ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เปิดรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDG Index” ระบุไทยขจัดความยากจนได้สำเร็จ แนวโน้มคืบหน้าอีก 6 เป้าหมาย

เปิดรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDG Index” ระบุไทยขจัดความยากจนได้สำเร็จ แนวโน้มคืบหน้าอีก 6 เป้าหมาย

2 กรกฎาคม 2019


ที่มาภาพ : https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2019/2019_sustainable_development_report.pdf

ทุกๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2016 มูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Solutions Network (SDSN) จัดทำรายงานการศึกษา SDGs Development Report หรือเดิมใช้ชื่อ SDG Index and Dashboards เพื่อรายงานผลการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals — SDGs) ของแต่ละประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization — WHO) เป็นต้น รวมไปถึงสถาบันวิจัยและองค์กรที่ไม่แสวงกำไร

รายงานการศึกษา SDGs Development Report ไม่ใช่เครื่องมือที่ติดตามการปฏิบัติตามเป้าหมายความยั่งยืน 17 ข้อที่เป็นทางการ เพียงแต่เป็นส่วนเสริมจากที่แต่ละประเทศได้มีการปฏิบัติด้วยความสมัครใจอยู่แล้ว

ในปีนี้รายงานได้รวมผลของ 162 ประเทศ รวมทั้งได้ปรับปรุงดัชนีชี้วัดและวิธีการ ดังนั้นอันดับของแต่ละประเทศในปีนี้จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับรายงานปี 2018 หรือปี 2017 และปี 2016 ได้ การเปลี่ยนแปลงในอันดับจึงไม่ได้หมายความว่าการตอบสนองต่อเป้าหมายของแต่ละประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป

โดยรวมแล้วคะแนนและอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ขึ้นอยู่กับวิธีการของผลรวมและการให้น้ำหนัก การตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อที่ได้มีการตกลงในเวทีระหว่างประเทศปี 2015 ผ่านดัชนีความยั่งยืนของแต่ละประเทศนั้น ได้มีการให้น้ำหนักที่เท่ากันในแต่ละเป้าหมาย โดยคะแนน 0 หมายถึงมีการปฏิบัติที่แย่สุด ขณะที่คะแนน 100 หมายถึงมีการตอบสนองเป้าหมายดีที่สุด

สำหรับผลการศึกษาในปีนี้ 3 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก คือ เดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์ มีคะแนนนำ โดยเดนมาร์กได้คะแนนสูงถึง 85 คะแนนแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อแม้มีความท้าทายในการปฏิบัติตามเป้าหมายไม่ว่าหนึ่งข้อหรือหลายข้อ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีประเทศไหนที่มีแนวโน้มจะบรรลุทั้ง 17 เป้าหมาย แม้แต่ประเทศที่มีคะแนนสูง โดยเฉพาะเป้าหมาย SDGs ข้อ 12 การบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมาย SDGs ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมาย SDGs ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เป้าหมาย SDGs ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

ในกลุ่ม 20 อันดับแรกที่มีคะแนนสูงเป็นประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development — OECD) อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศที่มีการตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs ที่ดีที่สุดก็ยังได้คะแนนต่ำกว่า 100 คะแนน และทุกประเทศยังมีคะแนนต่ำในอย่างน้อย 1 เป้าหมาย SDGs

ประเทศรายได้สูงมีการตอบสนองค่อนข้างแย่เมื่อเปรียบเทียบในตัวชี้วัดผลต่อภายนอก โดยหลายประเทศไม่ได้มีความคืบหน้าในการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน รวมทั้งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นจุดที่ประเทศรายได้สูงยังเฉื่อย

ประเทศรายได้ต่ำส่วนใหญ่มีคะแนนต่ำ แต่เป็นเพราะเป้าหมาย SDGs หลักๆ เพื่อขจัดความยากจนและการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและสาธารณูปโภคพื้นฐาน (SDGs ข้อ 1-9) นอกจากนี้ประเทศยากจนก็มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เพียงพอและขาดกลไกที่จะจัดการกับประเด็นหลักของสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมาย SDGs ยกเว้นประเทศที่ประสบกับความขัดแย้งทางกองกำลังและมีสงครามกลางเมือง

หลายประเทศที่มีรายได้ต่ำมีความคืบหน้าในการขจัดความยากจนและการเข้าถึงบริการและสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะ SDGs ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDGs ข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง และความไม่เท่าเทียมด้านสุขอนามัยและการศึกษา ในแต่ละกลุ่มประชากรยังคงเป็นความท้าทายหลักด้านนโยบายทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา

ไทยขจัดความยากจนได้สำเร็จ

สำหรับประเทศไทยติดอันดับที่ 40 จาก 162 ประเทศด้วยคะแนน 73 และคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาค 65.7

