EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง “ECB ออกมาตรการผ่อนคลายชุดใหญ่พร้อมกลับมาทำ QE และอีไอซีคาด Fed จะลดดอกเบี้ยได้อีก” โดยมองว่า
- เศรษฐกิจยูโรโซนและประเทศหลักอย่างเยอรมนีและอิตาลีมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านการค้าและการเมืองภายในภูมิภาค ECB ได้ลดประมาณการทางเศรษฐกิจยูโรโซนลงในปี 2019, 2020 และ 2021 คาดว่าจะเติบโต 1.1%, 1.2% และ 1.4% จากประมาณการเดิมที่ 1.2%, 1.4% และ 1.4% ตามลำดับ
- ECB ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินชุดใหญ่ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วยูโรโซน 1)ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้านเงินฝากลงอีก 0.1% 2)เริ่มใช้ระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลำดับขั้น 3)กลับมาทำโครงการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) รอบใหม่วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน 4)ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการ TLTRO และ 5) เปลี่ยนการสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินใหม่โดยเน้นย้ำถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแทนการกำหนดช่วงเวลา
- อีไอซีปรับมุมมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้ง (จากเดิม 1 ครั้ง) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยการปรับลดครั้งต่อไปน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งถัดไป (วันที่ 17-18 ก.ย.) โดยมีปัจจัยสำคัญจาก 1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเครื่องชี้ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน 2) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา กอปรกับแรงกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางอื่น ๆ
- อีไอซีมองว่า หากในระยะข้างหน้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินของทั้ง Fed และ ECB อาจมีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการผ่อนคลายชุดใหญ่
เศรษฐกิจยูโรโซนและประเทศหลักอย่างเยอรมนีและอิตาลีมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านการค้าและการเมืองภายในภูมิภาค ECB ได้ลดประมาณการทางเศรษฐกิจยูโรโซนลง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่ 2% ทำให้ ECB ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินชุดใหญ่ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วยูโรโซน โดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.1% เริ่มต้นใช้ระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลำดับขั้น เริ่มโครงการเข้าซื้อพันธบัตรรอบใหม่วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการ TLTRO และเปลี่ยนการสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินใหม่โดยเน้นย้ำถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแทนการกำหนดช่วงเวลา
ECB ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนลง จากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการเมืองภายในภูมิภาค ล่าสุด ECB ออกประมาณการเศรษฐกิจในเดือนกันยายน โดยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2019 2020 และ 2021 คาดว่าจะเติบโต 1.1% 1.2% และ 1.4% ตามลำดับ จากประมาณการเดิมที่ 1.2% 1.4% และ 1.4%ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนตั้งแต่ต้นปี 2019 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวและเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกสูงขึ้น ประกอบด้วย
-
1) สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง เป็นผลให้ความไม่แน่นอนทางการค้าสูงขึ้นและภาวะการค้าโลกซบเซาลงต่อเนื่อง
2) ความไม่แน่นอนจาก Brexit ในเรื่องรูปแบบการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน
3) ปัญหาทางการเมืองภายในภูมิภาค โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี ความเสี่ยงดังกล่าวทำให้ประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งและสามอย่างเยอรมนีและอิตาลีกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเยอรมนีเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการค้าถึง 87% ของ GDP จึงได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการค้าสูงและส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนของภาคการผลิต รวมถึงอิตาลีที่มีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศเป็นระยะ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักงันจากปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล
ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการเติบโตในยูโรโซน
ECB ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินชุดใหญ่ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วยูโรโซน เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนในกลุ่มประเทศหลักอย่างเยอรมนีและอิตาลีเริ่มมีความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) จากการที่เศรษฐกิจหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าติดต่อกันสองไตรมาส อีกทั้งความสามารถในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังของแต่ละประเทศมีจำกัด ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ECB จึงตัดสินใจประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการเติบโตในยูโรโซน ซึ่งประกอบด้วย
