ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ไทยเตรียมตั้งเครือข่าย SDSN บนภาวะเร่งด่วน 10 ปีที่เหลือ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs

ไทยเตรียมตั้งเครือข่าย SDSN บนภาวะเร่งด่วน 10 ปีที่เหลือ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs

4 มีนาคม 2020


บรรยากาศการประชุมระดมสมองเพื่อจัดตั้งเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ประเทศไทย

ประเทศไทยอยู่ในภาวะสูญญากาศของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หลังจากการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการยกเลิกคำสั่งภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบ โดยกระทรวง กรม กอง ทั้งหมดที่เคยถูกมอบหมายให้รับผิดชอบการดำเนินการเป้าหมายและเป้าประสงค์ SDGs และยุบคณะทำงานทุกหน่วยงาน หรือ “set zero” การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนและกำหนดแนวทางใหม่ในการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยในอนาคต

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อน SDGs เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563  โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมองจัดตั้งเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ประเทศไทย และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการส่งข้อเสนอเพื่อขอจัดตั้งเครือข่ายระดับประเทศกับ Network Strategy Council UNSDSN พิจารณา

โดยมีผู้แทนจากหลายภาคส่วนให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมทั้งจากภาคส่วนวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เช่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Future), ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือ ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD),  สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.), เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ฯลฯ

เมื่อโลกเข้าสู่ทศวรรษเร่งด่วนในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน

ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)

ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า เครือข่าย SDSN  ระดับโลกประกอบด้วย สมาชิก 800 องค์กรใน 35 ประเทศก่อตั้งโดย “เจฟฟรีย์ แซคส์” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลก มีบทบาทในการขับเคลื่อนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืน มีเครือข่ายในอาเซียน ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์  ภารกิจหลัก คือ

    1. การวิเคราะห์นโยบายและพัฒนาเครื่องมือเพื่อการบรรลุ SDGs
    2. การส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยั่งยืน
    3. การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
    4. การระดมทรัพยากรและทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น

“ตอนนี้เลยเป็นวาระขององค์การสหประชาชาติ ที่ใน 10 ปีที่เหลือต้องเป็นทศวรรษของการเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ SDSN จะเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการที่จะทำให้เรามีทางแก้ปัญหาใหม่ๆ”

SDSN ทำงานหลายเรื่อง แต่งานที่เป็นที่รู้จัก คือ SDG Index & Dashboard ซึ่งเป็นเครื่องมือความก้าวหน้า SDG ที่มีการนำเสนอเพื่อการทบทวนทางด้านนโยบาย หรือในระดับพื้นที่มีการทำงานที่นำ SDG ไปปรับใช้ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยหลักจะเห็นว่าบทบาทสำคัญของ SDSN เป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนผู้เชี่ยวชาญทั้งทางวิชาการและการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยจะมีการจัดตั้ง SDSN ประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ได้แก่

  • การส่งเสริมให้เกิดการปรึกษาหารือข้ามภาคส่วน
  • ผลักดันให้เกิดเครือข่ายเชิงประเด็นเพื่อการแก้ปัญหาความยั่งยืน
  • พัฒนาฐานข้อมูลและทำวิจัยเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
  • เสริมศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยในการวิจัยและการเรียนการสอนด้านความยั่งยืน

ทำไมไทยควรเป็นส่วนหนึ่งของ SDSN

ในรายงาน Global Sustainable Development Report 2019 ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2562 ระบุชัดเจนถึงภาพรวมของโลกการดำเนินงานด้าน SDG ของโลกที่ไม่เป็นไปตามแผนที่จะบรรลุได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ หลายประเด็นสวนทางกับโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายอีกด้วย

4 ประเด็นหลักที่ไม่สามารถเดินหน้าไปดีนัก ได้แก่

  • ความเหลื่อมล้ำ
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
  • การเพิ่มขึ้นของปริมาณของเสีย

นายรองวุฒิ วีรบุตร รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า รายงาน Global Sustainable Development Report 2019 ระบุชัดเจนว่าการดำเนินงานที่ทุกหน่วยงานทำอยู่นี้ไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายถ้าเรายังใช้วิธีการแบบเดิม