ประเทศไทยประสบความสำเร็จดีในเป้าหมาย SDGs ข้อ 1 ขจัดความยากจน โดยบรรลุเป้าหมายเต็ม 100 คะแนน และประสบความสำเร็จใน 2 เป้าหมายย่อย คือกลุ่มประชากรที่มีรายได้ 1.90 ดอลลาร์ต่อวันและกลุ่มประชากรที่มีรายได้ 3.20 ดอลลาร์ต่อวัน

สำหรับความท้าทายระดับแรกที่มีอยู่คือเป้าหมาย SDGs ข้อ 4 ความเท่าเทียมทางการศึกษา แม้มีความคืบหน้า ขณะที่ความท้าทายใหญ่ยังมีถึง 11 เป้าหมาย คือ เป้าหมาย SDGs ข้อ 2 ขจัดความหิวโหย, เป้าหมาย SDGs ข้อ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ, เป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล, เป้าหมาย SDGs ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้, เป้าหมาย SDGs ข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ, เป้าหมาย SDGs ข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน, เป้าหมาย SDGs ข้อ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน, เป้าหมาย SDGs ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน, เป้าหมาย SDGs ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก, เป้าหมาย SDGs ข้อ16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และเป้าหมาย SDGs ข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนความท้าทายในระดับสูงมี 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมาย SDGs ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, เป้าหมาย SDGs ข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ, เป้าหมาย SDGs ข้อ13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมาย SDGs ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

แนวโน้มบรรลุ 3 เป้าหมาย

สำหรับแนวโน้มการตอบสนองต่อเป้าหมาย SDGs ไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะบรรลุ 3 เป้าหมาย คือ เป้าหมาย SDGs ข้อ 1 ขจัดความยากจน, เป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และเป้าหมาย SDGs ข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่วนเป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่มี 5 เป้าหมายย่อยนั้น ไทยบรรลุเป้าหมายย่อยในข้อการจัดหาน้ำดื่มให้กับประชา กรและการจัดให้มีระบบสุขาภิบาลมากขึ้น แต่อีก 3 เป้าหมายย่อยคือการใช้น้ำจืดต่อแหล่งน้ำหมุนเวียน การใช้น้ำบาดาลและการบำบัดน้ำเสียนั้นรายงานชี้ว่าไม่มีข้อมูล

ทางด้านเป้าหมาย SDGs ข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยบรรลุ 2 เป้าหมายจาก 5 เป้าหมายย่อย คือ ด้านประชากรที่มีวัย 15 ปีขึ้นไปมีบัญชีกับธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือมีบริการโมบายแบงกิง กับอัตราการว่างงานต่อประชากรที่ต่ำเพียง 1.3% ส่วนเป้าหมายย่อยที่เหลือรายงานระบุว่าไม่มีข้อมูล

คืบหน้าเล็กน้อย 6 เป้าหมาย

เป้าหมาย SDGs ที่ไทยมีโอกาสความคืบหน้าบ้างมีทั้งหมด 6 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมาย SDGs ข้อ 3 เป้าหมาย SDGs ข้อ 5 เป้าหมาย SDGs ข้อ 7 เป้าหมาย SDGs ข้อ 9 เป้าหมาย SDGs ข้อ 11 และเป้าหมาย SDGs ข้อ 16 ขณะที่มีความล่าช้าในเป้าหมาย SDGs ข้อ 13 เป้าหมาย SDGs ข้อ 14 เป้าหมาย SDGs ข้อ 15 ส่วนเป้าหมาย SDGs ข้อ 10 เป้าหมาย SDGs ข้อ 12 และเป้าหมายSDGs ข้อ17 ไม่มีข้อมูล

การดำเนินการในเป้าหมาย SDGs ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมี 14 เป้าหมายย่อย ไทยประสบความสำเร็จใน 7 เป้าหมายย่อย ได้แก่ การลดการเสียชีวิตของมารดาในขณะตั้งครรภ์และการคลอด การลดอัตราตายของทารกแรกเกิด การลดการเสียชีวิตของเด็กในวัยต่ำกว่า 5 ปี อัตราการตายตามมาตรฐานอายุเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจมะเร็ง เบาหวานและโรคทางเดินหายใจเรื้อรังในประชากร การทำคลอดโดยบุคลากรทางสาธารณสุขมืออาชีพ อัตราการรอดชีวิตของเด็กที่ได้รับวัคซีนตามการแนะนำของ WHO และความเป็นอยู่ที่ดี

ส่วนเป้าหมายย่อยของ SDGs ข้อ 3 ที่ไทยยังดำเนินการล่าช้า ได้แก่ การเป็นวัณโรคของประชากร และการเสียชีวิตจากการจราจร นอกจากนี้การดำเนินการถดถอยในด้านลดอัตราเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นเพศหญิงอายุ 15-19 ปี และที่ยังแก้ไขไม่ได้คืออัตราการตั้งครรภ์แม่วัยใสอายุ 15-19 ปี