1.ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate: DFR) 0.1%
จากเดิม -0.4% เป็น -0.5% และเริ่มต้นใช้ระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลำดับขั้น (Tiered-deposit rate) โดย ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (main refinancing operations rate: MRO) ที่ระดับ 0.00% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (marginal lending facility rate: MLF) ที่ระดับ 0.25%
ทั้งนี้ ECB กังวลถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อรายได้สุทธิจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ จึงเริ่มต้นใช้ระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับ ECB แบบ 2 ขั้นในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เดิมธนาคารพาณิชย์ฝากเงินไว้ที่ ECB ส่วนที่เป็นเงินสำรองขั้นต่ำ (reserve requirement) จะไม่ถูกเก็บดอกเบี้ย แต่ส่วนที่เกินกว่าเงินสำรองขั้นต่ำ (excess reserve) จะถูกคิดดอกเบี้ยที่อัตรา DFR แต่ระบบใหม่จะคิดอัตราดอกเบี้ย excess reserve เป็น 2 ขั้น บางส่วนจะถูกคิดในอัตรา 0% และส่วนที่เหลือจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ย DFR ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ -0.5% แต่ระบบการคิดใหม่ไม่รวมถึงเงินฝากข้ามคืน (Deposit facility) ยังคงใช้อัตรา DFR เหมือนเดิม
อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศได้รับประโยชน์จากการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไม่เท่ากัน โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินสำรองส่วนเกินสูงมีโอกาสได้รับประโยชน์มากกว่า ซึ่งมูลค่าเงินสำรองในธนาคารกลางยุโรปในเดือนกรกฎาคมมีทั้งหมดราว 1.2 ล้านล้านยูโร และประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสมีมูลค่าเงินสำรองส่วนเกินมากที่สุดคิดเป็น 46% และ 37% ของเงินสำรองทั้งหมด ขณะที่อิตาลีและสเปนราวกันคิดเป็น 8% และ 5% เท่านั้น ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงตกไปธนาคารพาณิชย์ในเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นหลัก(รูปที่ 1)
2.กลับมาอัดฉีดสภาพคล่องโดยประกาศโครงการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme) รอบใหม่ วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เริ่มต้นวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ ECB ประกาศเริ่มต้นโครงการซื้อพันธบัตรอีกครั้งหลังยุติการเข้าซื้อเมื่อเดือนธันวาคม 2018 เพื่อส่งเสริมการผ่อนคลายนโยบายการเงินและสนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า ECB จะเผชิญกับข้อจำกัดของวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ต้องไม่เกิน 33% ของมูลค่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลของแต่ละประเทศ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาดพันธบัตรที่มากเกินไป ซึ่งมูลค่าพันธบัตรเยอรมนี เนเธอร์แลนด์และฟินแลนด์ที่ถือโดย ECB ได้เข้าใกล้ขีดจำกัดแล้ว (รูปที่ 2)
3.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อ (TLTROs) โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้โครงการ TLTRO III สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (spread) 0.1% ที่เดิมต้องบวกเพิ่ม แต่ในปัจจุบันคิดเฉพาะค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (MRO) ที่อัตรา 0% เท่านั้น รวมถึงขยายระยะเวลาของโครงการจาก 2 ปีเป็น 3 ปี ซึ่งเงินกู้ชุดแรกของโครงการจะถูกจัดสรรในวันที่ 19 กันยายนนี้ เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนและรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน โดยธนาคารพาณิชย์ที่ขอสินเชื่อจากโครงการ TLTRO จำนวนมากย่อมได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้สูง ซึ่งอิตาลีเป็นประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ประโยชน์จากสินเชื่อ TLTROs มากที่สุด โดยมีสัดส่วนการขอสินเชื่อราว 33% ของมูลค่าเงินในโครงการทั้งหมด ขณะที่เยอรมนีและฝรั่งเศสมีสัดส่วนขอสินเชื่อรวมกันเพียง 28% เท่านั้น
4.ECB เปลี่ยนการสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินใหม่โดยเน้นย้ำถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อ ในการประชุมรอบนี้ ECB ได้เปลี่ยนการสื่อสารนโยบายการเงิน (forward guidance) จากการสื่อสารผ่านการระบุเวลาที่ชัดเจน (calendar-based) เป็นการอ้างอิงตัวแปรอัตราเงินเฟ้อ (open-ended and state-dependent) แทน โดย ECB กล่าวว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำจนกว่าแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้กรอบเงินเฟ้อที่ 2% โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา
ขณะเดียวกัน ECB ได้ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อว่ามีทิศทางลดลงไปจนถึงปี 2020 และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปี 2021 โดยประเมินอัตราเงินเฟ้อในปี 2019 2020 และ 2021 อยู่ที่ 1.2% 1.0% และ 1.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (EUR Inflation Swap Forward 5Y5Y) ในเดือนสิงหาคมลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ราว 1.2% (รูปที่ 3) ซึ่งอยู่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ECB ที่ 2% เช่นกัน
