ThaiPublica > เกาะกระแส > Data Journalism ทางรอดสื่อมืออาชีพในยุคดิจิทัล

Data Journalism ทางรอดสื่อมืออาชีพในยุคดิจิทัล

18 กรกฎาคม 2019


บทความ“Data Journalism ทางรอดสื่อมืออาชีพในยุคดิจิทัล” ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง “Data Journalism สื่อมืออาชีพในยุคดิจิทัล: กรณีศึกษา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ที่จัดทำโดย จิระประภา กุลโชติ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ASEAN+3 ของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ซึ่งได้เข้าร่วมรับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 ภายใต้การรับผิดชอบของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความได้กล่าวถึง “การรายงานข่าวแบบ data journalism มีความสำคัญต่อสื่อมืออาชีพ ในยุคที่ผู้บริโภคเลือกรับข่าวเลือกอ่านข่าว เพราะเป็นการสร้างจุดแข็งขององค์กรสื่อ เมื่อสื่อมืออาชีพซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำข่าว นำเทคโนโลยีหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบการนำเสนอข่าวจากบิ๊กดาต้า จะช่วยให้กำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสามารถนำเสนอข่าวในหลายลักษณะ เช่น การรายงานในลักษณะข่าวต่อเนื่อง (series) การรายงานข่าวแบบเจาะลึก (investigative news) รวมทั้งนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การออกแบบตารางประกอบข่าว การออกแบบเป็นอินโฟกราฟิก หรือเป็นภาพ ซึ่งจะทำให้การนำเสนอข่าวนั้นมีความน่าสนใจ อ่านง่าย เข้าใจง่ายมากขึ้น”

“ที่สำคัญ เป็นการรายงานข่าวที่ดีมีคุณภาพมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งตรงกับหนึ่งในหลักการทำหน้าที่สื่อคือ รายงานความจริงและถูกต้อง เพราะเป็นการรายงานข่าวที่มีข้อมูลจริงจากการใช้บิ๊กดาต้า ช่วยลดโอกาสที่สื่อจะถูกฟ้องร้องจากการนำเสนอข่าว และในกรณีที่ถูกฟ้องร้องจะช่วยให้สื่อสามารถป้องกันตัวเอง เพราะมีข้อมูลที่ใช้ในการเสนอข่าวเป็นหลักฐานว่าเป็นการรายงานตามข้อมูลข้อเท็จจริง”

“ตัวอย่างการรายงานข่าวแบบ data journalism ของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาจัดระเบียบข้อมูล ได้แก่ การนำเสนอข่าวสืบสวนกระบวนการจัดสรรโควตาสลากของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในซีรีย์ข่าว “เจาะลึกโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล”

อ่านบทความฉบับเต็มhttps://www.isranews.org/isranews-article/78564-datajournalism.html

รายงานเฉพาะบุคคลที่จัดทำโดยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร บสส. รุ่นที่ 8 ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากสถาบันอิศรา เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไปมี 4 เรื่อง ได้แก่

1.แนวทางการพัฒนาหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชนเพื่อรับมือกับ Media Disruption และ AI จัดทำโดย ดร.พรรษา รอดอาตม์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา คณะวารสารศาตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2.แนวทางกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และบริการ OTT โดยนายพสุ ศรีหิรัญ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

3.“Data Journalism สื่อมืออาชีพในยุคดิจิทัล: กรณีศึกษา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” เป็น 1 ใน 4 ของรายงานเฉพาะบุคคล

4.วิธีการตรวจสอบข่าวปลอมของกองบรรณาธิการข่าวออนไลน โดยนางพิกุล จันทรวิชญสุทธิ์ บรรณาธิการข่าวสังคม บ้านเมืองออนไลน์

อนึ่ง บสส.เป็นโครงการอบรมหลักสูตระยะยาว เปิดโอกาสให้กับผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรด้านสื่อสารมวลชนร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและส่วนราชการ รวมทั้งภาคเอกชน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบและการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่นำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาชีพของตนเองและประเทศชาติ อีกทั้งช่วยพัฒนาศักยภาพของสื่อในภาคประชาชน และการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมกับสื่อมวลชน

การอบรมหลักสูตร บสส. รุ่นที่ 8 มีขึ้นระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 และกำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมต้องจัดทำรายงานเฉพาะบุคคล ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน จำนวน 1 เรื่อง