ในเป้าหมาย SDGs ข้อ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ มีด้วยกัน 4 เป้าหมายย่อย ไทยประสบความสำเร็จในเป้าหมายย่อย เรื่องความต้องการวางแผนครอบครัวด้วยวิธีการทันสมัย และอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานเพศหญิงและเพศชาย แต่มีความคืบหน้าเล็กน้อยในด้านค่าเฉลี่ยปีที่ได้รับการศึกษาของเพศหญิงและชายในกลุ่มประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไป ส่วนด้านที่ถดถอยคือจำนวนตัวแทนผู้หญิงในสภา

เป้าหมาย SDGs ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไทยทำได้ดีในเป้าหมายย่อยการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้า และดีขึ้นเล็กน้อยในการเข้าถึงเชื้อเพลิงสะอาดและเทคโนโลยีการหุงต้ม แต่เป้าหมายย่อยการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้า

เป้าหมาย SDGs ข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมี 6 เป้าหมายย่อย ไทยดำเนินการดีขึ้นใน 3 เป้าหมายคือ จำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ต การเป็นสมาชิกบรอดแบนด์มือถือ และคุณภาพการค้าการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเป้าหมายย่อยที่ดีขึ้นเล็กน้อยคือ งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา ขณะที่จำนวนผลงานบทความด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคยังไม่คืบหน้า ด้านเป้าหมายย่อยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไม่มีข้อมูล

เป้าหมาย SDGs ข้อ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายย่อยที่ไทยทำดีขึ้นเล็กน้อยคือ ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 กับการปรับปรุงแหล่งน้ำและน้ำประปา ส่วนเป้าหมายย่อยที่ทำได้ดีคือ ความพึงพอใจของการขนส่งสาธารณ

เป้าหมาย SDGs ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก มีด้วยกัน 9 เป้าหมายย่อย ไทยดีขึ้นเป้าหมายย่อยคดีฆาตกรรมและผู้ถูกควบคุมตัวที่ไม่ได้มีการส่งตัว ส่วนเป้าหมายย่อยความรู้สึกปลอดภัยของคนที่เดินคนเดียวในกลางคืนในเมืองหรือย่านที่อยู่อาศัยนั้นดีขึ้นเล็กน้อย แต่เป้าหมายย่อยความเป็นอิสระของสื่อยังไม่คืบหน้า และที่ยังถดถอยคือ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน

ส่วนอีก 4 เป้าหมายย่อย ลิขสิทธิ์ทางปัญญา การจดทะเบียนแจ้งเกิดของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี การใช้แรงงานเด็กที่มีอายุ 5-14 ปีและการเปลี่ยนโอนอาวุธ รายงานใส่เครื่องหมายไม่มีข้อมูล

เฉื่อยชา 3 เป้าหมาย

ไทยดำเนินการได้ล่าช้าใน 3 เป้าหมายคือ เป้าหมาย SDGs ข้อ 2, เป้าหมาย SDGs ข้อ 13, เป้าหมาย SDGs ข้อ 14, เป้าหมายSDGs ข้อ 15, เป้าหมาย SDGs ข้อ 2 การขจัดความหิวโหย มี 2 เป้าหมายย่อยที่ไทยดีขึ้น คือ การป้องกันโรคอ้วน และผลผลิตธัญพืช ส่วนเป้าหมายย่อยที่ดีขึ้นเล็กน้อยคือ การป้องกันการขาดสารอาหาร การป้องกันการแคระแกร็นของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และการป้องกันการสูญเสียเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี แต่กลับถดถอยในเป้าหมายระดับโภชนาการของประชากร ส่วนการรักษาระดับไนโตรเจนไม่มีข้อมูล

ในเป้าหมาย SDGs ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยยังล่าช้าในเป้าหมายย่อยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนอีก 3 เป้าหมายย่อยรายงานใส่เครื่องหมายว่าไม่มีข้อมูล

เป้าหมาย SDGs ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งใน 4 เป้าหมายย่อยนั้นไทยทำได้ดีขึ้นในเป้าหมายย่อยค่าเฉลี่ยพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เป้าหมายย่อยคุณภาพน้ำทะเลนั้นดำเนินการได้ช้า ขณะที่ 2 เป้าหมายการจับปลาด้วยอวนลากและการจับปลาที่มากเกินไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะกลับดำเนินการได้แย่ลง

เป้าหมาย SDGs ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ไทยดีขึ้นในเป้าหมายย่อยค่าเฉลี่ยพื้นที่คุ้มครองบนบกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กลับถดถอยในเป้าหมายย่อยรายการสายพันธ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ ขณะที่ทำได้ดีขึ้นเล็กน้อยในเป้าหมายย่อยค่าเฉลี่ยพื้นที่น้ำจืดคุ้มครองเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนเป้าหมายย่อยการลดการทำลายป่าอย่างถาวรและความเสี่ยงต่อระบบชีวภาพจากการนำเข้านั้นไม่มีข้อมูล

