ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 5 มหาวิทยาลัยดันหลักสูตรธุรกิจเพื่อสังคม สร้างผู้ประกอบการ DNA นักพัฒนาสังคมยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 5 มหาวิทยาลัยดันหลักสูตรธุรกิจเพื่อสังคม สร้างผู้ประกอบการ DNA นักพัฒนาสังคมยั่งยืน

7 ตุลาคม 2019


วันนี้ (7 ตุลาคม 2562) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดแถลงข่าว ต่อยอดหลักสูตร SE101 สู่มหาวิทยาลัย ผ่านโครงการ SET Social Impact SE101@University แพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม โดยปีนี้ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยนำร่อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มุ่งปลูกฝังรากฐานการเรียนรู้ นำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมพัฒนาให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ พร้อมเป็นผู้สร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้าง SET Social Impact Platform ตั้งแต่ปี 2559 ทำหน้าที่เชื่อมโยงภาคตลาดทุนและภาคสังคมเพื่อเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคมด้วยหลักสูตร SE101 ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเน้นความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มประกอบธุรกิจเพื่อสังคม

โดยปีนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อยอดหลักสูตรสู่มหาวิทยาลัย ผ่านโครงการ SET Social Impact SE101@University แพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม โดยทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วทุกภูมิภาค มุ่งฝังรากฐานการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคมให้แข็งแกร่ง นำแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมพัฒนาให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ พร้อมเป็นผู้สร้างการเติบโตที่สมดุล ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน ตอกย้ำวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มุ่งพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกคน

โครงการ SET Social Impact SE101@University เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ในการขยายบทบาทของ SET Social Impact Platform ให้มีกลไกเพิ่มพลังตัวคูณการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมโดยการขยายพันธมิตรและขยายพื้นที่ ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยพลังของภาคการศึกษาและภาคสังคมในทุกภูมิภาค ขยายความรู้และแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจเพื่อสังคม สอดรับนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสร้างคุณค่าร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ด้านการขยายพันธมิตร จะดำเนินการผ่าน 4E คือ Education ต่อยอดความรู้ร่วมกับสถาบันการศึกษา, Expert นำความเชี่ยวชาญของบริษัทจดทะเบียนมาร่วมพัฒนา, Entertainment ให้ความรู้ผ่านศิลปินและ Exchange Information การขยายข้อมูลด้านสังคมร่วมกัน ส่วนด้านการขยายพื้นที่ จะขยายความร่วมมือภาคสังคมธุรกิจในพื้นที่ภูมิภาคเพื่อส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมในพื้นที่” ดร.ภากรกล่าว

ปีนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินโครงการร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยนำร่อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 6 วิทยาเขต (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ตาก พิษณุโลก น่าน) และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เริ่มเปิดสอนหลักสูตร SET SE101 ระยะสั้น ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2562 ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป

พร้อมกันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งมอบความรู้และเนื้อหาหลักสูตรโดยไม่คิดมูลค่า ให้แก่มหาวิทยาลัยที่มีนโยบายพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน บริการวิชาการและความรู้ที่สอดรับกับความต้องการของสังคมและการพัฒนาประเทศ ซึ่งประกอบด้วย SET SE 101 Curriculum เนื้อหาหลักสูตรธุรกิจเพื่อสังคมเบื้องต้นและแนวทางการบริหารหลักสูตร Advisory Services คำปรึกษาในการออกแบบหลักสูตร กิจกรรม และการสอนในทุกระดับ Training-the-Trainer อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่คณาจารย์ และ Learning with Expert สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ในความรู้ที่เกี่ยวข้อง การเรียนรู้ดูงาน และกิจกรรมพิเศษ เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นหลักสูตรให้แก่นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป

นางสาวนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างรากฐานเพื่อสังคมที่จะอยู่รอดได้ต้องทำงานร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา 15 แห่ง แต่ละแห่งมีรูปแบบและระดับความร่วมมือที่แตกต่างกันไป อีกทั้งการที่จะพัฒนาเพื่อประโยชน์ของสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้เน้นการเสริมความรู้ทางการเงินอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงผลเชิงสังคมด้วย

“การตระหนักถึงความยั่งยืนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น DNA ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงไป มีความผสมสานความระหว่างความเป็นผู้ประกอบการและนักพัฒนาสังคม” นางสาวนพเก้ากล่าว

ผศ. ดร.ณัฐวีณ์ บุนนาค รักษาการแทนรองคณบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และกิจการพิเศษ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษารายแรกที่นำหลักสูตร SE101 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเสริมความรู้นิสิตและประชาชนทั่วไป โดยเปิดเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นวันเสาร์-อาทิตย์ รวม 10 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมรับการอบรม 36 คนและผ่านหลักสูตร 30 คน ผู้เข้ารับการอบรมพอจะแยกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและมีแนวคิดเกี่ยวธุรกิจเพื่อสังคม 2) ผู้ที่ทำงานแล้วและสนใจที่จะทำธุรกิจเพื่อสังคม 3) ผู้ที่อยู่ในภาคส่วนที่ทำหน้าที่ incubation 4) ตัวแทนภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม

โดยรวมแล้วผู้เข้ารับการอบรมพอใจกับเนื้อหาของหลักสูตรแม้มีเป้าหมายที่ต่างกัน โดยกลุ่มแรกต้องการความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนกลุ่มสองซึ่งเห็นว่ามีความรู้มาระดับหนึ่งแล้วจึงต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดประสบการณ์ในการปฏิบัติมากกว่า

ขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่เปิดหลักสูตรธุรกิจเพื่อสังคมในระดับปริญญาตรี แต่ในระยะต่อไปมีเป้าหมายที่จะผลักดันเป็นการเรียนการสอนแบบทั่วไปรายวิชาให้หน่วยกิต และจะเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านธุรกิจเพื่อสังคมโดยตรง หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนจะนำงานวิจัยที่มีจำนวนมากมาพิจารณาเพื่อส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม

ดร.ฉัตรฤดี จองสุรียภาส ผู้ช่วยอธิการบดีและคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและชุมชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความรู้และข้อมูลช่วยผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่

จากการทำงานในพื้นที่เชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงพบว่า ธุรกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มีแนวคิดที่จะประกอบธุรกิจในลักษณะเพื่อสังคมแต่ยังไม่มีความเข้าใจพอและไม่มีความชัดเจนเกี่ยวรูปแบบและทิศทางธุรกิจ ยังขาดแพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนในด้าน กลยุทธ์ การวางแผนธุรกิจ และการเงิน ยังไม่รู้วิธีการเข้าถึงแหล่งเงิน และยังขาดความรู้ด้านการตลาด หาตลาดไม่เจอ

สำหรับการดำเนินโครงการ SET Social Impact SE101@University ของมหาวิทยาลัยจะเริ่มที่จุดนี้ และเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งจะปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยจะนำไปบรรจุไว้ในการสอนปริญญาโท MBA เพราะเห็นว่า คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสังคม คือ ผู้ประกอบการ พนักงานองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทในจังหวัด และจะจัดให้มีการเรียนธุรกิจเพื่อสังคมเป็นรายวิชา เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งมีการสอนด้าน Social Enterprise กำหนดให้นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่

รศ. ดร.รุ่งรัศมี บุญดาว คณบดี คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จะเปิดการเรียนการสอนให้นักศึกษาที่สนใจด้านธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาเรียนรู้ โดยจะเปิดในภาควิชาการจัดการธุรกิจเพื่อสังคม ที่ครอบคลุมโมเดลด้านการเงิน การบัญชี การจัดการทรัพยากรบุคคล และจะเปิดการอบรมอาจารย์ผู้สอน (Train-the-Trainer) ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้ด้านธุรกิจเพื่อสังคม

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและจังหวัดอุบลราชธานี ธุรกิจเพื่อสังคมยังไม่มีแพลตฟอร์มชัดเจน แต่มีวิสาหกิจชุมชนที่มีความใกล้เคียงกับธุรกิจเพื่อสังคมมากที่สุด ที่จะส่งเสริมให้เข้มแข็ง โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เข้ามีส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือหลายโครงการ เช่น โครงการสินค้าชุมชนครบวงจร โครงการเกษตรอินทรีย์

ดร.วรวิทย์ เลาหะเมทนี รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา ที่เชียงใหม่รับผิดชอบดูแล 6 วิทยาเขต คือ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ตาก พิษณุโลก และเชียงราย ซึ่งเป้าหมายร่วมกันคือ การจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของชุมชนในพื้นที่

ธุรกิจเพื่อสังคมในภาคเหนือมีหลายแหล่ง และมีบทบาทมาก ขณะที่ชุมชมเข้มแข็งในระดับหนึ่งแต่ยังขาดความรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีโครงการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคมและ การพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ เช่น โครงการผ้าทอมือที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลให้ชุมชนหันมาใช้สีย้อมที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการธุรกิจเพื่อสังคมที่แม่แจ่ม และสันกำแพงที่เชียงใหม่

โครงการ SET Social Impact SE101@University ของมหาวิทยาลัยจะเริ่มต้นที่คณะบริหารธุรกิจและคณะศิลปศาสตร์ แต่ยังไม่มีการเรียนการสอนทั่วไป โดยจะเริ่มที่การอบรมอาจารย์ที่ลงพื้นที่ทำงานวิจัย เพื่อให้มีความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านปฏิบัติ ในระยะต่อไปจะนำบรรจุเข้าในหลักสูตร เป็นข้อบังคับของคณะให้เป็นกลุ่มวิชาทั่วไป เพื่อนักศึกษาที่สนใจได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และอาจจะจัดให้มีการอบรมแบบหลักสูตรระยะสั้นด้วย

ผศ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะวิทยาการจัดการวิทยาลัยป๋วย ได้จัดให้วิชาธุรกิจเพื่อสังคมเป็น 1 ใน 3 กลุ่มวิชาเลือกทั่วไป ซึ่งสามารถนำหลักสูตร SE 101 มาเชื่อมโยงกันได้

วิทยาลัยป๋วยได้เปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้น SE 101 แก่บุคคลทั่วไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นหลักสูตรนำร่อง แต่ยังไม่มีการอนุมัติให้นำไปเทียบเคียงรายวิชาที่จะได้หน่วยกิต ในอนาคตอาจจะมีการเปิดให้เทียบเคียงเพื่อรับหน่วยกิตได้ และอาจจะเปิดให้มีการเรียนรู้ผ่านโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learing) Gen Next

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาโทด้วยการเลือกจากวิชาทั่วไปที่สนใจได้ แล้วนำเทียบเคียงเป็นหน่วยกิต โดย 5 วิชาทั่วไปเท่ากับ 1 วิชาโท เนื่องจากเชื่อว่าเด็กยุคใหม่ไม่ได้ต้องการเรียนวิชาเดียวตลอดไปจนจบการศึกษาแต่ต้องการเรียนรู้ในหลายเรื่อง