที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ไม่ใช้สารเคมี โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกในแต่ละปี หมุนเวียนกัน ทำให้ธาตุอาหารในดินมีการฟื้นฟู แต่เมื่อความเจริญเข้า มีการใช้ไฟฟ้า และมีความต้องการหลายเรื่อง ขณะที่การเพาะปลูกแม้จะปลูกหลากหลาย แต่ไม่มีตลาดรับซื้อ เพราะพื้นที่อมก๋อยห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 3 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้ต้นทุนสูงกว่า มีข้อจำกัด ทั้งเรื่องการขนส่ง การผลิต องค์ความรู้ มูลนิธิฯและเครือซีพี จึงเข้าไปช่วยด้านการทำเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่ที่จำกัดและเหมาะสม เทียบกับเดิมที่ทำเกษตร 5 ไร่จึงจะเพียงพอในการดูแลครอบครัว

ถ้าทำโมเดลเกษตรมูลค่าสูง 5 เท่า จะทำให้ลดพื้นที่ปลูกลงเหลือเพียง 1 ไร่ แต่ได้มูลค่าเท่ากับ 5 ไร่เดิม ก็เพียงพอแล้ว และคนส่วนใหญ่ในพื้นที่อมก๋อย เป็นชนเผ่าปาเกอะญอ จะมีความพอดี พอเพียงอยู่ ขณะที่ 4 ไร่ที่ลดลง ก็กลับไปสู่โมเดลการฟื้นฟูป่า ซึ่งชาวบ้าน เกษตรกร ยอมสละพื้นที่ที่ลดลง ผลที่ได้ก็คือ ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมา

“โดยมีการมอนิเตอร์ตลอดถึงพื้นที่ที่กลับไปเป็นป่า ตอนนี้โครงการนี้เข้าสู่ปีที่สาม แต่สิ่งที่ขออย่างแรก คือไม่เพิ่มพื้นที่ทำเกษตร เราพอใจแล้ว ซึ่งเกษตรกรทุกรายให้ความร่วมมือดีมาก เขาบอกว่า ไม่เคยได้ทางเลือกอาชีพอื่นหรือการส่งเสริมที่มีความจริงจัง หรือมีความต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านบอกกับเรา ผมคิดว่า นี่คือผลลัพธ์หลักที่เราได้ และคุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย แค่อยู่ในชุมชนพื้นที่ของเขาอย่างมีความสุข วันนี้ความสุขของเขา คือ บ้านของเขา ธรรมชาติของเขา อยู่แล้วร่มเย็น ไม่ร้อน ไม่มีหมอกควัน เขาพอใจส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง คือปากท้องรายได้ คืออาหารการกิน ปัจจัยสี่ กับอีกส่วนหนึ่ง คือ อนาคตของเขา ลูกได้เรียนตามที่ควรจะได้รับ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่คนอมก๋อยมอง” นายจอมกิตติกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายจอมกิตติ กล่าวว่า การทำเกษตรชนิดใหม่ในพื้นที่อมก๋อย ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อมโยงกัน โดยใช้พลังและการสนับสนุนจากหลายเครือข่าย ภาคเกษตร คือ เกษตรจังหวัด ภาคปศุสัตว์ ต้องใช้ปศุสัตว์ ภาคการแปรรูป ใช้หลายองค์ความรู้ ปัจจุบัน ค้นพบว่า การปลูกฟักทอง ทั้งฟักทองผิวคางคก และฟักทองมินิบอล ทำให้สามารถขนส่งที่ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงครึ่งได้ เวลานี้มีการเพาะปลูกแล้ว 3-4 ตำบล รวมทั้งฟักทองมีมูลค่าสูง 3-4 เท่าตัวมื่อเทียบกับพืชเดิม แต่การปรับเปลี่ยนการปลูกจากพืชชนิดหนึ่ง ไปปลูกพืชอีกชนิดหนึ่ง ชาวบ้านก็มีข้อจำกัด จึงต้องเข้าไปส่งเสริมทุกด้าน ทั้งองค์ความรู้ การดูแล การเพาะปลูก ตลอดจนการเก็บเกี่ยว และนอกจากจะขายเป็นผลสด ต่อไปก็จะมีการแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ

