ThaiPublica > เกาะกระแส > อีไอซี ประเมินการส่งออกไทยกำลังผ่านพ้นจุดต่ำสุด

อีไอซี ประเมินการส่งออกไทยกำลังผ่านพ้นจุดต่ำสุด

23 มกราคม 2020


อีไอซี ธนาคารไทยพาณิย์ ประเมินการส่งออกไทยกำลังผ่านพ้นจุดต่ำสุด (Bottoming out) สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกทั้งในภาพรวมและรายสินค้าสำคัญ

  • มูลค่าการส่งออกเดือน ธ.ค. 2019 หดตัวในอัตราลดลงที่ -1.3%YOY หากไม่รวมทองจะเหลือหดตัว -0.4% นับเป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำให้การส่งออกเดือน ธ.ค. ปรับดีขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และจักรยานยนต์ โดยทั้งปี 2019 มูลค่าส่งออก (หักการส่งกลับอาวุธเดือน กุมภาพันธ์ 2019) หดตัวที่ -3.4% ใกล้เคียงกับที่อีไอซีเคยคาดการณ์ไว้ที่ -3.3%
  • ในภาพรวมการส่งออกของไทยส่งสัญญาณกำลังพ้นจุดต่ำสุด (bottoming out) สะท้อนจาก สินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วง 1 – 3 เดือนหลัง รวมถึงสัดส่วนสินค้าส่งออกไทยที่หดตัวมีการปรับลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับการหดตัวน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ไม่รวมทอง
  • อย่างไรก็ดี อีไอซีคงคาดการณ์ส่งออกปี 2020 ขยายตัวต่ำที่ 0.2% โดยแม้ว่าการส่งออกจะมีทิศทางปรับดีขึ้นในระยะต่อไป แต่ยังมีหลายปัจจัยกดดัน เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย ภาวะสงครามการค้าที่ยังคงกดดันการค้าโลกแม้จะมีข้อตกลงระยะแรก (Phase 1) และเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง

อีไอซีรายงานว่ามูลค่าการส่งออกไทยเดือน ธ.ค. 2019 หดตัวในอัตราลดลงที่ -1.3%YOY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -7.4%YOY หากหักทองมูลค่าหดตัวเหลือ -0.4% เป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 14 เดือน ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2019 (หักมูลค่าการส่งกลับอาวุธในเดือน ก.พ. 2019) หดตัวที่ -3.4% ใกล้เคียงกับที่อีไอซีเคยคาดการณ์ไว้ที่ -3.3% และหากหักทองคำจะหดตัวที่ -4.8%

สินค้าส่งออกสำคัญที่ทำให้การส่งออกเดือน ธ.ค. ปรับดีขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และจักรยานยนต์ (รูปที่ 1)

  • การส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวที่ 12.1%YOY ได้รับแรงสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 เดือน
  • อุปกรณ์กึ่งตัวนำขยายตัวที่ 80.8%YOY โดยขยายตัวสูงในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม และฮ่องกง
  • รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบขยายตัวสูงที่ 49.3%YOY โดยขยายตัวสูงในตลาดสหรัฐฯ เบลเยียม เนอเธอร์แลนด์ และจีน
  • มูลค่าการส่งออกของหลายสินค้าสำคัญยังหดตัว เช่น ข้าว (-41.1%YOY) เนื่องจากราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง เช่น เวียดนามและอินเดีย, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-14.6%YOY) ที่ยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์โลกที่ซบเซา และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-12.6%YOY) ซึ่งส่วนหนึ่งยังได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงปลายปี

ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่ามีการขยายตัวในหลายตลาดสำคัญ

  • การส่งออกไปสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือนที่ 15.6%YOY จากเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
  • การส่งออกไปจีนขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.3%YOY สูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวคือ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง
  • การส่งออกไปยัง CLMV พลิกกลับมาขยายตัวที่ 1.1%YOY หลังหดตัวติดต่อกัน 7 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ เครื่องดื่ม และเครื่องปรับอากาศ
  • การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางขยายที่ 11.4%YOY สูงสุดในรอบ 23 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้แก่ เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และน้ำตาลทราย
  • การส่งออกไปอาเซียน 5 หดตัวต่อเนื่องที่ -9.5%YOY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูป และการส่งออกไปญี่ปุ่นก็ยังหดตัวต่อเนื่องที่ -4.4%YOY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูป

ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าพลิกกลับมาขยายตัวที่ 2.5% YOY จากเกือบทุกหมวดสำคัญ นำโดยมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวที่ 0.4%YOY ซึ่งมีสาเหตุจากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขยายตัว 0.4%YOY โดยหากพิจารณาการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ไม่รวมทองมีการหดตัวน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือ 0.9% YOY (เมื่อเทียบกับการหดตัวเฉลี่ยที่ -9.2%YOY ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) สำหรับสินค้าบริโภคขยายตัวสูงที่ 14.8%YOY จากหลายสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผัก-ผลไม้ อย่างไรก็ดี ด้านสินค้าทุน (ไม่รวมสินค้าทุนพิเศษประเภท เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) หดตัวที่ -2.1%YOY และการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวที่ -2.5%YOY ทั้งนี้ทั้งปี 2019 มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -5.5% ใกล้เคียงกับประมาณการของอีไอซีที่ -5.3% และดุลการค้าเกินดุลที่ 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามระบบกรมศุลฯ)

โดยสรุปการส่งออกไทยกำลังผ่านพ้นจุดต่ำสุด (Bottoming out) สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกทั้งในภาพรวมและรายสินค้าสำคัญ (รูปที่ 2) โดยในภาพรวมการส่งออกของไทยมีการหดตัวน้อยลงซึ่งล่าสุดในเดือนธันวาคม 2020 การส่งออกหดตัวเพียง -1.3% และหากพิจารณาลงรายละเอียด ก็จะพบว่า

  • สินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสะท้อนจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปที่จีนในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วง 1 – 3 เดือนหลัง (ตุลาคม 2019-ธันวาคม 2019)
  • หากพิจารณาสัดส่วนสินค้าส่งออกไทยที่หดตัว ก็จะเห็นได้ว่ามีการปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพรวมของการส่งออกไทยที่เริ่มปรับดีขึ้น
  • การหดตัวน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ไม่รวมทอง
  • ในระยะต่อไป อีไอซีคาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้า ๆ โดยอาจเป็นการหดตัวที่ลดลง และพลิกกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย

ทั้งนี้ภาวะการส่งออกของไทยปี 2020 ยังมีหลายปัจจัยกดดันและความเสี่ยง จึงทำให้อีไอซียังคงคาดการณ์ว่า การส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% โดยจากคาดการณ์ของ IMF WEO ล่าสุดในเดือน ม.ค. 2020 พบว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน, สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีทิศทางขยายตัวใกล้เคียงหรือชะลอลงในปี 2020 (รูปที่ 3) จึงทำให้เป็นปัจจัยกดดันหลักที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของภาคส่งออกไทยปีนี้ รวมถึงภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่แม้จะมีความสำเร็จในการเจรจาระยะแรก (phase 1) แต่หากพิจารณาที่อัตราภาษีที่แท้จริง (effective tax rate) ที่สหรัฐฯ เก็บบนสินค้านำเข้าจากจีน พบว่ายังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 19% ดังนั้น จึงยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องต่อภาวะการค้าโลกในปี 2020 และสุดท้าย เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกบางกลุ่ม ดังนั้น จึงคาดว่าการส่งออกในปี 2020 แม้จะปรับดีขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ

จากข้อตกลงระยะแรก (Phase 1) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ต้องจับตาผลกระทบที่อาจเกิดกับสินค้าไทยบางประเภทที่ส่งออกไปจีน โดยหนึ่งในข้อตกลงสำคัญของ Phase 1 คือการที่จีนต้องเพิ่มมูลค่านำเข้าจากสหรัฐฯ อย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับมูลค่าปี 2017 (รูปที่ 4) ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้าหลายประเภททั้งที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าพลังงาน สินค้าบริการ และสินค้าเกษตร

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของอีไอซี พบว่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนกับสินค้าที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นนั้น มีจำนวนหนึ่งที่ตรงกัน ซึ่งหมายความว่าสินค้ากลุ่มนั้นเป็นสินค้าไทยที่อาจถูกทดแทนจากสินค้าสหรัฐฯ ได้ในอนาคต จึงต้องมีการติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด

โดยในเบื้องต้น อีไอซีได้ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าในกลุ่มสินค้าดังกล่าว มีสินค้าสำคัญบางประเภทที่อาจได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (ชนิด cyclic hydrocarbons), ไม้ (wood sawn), แป้ง (starch), แผงวงจร (Electronic ICs), แผงวงจรพิมพ์ (Printed circuit board), ผลไม้ และ ปั๊มลมหรือสุญญากาศ (air or vacumm pump) เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าสินค้าอื่นโดยเปรียบเทียบและเป็นสินค้าที่มีการพึ่งพาจีนเป็นตลาดหลัก