
CPN ดับเครื่องชน AOT ร้องศาลปกครอง สั่ง ทอท.เปิดทางเข้า-ออกโครงการ “เซ็นทรัล วิลเลจ”
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” นำแบริเออร์มาปิดทางเข้า-ออกโครงการ “เซ็นทรัล วิลเลจ” ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ของ CPN ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 โดย ทอท.ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการก่อสร้างรุกล้ำที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์มอบให้กรมทางหลวง ดำเนินการก่อสร้างถนนเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ
นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับแต่เริ่มพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ทาง CPN ทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ และยึดหลักธรรมาภิบาลถูกต้องทุกขั้นตอน และได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง เริ่มจากปี 2558 ทาง CPN ได้ตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าว พบว่าสามารถพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ได้ตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฯ และที่ดินติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ไม่ใช่ที่ดินตาบอดแต่อย่างใด
จากนั้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฯ ว่าพื้นที่สีเขียวบริเวณ ก1-10 ของผังเมืองสมุทรปราการ ยังมีพื้นที่เพียงพอให้บริษัทฯ สร้างโครงการนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างและแบบปรับปรุงภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) วันที่ 24 เมษายน 2561 ได้ใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร (อ1) จาก อบต.บางโฉลง ซึ่งในวันเดียวกันนี้ทางบริษัทฯ ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
ยืนยันเดินหน้าเปิดห้าง 31 ส.ค. นี้
นายปรีชากล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้การประปาใช้พื้นที่ไหล่ทางวางท่อเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ และในวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 กรมทางหลวงได้อนุญาตให้ทำทางเชื่อมเข้า-ออก ขยายผิวจราจร และปรับปรุงทางเท้า ซึ่งรวมไปถึงไหล่ทางด้วย เช่นเดียวกับที่เคยได้อนุมัติเชื่อมทางให้กับผู้ร้องขอรายอื่นบนถนนสายนี้ทั้งสิ้น 37 ราย รวมถึง ทอท.ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยขออนุญาตจากกรมทางหลวงมาโดยตลอด และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท.เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
จากนั้นในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร (อ6) จาก อบต.บางโฉลง ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ทอท.มาปิดกั้นทางเข้า – ออกหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ซึ่ง CPN มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 โดยทางประชาสัมพันธ์ของ CPN ส่งเอกสารข่าวยืนยันเปิดโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
โดยช่วงบ่ายวันนี้ทางศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคดีที่ CPN ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม กรณี ทอท.ปิดกั้นทางเข้า-ออกของโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของบริษัทฯ ร้านค้า และพนักงาน ทั้งนี้ ทาง CPN ก็พร้อมเจรจากับ ทอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางทั้งหมด โดยศาลปกครองกลางใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริงจากคู่ความนานกว่า 4 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา
แจงปมขัดแย้งปิดทางเข้า-ออกโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ
สำหรับประเด็นที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน นายปรีชาชี้แจงเพิ่มเติมว่ามีอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้า-ออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ดินราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด โดยที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.
ทั้งนี้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ดินราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7(2) แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท.ดูแล โดยโครงการนี้ได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง เป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึงเขตทางและไหล่ทางที่ติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด
ส่วนรายละเอียดในส่วนของการโต้แย้งสิทธิที่ดินหน้าโครงการระหว่างกรมทางหลวง ทอท. และกรมธนารักษ์ ทาง CPN ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ดินนี้อยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน โดยทางหลวงแผ่นดิน 370 ซึ่งเคยเป็นที่ราชพัสดุและมอบให้กรมทางหลวงสร้างและเป็นผู้ดูแล เป็นพื้นที่คนละส่วนกับพื้นที่ดินเวนคืนของสนามบินสุวรรณภูมิที่ ทอท.ดูแล อีกทั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะกล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้
โดยที่ดินด้านหน้าโครงการมีความเป็นมาดังนี้ กล่าวคือ ในปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน ปี 2544 ครม.มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้า-ออกด้านใต้ของสนามบิน คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะและให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น กรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จากทางหลวงแผ่นดิน 370 ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง
แสดงให้เห็นว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้า-ออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย ซึ่ง ทอท.เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใดเคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท.เลย
สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ.เวนคืนฯ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ ทอท.กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการไม่น่าจะเป็นการกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะเป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท.เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก
ประเด็นที่ 2 บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด โดยโครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
และประเด็นที่ 3 CPN ได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง โดยโครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฎใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบินหรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง ซึ่งทาง CPN ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดต่อไป
“โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ขอวิงวอนให้ภาครัฐให้ความเป็นธรรม และช่วยคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาต่างๆ โดยโครงการมีมูลค่าร่วมลงทุนของ CPN และร้านค้ากว่า 150 ร้านค้า หรือ 150 แบรนด์ชั้นนำของโลก รวมกว่า 5,000 ล้านบาท โดยหลังจากเปิดให้บริการคาดว่าจะมีการจ้างงานพนักงานร้านค้าที่เช่าพื้นที่กว่า 1,000 คน และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท” นายปรีชากล่าว
อ่านรายละเอียดโครงการ CENTRAL VILLAGE – BANGKOK LUXURY OUTLET เพิ่มเติมที่นี่
นายปรีชา กล่าวว่า “CPN มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน โดยในทุกที่ที่โครงการของบริษัทฯ ไปเปิดดำเนินการ ล้วนนำพาความเจริญ สร้างเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน กระจายรายได้สู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตมาอย่างยาวนานถึง 34 ศูนย์การค้าใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ โดยบริษัทฯ มุ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การลงทุนในประเทศไทย โดยลักชูรี่ เอาท์เล็ต แห่งนี้ จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก CPN สามารถดึงนักลงทุน global brands ใหญ่ๆ ระดับโลก ซึ่งทุกคนพร้อมและเชื่อมั่นมาลงทุนในประเทศไทย โดยเราได้ใช้เวลาเตรียมการมากว่า 5 ปี และลักชูรี่ เอาท์เล็ต แห่งนี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ที่มีความครบถ้วน และทำให้คนไทยมาชอปในประเทศ ทำให้ภาษียังหมุนเวียนอยู่ในประเทศ โดยเป็นการเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงสินค้าแบรนด์เนมได้ง่ายขึ้นในราคาย่อมเยา”
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/08/Central-Village.pdf” title=”Central Village”]