
หลังจากคดียืดเยื้อมายาวนานเกือบ 9 ปี ในที่สุด “คดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์” หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “คดีแพรวา” ก็ถึงบทสรุป โดยในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 จำเลยที่ 1 ถึง 3 ได้นำเงินไปวางที่ศาลแพ่งเพื่อเป็นการชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 28 รายจำนวนทั้งสิ้น 42,536,517.63 บาท โดยไม่ต้องดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์มาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ศูนย์นิติศาสตร์ ร่วมกับศูนย์กฎหมายแพ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา “ถอดบทเรียนทางกฎหมายจากคดีอุบัติเหตุทางด่วนโทลล์เวย์” เพื่อให้คดีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งคดีต้นแบบสำหรับเป็นแนวทางให้กับคดีอื่นๆ ตลอดจนถึงการปรับปรุงจุดบอดที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เอื้ออำนวยต่อประชาชน
โดยมี ผศ. ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวนการศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายวีระศักดิ์ ทัพขวา หัวหน้าสำนักงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเสกสรร สุขแสง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมบังคับคดี ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น
- เปิดรายงาน ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. “คดีแพรวา” พร้อมคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม
- ทีมทนายผู้เสียหาย เผยเหตุ “คดีแพรวา” ยืดเยื้อนาน 8 ปี 7 เดือน – ชี้ “แม่แพรวา” วางทรัพย์ผิดที่ ไม่ถือว่ามีการชำระหนี้
- ทีมทนายคาดออกหมายบังคับคดีแพรวาได้ใน ส.ค.นี้ – ยอดหนี้จำเลยพุ่งแตะ 41 ล้าน “รมต.ยุติธรรม” แนะจำเลยรีบชดใช้
สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขอสรุปสั้นๆคือ คดีนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 9 คน บาดเจ็บ 5 คน มีการฟ้องร้องทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่ง ซึ่งในคดีอาญาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จำเลย 1 คน คือ นางสาวแพรวา หรืออรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ส่วนคดีแพ่ง โจทก์ 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้ยื่นฟ้องเป็น 13 คดี ต่อจำเลย 7 คน โดยคำนึงถึงการเยียวยาค่าเสียหายจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ได้แก่ จำเลยที่ 1 นางสาวแพรวาฯ และเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นเยาวชนอายุเพียง 16 ปีในขณะนั้น จึงต้องฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 คือ บิดาและมารดาของนางสาวแพรวาฯ ตามลำดับ จำเลยที่ 4 ผู้รับฝากรถจากจำเลยที่ 5 และ 6 เจ้าของรถ และจำเลยที่ 7 คือ บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์ไว้ (อ่านรายละเอียดลำดับการดำเนินคดี และสรุปข้อเท็จจริงโดยย่อ เพิ่มเติม)
ถอดบทเรียน: หลักกฎหมาย-ข้อกฎหมายที่ประชาชนควรรู้
- หลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าเสียหายของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
การคำนวณค่าเสียหายในคดีนี้อ้างอิงตามหลักเศรษฐศาสตร์ และตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยวางแนวทางไว้ในคดีอื่นๆ สำหรับหรับผู้เสียหายทั้ง 28 ราย โดยเมื่อหักค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535, เงินช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ประสบเหตุแต่ละราย และเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยรถยนต์แล้ว มียอดรวมที่ 113 ล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วศาลมักปรับลดวงเงินค่าเสียหายลงจากที่เรียก ในคดีนี้ศาลกำหนดค่าเสียหายเหลือประมาณ 1 ใน 4 จากค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งหมดเรียกไป
