ThaiPublica > คอลัมน์ > อาหารเสริมกับสุขภาพหัวใจ

อาหารเสริมกับสุขภาพหัวใจ

16 สิงหาคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

พวกเราส่วนใหญ่กินอาหารเสริมและวิตามินกันทุกวันเพื่อความแข็งแรงของร่างกายอย่างสิ้นเปลืองเงินทองนับหมื่นนับแสนล้านบาทต่อปี ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์จริงก็คงจะดีอย่างยิ่ง ในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากในระดับโลกที่สรุปผลว่ามันไม่ได้มีประโยชน์เลยหรือมีไม่มากดังที่คิด

เมื่อเร็วๆ นี้หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ลงข่าวบทสรุปจากการวิเคราะห์งานวิจัยหลายชิ้นว่า อาหารเสริม (รวมทั้งวิตามิน) เกือบทั้งหมดที่มุ่งสร้างสุขภาพหัวใจ (heart health) หรือป้องกันโรคหัวใจนั้นไม่ได้ผลเลย

หัวใจเป็นตัวตัดสินว่าจะเป็นหรือตายด้วยการเต้น ดังนั้นความสนใจจึงมุ่งไปที่การทำให้หัวใจมีสุขภาพดี หัวใจเป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานหนักมาก หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปสู่ร่างกายเป็นปริมาณ 5-7 ลิตรต่อนาที (เต้นประมาณ70 ครั้งต่อนาที นาทีละ 60-90 มิลลิลิตร) หรือ 7,600 ลิตรต่อวัน ซึ่งเกือบเท่ากับ 8 แทงก์น้ำ (1 แทงก์น้ำมีปริมาณน้ำ 1,000 ลิตร) ปีหนึ่งก็ตกประมาณ 2,847 แทงก์น้ำ ถ้าปัจจุบันมีอายุ 40 ปี ก็หมายความว่าหัวใจของท่านได้สูบฉีดเลือดไปสู่ร่างกายแล้ว 113,880 แทงก์น้ำ

เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักเช่นนี้ การมีหัวใจที่มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อไม่ให้มันหยุดเต้นก่อนวัยอันควรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หัวใจเป็นกล้ามเนื้อที่มิได้แข็งแรงขึ้นได้จากการยกน้ำหนัก (เท่าที่ทราบ) หนทางเดียวก็คือทำให้มันแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายโดยให้มันได้ออกแรงสูบฉีดเลือดมากกว่าปกติอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อการออกกำลังกายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ผู้คนจึงหันมาใช้การกิน “สิ่งวิเศษ” ดังกล่าวแล้ว เพื่อสร้างสุขภาพหัวใจที่ดี

งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine ได้ทบทวนข้อมูลจากหลายร้อยการทดลองซึ่งเกี่ยวพันกับผู้คนเกือบ 1 ล้านคน และพบว่าเพียงสองอย่างของอาหารเสริมและสูตรอาหารเดียวเท่านั้นที่พอจะให้ผลดีอยู่บ้างต่อสุขภาพของหัวใจ (ขอย้ำว่าในที่นี้เราพูดกันถึงเรื่องสุขภาพของหัวใจเท่านั้น)

งานทดลองดังกล่าวพบว่าเพียง Folic Acid / อาหารที่มีเกลือน้อย / และไขมัน Omega-3 ชนิดที่มาจากน้ำมันในปลาเท่านั้นที่มีประโยชน์อยู่บ้าง แต่หลักฐานก็ยังอ่อนอยู่ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าการกินอาหารเสริมบางอย่างพร้อมกันอาจให้โทษด้วยซ้ำ เช่น การกินแคลเซียมกับวิตามิน D พร้อมกันทำให้ความเสี่ยงจาก stroke (การอุดตันของหลอดเลือดสมองทำให้เป็นอัมพาต) เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการเพิ่มการแข็งตัวของเลือด (blood clotting) และการแข็งตัวของเส้นเลือดก็เป็นได้

การศึกษาที่กว้างขวางครั้งนี้ตรวจสอบ 24 ชนิดของอาหารเสริมและสูตรอาหาร โดยพิจารณาข้อมูลจาก 277 การทดลองที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคหัวใจ และเกี่ยวพันกับประชาชน 992,000 คน ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยที่ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานเพราะตระหนักดีว่าผลของการวิจัยจะต้องอื้อฉาวและทำให้เกิดการถกเถียงยิ่งขึ้นของข้อสรุปในเรื่องประโยชน์ของอาหารเสริม เนื่องจากอาจสวนทางกับความเชื่อดั้งเดิม และความอยากจะเชื่อว่ามันช่วยสุขภาพหัวใจได้

อาหารเสริมบางอย่างซึ่งเป็นที่นิยมแต่ไม่มีหลักฐานว่าช่วยป้องกันโรคหัวใจ ได้แก่ วิตามิน A, B, C, D, และ E เช่นเดียวกับ beta-Carotene แคลเซียม สารเหล็ก antioxidants และบรรดาวิตามินรวมทั้งหลาย

