รายงานเรื่อง Trafficked to Extinction ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของผู้สื่อข่าว 30 คน จาก 14 สำนักข่าวในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ที่ได้ริเริ่มโครงการรายงานข่าวร่วมกันทั่วโลก (Global Environmental Reporting Collective หรือ GERC) เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์
GERC ก่อตั้งในต้นปี 2019 ได้เลือกการเจาะลึกการลักลอบค้าตัวลิ่นเป็นโครงการแรก โดยใช้เวลา 9 เดือนในการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องนับสิบๆ ครั้ง รวมทั้งลงพื้นที่ไปหาข้อมูลอย่างไม่เปิดเผยตัว
pangolin (ตัวนิ่มหรือตัวลิ่น) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดในโลกที่มีเครือข่ายโยงใยข้ามชาติจากแอฟริกาและเอเชียที่ร่วมกันทำเป็นกระบวนการ เพื่อตอบความต้องการที่ไม่เคยพอในจีนและตลาดอื่น ซึ่งมีผลให้ตัวลิ่นมีความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์
รายงาน Trafficked to Extinctionได้การเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันที่ 25 กันยายน 2562 นี้
สำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นสื่อจากไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งโครงการของด้วยการรายงานการลักลอบค้าตัวลิ่นในประเทศไทย จึงนำบทสรุปเบื้องต้นมานำเสนอ ดังนี้

ลิ่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมูลค่าหลายร้อยล้าน
ลิ่น หรือตัวกินมดที่โดดเดี่ยว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดในโลก เกล็ดลิ่นซึ่งมีความเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยาถูกนำไปทำยาจีน เป็นศูนย์กลางของโครงข่ายการค้าผิดกฎหมายที่มีมูลค่ามหาศาล โยงใยห่วงโซ่กระบวนการ จากแอฟริกาข้ามมาเอเชีย
ปีเตอร์ ไนตส์ ซีอีโอของ WildAid องค์กรไม่แสวงหากำไรมีเป้าหมายต่อต้านการฆ่าสัตว์เพื่อการค้า ประเมินว่า ในช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมามีการจับกุมการค้าเกล็ดตัวลิ่นผิดกฎหมายทั่วโลกได้ราว 50 ตัน และเมือเทียบการขนส่งเกล็ดลิ่นกับงาช้าง ปัจจุบันเกล็ดลิ่นมีปริมาณมากกว่างาช้างเสียอีก
ข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) ระบุว่า ความต้องการที่สูงทำให้ตัวลิ่นกลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการค้าผิดกฎหมายมากที่สุดในโลก
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตัวลิ่นทั้ง 8 สายพันธุ์อยู่ในภาวะอันตรายอย่างมาก และหากสูญพันธุ์ก็จะมีผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติที่ตัวลิ่นอาศัย
โจนาทาน บายลี ผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าได้กล่าวไว้ในปี 2014 ว่า “โลกอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว เราก็ไม่ควรที่จะบริโภคตัวลิ่นจนมันสูญพันธุ์ ไม่มีเหตุผลใดที่ปล่อยให้การค้าผิดกฎหมายนี้ยังคงอยู่ต่อไป”
IUCN ยังประเมินว่า ในทศวรรษก่อนหน้าจะมีการล่าตัวลิ่นมากกว่า 1 ล้านตัว
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าประมาณว่า 9 ใน 10 ของการลักลอบค้าตัวลิ่นผิดกฎหมายไม่ถูกตรวจพบจากเจ้าหน้าที่
การห้ามค้าตัวลิ่นทั่วโลกมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2017 แต่ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ปีนี้การจับกุมการลักลอบค้าตัวลิ่นยังสูงขึ้นจนทำสถิติใหม่