แผนงานที่ 4 ส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาในป่า โดยการแฟสายพันธ์ที่ปลูกในพื้นที่สูง คือ พันธุ์อาราบิก้า ส่วนใหญ่ต้องปลูกในพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเล 800-1000 เมตร แต่ที่สำคัญ ต้องปลูกใต้ไม้ร่มเงา ใต้ป่า จึงมีการศึกษาและทดลองที่อมก๋อย แต่เนื่องจากปัญหาระยะทางที่ห่างไกล การขนส่ง การดึงดูดให้มีการส่งเสริมต่อเนื่องจริงจัง การดึงดูดระบบการค้าในการเพิ่มมูลค่าจะน้อย จึงมีการเข้าไปให้ความรู้ ทั้งกับเกษตรกรที่ทำกาแฟใต้ป่าอยู่เดิม และเกษตรกรที่มีพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูกอะไรเลย จากเกษตรพื้นที่สูง มีพื้นที่ลดลงก็ปลูกต้นไม้ก่อน แล้วปลูกกาแฟตาม

ปัจจุบัน การปลูกกาแฟในพื้นที่ใหม่เข้าปีที่สามแล้ว และจะเริ่มให้ผลผลิตปีหน้า มีการส่งเสริมการรวมกลุ่ม การจัดการแปลง โดยเราเชื่อว่าด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ศึกษามาจะได้ผลผลิตที่ดี โดยตามแผน 5 ปีจะมีพื้นที่ 1 พันไร่ ขณะนี้เข้าปีที่สองมีพื้นที่ 200-300 ไร่ สิ่งสำคัญที่ต้องดู คือ ต้องไม่ใช่พื้นที่จากการบุกรุกป่าเดิม จึงต้องเชื่อมโยงกับกรมป่าไม้ที่มีแผนผัง แผนที่ และโครงการสร้างป่าสร้างรายได้อยู่ อีกส่วน คือ เกษตรกรที่มีกาแฟใต้ป่าอยู่เดิม แต่อาจไม่สมบูรณ์มาก ก็เข้าไปฟื้นฟู และใช้ภาคการตลาดนำมากกว่า ทำให้เขาเห็นว่า ถ้าพลิกกลับมาฟื้นฟูจะขายได้ในราคาเหมาะสม ที่สำคัญ การปลูกต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า ที่ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ไม่มีการเผา

โมเดลนี้จะดึงหลายภาคธุรกิจของเครือซีพีเข้าไปช่วยการรับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรเห็นว่า เมื่อมีการดูแลพื้นที่ปลูกกาแฟแล้ว สามารถขายได้จริง ปัจจุบันมี 2-3 กลุ่ม ในพื้นที่หลายร้อยไร่ โดยระหว่างการปลูกที่ยังไม่ได้ผลผลิต โชคดีที่ชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นคนพออยู่ พอเพียง แม้จะมีเพียงข้าวไร่ หรือเกษตรเล็ก ๆ น้อย ทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านมีการแบ่งพื้นที่มาทำมเดลกาแฟใต้ป่า

สำหรับแผนงานที่ 5-6 จะเป็นเรื่องความยั่งยืนของชุมชน โดยแผนงานที่ 5 คือ การสนับสนุนชุมชนตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟื้นฟูป่า สามารถตั้งเป็นวิสาหกิจในการเพาะกล้า ชาวบ้านหรือชุมชนเก็บไม้ป่ามาเพาะกล้า จำหน่ายให้โครงการ แทนที่โครงการจะซื้อกล้าไม้จากภายนอก โดยรับซื้อในรคายุติธรรม สามารถสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังได้กล้าไม้ที่แข็งแรงเพราะเป็นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่ ต่อมา คือเกษตรกรที่ทำเกษตรมูลค่าสูง ทำให้การรวมกลุ่มได้เรียนรู้การบริหารจัดการร่วมกัน ทำให้มีอำนาจต่อรองมากกว่า ที่สำคัญ รวมกันขาย ก็มีอำนาจต่อรองมากกว่า คือวิสาหกิจกาแฟ การรวมกลุ่มกันจะทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ง่ายขึ้น จัดกลุ่มให้องค์ความรู้ได้

