
สัมมนา “เจาะลึก แผนพีดีพี ทิศทางพลังงานไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่” เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือแผนพีดีพี 2018 โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานองค์ปาฐกถา เรื่อง “นโยบายและทิศทางอนาคตพลังงานไทย” ซึ่งมีมุมมองและนโยบายที่จะเดินไปต่อเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่น่าสนใจ ดังนี้
พลังงานเพื่อทุกคน Energy for All
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับพลังงานสำหรับทุกคน Energy for All ซึ่งภาพใหญ่นั้นอาจปฏิเสธไม่ได้หากจะไม่พูดถึงรายใหญ่ แต่หัวใจหลักคือการทำอย่างไรให้พลังงานนั้นมีต้นทุนที่ต่ำ มีความเสถียร และเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุน ขณะที่อีกด้านหนึ่งที่จะต้องเติมเต็ม คือ พลังงานที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ที่จะนำไปสู่ประชาชนในระดับฐานรากของประเทศให้มากขึ้น ทำให้ชุมชนนั้นมีรายได้เพิ่ม ลดรายจ่าย และได้ใช้ศักยภาพของชุมชนมาเป็นประโยชน์ต่อการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจพลังงาน
สร้างกลไกที่จะทำให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้านพลังงาน
สำหรับการนำพลังงานเขาถึงประชาชน กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน โดยให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมลงทุน แล้วแบ่งปันผลกำไรกันกับภาคชุมชน เพื่อเร่งให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสของความร่วมมือที่ประชาชนพร้อมจะจับมือและมีส่วนที่จะเข้าสู่ไปความเป็นธุรกิจพลังงาน โดยการนำพลังงานชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากชีวภาพ ชีวมวล ในพื้นที่ที่มีวัตถุดิบมากพอ ซึ่งเหล่านี้จะนำไปสู่กลไกทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้านพลังงาน เป็นเจ้าของพลังงาน และมีโอกาสที่จะสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายได้ และเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัปด้านพลังงาน เพื่อจะช่วยกระตุ้นสิ่งเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้จะใช้กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งอาจจะมีการแก้ระเบียบ วิธีการขอทุน เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเกิดพลังงานชุมชน
พลังงานไฟฟ้าราคาถูก
นอกจากนี้ จะเร่งศึกษานโยบายที่จะมีพลังงานไฟฟ้าราคาถูกให้กับคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะปัญหาโรงไฟฟ้าเป็นปัญหาเรื้อรัง เวลาไปตั้งโรงไฟฟ้ามักจะมีผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า จึงเตรียมศึกษาว่า เมื่อไรก็ตามที่ตั้งโรงไฟฟ้าในชุมชน จะต้องไปสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน เพราะชุมชนนั้นเสียสละที่ทำให้เกิดที่ตั้งโรงไฟฟ้า ชุมชนนั้นต้องเศรษฐกิจดีกว่าชุมชนรอบๆ และต้องได้รับสิทธิการใช้ไฟฟ้าในราคาถูกกว่าชุมชนอื่น ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะต้องได้รับการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า หรือการใช้ไฟฟ้าที่ถูกด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกผูกในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเร็วๆ นี้
มองจุดแข็งของประเทศไทย คือ Center of ASEAN
จุดแข็งของประเทศไทย คือ Center of ASEAN ดังนั้น การมองพลังงานจะไม่ได้มองเพียงแค่มิติภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะต้องมองมิติทั้งอาเซียน ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นในแผนพีดีพีคือ ทำอย่างไร ให้ประเทศไทยคือศูนย์กลางของพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ซึ่งต้องคิดว่าเราเป็น “Center of ASEAN ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน”
ส่งเสริมเทคโนโลยี Energy Storage