ส่วนเป้าหมาย SDGs ข้อ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม, เป้าหมาย SDGs ข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ, เป้าหมาย SDGs ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมาย SDGs ข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีข้อมูล

เจาะความคืบหน้ารายภูมิภาค

  • กลุ่ม OECD
    ในกลุ่มประเทศ OECD รายงานพบว่ายังไม่มีประเทศใดที่จะประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย SDGs แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกแล้ว กลุ่มประเทศ OECD มีความคืบหน้ามากกว่าในเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคมเศรษฐกิจและการเข้าถึงขั้นพื้นฐานในบริการสาธารณูปโภค ซึ่งรวมถึงเป้าหมาย SDGs ข้อ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมาย SDGs ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, เป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และเป้าหมาย SDGs ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ยังต้องทำอีกมากในเป้าหมาย SDGs ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมาย SDGs ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

    นอกจากนี้การดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับเป้าหมาย SDGs ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล มีสัญญาณที่น่าห่วง และต้องมีการดำเนินนโยบายที่จะไม่ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทางการศึกษา ทางสาธารณสุขและความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงต้องดำเนินการอีกมากในกลุ่มประเทศ OECD เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs

  • เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้
    โดยประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้แตกต่างกันทั้งขนาดและระดับการพัฒนา จึงทำให้ความท้าทายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ แต่โดยรวมทุกประเทศมีการดำเนินการที่ดีในเป้าหมาย SDGs ข้อ 1 คือ ขจัดความยากจน เป้าหมาย SDGs ข้อ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม เป้าหมาย SDGs ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

    ส่วนความท้าทายส่วนใหญ่คือ เป้าหมาย SDGs ข้อ 2 การขจัดความหิวโหย และเป้าหมาย SDGs ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมาย SDGs ข้อ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมาย SDGs ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมาย SDGs ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายมSDGs ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เป้าหมาย SDGs ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก เป้าหมายSDGs ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก

  • ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง
    เช่นเดียวกันกับภูมิภาคอื่น ประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางทำได้ดีใน เป้าหมาย SDGs ข้อ 1 คือ ขจัดความยากจน และเป้าหมาย SDGs ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ยังไม่คืบหน้าในเป้าหมาย SDGs ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชันที่มีมากและการไม่มีอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในเป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล

  • ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
    ภูมิภาคนี้ดำเนินการได้ดีในเป้าหมาย SDGs ข้อ 1 คือ ขจัดความยากจน และเป้าหมาย SDGs ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เหมือนกับประเทศอื่นๆ และมีความคืบหน้าในเป้าหมาย SDGs ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล กับเป้าหมาย SDGs ข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    เป้าหมายที่ภูมิภาคนี้ต้องขับเคลื่อนมากขึ้นคือ การลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 10 รวมทั้งการขยายการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งจะทำให้ข่วยบรรลุเป้าหมาย SDGs ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมาย SDGs ข้อ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม

  • ตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ
    แต่ละประเทศในกลุ่มนี้แตกต่างกัน เพราะความขัดแย้งภายในบางประเทศทำให้การดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในเป้าหมาย SDGs ข้อ 2 การขจัดความหิวโหย เป้าหมาย SDGs ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมาย SDGs ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ส่วนประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งภายในดำเนินการได้ดีในเป้าหมาย SDGs ข้อ 1 คือ ขจัดความยากจน และเป้าหมาย SDGs ข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่มีข้อมูล แต่ทั้งภูมิภาคยังไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 2 การขจัดความหิวโหยได้มากนัก ขณะที่การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 6 และการจัดหาพลังงานสะอาดสำหรับทุกคนตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 7 นั้นทำได้ดีขึ้น

  • แอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายสะฮารา
    ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ประสบความท้าทายในการที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 1-9 ที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ได้ การที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ข้อ 16 และข้อ 17 ได้ ประเทศเหล่านี้ต้องมีสถาบันที่เข้มแข็ง

    ประเทศกลุ่มหมู่เกาะในกลุ่มนี้แทบจะไม่มีข้อมูลเลย จึงทำให้เปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นได้ยาก แต่จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ หมู่เกาะเหล่านี้ทำได้ดีในเป้าหมาย SDGs ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนและเป้าหมาย และเป้าหมาย SDGs ข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่มีข้อมูล แต่ต้องทำอีกมากในเป้าหมายข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมาย SDGs ข้อ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม รวมไปถึงการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ประเทศกลุ่มหมู่เกาะนี้ทำได้ได้ในเป้าหมาย SDGs ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