นายวีระศักดิ์กล่าวถึงเหตุที่ยอดค่าเสียหายสูงเนื่องจากมีจำนวนผู้เสียหายในคดีมากจึงมีการฟ้องร้องแยกถึง 13 คดี (ก่อนนำมาคดีมารวมกันในภายหลัง) ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวผู้เสียชีวิตฟ้องค่าเสียหายอยู่ราว 10-12 ล้านบาท จำนวนเงินเหล่านี้คิดคำนวณโดยแบ่งเป็น
- ค่าเสียหายสำหรับผู้เสียชีวิต ได้แก่ ค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะสำหรับบิดา มารดา ภรรยา หรือบุตรของผู้เสียชีวิต โดยคิดจากฐานข้อกฎหมายที่เรื่องหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตร หรือบุตรกับบิดามารดาและระหว่างสามีภรรยา ถือว่าผู้ยังอยู่ได้รับความเสียหาย โดยการคำนวณค่าขาดไร้อุปการะแยกเป็นรายคนตามหลักเศรษฐศาสตร์ ในกรณีของผู้ที่มีเงินเดือนนั้นคำนวณจากอายุขณะเกิดเหตุไปจนถึงอายุเกษียณ ส่วนกรณีของนักศึกษา คำนวณรายได้จากฐานเงินเดือนขั้นต่ำตามมติคณะรัฐมนตรี คือ 15,000 บาทต่อเดือน โดยนับจากอายุที่จะเรียนจบแล้วเริ่มต้นทำงานเป็นต้นไปจนกว่าจะเกษียณอายุ โดยทั้งสองกรณีดูรายได้ปัจจุบันโดยคิดอัตราเพิ่มของเงินเดือนร้อยละ 5 ต่อปีไปจนเกษียณอายุตามเกณฑ์ปกติ แล้วหารแบ่งส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้นั้นกับค่าอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวอย่างละครึ่ง
- ค่าเสียหายสำหรับผู้บาดเจ็บ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน และค่าเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ เช่น ค่าเสียหายต่อจิตใจ การทนทุกขเวทนา
- ค่าเสียหายจากความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินผู้เสียหายและผู้เสียชีวิต
- การดำเนินคดีอาญาในกรณีที่ผู้เยาว์กระทำความผิด

ศาสตราจารย์ณรงค์กล่าวว่า เนื่องจากในคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกันระหว่างคดีอาญากับคดีแพ่ง และเป็นการดำเนินคดีต่อเยาวชน ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาบุคคลทั่วไป เนื่องจากกฎหมายให้ความสำคัญกับประโยชน์สูงสุดของเด็กที่กระทำความผิด ไม่มุ่งจะลงโทษเพียงอย่างเดียวแต่มุ่งเยียวยาให้เขากลับตัวมากกว่า ซึ่งในคดีอาญาทั่วไปสามารถฟ้องคดีได้โดย ให้อัยการฟ้อง (ผู้เสียหายอาจขอเป็นโจทก์ร่วมในภายหลังก็ได้) หรือผู้เสียหายฟ้องเอง แต่ในคดีเยาวชนได้มีเกณฑ์กำกับไว้ว่า ถ้าผู้เสียหายฟ้องคดีกับเยาวชน ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจก่อน
สำหรับคดีนี้คณะทำงานได้วางแนวทางให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการในการฟ้องคดี แล้วผู้เสียหายทำการขออนุญาตตามขั้นตอนเพื่อเข้าร่วมเป็นโจทก์ในภายหลัง เพื่อร่วมกับพนักงานอัยการในการนำเสนอพยานหลักฐานพิสูจน์ว่าจำเลยประมาทหรือไม่ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร เนื่องจากคดีมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่ง
- ในคดีอาญาบิดามารดา หรือผู้ให้ยืมรถ มีความผิดด้วยหรือไม่
ศาสตราจารย์ณรงค์กล่าวต่อไปถึงเรื่องเชิงเทคนิคในการฟ้องคดีว่า คดีอาญาเองก็สามารถฟ้องพ่อแม่ของผู้เยาว์และผู้ให้ยืมรถ ให้ร่วมรับผิดต่อการกระทำโดยประมาทของผู้เยาว์ด้วยได้ ไม่ว่าจะจากเหตุในการงดเว้น ละเลยไม่ดูแลผู้เยาว์ ให้ร่วมรับผิดในเหตุที่ผู้เยาว์ทำ แต่ทั้งนี้การฟ้องร้องในคดีอาญาข้อกล่าวหาต้องชัดเจนจนปราศจากข้อสงสัย ซึ่งในคดีนี้คณะทำงานเห็นว่าหลักฐานที่จะให้พ่อและแม่ของผู้เยาว์ร่วมรับผิดด้วยยังไม่ชัดเจนพอ ส่วนเรื่องการให้ยืมรถข้อมูลก็ยังน้อยมาก เป็นความเสี่ยงที่อาจถูกยกฟ้องได้
“หากหลุดคำพิพากษาอาญาก็ไม่ผูกพันคดีแพ่ง แล้วคดีแพ่งจะหลุดไปด้วย เมื่อหลักฐานไม่ชัดจึงไม่เสี่ยงเลือกฟ้องคดีแพ่งอย่างเดียว เพราะไม่ต้องชัดเท่าอาญาในการสืบพยานหลักฐาน”
- การดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ศาสตราจารย์ณรงค์ระบุว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กำหนดไว้ว่า ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งต้องถือตามคดีอาญา ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงคดีอาญาสามารถชี้ชัดว่าการกระทำเป็นประมาท ทางอาญาจะดำเนินการคุมประพฤติและส่งผลต่อไปถึงคดีแพ่ง โดยศาลแพ่งก็จะพิจารณาความผิดทางละเมิดที่เกิดจากความประมาทของจำเลยต่อไป
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 นั้นเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายเข้ามาในคดีได้เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในการฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่ง แต่ในคดีนี้เมื่อคดีอาญาฟ้องเฉพาะตัวนางสาวแพรวา หากเรียกค่าเสียหายไปในคดีอาญาโดยอาศัยมาตรา 44/1 เลยผู้เสียหายอาจไม่ได้รับการเยียวยา เนื่องจากผู้เยาว์ย่อมยังไม่มีทรัพย์สินอะไรให้บังคับเอาได้

ดังนั้นจึงเลือกที่จะฟ้องคดีแพ่งแยกต่างหากโดยฟ้องจำเลยที่ 2-7 เข้ามาด้วย ให้รับผิดต่อการละเมิดที่เกิดขึ้นโดยต้องรีบดำเนินการฟ้องร้องภายในอายุความซึ่งมีกำหนด 1 ปี ซึ่งเมื่อเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาต้องรอคำพิพากษาจากคดีอาญาก่อนจึงจะดำเนินคดีแพ่งต่อได้ ซึ่งคดีนี้ศาลกลัวเนิ่นช้าก็ให้สืบข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหายรอไว้ เมื่อคดีอาญาผูกพันเรียบร้อยก็สามารถกำหนดค่าเสียหายต่อไปได้
ด้าน ผศ. ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า แม้การดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญาจะต้องยึดผลในคดีอาญา แต่อย่างไรก็ตามคดีแพ่งและคดีอาญามีหลักการที่ต่างกัน คดีจึงไม่ได้จบเพียงมาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 ได้กำหนดหลักว่าในการพิพากษาเรื่องการรับผิดข้อละเมิดและการเรียกค่าสินไหมไม่ต้องคำนึงถึงอาญา หมายความว่า คดีอาญาตัดสินว่าจำเลยประมาทเลินเล่อ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับทางแพ่งเรื่องการละเมิด ตามมาตรา 420 ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณาต่อไปตามหลักทางแพ่ง
“ต้องมีการตรวจสอบในประเด็นนี้ให้ถ่องแท้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลเป็นไปตามหลักในมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จริงหรือไม่ในกรณีของผู้ขับขี่รถยนต์ และถ้าเกิดว่าศาลชี้แล้วว่ามีความรับผิดจึงนำไปสู่ปัญหาต่อไปว่าจะต้องรับผิดเท่าใด ซึ่งมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่าต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดนั้นๆ ด้วย ในประเด็นนี้จะต้องค้นหาความจริงโดยอาศัยพยานหลักฐานในชั้นของการพิจารณาในส่วนของคดีแพ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เท่านั้น แต่จะมีต่อเนื่องมาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 424 และมาตรา 438”
- หลักการฟ้องผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง
ผศ. ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องหลักการฟ้องผู้ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทางแพ่ง ผู้เยาว์ไม่พ้นเหตุที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งตามมาตรา 420 ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญา และในมาตรา 429 ก็ระบุชัดว่า บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถโดยเป็นผู้เยาว์ก็ต้องรับผิด นอกจากผู้เยาว์แล้วในทางแพ่งได้กำหนดให้บุคคลอื่นๆ ต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์ด้วยดังนี้
- บิดามารดาของผู้เยาว์ที่ทำละเมิด โดยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบิดามารดานั้นได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ในการปกครองดูแลผู้เยาว์แล้ว หากไม่ได้ก็พิพากษาไปตามกฎหมาย
- ครู อาจารย์ หรือผู้รับดูแล แต่ในกรณีนี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายโจทก์ที่ต้องหาหลักฐานมายืนยันถึงความบกพร่องต่อหน้าที่ ปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลผู้เยาว์ให้ดี จนไปก่อเหตุละเมิดขึ้น
- ความรับผิดของ “ผู้ครอบครอง” หรือ “ควบคุม” รถยนต์ ซึ่งกรณีนี้กฎหมายบัญญัติเป็นความรับผิดเด็ดขาด คือ แม้ไม่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย โดยหลักการนี้ยังครอบคลุมไปถึงความรับผิดของเจ้าของหรือผู้ดูแลสัตว์ ความรับผิดของเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง ความรับผิดของผู้อยู่อาศัยกรณีของตกหล่นแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น
- การบังคับคดี ขั้นตอนการยึด อายัด และขายทอดตลาด
การบังคับคดีเป็นขั้นตอนภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษา หลายคนอาจเข้าใจว่าเมื่อชนะคดีแล้วก็เป็นอันจบ แต่ในคดีแพ่งหลายกรณีที่มีการฟ้องเพื่อเรียกเอาทรัพย์ ฟ้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือให้กระทำการอย่างใด กรณีเหล่านี้แม้โจทก์จะชนะคดีแต่หากจำเลยไม่ชดใช้ตามฟ้อง สิ่งที่โจทก์ได้ก็มีเพียงกระดาษคำพิพากษาของศาล กรณีเช่นนี้จึงต้องมีการบังคับคดีเพื่อเป็นเครื่องมือให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา
นายเสกสรรกล่าวว่า ในกระบวนการบังคับคดีนั้นมีความสลับซับซ้อนและต้องใช้ระยะเวลานาน โดยภารกิจของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเริ่มขึ้นเมื่อศาลออกหมายบังคับคดี หรือครบกำหนดการส่งคำบังคับโดยชอบแล้วและศาลออกหมายบังคับคดี

“ในคดีนี้มีการส่งคำบังคับแก่จำเลย ซึ่งยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามคำบังคับจึงไม่สามารถที่จะขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ดังนั้น กรมบังคับคดีจึงไม่สามารถจะดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากกฎหมายตีกรอบไม่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ และอำนาจมีเท่าไรก็ต้องเป็นไปตามหมายบังคับคดีที่ออกมา และต้องตีความอำนาจหน้าที่ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด”
ทั้งนี้เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายฯ แล้ว จะดำเนินการดังต่อไปนี้
- ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทำการตั้งเรื่องเพื่อทำการยึดอายัด และจะต้องการวางค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว
- หากทรัพย์ที่จะทำการยึดนั้นอยู่นอกพื้นที่อำนาจของกรมบังคับคดีที่ตั้งเรื่อง ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ทันที ต้องขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอบังคับคดีข้ามเขตเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอเช่นว่านี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานบังคับคดีที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่เพื่อทำการยึดทรัพย์
- จากนั้นทำการประเมินราคา โดยหากมีการโต้แย้งเรื่องการประเมินราคาก็ต้องข้อโต้แย้งนั้นเข้าสู่คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ จนกว่าจะได้ราคาที่เป็นที่ยุติ
- และเข้าสู่ขั้นตอนของการขายทอดตลาดโดยการประกาศขายทรัพย์
“กระบวนการบังคับคดีทั้งหมดเบ็ดเสร็จแล้ว หากไม่มีปัญหาหรือข้อติดขัดใดๆ เลย จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน กว่าที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับชำระหนี้ และคดีนี้แม้ยังไม่มีหมายบังคับคดี แต่ทุกหน่วยงานได้บูรณาการร่วมกัน โดยหลังจากที่มีข่าวเรื่องโฉนดที่ดินของจำเลย ได้ให้ ดีเอสไอตรวจสอบว่าโฉนดมีกี่ชุด ถูกต้องไหม อยู่ในข่ายถูกเพิกถอนไหม ซึ่งพบว่าราคาประเมินจริงนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหากต้องบังคับคดีกรณีนี้นอกจากต้องมีการบังคับคดีข้ามเขต อาจมีการโต้แย้งเรื่องราคาทรัพย์สิน เนื่องจากจะเลยระบุตามข่าวว่ามีราคา 50 ล้านบาท ซึ่งระยะเวลาจะยาวนานออกไป”