ดังกล่าวแล้วว่าสองอาหารเสริมที่พอมีหลักฐานว่าช่วยป้องกันโรคหัวใจคือ Folic Acid ซึ่งมีอยู่ในหัวหอมและต้นหอม (เด็กในครรภ์ที่แม่ขาดสารนี้อาจเกิดมาด้วยความผิดปกติเช่นมีช่องเปิดเข้ากระดูกสันหลังหรือกระโหลกศีรษะ) และสารสังเคราะห์ อีกชื่อหนึ่งก็คือวิตามิน B9 (วิตามิน B แยกออกลงไปหลายชนิด)

ส่วน Omega-3 นั้นมี 3 ชนิดคือ (1) มาจากน้ำมันพืช เช่น walnut / avocado / flaxseed และถั่วหลายชนิด ส่วน (2) และ (3) มาจากทะเล เช่น ปลา สาหร่ายทะเล ฯลฯ

สิ่งที่งานศึกษาชิ้นนี้ค้นพบค่อนข้างสอดคล้องกับรายงานของ The United States Preventive Services Task Force ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่มีอิทธิพลในการสร้างความเชื่อถือซึ่งได้ทบทวนความมีประสิทธิภาพของอาหารเสริมและแร่ธาตุจำนวนมากในปี 2013 และพบว่ามีหลักฐานน้อยมากว่าช่วยป้องกันโรคหัวใจ

Dr.Safi U. Khan อาจารย์แห่ง West Virginia University School of Medicine ผู้เป็นหัวหน้าทีมศึกษาทบทวนประโยชน์ของอาหารเสริมครั้งใหม่ในปี 2019 สรุปว่าผู้คนที่หวังว่าจะหลีกเลี่ยงโรคหัวใจด้วยการกินอาหารเสริมกำลังสูญเงินไปเปล่าๆ อย่างไม่จำเป็น

สำหรับเรื่องสูตรอาหาร เช่น ชนิดที่มีไขมันต่ำ ซึ่งแพทย์แนะนำกันมายาวนานว่าเป็นหนทางในการลดคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ Dr.Khan และทีมก็พบอีกว่าไม่มีหลักฐานว่าการกินไขมันน้อยลง (รวมไปถึงไขมันอิ่มตัว หรือ saturated fat ที่มีอยู่ในอาหาร เช่น เนย เนยแข็ง เนื้อสัตว์) จะเป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจ ข้อสุรปนี้สอดคล้องกับความเห็นในปีหลังๆ ของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพของทางการสหรัฐอเมริกาในเรื่องที่ว่าอาหารที่มีไขมันไม่มีผลต่อการเป็นโรคหัวใจ ถึงแม้ว่าข้อแนะนำอย่างเป็นทางการยังคงสนับสนุนให้ประชาชนควบคุมการบริโภคอาหารที่อุดมด้วย saturated food อยู่ก็ตาม

สูตรอาหารที่เชื่อกันมานานว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจ คือ Mediterranean Diet ซึ่งอุดมด้วยบรรดาถั่ว ธัญพืช ผัก และผลไม้ น้ำมันมะกอก ก็ถูกตรวจสอบโดยทีม Dr.Khan และพบว่าหลักฐานที่พบทั้งหมดยังไม่พิสูจน์อย่างสิ้นสงสัยว่าสูตรอาหารนี้ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

สูตรอาหารเดียวที่เชื่อว่ามีผลต่อการป้องกันโรคหัวใจอยู่บ้างก็คือการลดลงของการใช้เกลือ เนื่องจากเกลือมีผลอย่างสำคัญต่อความดันโลหิต ซึ่งโยงใยกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของ “ปั๊มหัวใจ” หรือสุขภาพของหัวใจ

กล่าวโดยสรุปก็คือ งานวิจัยโครงการใหญ่นี้พบว่าอาหารเสริมเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวิตามินหรือแร่ธาตุล้วนไม่มีผลต่อการป้องกันโรคหัวใจ ที่อาจมีผลอยู่บ้างก็ได้แก่ Folic Acid (ต้นหอมและหอม) และ Omega-3 ชนิดจากน้ำมันปลา รวมทั้งอาหารที่มีเกลือน้อย

ความรู้ความเชื่อบางอย่างจากอดีตที่เชื่อว่าถูกต้องอาจสั่นคลอนได้เสมอเมื่อมีการค้นคว้าวิจัยใหม่ที่ให้ข้อสรุปตรงข้าม ปรากฏการณ์นี้ทำให้คนเดินถนนทั่วไป (รวมทั้งแพทย์ด้วยว่าจะแนะนำอย่างไรดี) รู้สึกสับสนงุนงงไม่รู้จะเชื่อใคร สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือเปิดใจกว้างรับการค้นพบใหม่และความรู้ใหม่ๆ ด้วยความสุขุมรอบคอบ ไม่วู่วามตามข้อค้นพบใหม่ทันที การเดินสายกลางพร้อมกับออกกำลังสม่ำเสมออาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งๆ ครั้งละ 40 นาที น่าจะเป็นทางออกให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและหัวใจ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 30 ก.ค. 2562