สำหรับเรื่องใหญ่ๆ ที่จะต้องส่งเสริมจริงจังคือ Energy Storage เพราะจะทำให้พลังงานที่สูญเสียไปจากการส่งเสริมถูกเก็บและกลับมาเพื่อความเสถียรของไฟฟ้า ซึ่งกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะทุ่มเทในการพัฒนายกระดับเรื่อง energy storage เป็นทั้งระบบใหญ่ของกลไกไฟฟ้าในเชิงมหภาค และกลไกย่อยของการทำไฟฟ้าชุมชน
แผนพีดีพีต้องตอบสนองความเป็นพลังงานของคนในทุกระดับ
มองเป้าหมายของแผนพีดีพีหรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศว่า ต้องตอบสนองความเป็นพลังงานของคนในทุกระดับ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องของยักษ์ใหญ่ และไม่ใช่เรื่องของคนไม่กี่กลุ่ม แต่แผนนี้จะต้องถูกกระจายสู่พี่น้องประชาชน เอ็สเอ็มอี ที่จะมีโอกาสจับมือกับชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าของ เป็นผู้ผลิต และผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางลดต้นทุน ซึ่งประเทศไทยมีความโชคดีหลายเรื่อง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากภาคเกษตร ทั้งนี้ได้เน้นย้ำว่า “จะปรับปรุงแผนพีดีพีให้ตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทย และเป็นประโยชน์กับทุกคนให้ได้มากที่สุด”

ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในเวทีสัมมนาฯ เรื่อง “แผนพีดีพี พลังงานที่เหมาะสมต่อประเทศไทย” โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจที่สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ดังนี้
พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน
นายกุลิศกล่าวว่า กำลังสายส่งในบ้านเรายังไม่เพียงพอ เนื่องจากระบบยังเป็นวันเวย์อยู่ ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศทุกวันนี้ บางครั้งเป็นอุปทานมากกว่าอุปสงค์ และตอนนี้เรามีอุปทานส่วนเกินอยู่ ก็ยังไม่มีการรับซื้อจนกว่าจะปรับปรุงพัฒนาระบบสายส่ง ทำสมาร์ทกริด สมาร์ทมิเตอร์ ในการคำนวณรับซื้อไฟ เมื่อผู้บริโภคกลับมาเป็นผู้ผลิต ก็ต้องสามารถกลับมาขายเข้าสู่ระบบได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้พวกแบตเตอรี่ storage สำหรับ EV สำหรับโซลาร์ สามารถกักเก็บไฟฟ้าได้นานยิ่งขึ้น ได้เล็กลง ในราคาถูกลง ถ้าเทียบกับทางโทรคมนาคม เราอยู่ในยุคโนเกีย ที่เรากำลังจะพัฒนาไปสู่ตรงนั้น
ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนโดยเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพ
ทั้งนี้ จะมีการสำรวจพื้นที่ชุมชนโดยเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพมาทำเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ทำการทดลองใช้พลังงานหมุนเวียนจากชุมชน เช่น ภาคใต้มีไม้ยางพารา มีทะลายปาล์มน้ำมัน ว่าทำอย่างไรจึงจะก่อสร้างเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน ทำอย่างไรที่จะนำซังข้าวโพด ตอซังข้าวที่เหลือจากการปลูก มาใช้ประโยชน์ในเรื่องของโรงไฟฟ้าชุมชนได้ ต้องดูพื้นที่ที่มีศักยภาพในการที่จะทำ แล้วก็ทำโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นขึ้นมา เราพัฒนาสายส่งด้วย
ก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง สภาพัฒน์ฯ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ เพื่อร่วมมือกันพัฒนา grid modernization รองรับการใช้ไฟฟ้าชุมชน พลังงานหมุนเวียน ขยายสายส่ง เพื่อที่จะรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าของชุมชนจากพลังงานทดแทน
“ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าชุมชนก็ต้องจับมือกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อหารือเลือกผลิตภัณฑ์ เลือกโรงไฟฟ้าชุมชน ว่าจะเข้าไปถึงชุมชนใดได้บ้าง ในการที่จะเลือกเชื้อเพลิงที่เหลือใช้ในพื้นนั้นๆ พื้นที่ที่มีศักยภาพ สายส่งสามารถรองรับ ขายเข้าสู่ระบบ เอาระบบตรงนี้ขายเข้าสู่ main ใหญ่ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ตามนโยบายต่างๆ นี้ก็จะเป็นเรื่องของการปรับแผนพีดีพีที่เราควรจะทำ” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว