ThaiPublica > เกาะกระแส > สิ้นสุดยุค “โรงงานโลก” ของจีน ผลลัพธ์จากสงครามการค้า สหรัฐฯ – จีน

สิ้นสุดยุค “โรงงานโลก” ของจีน ผลลัพธ์จากสงครามการค้า สหรัฐฯ – จีน

3 กรกฎาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

โดนัลด์ ทรัมป์ และ สี จิ้นผิง ที่มาภาพ : http://www.xinhuanet.com/english/2019-06/29/c_138185032_2.htm

ในช่วงการประชุมกลุ่ม G-20 ที่โอซากา ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายนที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ และสี จิ้นผิง ได้มีการประชุมทวิภาคีแบบนอกรอบระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แม้ผลการเจรจาจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา แต่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะกลับมามีการเจรจาการค้าขึ้นมาใหม่ หลังจากที่หยุดชะงักไปตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทรัมป์แถลงว่า สหรัฐฯ จะไม่เก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 25% สำหรับการนำเข้าจากจีนที่มีมูลค่า 300 พันล้านดอลลาร์ และยินยอมผ่อนคลายข้อห้ามบางอย่างต่อบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีน ส่วนจีนจะเริ่มนำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ทันที และทรัมป์บอกกับสี จิ้นผิง ว่า สหรัฐฯ เปิดรับที่จะมี “ข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรมครั้งประวัติศาสตร์” กับจีน

สิ้นสุดยุค “โรงงานโลก” ของจีน

ในบทความชื่อ A China-US Trade Truce Could Enshrine a Global Economic Shift ของ New York Times กล่าวว่า แม้สหรัฐฯ กับจีนจะสงบศึกสงครามการค้าไว้เป็นการชั่วคราว แต่ความขัดแย้งและสงครามการค้าที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดเงาที่มืดมนต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนการสงบศึกที่มีลักษณะเปราะบางนี้ จะยิ่งไปช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของระเบียบเศรษฐกิจโลก ที่สั่นคลอนฐานะของจีนในการเป็น “โรงงานการผลิตของโลก” มานานหลายสิบปี

บทความของ New York Times กล่าวอีกว่า แม้เพียงแค่การสงบศึกษาจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ ก็ยังจะมีผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของโลก เนื่องจากสหรัฐฯ สามารถนำมาตรการเก็บภาษีนำเข้ามาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นภายในหนึ่งเดือน หรืออีกหนึ่งปีข้างหน้า บริษัทชั้นนำของโลกย่อมจะมีปฏิกิริยาต่อความไม่แน่นอนนี้ โดยการย้ายการผลิตออกจากจีน อย่างน้อยก็ในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต คือการประกอบสินค้าสำเร็จรูป

แต่กระแสการย้ายการผลิตออกจากจีนจะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด จีนยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ในเรื่องการประกอบการผลิต เพราะมีห่วงโซ่อุปทานและแรงงานมีฝีมืออย่างกว้างขวาง แม้แต่บริษัทที่ย้ายการผลิตขั้นตอนสุดท้ายออกจากจีน ก็ยังต้องซื้อชิ้นส่วนการผลิตต่างๆ จากจีน

อย่างเช่นกรณีล่าสุด New York Times รายงานเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนนี้ว่า แอปเปิลจะย้ายการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ Mac Pro รุ่นใหม่ จากสหรัฐฯ ไปยังจีน เครื่อง Mac Pro เป็นคอมพิวเตอร์ระดับสูงของแอปเปิล ราคาเครื่องละ 6,000 ดอลลาร์ แอปเปิลแถลงว่า เครื่อง Mac Pro ก็เหมือนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของแอปเปิล คือ มีการออกแบบและการสร้างระบบของเครื่องในสหรัฐฯ ชิ้นส่วนต่างๆ มาจากหลายประเทศ และขั้นตอนสุดท้ายในการประกอบการผลิตก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตทั้งหมด

แต่นาย Jacque deLisle ผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษาของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ให้ความเห็นว่า “ตราบใดที่ยังภัยคุกคามนี้อยู่ ก็มีความเสี่ยงที่จะไปอาศัยห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว ธุรกิจทั้งหลายล้วนไม่ชอบความไม่แน่นอน และสิ่งนี้เป็นการทำให้ ความไม่แน่นอนยืดเยื้อออกไปอีก”

การใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้า ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็ถือว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาในแบบดีที่สุด สหรัฐฯ ต้องการให้จีนเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจระดับมูลฐาน โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลจีนให้การอุดหนุนแก่บริษัทธุรกิจของจีนเพื่อแข่งขันกับบริษัทอเมริกัน ส่วนฝ่ายจีนต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนดังกล่าว จีนไม่ต้องการที่จะไปรื้อโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้อยู่เพราะประสบความสำเร็จอย่างมาก ที่ทำให้คนจีนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน

หนังสือพิมพ์ China Daily ของจีนก็เขียนบทนำว่า มีโอกาสมากขึ้นที่สหรัฐฯ กับจีนจะบรรลุข้อตกลงทางการค้า แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าจะไปถึงจุดดังกล่าว “ความตกลงกันใน 90% ของปัญหาต่างๆ พิสูจน์แล้วว่ายังไม่พอ และส่วนที่เหลืออีก 10% คือจุดที่มีความแตกต่างกันระดับมูลฐาน ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นพ้องกัน 100% เพราะในขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแตกต่างกันมากแม้ในเชิงความคิด”

ที่มาภาพ : http://www.xinhuanet.com/english/2019-06/29/c_138185032_2.htm

ทัศนะจีนต่อสงครามการค้า

ในบทความของนิตยสาร Foreign Affairs เรื่อง How China Really Sees the Trade War ที่เขียนโดย Andrew J. Nathan ผู้เชี่ยวชาญจีนของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า นับจากปี 2017 จุดยืนพื้นฐานของจีนต่อสงครามการค้า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ข้อเสนอของจีนคือ จะซื้อสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อที่จะลดความได้เปรียบดุลการค้าที่จีนมีกับสหรัฐฯ

ส่วนท่าทีด้านอื่นๆ ของจีนก็ได้แก่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่หากธุรกิจต่างประเทศเต็มใจที่จะแบ่งปันความลับทางการค้ากับบริษัทจีน เพื่อเข้าสู่ตลาดจีน รัฐบาลจีนก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่ในจุดนี้ ทางสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็น “การบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี” จีนจะดำเนินการเพื่อธุรกิจธนาคารให้กับธนาคารต่างประเทศ แต่จะไม่เร่งดำเนินการเรื่องนี้ ค่าเงินหยวนจะผูกกับตะกร้าเงินหลายสกุล และจีนได้ลดการโฆษณาในเรื่อง นโยบาย Made in China 2025 แต่จีนจะไม่ลดการวิจัยพัฒนาในด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

บทความของ Andrew Nathan กล่าวว่า จีนจะไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เป็นโมเดลการพัฒนาของจีน แต่จีนยินดีที่ทรัมป์ถูกมองว่าเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในสงครามการค้ากับจีน เพื่อที่ทรัมป์จะได้นำไปใช้หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020

ในช่วงแรกของการเจรจาการค้า จีนคิดว่าทรัมป์คงจะรับข้อเสนอของจีน แต่ต่อมาจีนมองเห็นว่า ทรัมป์รับฟังความเห็นของนาย Peter Navarro ที่ปรึกษาทางการค้า และนาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้า ที่มีแนวคิดสายเหยี่ยวมากขึ้น ทั้งสองคนมีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระดับมูลฐานของโมเดลเศรษฐกิจจีนเท่านั้น ที่จะทำให้สหรัฐฯ ยังสามารถรักษาฐานะนำในเศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ช่วยทำให้ทรัมป์ใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับจีน

เดือนเมษายน 2019 คณะเจรจาการค้าของสหรัฐฯ ได้ยื่นร่างข้อเสนอของสหรัฐฯ ต่อจีน ที่ประกอบด้วยข้อเรียกร้อง เช่น ให้จีนยกเลิกการสนับสนุนพิเศษแก่รัฐวิสาหกิจ อนุญาตให้บริษัทสหรัฐฯ เข้าตลาดจีน โดยไม่ต้องแบ่งปันเทคโนโลยี แก้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ และอนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งสำนักงานที่ปักกิ่ง เพื่อติดตามการดำเนินงานของจีน

หลังจากที่การเจรจาถูกเลิกล้มไปในเดือนพฤษภาคม นายหลิว เห้อ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะการเจรจาฝ่ายจีน กล่าวยอมรับว่า ฝ่ายจีนได้ขีดฆ่าเนื้อหาร่างข้อตกลงหลายอย่างที่สหรัฐฯ ใส่เพิ่มเข้ามา และบอกว่ามี 3 ประเด็นที่ฝ่ายจีนเห็นว่าทำให้การเจรจาดำเนินต่อไปได้ยาก คือ

(1) จีนต้องการให้ยกเลิกมาตรการลงโทษโดยการเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมด ก่อนที่ข้อตกลงการค้าจะได้ข้อสรุปสุดท้าย ไม่ใช่การยกเลิกแบบเป็นขั้นตอน

(2) ความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องปริมาณการซื้อสินค้าสหรัฐฯ ของจีน

(3) เรื่องเนื้อหาข้อตกลง จะต้องตั้งอยู่บนความสมดุลของสองฝ่าย เพราะแต่ละประเทศล้วนมีเกียรติศักดิ์ศรีของตัวเอง

Andrew Nathan กล่าวว่า จีนไม่มีวันที่จะยอมละทิ้งการมีอำนาจเหนือเศรษฐกิจของตัวเอง ผู้นำจีนทุกคนเจรจาภายใต้เงาของ “สนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกัน” ที่จีนเคยถูกบังคับให้ทำกับมหาอำนาจตะวันตกในศตวรรษที่ 19 การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในระยะที่ผ่านมา ไม่ได้เยียวยารักษาบาดแผลนี้ที่ในจีนเรียกว่า “หนึ่งร้อยปีของความอัปยศ” ดังนั้น สี จิ้นผิง จะลงนามในข้อตกลงการค้า ที่ยึดหลักการความเสมอภาคและต่างตอบแทนกันเท่านั้น

ดุลการค้าสหรัฐฯกับจีน ที่มาภาพ : thesra.org

ใครเสียหายมากกว่ากัน

บทความของ Andrew Nathan กล่าวอีกว่า แม้สหรัฐฯ จะเห็นว่าจีนเป็นฝ่ายต้องการความตกลงการค้ามากกว่าสหรัฐฯ แต่จีนกลับมองเห็นว่าตัวเองมีฐานะการเจรจาที่แข็งแกร่งกว่า ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ไม่สามารถจะหาแหล่งผลิตสินค้าอื่นๆ มาแทนสินค้าจีน จึงต้องผลักภาระภาษีที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภคในสหรัฐฯ ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ลดลง 4.8% ส่วนการส่งออกของจีนไปอียูเพิ่ม 14.2% และอาเซียนกลายเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของจีน แทนสหรัฐฯ

แต่สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียหายมากกว่าที่รัฐบาลทรัมป์ยอมรับ การตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ทำให้จีนหันไปนำเข้าจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ช่วง 5 เดือนของปี 2019 สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนลดลง 26% การส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ไปจีน อาจเกิดความเสียหายแบบถาวร เพราะทำให้จีนค้นพบแหล่งนำเข้ารายใหม่ เช่น อาร์เจนตินา และบราซิล

นอกจากนี้ จีนยังกลายเป็นตลาดสำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ จำนวนมาก บริษัทรถยนต์ GM (General Motors) ขายรถยนต์ในจีนมากกว่าที่ขายในสหรัฐฯ รถยนต์ของ GM บางรุ่นผลิตในจีน จึงไม่ถือว่านำเข้าจากสหรัฐฯ แต่ผลกำไรทั้งหมดของ GM ส่งกลับมายังสหรัฐฯ จากตัวเลขของจีนเอง ปี 2017 บริษัทสหรัฐฯ มีรายได้ทั้งหมดในจีน 700 พันล้านดอลลาร์ และมีผลกำไรมากกว่า 50 พันล้านดอลลาร์

จีนมองว่า ระบอบประชาธิปไตยจะทำให้สหรัฐฯ มีจุดอ่อนจากผลกระทบทางการเมืองของสงครามการค้า มากกว่าจีนที่เป็นประเทศอำนาจนิยม คนงานสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เมื่อตกงาน ก็ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับ ขณะที่ในจีน เศรษฐกิจที่รัฐมีบทบาทนำ สามารถสร้างงานใหม่ให้กับคนงานที่ตกงาน การส่งออกสินค้าเกษตรและมลรัฐที่อิงการผลิตอุตสาหกรรม เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งในปี 2020 แต่สี จิ้นผิง ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

จีนมองสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ว่าเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่แบบยาวนาน แหล่งข่าวในจีนอ้างคำพูดของสี จิ้นผิง ที่กล่าวว่า ในการก้าวขึ้นมาเป็นชาติที่รุ่งเรือง จีนต้องคาดหมายว่า จะเผชิญกับการปิดล้อมและท้าทายจากสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยจะไปสิ้นสุดลงในปี 2049 ที่ครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อถึงเวลานั้น จีนก็จะก้าวล้ำหน้าสหรัฐฯ ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร

เอกสารประกอบ

A China-U.S. Trade Truce Could Enshrine a Global Economic Shift, The New York Times, June 29, 2019.
How China Really Sees the Trade War, Andrew J. Nathan, foreignaffairs.com