
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ธนาคารโลกแถลงภายหลังเปิดตัวรายงาน Doing Business 2020 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา และพบว่าประเทศไทยด้รับการจัดอันดับที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว โดยประเทศไทยได้รับคะแนน 80.10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.65 คะแนน นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 6 ปี และมีคะแนนขึ้นมาใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 (86.20 คะแนน) และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 12 (81.50 คะแนน)
รายงานฉบับนี้สะท้อนถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมา โดยด้านที่ไทยได้รับอันดับดีขึ้นและคะแนนสูงขึ้นมีอยู่ 2 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) ที่ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 67 (71.86 คะแนน) ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 34 (77.30 คะแนน) ในปีนี้ เป็นผลมาจากการดำเนินการลดขั้นตอนในการขออนุญาตก่อสร้าง (Procedures) ลงจาก 19 ขั้นตอน เหลือ 14 ขั้นตอน และลดระยะเวลาดำเนินการ (Time) ลงจาก 118 วัน เหลือ 113 วัน
2. ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (Protecting Minority Investors) โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 15 (75.00 คะแนน) ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 3 (86.00 คะแนน) ในปีนี้ จากคะแนนด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น (Ease of Shareholder Suits Index) ที่เพิ่มขึ้นจาก 8 คะแนนเป็น 9 คะแนน โดยมีคะแนนเต็มอยู่ที่ 10 คะแนน
นางสาวจอยซ์ แอนโทเน อับบลาฮิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก กล่าวเพิ่มเติมว่าน่าประทับใจสำหรับประเทศไทยที่พัฒนาขึ้นมาอยู่กับกลุ่มผู้นำจากหลายประเทศในโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างสำหรับการพัฒนาได้อีกมาก โดยเฉพาะเพื่อจะคงสามารถแข่งขันได้ทั้งในภูมิภาคและโลก อย่างที่ทราบกันว่าอันดับเป็นอันที่สัมพัทธ์กับผลงานที่ประเทศอื่นๆทำได้ ถ้าอยากจะพัฒนาอันดับแปลว่าต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่เช่นนั้น ประเทศอื่นๆจะเริ่มตามทัน
“สิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือคะแนนเป็นอะไรที่สมบูรณ์มันขึ้นอยู่กับผลงานที่ประเทศไทยทำได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามคุณอาจจะคิดว่าคะแนนเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงดูแย่มาก แต่ความจริงพอไปดูอันดับจริงๆแล้วอันดับมันค่อนข้างดี นั้นแสดงให้เห็นว่าอันดับของประเทศมันมีความสัมพัทธ์กันอย่างไร คุณอาจจะคิดว่าทำผลงานได้แย่เมื่อเทียบกับตัวเองเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้อันดับแย่ เพราะนั้นอาจจะหมายถึงว่าประเทศอื่นๆก็ทำผลงานในด้านนั้นๆไม่ได้หรือแย่กว่า และในทางกลับกันก็เช่นเดียวกันคือเราอาจจะได้อันดับดี แต่คะแนนไม่ได้สะท้อนว่าเราทำผลงานได้ดีเลยก็ได้ ดังนั้นหลายประเทศมักจะสนใจเกี่ยวกับอันดับ แต่เรามักจะสนับสนุนให้รัฐบาลสนใจเรื่องคะแนนด้วย เพราะมันบอกได้ดีกว่าว่าคุณพัฒนาอะไรไปแล้วบ้าง หรือคุณอาจจะอันดับเพิ่มขึ้น ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำ เพราะประเทศอื่นๆทำได้แย่ลงต่างหาก และในทางกลับกันด้วย” นางสาวจอยซ์ กล่าว
สำหรับด้านการขออนุญาตก่อสร้างที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนนั้น ประเทศไทยได้พัฒนาระบบตรวจอาคารใหม่ (Phased Inspection System) จากเดิมที่ใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจระหว่างการก่อสร้าง ตอนนี้นอกจากจำนวนที่ต้องตรวจจะลดลงเหลือ 3 ครั้งแล้วความรับผิดชอบด้วยวิศวกรภายในแทน ทั้งหมดลดกระบวนลงไม่ได้ 5 กระบวนการและทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมาถึง 5.4 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคในด้านนี้ พบว่าประเทศไทยทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคในทั้ง 4 ตัวชี้วัดย่อย ไม่ว่าะจะเป็นจำนวนกระบวนการ ระยะเวลาที่ต้องขออนุญาต การควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง และต้นทุนการก่อสร้าง