จากการเปิดเผยของ องค์กรตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency หรือ EIA) ในเดือนกุมภาพันธ์ มีการจับกุมการลักลอบค้าตัวลิ่นที่ซาบาห์ มาเลเซีย คิดเป็นน้ำหนักรวมถึง 30 ตันซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่สิงคโปร์จับกุมการลักลอบค้าเกล็ดลิ่นได้ถึง 12.9 ตัน ซึ่งเทียบเท่าตัวลิ่นถึง 36,000 ตัว หลังจากนั้นไม่กี่วันเจ้าหน้าที่สิงคโปร์ก็จับกุมเพิ่มได้อีก 12.7 ตัน
ในเดือนกรกฎาคม ก็ตรวจพบการขนส่งเกล็ดลิ่นอีก 11.9 ตัน ส่งผลให้การจับกุมในปี 2019 มีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์
EIA ระบุว่า การจับกุมการลักลอบค้าตัวลิ่นและเกล็ดลิ่นปีนี้สูงกว่าปี 2018 อย่างมาก การวิจัยประเมินว่า มีการยึดตัวลิ่นตามกฎหมายในปีนี้จำนวน 110,182 ตัว เพิ่มขึ้น 54.5% จากปีที่แล้ว
ดาร์เรน พีเตอร์สัน ผู้อำนวยด้านวิจัยและอนุรักษ์ Tikki Hywood Foundation ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่จำนวนตัวลิ่นที่ยึดได้มากขึ้น เพราะมีการรับรู้ถึงการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น “งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การที่ยึดตัวลิ่นได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งมากจากการที่ดักจับตัวลิ่นมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยของตำรวจสากลรายหนึ่ง การลักลอบส่วนใหญ่ยังคงรอดพ้นจากการตรวจสอบและจับกุม ที่ตรวจพบมีเพียง 1 ใน 10 ของสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวที่ร่วมโครงการนี้ได้ลงพื้นที่ไปสืบเสาะเส้นทางการค้าผิดกฎหมายนี้จากตลาดข้างถนนในแคเมอรูน และที่อื่นๆ จากคนกลางและผู้ลักลอบในเนปาล ไปจนถึงจีน
ข้อมูลของรายงาน Trafficked to Extinction ยังมีอีกมาก ครอบคลุมข้อมูลเชิงลึกของเศรษฐกิจมืด ซึ่งหากไม่มีการจัดการการค้าผิดกฎหมายนี้จะส่งผลให้ตัวลิ่นสูญพันธุ์
แม้การค้านี้จะมีขนาดใหญ่มาก แต่ก็มีคนรับรู้น้อยมาก แม้แต่อัยการและผู้บังคับใช้กฎหมายในตลาดหลัก ซึ่งก็คือ จีน
การจับกุมการลักลอบค้าตัวลิ่นเพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะที่จีน ซึ่งเป็นตลาดแรก แต่รวมไปถึงในประเทศทางผ่าน เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และฮ่องกง จากข้อมูลของ EIA กระนั้น หลายคดีก็ยังหาต้นตอสินค้าไม่เจอ
ตัวลิ่นในจีนเองลดลงมากกว่า 90% จากปี 1960 ถึง 2004 เนื่องจากมีการจับตัวลิ่นเพื่อบริโภคเนื้อ ขณะที่เกล็ดลิ่นนำไปปรุงยา ผู้ค้ารายหนึ่งเปิดเผย ขณะที่นักวิจัยระบุว่า ตัวลิ่นจีนสูญพันธ์ไปตั้งแต่ปี 1995 จากการค้า
ทั้งนี้อัตรากำไรอยู่ในระดับสูงทีเดียว เกล็ดลิ่นที่มีราคาไม่มากเพียง 5 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมในไนจีเรีย สามารถขายได้ถึง 1,000 ดอลลาร์ในจีน และหากนำไปผสมกับเกล็ดลิ่นที่ได้มาอย่างถูกกฎหมาย ราคาก็จะสูงถึง 1,800 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม
เครือข่ายโยงใยข้ามชาติ
ข้อมูลข่าวการลักลอบค้าตัวลิ่นที่ไทยพับลิก้าได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ได้รับการนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานข่าวใน R.AGE สื่อในเครือ The Star ของมาเลเซีย พร้อมกับรายงาน Trafficked to Extinction เช่นกัน
