ThaiPublica > เกาะกระแส > เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ทำไมต้อง “ขาดดุลงบประมาณ” ต่อเนื่องอีก?

เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ทำไมต้อง “ขาดดุลงบประมาณ” ต่อเนื่องอีก?

6 สิงหาคม 2019


ในยามนี้แม้ฝากรัฐบาลออกมาส่งเสียงยืนยันต่อเนื่องว่าจากการผลักดันของรัฐบาลในช่วง 5 ที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นจากตัวเลขจีดีพีที่กลับมาแตะระดับ 4% อีกครั้ง และขอให้ประชาชนรวมทั้งนักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในการแถลงนโยบายของรัฐบาล ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงหนึ่งถึงภาวะเศรษฐกิจไทยว่า

“สมัย 4-5 ปีก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามา ตัวหนี้ต่อจีดีพีเท่าไร ล่าสุดอยู่ที่แค่ 42% ไม่ได้สูงกว่าในอดีตเลย คำตอบมันอยู่ที่ว่า ที่กู้มาลงทุนอะไร สร้างรายได้ในอนาคตได้หรือไม่ ถ้าสร้างได้ จีดีพีมันโตขึ้นมา มันก็สามารถรองรับขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้ ตัวเลข indicator ที่สากลเขายอมรับ เราดีขึ้นทุกตัว ท่านบอกเละเทะทุกตัว ผมเลยต้องขออนุญาตพูดเห็นต่างนะครับ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 รัฐบาลได้เคาะกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.22 ล้านล้านบาท และเป็นการขาดดุลงบประมาณอีก 469,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.65% ของกรอบวงเงินงบประมาณรวม นับเป็นหนึ่งใน “การขาดดุลงบประมาณ” ที่เกือบสูงสุดในรอบหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นตัวเม็ดเงินหรือเป็นสัดส่วนเทียบกับกรอบวงเงินงบประมาณรวม โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างเป็นปกติและค่อนข้างไปในทางที่ดีในมุมมองของรัฐบาลและไม่ได้เผชิญกับภาวะวิกฤติใดๆ

หากย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจการเงินครั้งล่าสุดเมื่อปี 2551-2552 ในขณะนั้นเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติทำให้จีดีพีติดลบในปี 2552 ไป -0.7% รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2552-2553 รวม 697,061 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรวมทั้ง 2 ปี 3,651,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.1% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

ต่อมาในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเผชิญกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยจนทำให้จีดีพีของไทยในปี 2554 ชะลอตัวลงมาเหลือเพียง 0.8% รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2554-2556 รวม 1,099,968 ล้านบาทจากวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด 6,949,968 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.8% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

ต่อมารัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น เมื่อยึดอำนาจเข้ามาแล้วก็ได้ดึงมือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มานั่งหัวโต๊ะคุมงานด้านเศรษฐกิจ โดยช่วงนั้นการบริหารของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มีรูปแบบการทำงานที่ไม่หวือหวา เน้นการวางนโยบายที่เน้นปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจไทยจะยังติดหล่มอยู่ในกับดับทางการเมืองอยู่จนจีดีพีชะลอตัวมาแตะระดับ 1% ในปี 2557 โดยในช่วง 2 ปีแรกตั้งแต่ปี 2557-2558 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณรวม 500,000 ล้านบาทจากวงเงินงบประมาณ 5,100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.8% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

แม้ว่าในช่วงปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ในระดับ 3% แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้เติบโตรวดเร็วทันใจ พล.อ. ประยุทธ์ มากมัก เพราะทันทีทันใดในช่วงท้ายปี 2558 รัฐบาลได้เปลี่ยนตัวขุนพลเศรษฐกิจมาเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแทน ภายหลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บริหารงานได้เพียงปีเดียว