อีกด้านที่ประเทศไทยสร้างผลงานค่อนข้างดีมากคือการขอใช้ไฟฟ้า มันไม่ได้สะท้อนอยู่ในรายงานเพราะว่าประเทศไทยเองก็ทำผลงานในด้านดีได้ดีมากอยู่แล้วและทำให้ผลกระทบต่อคะแนนและอันดับค่อนข้างน้อย แต่เราเห็นการพัฒนาที่ชัดเจนเหมือนกัน ตอนนี้ประเทศไทยมีเพียง 2 กระบวนการในการขอใช้ไฟ้ฟ้า และที่สำคัญที่สุดคือต้นทุนในการขอใช้ไฟ้ฟ้าที่ลดลงเหลือเพียง 3.9% ของจีดีพีต่อหัวจากปีที่แล้ว 40% ของจีดีพีต่อหัว ซึ่งก็ค่อนข้างต่ำแล้วเทียบกับหลายประเทศในโลก แต่การลดลงถึง 36% ถือว่าสูงมากจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมในการติดตั้ง และในมุมของภูมิภาคประเทศไทยถือว่าทำผลงานได้ดีกว่าในทุกตัวชี้วัดย่อย
ขณะที่ด้านอื่นๆ อย่างการเริ่มต้นธุรกิจไทยก็สามารถทำผลงานได้ดีกว่า ทั้งในด้านเวลาและต้นทุน แต่ก็ยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีก สำหรับการจดทะเบียนสินทรัพย์ยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีก อย่างการลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และเพิ่มคุณภาพการจัดการที่ดิน (Land Administration) และต้นทุนของการจดทะเบียน ซึ่งสองกรณีหลังค่อนข้างมีช่องว่างมาก สำหรับการเข้าถึงสินเชื่อยังมีประเด็นเรื่องความแข็งแกร่งของกฎหมาย ซึ่งหลายประเทศมักจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน สำหรับการคุ้มครองผู้ลงทุน ประเทศไทยทำได้ดีมากในอันดับต้นๆของโลก สำหรับการชำระภาษียังลดจำนวนการจ่ายภาษีและระยะเวลาในการกรอกแบบยื่นภาษีที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก สำหรับการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ช่องว่างที่สำคัญคือการพัฒนาคุณภาพกระบวนการยุติธรรม และสุดท้ายคือด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลายถือว่าไทยทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี
ในมุมของภูมิภาคพบว่าโดยรวมมีพัฒนากระจายตัวไปในทุกตัวชี้วัด โดยด้านการขออนุญาตก่อสร้างถือเป็นประเด็นหลักที่ถูกพัฒนามากที่สุดในหลายประเทศของภูมิภาคในปีนี้ ในอดีตปกติเวลาจะเริ่มต้นธุรกิจเกือบทุกประเทศต้องพัฒนาในด้านนี้ก่อน ไม่ใช่แค่ในภูมิภาคแต่รวมไปถึงแนวโน้มของโลก และในปีนี้ก็น่าสนใจที่ได้เห็นอีกการมุ่งเป้ากลับมาที่ตัวชี้วัดนี้กันอีกครั้ง และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ขณะที่เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 จะเห็นว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคได้พัฒนาคะแนนของตัวชี้วัดต่างๆขึ้นมากค่อนข้างมาก เริ่มจากจีนที่ตั้งใจทำงานมากจะเห็นว่าคะแนนในช่วง 17 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 35 คะแนน หรือประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นกว่า 20 คะแนน อย่างไรก็ตาม แน่นอนอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ยิ่งประเทศพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆที่จะพัฒนาต่อเพราะช่องว่างของการพัฒนาจะเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ ตัวอย่างสิงคโปร์ที่อาจจะสงสัยกันว่าทำไมในช่วง 17 ปีที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้พัฒนาคะแนนอะไรขึ้นมา นั้นเพราะว่าสิงคโปร์มีผลงานที่ดีมาโดยตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มจัดทำรายงานด้วยซ้ำและมีช่องว่างที่จะพัฒนาได้น้อยมากๆ
อีกประเด็นที่น่าสนใจในรายงานปีนี้คือต้นทุน “เวลา” ที่ลดลงอย่างชัดเจนในปีนี้ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยที่สามารถลดระยะเวลาการแก้ไขปัญหาล้มละลายจาก 2.7 ปี เหลือเพียง 1.5 ปี ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าตัวชี้วัดนี้เป็นหนึ่งใน หรือของอินโดนิเซียที่ลดระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจจาก 182 วันเหลือเพียง 12.6 วัน หรือฟิลิปปินส์ที่ลดระยะเวลาการยื่นแบบภาษีจาก 195 ชั่วโมงต่อปีเหลือเพียง 171 ชั่วโมง และมาเลเซียที่ลดระยะเวลาขอใบอนุญาตก่อสร้างจาก 285 ชั่วโมงเหลือเพียง 41 ชั่วโมง