ข่าว Corrupt at the border ของ R.AGE รายงานเจาะลึกพบว่าตำรวจมาเลเซียร่วม 12 นายมีบทบาทหลักในการลักลอบค้าตัวลิ่นระหว่างประเทศ โดยมีตั้งแต่นายตำรวจระดับล่างไปจนถึงนายตำรวจระดับสูงในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ต่อต้านการลักลอบค้า (Anti Smuggling Unit) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐเคดะห์ ซึ่งมีด่านบูกิต กายู ฮิตัม ตรงชายแดนไทยกับมาเลเซีย
จากรายงานของ GERC ที่เจาะลึก 13 ประเทศพบหลักฐานว่า ไม่เพียงตำรวจในรัฐเคดะห์จะเอื้อต่อการลักลอบค้าตัวลิ่น แต่ยังเป็นผู้ลักลอบค้าด้วยตัวเองเสียด้วย
จากการลงพื้นที่แบบไม่เปิดเผยตัวและได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ลักลอบค้าในรัฐเคดะห์ ได้ข้อมูลว่ากระบวนการลักลอบค้ามีหลากหลาย นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลว่า ตัวลิ่นที่ลักลอบค้านี้มีการจับส่งมาจากอินโดนีเซีย ขนเข้าไทยเป็นประเทศทางผ่านเพื่อต่อไปจีน โดยเมื่อเข้าไทยแล้วก็จะไปลาว ก่อนออกไปจีน
ทั้งนี้ เส้นทางการขนส่งในไทยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ในไทย
นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เส้นทางการลักลอบจากชายแดนไทยมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะไปยังจังหวัดริมแม่น้ำโขง นครพนม มุกดาหาร และหนองคาย ก่อนข้ามไปลาว จากนั้นเข้าเวียดนามและจีน
การลักลอบตัวลิ่นผ่านเส้นทางในไทยส่วนใหญ่เป็นตัวลิ่นมีชีวิต ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเข้าถึงตลาด นอกจากนี้การลักลอบค้าตัวลิ่นในมาเลเซียทำกันแบบกึ่งเปิดเผย ซึ่งสะท้อนว่าการค้าผิดกฎหมายนี้หยั่งรากลึก และมีการแข่งขันกันเองระหว่างผู้ค้าทั้งด้านราคาและส่วนแบ่งตลาด
ทั้งนี้ เมื่อตัวลิ่นจากอินโดนีเซียขนเข้ามาเลเซีย เถ้าแก่จะไปประมูลซื้อ ซึ่งมีการเสนอราคา 310 ริงกิตต่อกิโลกรัม บางครั้งก็สูงถึง 350 ริงกิตต่อกิโลกรัม ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะได้สินค้าไป
อย่างไรก็ตาม บางครั้งมีการล้มประมูลด้วยการแจ้งจากผู้ค้าด้วยกันเองไปที่กรมอุทยานและสัตว์ป่าของมาเลเซีย (Department of Wildlife and National Parks Peninsular Malaysia หรือ PERHILITAN)
ส่วนการขนข้ามแดน เมื่อเถ้าแก่ต้องการขนข้ามแดน จะเสนอราคา 1,000 ริงกิตต่อรถ 1 คัน ตำรวจชั้นล่างไม่สามารถตัดสินใจได้แต่จะสอบถามผู้บังคับบัญชา หากได้รับไฟเขียวก็จะหาคนร่วมทีม
สำหรับแนวทางการป้องกันและปราบปรามนั้น ดาโต๊ะอับดุล กาเดร์ อาบู ฮาชิม อธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการข้ามชาติ
ขณะนี้กรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อปราบปรามการลักลอบ ซึ่งร่างแก้ไขจะเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เช่น การลักลอบค้าสัตว์คุ้มครองอย่างตัวลิ่นจะมีโทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาทและจำคุกไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้คาดว่าร่างแก้ไขจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนปีนี้
ดาโต๊ะอับดุล กาเดร์ อาบู ฮาชิม กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายก็เพื่อเป็นการสกัดกั้น มิฉะนั้นผู้ลักลอบก็จะไม่หยุด เพราะที่ผ่านมาผู้ที่ถูกจับกุมยอมเสียค่าปรับและกลับไปลักลอบต่อ