SDSN จึงจำเป็นสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะกลไก Multi-stakeholder platform ที่จะเป็นกลไกการทำงานร่วมกันอย่างมีทิศทางระหว่างนักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักวิชาการในต่างประเทศ รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในทางปฏิบัติจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการขึ้น

เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวเร่งให้สามารถบรรลุเป้าหมายคือ “เงิน” ซึ่งองค์การสหประชาชาติเคยประเมินว่า ถ้าเราต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องใช้เงินลงทุนกว่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล และหากพิจารณาจากงบประมาณภาครัฐสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างมากที่สุดคือ 30% หรือประมาณหนึ่งในสามเท่านั้นของเงินที่จะลงทุนได้ ที่เหลือต้องใช้ภาคส่วนอื่นในการเข้ามาทำงานร่วมกัน

“เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต และเปลี่ยนวิธีในการผลิต ซึ่งเกินความสามารถที่ภาครัฐจะทำคนเดียวได้” รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศกล่าว

Multi-stakeholder Platform ปิดช่องว่าง การขับเคลื่อน SDGs ในไทย

ในที่ประชุมได้หยิบยกเหตุผลของความจำเป็นในการก่อตั้งเครือข่าย SDSN ประเทศไทย โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขาดกลไกในการขับเคลื่อน SDGs หลายเรื่องได้แก่

    1. กลไก multi-stakeholder platform ซึ่งภายใต้กลไกของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ล่าสุดยังไม่มีความชัดเจน
    2. งานวิจัยยังขาดความเป็น mission-oriented ที่สอดคล้องกับ SDGs โดยตรง
    3.ขาดกลไก science-policy- society interface
    4. กลไกในการติดตามทบทวน SDGs อย่างเป็นกลางและทุกคนมีส่วนร่วม
บรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับ กลไกในการบริหารจัดการเครือข่าย SDSN และกลไกการขับเคลื่อน

รศ. ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะเจ้าภาพที่สนับสนุนแนวคิดการสร้างเครือข่ายวิชาการ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมและกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการผลิตผลงานทางวิชาการที่นำไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ได้อย่างตรงจุด และตามความถนัดของผู้เชี่ยวชาญ

“สิ่งสำคัญที่สุดการจัดตั้งเครือข่าย SDSN จำเป็นต้องมีความชัดเจนและมีจุดมุ่งเน้นสำคัญในการผลักดันใช้องค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์และเชิงนโยบาย ในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน” รศ. ดร.ชยันต์ กล่าว

ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้งเครือข่าย SDSN ประเทศไทย เริ่มต้นโดยสถาบันคลังสมองของชาติร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศในการจัดประชุมภาคีภาควิชาการเพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งเครือข่าย SDSN ประเทศไทยมาตั้งแต่กลางปี 2561 โดยมอบหมายให้ SDG Move เป็นผู้ทำการขับเคลื่อน มาจนในปี 2562 มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาคเกี่ยวกับการจัดตั้งเครือข่าย SDSN ประเทศไทย และหลังจากการประกาศ SET ZERO กระทรวงการต่างประเทศและ SDG Move ตัดสินใจเดินหน้าต่อ โดยโครงสร้างของ เครือข่าย SDSN ประเทศไทย จะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญๆ ได้แก่  

    1. Leadership Council 12 คนจากภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ที่จะมีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์และการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์
    2. Secretariat Team ประกอบด้วย 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ SDG Move ภายใต้ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.)
    3. Member Organization and Thematic Networks ที่จะประกอบไปด้วยสถาบันที่เป็นสมาชิกและเครือข่ายที่ทำงานตามประเด็น และ 4. Partner Institutions หน่วยงานหรือองค์กรที่อยู่นอกภาคส่วนการให้ความรู้ โดยเครือข่ายมีแผนการในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในราวเดือนมีนาคม 2563

สำหรับการดำเนินการเรื่องนี้ ผศ.ชล กล่าวว่า “ต้องย้ำว่า SDSN ไม่ได้ต้องการเป็น กพย. นอกภาครัฐ แต่เราต้องการเป็นภาควิชาการที่ต้องการขับเคลื่อนผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนให้กับประเทศไทย”