และแผนงานที่ 6 คือการศึกษา ที่มูลนิธิและเครือซีพี มุ่งเน้นความยั่งยืนของอมก๋อย นอกจากเรื่องป่า เรื่องทรัพยากร อาชีพ รายได้ ต้องมีเรื่องของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการศึกษา ด้วยการที่อมก๋อย เป็นพื้นที่ห่างไกล คุณภาพการศึกษาจะยิ่งน้อย โดยผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มธุรกิจในเครือ คือ ทรูปลูกปัญญา ทำมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (Connext ED) ก็ยกโมเดลนี้ทำในพื้นที่อมก๋อยทั้ง 6 ตำบลหลายโรงเรียน นอกจากนี้ แต่ละปีจะมีการจัดค่ายสิ่งแวดล้อมรักษาป่า สร้างให้เด็กเป็นแอมบาสเดอร์ของอมก๋อย เป็นการปลูกจิตสำนึกให้อยู่ในหัวใจเขา ว่าจะทำให้อมก๋อยเป็นบ้านที่น่าอยู่ ที่ยั่งยืนของเขาได้อย่างไร จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ของบ้านเขาได้อย่างไร จะรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารได้อย่างไร จะรักษาสัตว์ป่าอย่างกวางผา อย่างไร ฯลฯ

นายจอมกิตติ กล่าวว่า ปัจจุบันการทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่อมก๋อยไม่ได้หมดไป เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนอมก๋อย ยังทำอยู่ สลับพื้นที่ทำเหมือนเดิม แต่ขณะที่รายจ่ายส่วนเพิ่มที่แต่เดิมไม่มี ถ้าราไม่เข้าไปดำเนินโครงการนี้จะเกิดการใช้พื้นที่ป่าเพิ่ม สิ่งที่เครือซีพีและมูลนิธิฯทำคือ เวลาแผนการเกษตร จะไม่มองมิติเดียว ต้องบริหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ต้องวิเคราะห์ดิน น้ำ ความเหมาะสม ว่าปลูกได้หรือไม่ ปลูกแล้วดีหรือไม่ ผลผลิตเป็นอย่างไร ปลูกแล้วผลผลิตสู้เขตจอมทองที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากกว่าได้หรือไม่ ระบบน้ำเป็นอย่างไร สมบูรณ์หรือไม่

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความพร้อมของเกษตรกร ต้องดูว่าเกษตรกรคนไหนมีความพร้อม เราก็สนับสนุนได้ทันที นี่เป็นภาคเกษตรต้นน้ำ ส่วนเกษตรกลางน้ำที่ต้องทำให้เสร็จก่อนการส่งเสริมเกษตร คือ ปลูกแล้วจำหน่าย ซึ่งอาจจะต้องเชื่อมโยงกับการจัดจำหน่ายของกลุ่มธุรกิจเครือซีพี และจำหน่ายเดิมที่ห้างร้านต่าง ๆ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญ คือ 1. ผลผลิตต้องมีคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนด 2.ราคาเหมาะสมและเป็นธรรม 3.สำคัญมาก คือ กำลังการผลิตต้องมีความต่อเนื่อง เพราะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเกษตรกร มักขาดความต่อเนื่อง ถ้าตอบโจทย์ 3 ตัวนี้ได้ก็จะสามารถบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ได้ สำหรับวิธีการก็เชิญภาคการตลาดมาลงพื้นที่จริง พูดคุยกับชาวบ้าน ให้ความรู้ ให้ความมั่นใจ ทำงานร่วมมือกันตลอดห่วงโซ่ ถ้าเกิดดูแล้วมีความเป็นไปได้ ก็ลงมือทำ แน่นอน” นายจอมกิตติกล่าว

“สิ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ต้องลอง แต่ต้องไม่ให้เกษตรกรเกิดความเสี่ยง ในฐานะมูลนิธิฯและเครือซีพี ทำอย่างไรไม่ให้เกษตรกรมีความเสี่ยง ในช่วงทดลองก็จะใช้กระบวนการ งานวิจัย เกษตรกรไม่มีความเสี่ยงเลย ลงแรงอย่างเดียว ปัจจัยการผลิตในช่วงฤดูการผลิตริเริ่ม เราจะลงทุนให้หมด และการันตีว่า ขายได้ ผลผลิตต้องไม่ต่ำกว่านี้…

ปรากฏว่า ผลลัพธ์เกินคาด ผลผลิตดี เกษตรกรขายได้จริง พอในภาคเกษตรกรพอใจ ผู้รับซื้อก็พอใจ เพราะของดีมีคุณภาพ 80% อีก 20% ที่ตกไซส์ก็ขายในตลาดรอง ซึ่งสำหรับการปลูกฟักทองไปได้”