การเปลี่ยนตัวผู้นำด้านเศรษฐกิจครั้งนี้นำมาซึ่งการปรับรูปแบบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยกลับมาใช้นโยบายที่ค่อนข้างหวือหวา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การเดินสายปราศัยเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน รวมไปถึงการขาดดุลงบประมาณในระดับที่สูงอีกครั้ง โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559-2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณไป 2,412,280 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณทั้งหมด 14,969,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.12% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด โดยช่วง 3 ปีแรกมีการตั้งงบประมาณเพิ่มกลางในช่วงกลางปีงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561) มาตรา 21 ระบุว่า “การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทไม่เกินวงเงิน… (๑) ร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม…” และจะเห็นได้ว่าการขาดดุลของงบประมาณในระดับ “แตะเพดาน” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามักจะเกิดขึ้นในภาวะวิกฤติไม่ว่าจะเป็นช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2552 หรือวิกฤติมหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งสะท้อนจากจีดีพีที่อยู่ในภาวะหดตัวหรือชะลอตัวอย่างมากจนเกือบหดตัว อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ กลับเพิ่มขึ้นสูงในระดับมากกว่า 18% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจบางส่วนได้ทยอยฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งแล้ว และสูงกว่าช่วงก่อนหน้าที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติการเมืองจนจีดีพีชะลอตัวมาอยู่ในระดับ 0.9% เท่านั้น

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

นับเป็นเรื่องแปลกที่แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้นและรัฐบาลจะออกมายืนยันอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางกลับกัน นอกจากรัฐบาลยังเลือกที่ไม่ถอนคันเร่งออกจากนโยบายการคลังแล้ว กลับยังเร่งเครื่องเสมือนหนึ่งกลัวว่าเมื่อใดที่ถอนคันเร่งออกไปแล้วจะทำให้เศรษฐกิจและตัวเลขต่างๆ พังทลายลงมา

มุมหนึ่งที่อาจจะเป็นเหตุผลของการขาดดุลงบประมาณคือความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือปัจจัยพื้นฐาน เพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน มักจะใช้วิธีร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือพีพีพี รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Thailand Future Fund เป็นหลักโดยไม่ได้ใช้วงเงินงบประมาณโดยตรงนัก และมักจะกล่าวถึงข้อจำกัดของงบประมาณและความยั่งยืนทางการคลังว่าประเทศไม่เหลือเงินเพียงพอที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้เองได้ทั้งหมด

สิ่งที่ชัดเจนในชุดนโยบายของรัฐบาลและน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องกลับเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอและความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการช็อปช่วยชาติ การอัดฉีดเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยในมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน หรือนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการในระยะสั้นและไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจในระยะยาว และเหตุผลเดียวที่รองรับคือเป็นมาตรการเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไปพลางระหว่างรอให้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสัมฤทธิผล

คำถามสำคัญคือว่า แท้ที่จริงแล้วเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งจริงตามที่ตัวเลขบ่งชี้ หรือว่าเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อประคองภาคส่วนต่างๆ ที่ยังอ่อนแอและต้องแลกมากับการขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้สาธารณะในระยะยาว และหากเป็นกรณีหลัง เมื่อใดที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญเหตุไม่คาดฝัน พื้นฐานเศรษฐกิจและนโยบายการคลังจะเปลี่ยนแปลงได้ทันและยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับได้หรือไม่ และแม้ว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันใดๆ นอกจากซื้อเวลาให้ประเทศมีโอกาสที่จะปรับตัวแก้ไขโครงสร้างให้ทันการณ์ เพราะเมื่อใดที่เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะวิกฤติจนจีดีพีหดตัวอย่างรุนแรงและพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับเอาไว้ได้ หนี้สาธารณะสามารถพุ่งทะยานจนทะลุเพดานได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปีดังเช่นในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศมาแล้ว

และหากเป็นในกรณีหลัง รัฐบาลควรจะสื่อสารสถานการณ์ต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ประชาชนรับรู้และเตรียมรับมืออย่างถูกต้อง รวมไปถึงเพื่อให้การออกแบบนโยบายเป็นไปอย่างตรงจุด ชัดเจน และโปร่งใสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายยกระดับประสิทธิภาพของภาคเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หรือนโยบายการช่วยเหลือหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจที่หากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้แก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน แต่อีกด้านหนึ่งต้องมีการประเมินความก้าวหน้าและต้นทุนของการขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาด้วยเช่นกัน