สำหรับระยะเวลาบังคับคดีเมื่อศาลได้มีหมายบังคับคดีแล้วจะมีระยะเวลาในการบังคับคดีถึง 10 ปี เพื่อทำการทยอยยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้จนกว่าจะคุ้มหนี้ หากปรากฏว่าระยะเวลาใกล้ครบ 10 ปีแล้วเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถสืบทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพิ่มเติมได้อีกก็จะสามารถฟ้องล้มละลายได้ ซึ่งทางปฏิบัติธนาคารมักจะฟ้องในปีที่ 8-9 โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งกระบวนการล้มละลายก็ใช้ระยะเวลาอีกนาน
- ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกา ในกรณีของจำเลยที่ 4
นายวีระศักดิ์กล่าวว่า กรณีของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นคนสนิทและคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ใช่ผู้ครอบครองหรือเจ้าของหรือผู้เอาประกันรถยนต์คันที่เกิดเหตุ โดยข้อเท็จจริงจำเลยที่ 4 ได้คอยไปรับส่งจำเลยที่ 1 ที่บ้านโดยที่จำเลยที่ 2-3 บิดามารดาของจำเลยที่ 1 อนุญาตยินยอมทุกครั้ง โจทก์ตั้งเรื่องว่าจำเลยที่ 4 ได้ปล่อยปละละเลยจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น
“ตามข้อเท็จจริง บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าจำเลยที่ 4 ติดเครื่องยนต์อยู่เพื่อที่จะไปเอาของที่ท้ายรถในขณะนั้นเองจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนมานั่งตรงที่คนขับแล้วบอกแก่จำเลยที่ 4 ว่าขอนำรถไปธุระ โดยโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงบันทึกคำให้การของพนักงานสอบสวน บันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 สรุปได้ว่า เยาวชนที่เอารถไปขับอายุ 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่และจำเลยที่ 4 ไม่ห้ามปรามทั้งที่อยู่ในวิสัยที่ห้ามปรามได้ และขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วย”
ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า จากพฤติการณ์ที่ผ่านมาตามที่โจทก์ตั้งประเด็น “…จึงน่าเชื่อว่าบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ไว้วางใจให้จำเลยที่ 4 ดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 430…” ที่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ กระทำละเมิดระหว่างอยู่ในความดูแลของตน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 โดยให้เหตุผลว่า “ถึงแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอารถไปใช้จนเกิดเหตุ แต่เป็นเรื่องที่คาดหมายไม่ได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์นั้นจะต้องขับไปเฉี่ยวชนเสมอไป” และศาลเห็นว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลจากการที่จำเลยที่ 4 ยินยอมให้ใช้รถไป”
ปัญหาเชิงปฏิบัติ บังคับคดียืดเยื้อ
นายเสกสรรระบุว่า ในการบังคับคดีมีหลายกรณีที่ทำให้กระบวนการบังคัดคดียืดเยื้อยาวนาน เช่น ลูกหนี้ก็มักยักย้ายถ่ายเท ประวิงคดี ย้ายที่อยู่หลายทอด เพื่อดึงกระบวนการไม่ให้มีการขายทรัพย์, กรณีผู้ซื้อไม่มีเงินวางกรณีเข้าสู้ราคาหรือไม่มีเงินชำระเต็มจำนวนราคาทรัพย์จนต้องขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไป, การโต้แย้งราคาประเมินทรัพย์ที่ยึด ตลอดจนการคัดค้านทุกขั้นตอนของกระบวนการบังคับคดี ในทางหลักการการบังคับคดีอันเป็นเครื่องมือบังคับลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องรวดเร็ว และไม่เปิดช่องให้คู่ความประวิงคดีได้ แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายเปิดช่องให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอ้างสิทธิตามกฎหมายเสมอ ทุกครั้งที่มีการคัดค้านจากลูกหนี้ฯ ทำให้เสียเวลาไปหลายเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขต่อไป