“การเห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นอะไรที่สร้างแรงบันดาลในสำหรับเราที่เห็นว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่นำรายงานไปเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศในภาพรวม ถ้าถามกลับไปว่าทำไมเราถึงวัดและจัดทำรายงานนี้ เพราะจากงานวิจัยที่ผ่านมาที่พบว่าประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการกำกับดูแลที่เป็นมิตร ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ มีธุรกิจเกิดขึ้นได้มากกว่า สร้างงานได้มากกว่า ถ้าเจาะจงกว่านั้นเราพบว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้น 10 คะแนนจากรายยงานจะทำให้ประเทศมีธุรกิจเพิ่มมากขึ้น 1 แห่งต่อประชากร 2000 คน และนั้นมันสัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างงานในประเทศและนั้นหมายถึงการนำไปสู่การลดความยากจนในที่สุด” นางสาวจอยซ์ กล่าว
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่าปี 2020 ธนาคารโลกจัดอันดับให้เป็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก อันดับดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่ผ่าน ใกล้เข้าสู่กลุ่ม Top 20 ของโลก และที่สำคัญมีคะแนนรวมทุกด้านสูงถึง 80.1 คะแนน เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยมีคะแนนห่างจากประเทศฟินแลนด์ที่มีอันดับสูงกว่า เพียง 0.1 คะแนนเท่านั้น ผลการจัดอันดับและคะแนนที่ดีขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 โดยมีการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริการภาครัฐสะดวกขึ้น
ในแง่ตัวชี้วัดที่มีอันดับสูงสุดซึ่งสะท้อนการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ จนติด10 อันดับแรกของโลก มี 2 ด้าน คือ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ได้อันดับ 3 ของโลก และด้านการขอใช้ไฟฟ้า ได้อันดับ 6 ของโลก แล้วยังมีด้านที่เป็นการปฏิรูปการบริการภาครัฐที่ทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น คือ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง
สำหรับปีนี้มีการปฏิรูปที่สำคัญที่ส่งผลต่อการจัดอันดับของประเทศไทยใน 5 ด้าน ได้แก่
- ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 86 คะแนน เป็นผลจากดัชนีด้านความสะดวกในการฟ้องคดีของผู้ถือหุ้น (Ease of Shareholder Suits Index) ที่เพิ่มขึ้นจาก 8 คะแนนเป็น 9 คะแนนโดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน และดัชนีด้านความโปร่งใสของบริษัท (Corporate Transparency Index) ที่ได้รับการปรับคะแนนเพิ่มขึ้นในเรื่องสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเสนอวาระการประชุมต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น
- ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3 คะแนน ที่แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับ
การขออนุญาต และการควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2525 เพื่อลดขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร จากเดิม 8 ครั้ง เหลือ 3 ครั้ง และลดระยะเวลาขออนุญาตจากเดิม 118 วัน เหลือ 113 วัน - ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 4 คะแนน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อหัวลงจากร้อยละ 3.1 ของรายได้ประชาชาติต่อหัว เหลือเพียงร้อยละ 3.0 ของรายได้ประชาชาติต่อหัว
- ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 98.7 คะแนน มาจากการปรับลดอัตราค่าบริการการขอใช้ไฟฟ้า (200 แอมแปร์) จากเดิม 77,050 บาท เหลือ 0 บาท และลดขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้าจาก 3 ขั้นตอน เหลือ 2 ขั้นตอน
- การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย 76.8 คะแนน โดยแก้กฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561) มีผลทำให้อัตราเงินที่ได้คืน (cents on the dollar) สูงขึ้นจากเดิม 69.8 เซ็นต์ต่อดอลลาร์ เป็น 70.1 เซ็นต์ต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ แผนการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้จากประชาชน และผลักดันการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายจะยกเลิกการใช้กระดาษให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งยกเลิกการออกบัตร โดยพัฒนาระบบทะเบียนให้สามารถตรวจสอบสิทธิของประชาชน เชื่อมโยงข้อมูลกับเลขประจำตัวประชาชนภายในปี 2563 รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนใช้ระบบให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น