หลังการประชุมนโยบายการเงิน เงินยูโรแข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีเพิ่มขึ้นสะท้อนมุมมองของตลาดต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายไม่เพียงพอ หลังการประชุมนโยบายการเงิน เงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยที่ 0.4% อยู่ที่ระดับ 1.107 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร ในขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.5 bps อยู่ที่ -0.542% เนื่องจากนักลงทุนในตลาดการเงินมองว่า ECB ยังใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (dovish) ไม่เพียงพอ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.1% (ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าลด 0.16%) และมาตรการ QE มีมูลค่าการเข้าซื้อพันธบัตรเพียง 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แสดงถึงการสนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนที่น้อยลง ทั้งนี้เงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) อ่อนค่าลง เนื่องจากดัชนี DXY มีน้ำหนักเงินยูโรถึง 57.6% ของตะกร้าค่าเงิน ซึ่งส่งผลทางอ้อมให้เงินบาทไทยให้แข็งค่าขึ้น
จับตาท่าทีของนางคริสติน ลาการ์ด ว่าที่ประธาน ECB คนใหม่ หลังนายมาริโอ ดรากี หมดวาระในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ท่าทีของนางคริสติน ลาการ์ด ต่อการดำเนินนโยบายการเงินหลังจากนี้มีทิศทางสนับสนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อจากนายมาริโอ ดรากี โดยกล่าวว่าหลังการดำรงตำแหน่ง เธอจะพยายามมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพด้านราคาและสร้างความคล่องตัวในการดำเนินนโยบายในกรณีที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจที่ไม่คาดคิด
นอกจากนี้ เธอเห็นด้วยที่นโยบายการเงินมีความจำเป็นในการช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการใช้เครื่องมือของ ECB อย่างการซื้อพันธบัตร (APP) และอัตราดอกเบี้ยติดลบ เพื่อประคองการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซน ท่ามกลางความเสี่ยงของสงครามการค้าและ Brexit ซึ่งนางลาการ์ดจะเข้ารับตำแหน่งประธาน ECB แทนนายมาริโอ ดรากี ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
อีไอซีมอง ECB ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มได้ในระยะข้างหน้าจากการเปลี่ยน forward guidance และการปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อล่าสุด เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในภูมิภาคสูงต่อเนื่อง ทั้งจากผลกระทบสงครามการค้า ความไม่แน่นอนจากเรื่อง Brexit และเสถียรภาพการเมืองในอิตาลี และประมาณการล่าสุดยังสะท้อนว่าระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ยังไม่มีแนวโน้มเข้าสู่ระดับ 2% ภายในปี 2021 รวมถึงการเปลี่ยน forward guidance ของ ECB ที่มีลักษณะปลายเปิดมากขึ้น
อีไอซีมองว่าหากเศรษฐกิจยูโรโซนยังไม่สามารถฟื้นตัวจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มประเทศหลัก และความเสี่ยงข้างต้นส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนอย่างมีนัยสำคัญ ECB ยังมีแนวโน้มสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าผ่านการ
-
1) ลด Deposit Facility Rate ให้ต่ำลงกว่าเดิมอีก 10-20 bps
2) เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรายเดือนเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องซึ่งอาจจะต้องมีการขยายข้อจำกัดของวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลแต่ละประเทศ (issuer limit) จากปัจจุบันที่ 33% ให้สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
อีไอซีปรับมุมมองว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปี
อีไอซีปรับมุมมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ (จากเดิม 1 ครั้ง) โดยมีปัจจัยสำคัญจาก
-
1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเครื่องชี้ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
2) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา กอปรกับแรงกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางอื่น ๆ นอกจากนี้ อีไอซีมองว่าหากในระยะข้างหน้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินของทั้ง Fed และ ECB จะมีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
อีไอซีมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยการปรับลดครั้งต่อไปน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งถัดไป (วันที่ 17-18 กันยายน 2019) ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed fund rate อยู่ในช่วง 1.75-2.00% โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก คือ
1.เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเครื่องชี้ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM-PMI) ล่าสุดปรับลดลงเหลือ 49.1 ในเดือนสิงหาคม (โดยตัวเลขต่ำกว่า 50 แสดงถึงการหดตัว) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 ด้านดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในระยะข้างหน้าของผู้ประกอบการ (ISM’s forward-looking new orders index) ก็ปรับลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ 50.8 มาอยู่ที่ 47.2 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2009