อีกทั้งกฎหมายไทยกำหนดเอาไว้ให้การสืบหาทรัพย์เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือโจทก์ที่จะต้องดำเนินการเอง ซึ่งทนายความไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะใช้ในการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ในทางปฏิบัติจึงมักถูกปฏิเสธการให้ข้อมูลโดยเฉพาะจากธนาคาร ในบางกรณีควรใช้อำนาจศาลในการเรียกมาถาม ตามมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ผศ. ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการแก้กฎหมายบังคับคดีในเบื้องต้นแล้ว เช่น เรื่องความล่าล้าในการออกคำบังคับ โดยกฎหมายใหม่กำหนดออกคำบังคับมีผลทันทีแม้จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้เข้าสู่การบังคับคดีได้เร็วขึ้น แต่กรณีนี้ใช้ได้เฉพาะกรณีที่จำเลยไม่ขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา หากจำเลยขาดนัดฯ ศาลยังต้องมีการส่งคำบังคับตามที่ศาลเห็นสมควร ทำให้ระยะเวลาต้องทอดออกไป ตามมาตรา 272 วรรคสองแห่ง ประกอบมาตรา 199 ทวิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาในการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังนั้นศาลจึงสามารถกำหนดได้ตามดุลพินิจ ดังเช่นในคดีนี้ที่ยังคงต้องมีการส่งคำบังคับเนื่องจากจำเลยบางคนได้ขาดนัดยื่นคำให้การจึงยังต้องมีการส่งคำบังคับ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีได้ทันที
คดีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาครัฐในการดูแลผู้เสียหายตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งส่วนหนึ่งบริษัทประกันภัยช่วยเหลือคดีได้มาก ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นตรงกันว่าควรมีการผลักดันให้ผู้ประกอบการประกันภัยนั้นจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น และในคดีที่มีความสูญเสีย เรื่องกำลังใจของผู้ประสบเหตุคืออีกเรื่องที่ควรได้รับการเยียวยาหรือดูแลจากคนในสังคม อย่างที่บางประเทศได้มีการนำผู้ที่เคยประสบเหตุมาเป็นอาสาสมัครในการให้ความช่วยเหลือ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ควรนำมาเสริมกับความช่วยเหลือที่กระทรวงยุติธรรมมีอยู่แล้ว อย่าง “ยุติธรรมใส่ใจ” และ “กองทุนยุติธรรม”
บริการทางกฎหมาย “ศูนย์นิติศาสตร์ มธ.”
หนึ่งในภารกิจของศูนย์นิติศาสตร์ที่น้อยคนจะรู้ คือ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดี
- การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ในด้านนี้ทางสำนักงานได้จัดให้มีทนายความและนิติกรในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชน หากผู้ใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยทางด้านกฎหมายสามารถขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมาปรึกษาด้วยตนเองที่ศูนย์ท่าพระจันทร์และศูนย์รังสิต ขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์ ทางเว็บไซต์ หรือทางไปรษณีย์
- การให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดี มีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือใน 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
- จัดทนายความเข้าช่วยเหลือว่าความให้โดยไม่คิดค่าจ้างทนายความ โดยมีเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือคือ 1.1) ผู้ขอความช่วยเหลือเป็นผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องที่เป็นข้อพิพาท 1.2) ผู้ขอความช่วยเหลือไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด 1.3) ผู้ขอความช่วยเหลือเป็นผู้มีฐานะยากจน ไม่มีเงินเพียงพอว่าจ้างทนายความเข้าต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ 1.4) รูปคดีทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงมีทางที่จะให้ความช่วยเหลือได้ 1.5) ไม่เป็นคดีเกี่ยวด้วยปัญหาครอบครัว เว้นแต่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดู
- การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับคู่กรณี
- การติดตามการบังคับคดี ตามคำพิพากษาของศาล