นายจอมกิตติ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญต้องให้เกษตรกรทำการเกษตรในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ต้องไม่เผา ใช้สารชีวภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เป็นอินทรีย์ต่างๆ ทดแทน แต่พื้นที่อมก๋อยมีจุดเด่น คือ ทรัพยากร เป็นแหล่งที่มีความสมบูรณ์ ต้องคงไว้ รักษาไว้ เรื่องนี้คนในพื้นที่ อยากได้ความเปลี่ยนแปลง อยากได้สิ่งใหม่ และพื้นฐานของชนเผ่าปกาเกอะญอ เห็นใครที่เข้าไปจริงจัง มีความรู้ เขาจะเชื่อใจ โดยเริ่มจากจุดน้อย ๆ ก่อน พอเกษตรกรรุ่นแรก ฤดูกาลแรกไปได้ การขยายผลก็ง่ายขึ้น แต่ต้องบอกก่อนว่า การขยายผลก็มีเพดาน คือ ภาคการตลาด ไม่ใช่จะเปิดกว้างได้หมด ต้องบริหารจัดการตั้งแต่ภาคการตลาด ย้อนกลับมาที่แปลงปลูก และการควบคุมคุณภาพต่าง ๆ ราคาที่เหมาะสม ทุกคนอยู่ได้ ระบบก็ไปได้

นายจอมกิตติ กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว อมก๋อยเป็นส่วนขยายผลความยั่งยืนของเครือซีพี ที่ทำในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน จึงเอาโมเดลนี้ไปขยายผลที่อมก๋อย อย่างการปลูกกาแฟ ก่อนหน้านี้เข้าไปส่งเสริมในต้นนํ้าที่ จ.น่าน ที่บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา ต้นนํ้าวังที่ จ.เชียงใหม่ ที่ต้นนํ้าปิงที่ จ.ลำปาง เข้าไปส่งเสริมใน อ.แจ้ห่ม และต้นนํ้ายมที่ จ.พะเยา เข้าไปส่งเสริมใน อ.บ้านโป่ง ในการส่งเสริมการปลูกกาแฟโรบัสต้าที่เป็นพืชมูลค่าสูง ที่ทำให้ชาวบ้านเกษตรกรใช้พื้นที่ลดน้อยลง พออยู่พอกิน เป็นการปรับเปลี่ยนการเกษตรในรูปแบบ “ทำน้อย ได้มาก” ตอบโจทย์กว่าทำมากแล้วได้เท่าเดิม ขณะที่พื้นที่ที่ใช้ทำเกษตรลดลง ก็มีโมเดลการฟื้นฟูป่าเข้ามาเสริม ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

แต่ไม่ได้หมายความว่ากาแฟเป็นทุกคำตอบในพื้นที่ภาคเหนือ ต้องไปวิเคราะห์หลายองค์ประกอบ กาแฟใต้ป่าหรือ กาแฟฟื้นฟูป่า เป็นหนึ่งในทางเลือก หรือทางออก ของการแก้ไขปัญหาทางภาคเหนือ เครือซีพีมีหน้าที่ต้องคิดค้นไปเรื่อย ๆ จะไม่บอกว่าสิ่งที่ทำสำเร็จ เพราะพรุ่งนี้สำเร็จ ก็จะมีปัญหาอื่นให้ต้องแก้ไข กว่าจะได้สิ่งนี้ก็ล้มเหลวมาหลายเรื่อง ถือเป็นบทเรียน มีองค์ความรู้ ก็แชร์องค์ความรู้เหล่านี้ทั้งที่พอไปได้ และไปไม่ได้ ให้หลายพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

“เครือซีพีหรือมูลนิธิฯนั้นเราเองบอกว่า เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในระบบสังคมในการขับเคลื่อนสังคมไทย วันนี้เราเห็นว่าพอมีโอกาส มีทรัพยากร มีศักยภาพตรงไหนที่จะเข้าไปช่วยพัฒนา ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา สิ่งนี้เป็นนโยบายของผู้บริหารสูงสุด ขององค์กร” นายจอมกิตติกล่าว

ชมเราปรับ โลกเปลี่ยน “อมก๋อย โมเดล” ยกระดับคุณภาพชีวิต