นอกจากนี้ การจ้างงานของธุรกิจนอกภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ต้นปี โดยตัวเลขเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 9.6 หมื่นคน ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่ 1.3 แสนคน (รูป 4) เครื่องชี้เหล่านี้จึงอาจเป็นสิ่งสะท้อนได้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ ทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ 1 ปีข้างหน้า ซึ่งคำนวนโดย Fed New York จากข้อมูลส่วนต่างของอัตราผลตอบแทบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีและอายุ 3 เดือน อยู่ที่ 37.9% นอกจากนี้ คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในระยะ 4 ไตรมาสข้างหน้าซึ่งมาจากผลสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ (สำรวจโดย Fed Philadelphia) อยู่ที่ 26.1% โดยการคาดการณ์ทั้งสองอยู่ในระดับระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อนวิกฤติในปี 2008 (รูป 5)
2.แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา กอปรกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางอื่น ๆ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Fed ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ว่าตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงและ Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกถึง 2 ครั้งในปีนี้ แต่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจาก ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกชะลอลงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทำให้มีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น US treasury มากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเช่นกัน สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (forward) (รูป 6)
ดังนั้น หาก Fed ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ Fed กังวล เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น โดยอีไอซีมองว่าคณะกรรมการ FOMC ในยุคของนาย Powell ได้ให้ความสำคัญต่อตลาดการเงินมากขึ้น การปล่อยให้ดัชนีค่าเงินแข็งค่าและอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินเพิ่มสูงขึ้น จะยิ่งทำให้ภาวะการเงิน (financial condition) กลับมาตึงตัวและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้
หากในระยะข้างหน้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินของทั้ง Fed และ ECB อาจมีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต กล่าวคือ
1.ข้อจำกัดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ที่อยู่ต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมากเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถใช้นโยบายการเงินทั่วไป (conventional monetary policy) ได้มากเท่ากับในอดีต โดยในกรณีของ Fed ถึงแม้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาถึง 2.25-2.50% ในปีก่อน แต่อีไอซีมองว่าความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวัฏจักรรอบนี้ยังคงน้อยกว่าในอดีตอยู่มาก เนื่องจากในวัฏจักรก่อน ๆ Fed สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ถึง 5% ขณะที่ในวัฏจักรนี้ Fed สามารถปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้เพียงแค่ 2.25% ก็จะเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่ 0% (zero lower bound) ซึ่งในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-09 Fed เคยลดดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 0.25% เท่านั้น สำหรับในยุโรปนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ปัจจุบันอยู่ที่ -0.5% การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะส่งผลเสียต่อประชาชนที่มีเงินฝากและผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีข้อจำกัดมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบข้างเคียง (unintended consequence) ได้
2.ข้อจำกัดในการเข้าซื้อพันธบัตร จุดประสงค์ของมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Quantitative Easing: QE) คือ การทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงผ่านการลดค่าชดเชยความเสี่ยง (term premium) เพื่อลดต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดเงินลง ซึ่งการดำเนินมาตรการในช่วงที่ผ่านมาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทั้ง Fed และ ECB สามารถปรับลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวลงได้ค่อนข้างมาก โดยในกรณีของ Fed สามารถปรับลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลงจากระดับ 3.95% ในเดือนตุลาคม ปี 2008 ก่อนประกาศทำ QE ลงสู่ 2.41% ในเดือนมีนาคมปี 2019 เป็นช่วงหลังประกาศยุติการลดขนาดงบดุล ส่วน ECB สามารถปรับลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปีลงจากระดับ 0.54% ณ สิ้นปี 2014 ก่อนประกาศทำ QE ในเดือนมีนาคม 2015 ลงสู่ 0.24% ณ สิ้นปี 2018 หลังประกาศยุติ QE อย่างไรก็ดี ด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ และส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและระยะสั้นที่แคบลง (รูปที่ 7) ทำให้การดำเนินนโยบาย QE ในระยะต่อไปอาจมีประสิทธิผลลดลงกว่าในอดีต
3.ข้อจำกัดในด้านของ forward guidance ประสิทธิภาพของการสื่อสารการดำเนินนโยบายการเงิน (forward guidance) ขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารกลางในการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-09 Fed และ ECB ประสบปัญหาในการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ 2% (รูปที่ 8) ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารเพื่อรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์และความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าลดลง